วิษณี เทพเจริญ ทายาทธุรกิจอสังหาฯหมื่นล้าน “มองมุมเดิมที่พ่อแม่สร้างมาไม่ได้”

วิษณี เทพเจริญ (บีท) นักธุรกิจสาวคนเก่ง ลูกสาวคนที่ 2 ของ วิษณุ กับ ศิริญา เทพเจริญ ทายาทธุรกิจอสังหาฯหมื่นล้าน ภายใต้แบรนด์ “ณุศาสิริ” นักธุรกิจรุ่นใหม่วัย 25 ปี ใช้ความมั่นใจเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเอง ไปพร้อม ๆ กับพัฒนาธุรกิจของครอบครัว โดยการพิสูจน์ศักยภาพของตนเองในการทำงาน ผ่านประสบการณ์และโอกาส นับตั้งแต่ในสมัยเรียนมหาวิทยาลัยด้วยวัยเพียง 18 ปี และในวัย 25 ปี เธอได้ขึ้นมาเป็นผู้บริหารเต็มตัวให้กับ บริษัท ณุศาสิริ จำกัด (มหาชน) บริษัทที่เป็นผู้นำด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจการท่องเที่ยวและสุขภาพ ในตำแหน่ง Assistant CEO รับหน้าที่ดูแลในส่วนของการตลาดและการขายให้กับณุศาสิริทั้งหมด

“จริง ๆ แล้ว บีทเป็นคนที่ชอบการตลาดอยู่แล้วค่ะ บีทเชื่อว่าทุกอย่างคือ marketing (everything is marketing) และคุณพ่อเคยบอกว่า ไม่อยากให้เรียนบัญชี เพราะกลัวงก ตอนนั้นจึงเลือกเรียนการตลาด และก็ชอบมันจนถึงปัจจุบันนี้” นักธุรกิจสาวผู้พกความมั่นใจไปด้วยทุกที่ และเป็นนักต่อรองชั้นยอด

วิษณี เล่าว่า เธออยากไปเรียนต่างประเทศแบบพี่ชาย แต่พ่อไม่ยอมให้ไป แม้แต่โรงเรียนอินเตอร์ในประเทศก็ไม่ให้เรียน เพราะว่าเป็นลูกสาวจึงอยากให้อยู่ใกล้ชิด แต่พี่ชายและน้องชายได้เรียน ซึ่งอาจจะเป็นวิธีสอนของพ่อแม่ คือเขาไม่อยากให้เราได้อะไรมาง่าย ๆ แต่เรารู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรม ในใจก็คิดตลอดว่ายังไงก็ต้องไปให้ได้

“มันเป็นนิสัยของบีทตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว แบบว่าถ้าเราอยากได้อะไร เราจะหาวิธีทำจนได้ เรื่องที่ไปเรียนอังกฤษก็เหมือนกัน”

ด้วยความมุ่งมั่นบวกความพยายามและความมั่นใจ ผนวกกับความเชื่อมั่นอย่างแรงของเด็กหญิงที่ไปต่อรองให้โรงเรียนในอังกฤษรับ เธอเข้าเรียน แม้ในตอนนั้นภาษาเธอจะอยู่ในระดับที่สื่อสารแทบไม่รู้เรื่องก็ตาม เหตุเกิดจากความรู้สึกที่ว่า ตัวเองมีปมด้อยมาก เมื่อครั้งที่เธออายุ 11 ขวบ ได้ไปเยี่ยมพี่ชาย และน้องชาย ที่อังกฤษ กับครอบครัว เธอสื่อสารอะไรไม่ได้เลย

“แค่อยากกินไอศกรีมยังสั่งไม่ได้ จะเอารสนี้ใส่ถ้วยใส่โคน แค่นี้ยังพูดไม่ได้เลย เราก็รู้สึกว่าชีวิตมันลำบาก ตอนแรกคุณพ่อบอกเรียนให้จบมหาวิทยาลัยก่อนแล้วค่อยไปเรียนต่อ แต่บีทรู้สึกว่ามันช้าไปไหม แล้วถ้าบีทอยากได้ภาษาจีนอีกต้องใช้เวลาจนอายุ 30 ปีเลยไหม ตอนนั้นเราก็ไม่พอใจเล็ก ๆ”

หลังจากเกิดวิกฤตสื่อสารล้มเหลว บีทตั้งธงเดินทางไปติดต่อโรงเรียนไฮสกูลที่ประเทศอังกฤษด้วยตัวเอง พยายามอธิบายด้วยคำพูดแบบปะติดปะต่อเองเท่าที่จะเจรจาได้ และเธอโชคดีที่ได้เจอกับ head master ทำให้มีการเจรจาต่อรองด้วยการยื่นข้อเสนอว่า ถ้าเรียนไม่ผ่านให้ปรับตกทันที

