วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรปลากราย จังหวัดชัยนาท ทำปลากรายคุณภาพเกินมาตรฐาน

จากกรณีที่ชาวบ้านจังหวัดชัยนาทประสบปัญหาราคารับซื้อปลากรายตกต่ำกระทบกับรายได้ สร้างความเดือดร้อนจนต้องรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่ม แล้วดึงการแปรรูปเนื้อปลาเข้ามาเสริมเพื่อเพิ่มมูลค่าให้มีรายได้มากยิ่งขึ้น

คุณสิทธิชัย ลิ้มตระกูล หรือ คุณชัย รองประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรปลากราย จังหวัดชัยนาท บอกว่า การป้องกันจากการถูกเอาเปรียบทางด้านราคา จึงเป็นเหตุผลให้ชาวบ้านรวมตัวกันจัดตั้งเป็นกลุ่มเพื่อรวบรวมปลากรายสดขายให้กับผู้รับซื้อโดยตรง

ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการอุดช่องว่างของการตั้งราคาจึงนำเอากระบวนการแปรรูปเนื้อปลากรายเข้ามาเป็นกิจกรรมของกลุ่มไปพร้อมกันด้วย เพื่อตัดระบบพ่อค้าคนกลางออกไป ฉะนั้น สิ่งที่ตามมาคือเทคโนโลยี การบริหารจัดการความรู้ ทักษะ และการตลาด ที่จำเป็นต้องแสวงหาเพิ่มเติม

คุณสิทธิชัย (เสื้อดำ) กับบางส่วนของสมาชิกกลุ่ม

ปัจจุบันกลุ่มลูกค้าที่ทำธุรกิจจำหน่ายปลากราย ได้แก่ ร้านอาหารในจังหวัดชัยนาท กลุ่มผู้ประกอบการโต๊ะจีนในชัยนาท ขณะเดียวกัน ยังได้มีการขยายตลาดออกไปยังจังหวัดใกล้เคียงอื่นๆ อีกหลายแห่ง รวมถึงบางส่วนของกรุงเทพฯ ดังนั้น จึงถือเป็นกลุ่มบุกเบิกเรื่องปลากรายในจังหวัดชัยนาท

คุณชัย เผยว่า เมื่อปี 2558 ปลากรายที่ชัยนาทมีราคาสูงมากถึงกิโลกรัมละ 95-100 บาท จากนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือชาวบ้านแห่มาเลี้ยงกันเป็นจำนวนมากขึ้นเท่าทวีคูณ ซึ่งจากเดิมที่เริ่มต้นมีเพียง 9 บ่อ แต่มีมากขึ้นถึง 32 บ่อ แล้วยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ทำให้ คุณเกษม ทับหร่าย ประธานกลุ่ม กับคุณชัยมองว่าคงต้องเกิดปัญหาตามมาแน่ จึงหารือกันกับสมาชิกในกลุ่มแล้วปรับวิธีบริหารจัดการจากที่เคยเลี้ยงแล้วขายปลากรายสด ต้องดึงเอาการแปรรูปเข้ามาทำด้วย เพราะมิเช่นนั้น ราคาปลากรายอาจลดลงจนทำให้ชาวบ้านต้องเดือดร้อนอย่างแน่นอน

คุณชัยในฐานะรองประธานกลุ่มจะมีหน้าที่ช่วยในเรื่องการบริหารจัดการจึงต้องปรับรูปแบบการเลี้ยงปลากรายโดยการยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้หลักคิดการลดต้นทุนให้มากที่สุดเพื่อทำให้มีรายได้เพิ่ม ดังนั้น จึงได้นำพันธุ์ไม้ผลผสมผสานหลายชนิด อย่างกล้วย มะละกอ มาปลูกบริเวณรอบบ่อเลี้ยงปลา เพราะสามารถช่วยทำให้สภาพแวดล้อมบริเวณบ่อเลี้ยงมีความร่มรื่นทำให้ปลาไม่เครียด หรือสามารถสร้างร่มเงาได้ นอกจากนั้น ผลผลิตกล้วยยังสามารถนำไปใช้เป็นอาหารปลาจึงทำให้ลดต้นทุนการซื้ออาหารปลาได้อีก

 

ปรับสูตรอาหารเข้มข้น เร่งผลิตปลากรายคุณภาพ

ทั้งนี้ ยังติดต่อกับโรงงานผู้ผลิตอาหารปลาเพื่อปรับสูตรอาหารปลาด้วยการเพิ่มโปรตีนจากสัตว์สูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นการเสริมสร้างการเจริญเติบโตของตัวปลาทั้งกระดูกและเนื้อ ทำให้ปลากรายมีขนาดใหญ่ โตเร็วกว่าเดิม และเนื้อปลามีความหวาน หอม อีกทั้งผลของการปรับสูตรอาหารช่วยทำให้ปลามีขนาดตัวโตและสมบูรณ์กว่าเดิมมาก สามารถจับปลาขายได้เร็วกว่า อีกทั้งยังมีสันใหญ่แล้วเนื้อปลาแน่นกว่าด้วย

ไม่เพียงเท่านั้นยังปรับวิธีการให้อาหารจากเดิมใช้วิธีหว่าน แล้วเปลี่ยนมาใช้เครื่องพ่นอาหารแทน ซึ่งแม้จะต้องลงทุนเพิ่มก็เพียงครั้งเดียว แต่วิธีนี้ช่วยทำให้อาหารกระจายไปทั่วบ่อ ทำให้ปลากรายทุกตัวได้รับอาหารเท่ากัน จึงมีขนาดใหญ่และสมบูรณ์ทุกตัว

