พลิกสวนนาเป็นไร่อ้อย ชาวภูซางทำน้ำอ้อยรสเด็ดขาย สร้างรายได้วันละ 3,000 บาท

นางวัฒนา อุตกรรณ์ อายุ 52 ปี บ้านเลขที่ 275 หมู่ 1 ตำบลสบบง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา กล่าวว่า ตนและครอบครัวทำสวนอ้อยเป็นอาชีพเสริมจากการทำนามาตั้งแต่อายุ 17 ปี นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 35 ปีแล้ว ต่อมาจนแยกครอบครัวของตนเองกับสามีก็ทำสวนอ้อยมาตลอด ปีนี้ถือว่าอ้อยมีราคาดีและลดลงเหมือนปีที่ผ่านมา ราคาขายส่งยังคงอยู่ที่ กก.ละ 30 บาท ต่างจากปีที่ผ่านมาเพียง กก.ละ 22-25 บาท เท่านั้น ตนหีบและต้มเคี่ยวหยอดเป็นก้อนส่งให้แม่ค้านำไปขายปลีก ทั้งน้ำอ้อยเปล่าและน้ำอ้อยกะทิ (ใส่มะพร้าว/งาม่อน/ถั่วลิสง) สำหรับราคาขายปลีกแม่ค้านำไปขายต่างกัน น้ำอ้อยเปล่า กก.ละ 40-45 บาท น้ำอ้อยกะทิ กก.ละ 60-70 บาท ขึ้นอยู่กับการขนส่งใกล้หรือไกล

นางวัฒนา กล่าวต่อว่า แต่เดิมตนและเพื่อนบ้านในหมู่บ้านปลูกอ้อยพันธุ์ดั้งเดิม เรียกว่า อ้อยหก แม้นว่ากลิ่นจะหอม หวานละมุน แต่ปรากฏว่าเก็บไว้นานค้างปีไม่ได้ เพราะสภาพของน้ำอ้อยที่หยดเป็นก้อนแล้วกลับคืนสภาพตกผลึก หรือทางพื้นถิ่นเรียกน้ำอ้อยกะ ไม่เป็นผง เหนียวใกล้เคียงกับแบะแซ นำไปทำขนมหรือประกอบอาหารค่อนข้างลำบาก ต่อมาย้อนหลังเมื่อประมาณ 10 ปีที่ผ่านมา ลูกสาวของตนได้ไปที่จ.ขอนแก่น พบต้นอ้อยสายพันธุ์สุรีย์ 50 จึงนำมาทดลองปลูก ปรากฏว่าผลผลิตดีมาก เก็บไว้นานไม่คืนตัว ไม่ตกผลึก สามารถนำมาทำเป็นน้ำตาลอ้อยใส่ขนม ทำอาหาร เก็บไว้นานค้างปีได้ เป็นที่ต้องการของตลาดอย่างมาก เมื่ออ้อยสายพันธุ์สุรีย์ 50 มาแทนที่ อ้อยพันธุ์หกก็หายไปได้ 10 ปี เช่นกัน

ด้าน น.ส.อาภาภรณ์ อุตกรรณ์ หรือ เบล อายุ 28 ปี ลูกสาวของนางวัฒนา ซึ่งจบสาขาบัญชี มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย แล้วมาช่วยครอบครัวทำสวนอ้อยจนถึงปัจจุบัน กล่าวว่า น้ำอ้อยหวานสบบงปัจจุบันมีกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกอ้อยกันมากขึ้น เนื่องจากเป็นอาชีพเสริมนอกจากการทำนา ซึ่งผลผลิตของอ้อยให้ผลผลิตที่คุ้มค่ากว่าการทำนามาก ต้นอ้อยที่ปลูก 1 ครั้ง สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ถึง 3 ปี ครอบครัวของแม่ปลูกจำนวน 10 ไร่ ส่วนหนึ่งประมาณ 1 ไร่ จะกันไว้เป็นต้นพันธุ์เพื่อขยายทำพันธุ์ ส่วนผลผลิตที่เป็นน้ำอ้อยนั้น หลังจากที่ต้มและเคี่ยวจนสุก งวดเหลือแต่น้ำตาลบริสุทธิ์จะมีสีน้ำตาลออกเหลืองอำพัน กลิ่นหอมอ้อย รสหวานละมุนลิ้น ไม่หวานแหลมเหมือนน้ำตาลทราย

น.ส.อาภาภรณ์ กล่าวต่อว่า มีลูกค้าของแม่หลายรายที่มาสั่งจองทุกปี ปีละหลายสิบกิโล นำไปใช้สารพัดประโยชน์แทนน้ำตาล เช่น โรงงานซีอิ๊ว ธัญพืชน้ำอ้อย น้ำตาลอ้อยใส่กาแฟสด ใส่กะละแมน้ำอ้อย รวมทั้งยังใช้ทำอาหารต่างๆ ช่วยเพิ่มรสหวาน

“ทุกวันนี้มีแม่ค้ามาสั่งน้ำอ้อยเปล่า ที่เราทำและหยอดเป็นก้อนบรรจุถุงเรียบร้อย ถุงละ 10 กิโล ส่วนลูกค้าที่สั่งน้ำอ้อยกะทิ ลูกค้าจะนำมะพร้าว งาม่อน ถั่วลิสง มาใส่ด้วยตนเอง เราขายน้ำอ้อยเปล่าเป็นหลัก ซึ่งเป็นราคาขายส่ง กิโลกรัมละ 30 บาท ขายได้วันประมาณ 100 กิโลกรัม ทำให้มีรายได้วันละ 3,000 บาท อย่างไรก็ตามอาชีพทำสวนอ้อยและแปรรูปขายเบื้องต้น ถือว่าเป็นอาชีพเสริมที่เป็นหลักของครอบครัว ขณะเดียวกันได้นำระบบบัญชีที่เรียนมาจัดทำระบบบัญชีของการทำอาชีพสวนอ้อย จึงพบว่าเป็นรายได้หลักของครอบครัวที่คุ้มค่ากว่าการทำนา” น.ส.อาภาภรณ์ กล่าวและว่า สนใจติดต่อน้ำอ้อยธรรมชาติ หมายเลขโทรศัพท์ 080-676-5877

ที่มา ข่าวสดออนไลน์