“เราเป็นเด็กที่มั่นใจ คือเป็นคนมั่นใจมาตั้งแต่เด็กแล้ว ไม่รู้ว่าไปเอาความมั่นใจมาจากไหน บางทีมันผิดมาก แต่เราก็กล้าที่จะคุยกับ head master ตอนนั้นอีก 4 เดือน เราจะจบ ม.1 แต่ถ้ามาเรียน ม.1 ที่นั่นใหม่ ซึ่งเขาเพิ่งเริ่มเรียนไป 3 เดือน เท่ากับบีทต้องเสียเวลาครึ่งปี บีทจึงขอเรียน ม.2 เลย ซึ่งตอนแรกเขาก็กลัวว่า เราจะไม่ไหว แต่ด้วยความมั่นใจ บีทก็ต่อรองกับเขาว่า ถ้าบีทเรียนไม่ได้ บีทจะยอมให้ปรับตกเลย head master ก็แบบยิ้ม ๆ และบอกลองส่งใบสมัครมา”

พอกลับมาถึงบ้าน เธอก็อ้อนคุณอาให้ส่งใบสมัครไปให้ ซึ่ง head master เซ็นอนุมัติให้ทันที หลังจากนั้นนำหนังสืออนุมัติให้เรียนไปยื่นให้พ่อ ตอนนั้นพ่อก็ถามว่า “ถ้าตกหละ” บีทบอกว่า “ถ้าตกก็กลับ” ตอนนั้นคุณพ่อถึงขั้นไปคุยกับโรงเรียนที่ไทยไว้เลยว่า จะขอดรอป เพราะเขากลัวว่า เราจะเรียนไม่ไหว แล้วต้องกลับมาเริ่มเรียนใหม่

ด้วยความพยายามที่เธอดั้นด้นไปด้วยตัวเอง จึงไม่สามารถแสดงความอ่อนแอใด ๆ ออกมาได้ เจอปัญหาอะไรก็บอกใครไม่ได้ แม้กระทั่งเวลาพ่อแม่ถามว่า เหงาไหม เราก็รีบบอกทันที “ไม่เหงาค่ะ” ทั้ง ๆ ที่เธอบอกว่า อยากจะร้องไห้ เพราะคุยกับใครไม่รู้เรื่อง แต่ก็ต้องกัดฟันสู้ ซึ่งทางโรงเรียนก็มีแผนกที่คอยดูแลนักเรียนที่เป็นต่างชาติ ซึ่งแผนกซัพพอร์ตเขาจะอยู่ช่วย 3-4 ปี แต่สำหรับบีทอยู่แค่ 3 เดือน

“ยอมรับว่ามันยากจริง ๆ เพราะมันเป็นการเรียนด้วยภาษาอังกฤษ แบบเด็กไทยเรียนภาษาไทย เราฟังไม่รู้เรื่อง ทุกอย่างจึงดูยากไปหมด แต่บีทเป็นคนมีความมั่นใจ เป็นคนชอบพูด เรื่องการสื่อสารประมาณครึ่งปี ถึง 1 ปีก็ไม่เป็นปัญหาแล้ว ซึ่งตอนนั้นต้องบอกเลยว่า เราขยันมาก ในช่วงวันหยุด เราต้องแบ่งเวลาเพื่อมาเรียนมากกว่าคนอื่น เพราะบีทเชื่อว่า ต่อให้เราทำเท่าเขา เราอาจจะไม่ได้เท่าเขาก็ได้ เราต้องเจอกับการเปลี่ยนแปลงหลายอย่างมากจริง ๆ ทั้งข้ามชั้น ทั้งภาษา”

พอเรียนจบ ม.4 ที่อังกฤษ คุณพ่อ คุณแม่ ขอร้องให้กลับมาเรียนเมืองไทย เพราะกลัวว่าเราจะไม่มีเพื่อนในเมืองไทย บีทจึงกลับมาเรียน ปี 1 ที่เมืองไทย ซึ่งวุฒิ ม.4 ของอังกฤษเทียบเท่ากับ ม.6 ที่เมืองไทย ทำให้บีทประหยัดเวลาไป 1 ปีครึ่ง ตอนนั้นอายุ 14 ปี บัตรประชาชนไปสมัครเรียนยังไม่มีเลย ต้องเอาใบเกิดไปสมัครเรียนมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ภาคอินเตอร์

