โลงศพกระดาษ ค่านิยมใหม่ อีโค่ รักษ์โลก”

บางธุรกิจเปลี่ยนแล้ว “รุ่ง” บางธุรกิจเปลี่ยนแล้วอาจ “แป้ก” และบางธุรกิจกำลังรอคนรุ่นใหม่ใจถึง ไอเดียแปลก การตลาดโดน ๆ มาเปลี่ยนให้เกิดสิ่งใหม่ เหมือนอย่างโลงกระดาษ ที่หลายคนไม่คุ้นชิน แต่จนถึงวันนี้ธุรกิจโลงกระดาษกลับเริ่มเข้าไปทดแทนธุรกิจโลงไม้บ้างแล้ว ทั้ง ๆ ที่ความคิดตั้งต้นเกิดจากการทำสารนิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่มองเห็นธุรกิจครอบครัวผลิตกระดาษมาตั้งแต่เด็ก

แต่วันนี้ธุรกิจดังกล่าวเกิดขึ้นจริงทั้งยังทำท่าจะไปได้ดีในตลาดโลงศพอีกด้วย

เพราะอย่างที่ทราบธุรกิจนี้ “คนเป็นไม่ได้ใช้ คนตายไม่ได้ซื้อ”

แต่ทำไมธุรกิจนี้ถึงเติบโตอย่างรวดเร็ว กระทั่งกลายเป็นเม็ดเงินมหาศาล

จากวิทยานิพนธ์สู่โลงกระดาษ

“อภิญญา รัตนไพศร” เจ้าของไอเดียโลงกระดาษ เล่าว่า คลุกคลีกับธุรกิจผลิตกระดาษมาตั้งแต่เด็ก หลังเรียบจบก็เข้ามารับช่วงต่อธุรกิจจากคุณพ่อทันที ซึ่งทำธุรกิจกระดาษ ในนามบริษัท เอพีเอ็ม นิวไลน์ จำกัด โดยเน้นกระดาษกันกระแทก, เข้ามุมสินค้า, กระดาษอัดแข็ง, รองพาลเลต ซึ่งกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทผู้ส่งออก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร และกลุ่มธุรกิจขนส่ง ย้ายบ้าน ทั้งในและต่างประเทศ

“จนเมื่อ 2558 เราต้องทำสารนิพนธ์ ในหลักสูตรปริญญาโท ก็เลยส่งหัวข้อเรื่องเกี่ยวกับการทำธุรกิจโลงกระดาษ จากนั้นก็เลยต่อยอดจากไอเดียที่ค้นพบ การพูดคุยกับผู้คนต่าง ๆ ลองมาผลิตกระดาษที่มีความคงทนเท่ากับไม้ หรือกระดาษ Solid board อีกอย่างโรงงานของเราก็มีเครื่องจักรในการผลิตอยู่แล้ว และมีองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ ก็เลยหวังใช้จุดแข็งนี้สู้กับธุรกิจสินค้าที่ทำจากไม้”

กระทั่งพบว่าธุรกิจโลงศพเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูง กำไรเยอะ โดยมูลค่าตลาดเฉพาะในกรุงเทพฯ มีการจำหน่ายโลงศพคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 300-400 ล้านบาท/ปี

ส่วนกำไรจากการขายมีกำไรมากกว่า 100% เนื่องจากโลงศพจะมีต้นทุนอยู่ที่ 800 บาท/โลง ขายในราคาส่งอยู่ที่ประมาณ 1,600 บาท/โลง แต่เมื่อไปถึงหน้าร้านสามารถขายได้ในราคา 2,500 บาท และหากมีการประดับลวดลายเทพนมราคาจะพุ่งไปถึง 4,000 บาท/โลง

วิจัยตลาดหลังความตาย

เมื่อ “อภิญญา” มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ เธอจึงเริ่มสำรวจตลาด เพื่อเข้าถึงความต้องการอย่างแท้จริง จึงเริ่มสอบถามกลุ่มผู้มีส่วนใช้โลงศพคือมูลนิธิร่วมกตัญญู วัด และ กทม. และจากการสอบถามความต้องการของกลุ่มมูลนิธิร่วมกตัญญูพบว่าพวกเขาต้องการโลงศพที่มีน้ำหนักเบา เพื่อทุ่นแรงขณะยกศพ และช่วยลดจำนวนคนในการขนย้ายผู้เสียชีวิต

