ส่อง 10 ธุรกิจรุ่ง ปี 2561 อาชีพไหนเหมาะสำหรับคนเบี้ยน้อย

จากข้อมูล 10 อันดับธุรกิจรุ่ง-ร่วง ประจำปี 2561 จัดทำโดย ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ธุรกิจรุ่ง อันดับ

1  ธุรกิจการให้บริการด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและอุปกรณ์ โดยเฉพาะผู้ให้บริการโครงข่าย
2. ธุรกิจบริการทางการแพทย์และความงาม
3. ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ
4. ธุรกิจเครื่องสำอางและครีมบำรุงผิว
5. ธุรกิจด้านปิโตรเคมีและพลาสติก และธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์
6. ธุรกิจโมเดิร์นเทรด ธุรกิจบริการด้านการเงิน และธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม
7. ธุรกิจร้านขายยาและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์
8. ธุรกิจการศึกษา และธุรกิจเกี่ยวกับท่องเที่ยว
9. ธุรกิจประกันภัยและประกันชีวิต ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และบ้านเช่า หรือห้องเช่า ธุรกิจด้านความเชื่อ เช่น โหราศาสตร์ เครื่องรางของขลัง
10. ธุรกิจวัสดุก่อสร้างและรับเหมา ธุรกิจร้านเสริมสวยและตัดผมแนวแฟชั่น

ขณะที่ดาวร่วง อันดับ 1 ยังคงเป็นธุรกิจหัตถกรรม
2. ธุรกิจด้านการผลิตเหมืองแร่
3. สื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสาร และวารสาร
4. ธุรกิจผลิตและจำหน่ายเครื่องเล่นดีวีดีและซีดี
5. ธุรกิจให้บริการโทรศัพท์พื้นฐาน หรือโทรศัพท์บ้าน
6. ธุรกิจเคเบิลทีวี
7. ธุรกิจการผลิตสินค้าเกษตร ยาง ปาล์ม ข้าว
8. ธุรกิจร้านขายมือถือมือสอง 9. ธุรกิจร้านค้าแบบดั้งเดิมหรือร้านโชห่วย 10. ธุรกิจร้านอินเตอร์เน็ต

อันดับที่เกิดขึ้น เป็นไปตามแนวโน้มของโลกยุคดิจิตอล ซึ่งมีผลกระทบต่อธุรกิจทั้งด้านต้นทุน ยอดขาย ภาวะการแข่งขัน ความต้องการของตลาด ซึ่งในด้านของธุรกิจรุ่ง จะเห็นว่า มีถึง 7 ใน 10 ธุรกิจที่อยู่ในนโยบายรัฐบาลที่ต้องการผลักดัน ส่งเสริมให้เป็นอุตสาหกรรมในอนาคต สร้างรายได้ให้กับระบบเศรษฐกิจ อาทิเช่น ธุรกิจการให้บริการด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและอุปกรณ์ รวมถึงบริการอินเตอร์เน็ตและเครือข่าย ที่พุ่งขึ้นมาเป็นอันดับ 1 แซงหน้าธุรกิจด้านการแพทย์ที่ครองแชมป์มาหลายปี เนื่องจากได้รับอานิสงส์จากนโยบายรัฐที่จะให้มีอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านทั่วประเทศภายในกลางปี 2561

ส่วนธุรกิจดาวเด่นที่น่าจับตา เพราะติดอันดับเป็นครั้งแรก นั่นคือ ธุรกิจบ้านเช่าหรือห้องเช่า ซึ่งเติบโตขึ้นตามนโยบายของรัฐที่สนับสนุน ส่งเสริมให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ที่เป็นสตาร์ตอัพ ซึ่งมีเงินทุนไม่สูง ในการเข้ามาพัฒนาธุรกิจนี้ ขณะเดียวกัน การเติบโตของธุรกิจที่พักแรงงานในต่างจังหวัด แผนส่งเสริม กระตุ้นการท่องเที่ยวในแถบหัวเมืองรอง จูงใจให้คนในพื้นที่หันมาปรับโฉมที่พักอาศัยให้เป็นบ้านให้เช่า รองรับนักท่องเที่ยว

แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีหลายธุรกิจที่ไม่น่าเชื่อว่า จะติดอันดับธุรกิจดาวรุ่ง อย่างธุรกิจที่เกี่ยวกับความเชื่อ เช่น โหราศาสตร์ เครื่องรางของขลัง โดยจากคะแนนการสำรวจเต็ม 20 คะแนน พบว่า ประชาชนระบุว่ามีความต้องการถึง 17 คะแนน สวนทางกับยุคเทคโนโลยี อีกทั้งผลสำรวจพบว่า พฤติกรรมของคนไทยยังคงมีเรื่องโชคลางเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ และเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการดูดวงดูอนาคต การสร้างบ้านก็ยังต้องพึ่งพาศาสตร์ฮวงจุ้ย หรือแม้กระทั่งศาสตร์เลขมือถือ ที่นำมาใช้ประกอบการทำมาหากิน ทำนองว่า เลขมือถือ เลขทะเบียนรถ ที่เหมาะกับการค้าการขาย ใช้แล้วรวย เป็นต้น

ส่วนด้านธุรกิจร่วง ก็ไม่ผิดไปตามความคาดหมายเท่าใดนัก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านให้บริการอินเตอร์เน็ต ที่ถูกนโยบายเน็ตหมู่บ้านรุกไล่จนหมดทางทำมาหากิน หรือธุรกิจขายมือถือมือสอง ถูกพิษการแข่งขันตัดราคา กระแสมือถือรุ่นใหม่ๆ ที่ออกสู่ตลาดแทบจะทุกเดือน ทำให้ตลาดมือถือมือสองหมดทางแข่งขัน หรือร้านเช่าหนังสือ ธุรกิจสิ่งพิมพ์ เคเบิลทีวี ก็หายไปพร้อมกับการเกิดขึ้นของทีวีดิจิตอล โดยเฉพาะสิ่งพิมพ์จำพวกนิตยสาร ร่วงกันระนาวอย่างน่าตกใจ เพียงระยะเวลา 2 ปีจากที่เคยมีอยู่บนแผงกว่า 300 หัว ล้มหายตายจาก ประกาศปิดตัว เหลือไม่ถึง 100 หัวในปัจจุบัน

แต่ที่ยังถือว่า คลุมเครือ ไม่แน่ชัดว่า จะเป็นธุรกิจร่วงหรือยัง ได้แก่ โชห่วย หัตถกรรม เกษตรแปรรูป ซึ่งยังมีแนวโน้มที่สวนทางกับนโยบายของภาครัฐที่ต้องการส่งเสริม สนับสนุนให้เป็นธุรกิจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในปี 2561 หรือนโยบายให้ประเทศไทยพ้นจากความยากจน นัยว่า จะไม่มีคนจนอีกเลยในประเทศนี้ ด้วยการแปลงคนจนที่มีอยู่กว่า 11 ล้านคน ให้มีอาชีพ สร้างอาชีพให้ หรือเปลี่ยนอาชีพของคนที่มีรายได้ต่ำ ให้มีรายได้ดีขึ้น เพื่อให้พ้นจากความยากจน

ทำได้หรือไม่ ต้องติดตามกันอย่างมีความหวัง!!