“ตอนที่เรากลับมาแรก ๆ เราก็คือวัยรุ่นทั่วไป เราก็ถามหา freedom ของเรา แต่คุณพ่อบอกไม่ได้ เพราะที่นี่คือเมืองไทย อยู่ดี ๆ ที่บ้านก็มีกฎสารพัดกฎออกมา ตอนแรกเราก็งง คือแบบกฎของบ้านมีตั้งแต่เมื่อไร ทำไมบีทไม่รู้เลย ประมาณว่าคุณพ่อจะเอาตารางเรียนบีทมาดู แล้วก็ให้คนขับรถไปรอรับที่มหาวิทยาลัยเลย รับมาอยู่กับคุณแม่ที่ออฟฟิศ คือ ในห้องของคุณแม่ก็จะมีโต๊ะเพิ่มขึ้นมาอีก 1 ตัวสำหรับบีท จึงทำให้ทุกครั้งที่คุณแม่คุยงาน คุยโทรศัพท์ บีทก็จะได้ยินทุกคำ หรือเวลาประชุม ถ้าบีทไม่มีธุระก็จะเข้าห้องประชุมกับคุณแม่ด้วย กลายเป็นว่าเราได้ซึมซับและเรียนรู้งานจากคุณแม่ไปด้วย”

สำหรับพ่อวิษณุจะชอบสอนงานอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งเวลาออกไปเที่ยว จะสอนให้คิดและมองเห็นปัญหาระหว่างทางเสมอ สิ่งเหล่านี้ทำให้เธอได้เรียนรู้งานโดยที่เราไม่รู้ตัว เพราะหลาย ๆ ครั้งที่มีการประชุม แล้วเธอได้เข้าไปฟังบริษัทชื่อดังระดับโลก ระดับประเทศ มาบรีฟงานให้แม่ของเธอฟัง ทำให้เธอได้เห็นชิ้นงานที่เรียกว่าเสร็จสมบูรณ์ และได้เห็นตัวอย่างและเรียนรู้สิ่งที่มืออาชีพเขาทำกัน

ด้วยเหตุนี้ ทำให้เธอไม่ต้องนับหนึ่งใหม่เมื่อก้าวเข้ามาในบริษัท เธอใช้เวลาแค่ 3 ปี ในการทำงานก็สามารถก้าวออกไปเป็นตัวแทนบริษัทในการเจรจางาน และได้รับความไว้วางใจจากพ่อและแม่ เพราะเขาคิดว่าเราทำงานมา 10 ปีแล้ว ตามแผนที่เขาทั้งสองคนวางไว้ให้บีทตั้งแต่เรียนหนังสือ

แม้สไตล์การทำงานจะแทบก๊อบปี้พ่อกับแม่มา แต่บีทกลับมองว่าการพักผ่อนเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งเมื่อก่อนพ่อแม่ของเธอประสบความสำเร็จได้เพราะทำงานหนัก ซึ่งเธอก็ทำแบบนั้น จนกระทั่งเมื่อ 2 ปีก่อน เธอได้ไปพักผ่อนแบบเที่ยวจริง ๆ หลังจากชีวิตไม่เคยได้ไปเที่ยวจริง ๆ ตั้งแต่เด็กก็ไปกับพ่อแม่ ซึ่งก็มีแต่เรื่องงานมาเอี่ยว พอได้ไปเที่ยวฮ่องกงกับเพื่อนแบบไม่มีงาน 3 วัน แล้วสมองมันแบบเหมือนถูกชาร์จ เธอจึงเชื่อเรื่อง holiday ว่าคือ การชาร์จพลัง ซึ่งเธอเชื่อว่ามันอาจจะเป็นคนอีก generation หนึ่งที่แตกต่างไป

การก้าวไปสู่เมืองจีนของณุศาสิริ ที่ขับเคลื่อนโดยทายาทรุ่นใหม่ที่เกิดจากต้นแบบที่ดีและมั่นคง แต่การอยู่ในธุรกิจโลกใหม่จำเป็นต้องมองและคิดให้ไกลจากจุดเดิม ดังที่ทายาทสาวคนนี้บอกไว้ว่า

“ตอนนี้โลกเรามันไปไกลแล้ว ตัวเราเองที่มารับช่วงต่อ เราจะมองมุมเดิมที่เขาสร้างมาไม่ได้ ทายาทการศึกษาสูงกว่าพ่อแม่หมด มันก็จะต้องเอาสิ่งที่เราไปเรียนรู้มาจากข้างนอก เข้ามาปรับแก้ข้างใน เพราะบางทีพ่อแม่เราเขาเก่งและประสบความสำเร็จ แต่ว่ามันจะมีเทรนด์อะไรต่าง ๆ ที่เป็นโลกใหม่ พ่อแม่ก็อาจจะยังไม่เอามาใช้ บีทว่า วิชั่นของทายาทก็สำคัญ ว่าต้องการให้บริษัทดีดไปทางไหน”