ขณะที่วัด ซึ่งเป็นสถานประกอบพิธีฌาปนกิจ ต้องการโลงที่เผาง่าย ไหม้เร็ว เพื่อประหยัดเชื้อเพลิง และขณะเผาต้องมีควันน้อย เพราะจะช่วยลดมลพิษทางอากาศ และเมื่อเผาเสร็จแล้ว จะต้องมีเศษเถ้ากระดูก และอะไรต่าง ๆ หลังการเผาให้น้อยที่สุด เพราะจะช่วยลดต้นทุนการทำความสะอาด

ส่วนกรุงเทพมหานคร ซึ่งต้องรับผิดชอบในการดูแล ซ่อมแซมเตาเผา ก็ต้องการโลงที่เผาไหม้ง่าย เพื่อประหยัดเวลาการเผา ยืดอายุเตา เพราะต้นทุนในการเปลี่ยนเตาเผามีราคาสูง

โดยรวมแล้วสินค้าต้องสามารถตอบโจทย์ได้ ทั้งเรื่องน้ำหนัก ความง่ายในการทำลาย/เผา และต้นทุนสินค้าที่ต่ำกว่า

คนเป็นซื้อ คนตายใช้

“อภิญญา” ยอมรับว่าธุรกิจนี้มีความยากอยู่เหมือนกัน โดยเฉพาะการสร้างค่านิยมใหม่ เพื่อปรับเปลี่ยนจากโลงไม้ที่ใช้มาอย่างยาวนาน มาสู่โลงกระดาษ จึงต้องมีการใช้กลยุทธ์ด้านราคา และการนำเสนอข้อมูลของสินค้า

“ด้านราคานับว่าสินค้ามีจุดแข็ง เพราะทำราคาได้ต่ำกว่าคู่แข่งถึง 25% คือขายในราคา 600 บาท จากราคาโลงไม้ที่ขายในราคาไม่ต่ำกว่า 800 บาท แต่สามารถทำราคาได้เท่ากัน หรือสูงกว่าเพราะสินค้ามีนวัตกรรม เป็นสินค้าอีโค่ รักษ์โลก”

ส่วนการตลาด “อภิญญา” หันมาใช้กลยุทธ์เชิงรุก ทั้งแบบออนไลน์ และออฟไลน์ โดยออนไลน์มีการจัดทำคลิปวิดีโอลงยูทูบ เพื่อท้าพิสูจน์ความคงทน เปรียบเทียบการใช้จริงให้เห็นกันจะจะ โดยทดลองกับซากหมู ซึ่งให้ผลลัพธ์ที่ดีไม่ต่างจากโลงไม้

“สำหรับการตลาดเชิงรุกผ่านรูปแบบออฟไลน์ เรามีการวอล์กอินตามร้านจำหน่ายโลงศพในกรุงเทพฯ ซึ่งใน 15 ร้าน มีเพียง 4 ร้านเท่านั้นที่ยอมรับสินค้าแบรนด์ของเราไปทดลองจำหน่าย จึงทำให้ต้องมาคิดหาวิธีการเข้าสู่ตลาดใหม่ โดยหันไปเจาะกลุ่มลูกค้าที่บริจาคโลงศพแทน เช่น มูลนิธิ, สถานสงเคราะห์ และวัด พูดได้ว่าผลตอบรับดีเกินคาด มีผู้ทดลองใช้ไปแล้วกว่า 100 โลง โดยผ่านการบริจาค เราจึงเชื่อว่าต่อจากนี้จะทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยผ่านการบริจาค”

ปัจจุบันปริมาณการผลิตอยู่ที่ 10 โลง/วัน โดยเป็นการผลิตแบบใช้แรงงานประกอบ ซึ่งในอนาคตจะมีการลงทุนสร้างโรงงาน และขยายโกดังเก็บสินค้าเพื่อรองรับกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น เพื่อจะได้ปริมาณที่มากขึ้น และคาดว่าน่าจะทำรายได้ให้แก่บริษัทประมาณ 40 ล้านบาท/ปี หรือประมาณ 20% ของรายได้ทั้งหมด

จึงนับเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ “คนเป็นไม่ได้ใช้ คนตายไม่ได้ซื้อ” ด้วยการนำความคิด ไอเดีย นวัตกรรม และเทคโนโลยีมาผสมผสานอย่างลงตัว จนทำให้เกิดความเชื่อใหม่จากโลงไม้ที่หลายคนคุ้นชินมาหลายสิบปี จนกลายมาเป็นโลงกระดาษที่หลายคนเริ่มจับตามอง ก็ล้วนเกิดขึ้นจากการฉุกคิดของเธอ จนกลายเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจ ทั้งยังได้การตอบรับจากตลาดมากขึ้นด้วย

ไม่ธรรมดาเลย

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