ไม่นานมานี้ ได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ ซึ่งเป็นอีกธุรกิจหนึ่ง ที่รัฐจะใช้เป็นแรงกระตุ้นให้คนไร้อาชีพ ผู้มีรายได้ต่ำ หรือแม้แต่กลุ่มผู้สูงวัย ยึดเป็นอาชีพพื้นฐาน อาชีพที่ว่า คือ ธุรกิจบริการรับซ่อมอุปกรณ์ไอที

คุณครองหทัย มุขพรหม เจ้าของแฟรนไชส์ 2FiiX เล่าให้ฟังว่า “ธุรกิจนี้เป็นการต่อยอดจากที่เคยเป็นผู้นำเข้าอุปกรณ์ไอที ซึ่งแข่งขันกับรายใหญ่ๆ คงยาก ก็เลยคิดถึงช่องว่างและความต้องการบริการซ่อมอุปกรณ์ไอที มือถือ แบบง่ายๆ ริมถนนในแหล่งธุรกิจ ย่านชุมชน ที่ยังมีความต้องการสูง จึงได้ลองทำคีออส (Kiosk) บริการรับซ่อมและขายอุปกรณ์ เริ่มทำมาปีเศษ มีแล้ว 3 สาขา และหลังจากโรดโชว์ร่วมเปิดบู๊ธกับหน่วยงานรัฐ เช่น กระทรวงพาณิชย์ เห็นถึงความต้องการจุดบริการแบบนี้ และเห็นคนไม่น้อยอยากยึดเป็นอาชีพ เราจึงพัฒนา 2 รูปแบบให้เลือก คือ เคาน์เตอร์ขนาดเล็กกว้าง 1.5 เมตร ลงทุน 69,000 บาท และเคาน์เตอร์ใหญ่ ลงทุน 139,000 บาท พร้อมอุปกรณ์และการอบรมซ่อมเบื้องต้น ตั้งใจเปิดให้ครบ 77 จังหวัดภายใน 1 ปีนับจากนี้ และที่เปิดมา 3 สาขา ทำกำไรได้ 50,000-100,000 บาท ต่อเดือน”

อีกธุรกิจหนึ่ง คือ อาชีพขายลูกชิ้นทอด โดย คุณพชร วัฒนกูล เจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัด อร่อยระเบิด ผู้ทำธุรกิจ “ไจแอ้น ลูกชิ้นระเบิด” แฟรนไชส์ลูกชิ้นทอด ปัจจุบันขายแฟรนไชส์แล้วกว่า 2,000 จุดทั่วประเทศ มีแฟรนไชส์ให้เลือก 4 รูปแบบ เหมาะสำหรับคนมีทุนน้อย เพียงแค่ 6,700 บาท ก็สามารถเปิดร้านขายได้แล้ว

คุณพชร เล่าว่า “ลูกชิ้นทอดอยู่คู่กับคนไทยมานาน ตอนเริ่มทำธุรกิจใครๆ ก็คิดว่าจะขายแบบขยายสาขาได้ทั่วประเทศหรือ แต่ถึงวันนี้ เกือบ 10 ปี พิสูจน์แล้วว่า ทำลูกชิ้นทอด ก็สร้างอาชีพและกลายเป็นธุรกิจได้ จึงอยากให้คนที่อยากทำเป็นธุรกิจ อย่ากังวลตัวแปรเรื่องอะไรตกยุค แต่อยู่ที่การปรับตัวรับกับยุคสมัยได้หรือไม่ และทุกรายที่ทำมาก็มีกำไร”

เสริมด้วยข้อมูลจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่ว่า ทุกวันนี้มีคนสนใจอาชีพที่ลงทุนไม่สูง และรัฐสนับสนุนด้วยการมีนโยบายให้ บสย. ค้ำประกันสินเชื่อได้ รายละไม่เกิน 30,000-40,000 บาท ซึ่งกลุ่มคนกลุ่มนี้มีจำนวนมากที่สุด ดูได้จากตัวเลขการยื่นขอสินเชื่อกลุ่มลูกค้ารายย่อย ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีกว่า 2.1 แสนราย ซึ่งเฉพาะปี 2560 ที่รัฐสนับสนุนให้รายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งทุน สนับสนุนการสร้างอาชีพ ลูกค้ากลุ่มนี้มีเพิ่มขึ้นปีเดียวเกือบครึ่งหนึ่ง หรือประมาณ 1 แสนรายทีเดียว

เรียกว่า เป็นช่วงนาทีทองของ “คนจน” ก็ว่าได้!!