ปลูกกล้วยริมขอบบ่อ

สำหรับแหล่งหาซื้อลูกพันธุ์ปลากรายจากนครปฐม มีขนาด 3 นิ้วมา ซื้อในลักษณะรวมเป็นกลุ่มจึงได้ราคาถูกกว่าแยกซื้อ เมื่อได้ลูกปลากรายแล้วนำไปให้สมาชิกตามจำนวนที่แต่ละรายต้องการเพื่อนำไปเลี้ยงในบ่อของสมาชิก

“อาหารของลูกปลาเล็กเป็นเบอร์ 1 เลี้ยงไปจนเวลา 3-4 เดือน แล้วจึงเปลี่ยนเป็นอาหารเบอร์ 2 จากนั้นอีก 3-4 เดือน ให้เปลี่ยนเป็นอาหารเบอร์ 3 แล้วเลี้ยงต่อไปอีกจนจับขาย ทั้งนี้ ปริมาณอาหารควรสอดคล้องกับจำนวนปลาที่เลี้ยงโดยมีเกณฑ์ว่าควรใช้อาหารประมาณ 3 เปอร์เซ็นต์ของน้ำหนักปลาทั้งหมดที่เลี้ยงในบ่อ อย่างถ้าปลาที่เลี้ยงจำนวนหมื่นตัวจะให้อาหารประมาณ 2 กิโลกรัม”

 

เลี้ยงปลาด้วยวิชาการผสมภูมิปัญญา สร้างคุณภาพปลา เพิ่มมูลค่าสูง

นอกจากการเลี้ยงปลาด้วยความรู้ทางวิชาการแล้ว ทางกลุ่มยังได้นำความรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้านที่ถือเป็นปราชญ์มาใช้ร่วมกับการเลี้ยง ไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาการให้อาหารปลาโดยไม่มีแดดจัดหรืออากาศร้อนอย่างในเวลาเช้าตรู่-เย็นก่อนตะวันลับฟ้า

หรือแม้แต่ก่อนถึงเวลาจับปลาขายสัก 2 เดือน ผู้เลี้ยงบางรายเสริมสร้างคุณภาพเนื้อปลาด้วยการใช้ไข่ผสมกับอาหารบ้าง หรือบางรายใช้กล้วยสุกผสมกับอาหารแล้วให้ปลากรายกิน เพราะพบว่าคุณสมบัติของกล้วยทำให้เนื้อปลามีสีสวยและรสชาติหวานหอม นอกจากนั้นแล้ว การปลูกกล้วยและมะละกอไว้ริมขอบบ่อเลี้ยงปลายังช่วยป้องกันศัตรูที่จะเข้ามาทำร้ายปลาด้วย

“สิ่งเหล่านี้จะช่วยทำให้ปลามีความสมบูรณ์มากและลดการสูญเสียลง โดยปลาที่เลี้ยงจนจับขายใช้เวลาประมาณ 10-12 เดือน และน้ำหนักที่จับขายแต่ละครั้งในบ่อเลี้ยงจำนวนหมื่นตัว หรือขนาด 1 ไร่ จะได้น้ำหนักรวมประมาณเกือบ 6 ตัน เฉลี่ยตัวละประมาณ 7 ขีด ถึง 1 กิโลกรัม ซึ่งมากกว่าน้ำหนักมาตรฐานที่กำหนดไว้”

ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิกจำนวนทั้งสิ้น 35 ราย แต่ละรายมีพื้นที่เลี้ยงปลา 2 ขนาด คือบ่อใหญ่มีเนื้อที่ 2 ไร่ สามารถเลี้ยงปลากรายได้จำนวน 20,000 ตัว กับบ่อขนาด 1 ไร่ ที่เลี้ยงปลากรายได้จำนวน 10,000 ตัว ลักษณะการจับปลาขายจะมีรอบการจับของแต่ละบ่อที่กำหนดไว้หมุนเวียนกัน จึงทำให้มีจำนวนปลารองรับความต้องการของตลาดอย่างต่อเนื่องไม่ขาดระยะ ส่วนการขายปลาให้ผู้รับซื้อจะใช้ศักยภาพของกลุ่มการันตีเรื่องคุณภาพ จึงทำให้มีราคาขายสูงกว่าชาวบ้านที่เลี้ยงทั่วไป ถึงขนาดจะต้องมีการสั่งล่วงหน้า ซึ่งชาวบ้านจะมีรายได้จากการขายปลากรายสดเฉลี่ยรายละประมาณ 100,000 บาท ต่อรอบการเลี้ยง

สมาชิกจะเลือกขายปลากรายสดให้กับพ่อค้ารับซื้อ หรือจะแบ่งขายให้กับกลุ่มเพื่อใช้แปรรูปก็ได้ซึ่งจะมีราคาสูงกว่าปลาสด โดยทางกลุ่มจะนำปลามาขูดเอาเนื้อออกเพื่อขายเฉพาะเนื้อ ในแต่ละวันมีจำนวนเนื้อปลากรายที่ขูด 80-100 กิโลกรัม แล้วสามารถขายได้หมดทุกวัน เรียกว่าขูดสด ขายสด ทุกวันเลย

ทั้งนี้ มีจำหน่ายทั้งแบบปลีก-ส่ง ถ้าราคาปลีกกิโลกรัมละ 240 บาท หากซื้อ 5 กิโลกรัม ราคาขาย 220 บาท ต่อกิโลกรัม และ 10 กิโลกรัม ราคาขาย 200 บาท ต่อกิโลกรัม (ราคาไม่รวมค่าขนส่ง) สามารถติดต่อได้ที่ คุณมิว โทรศัพท์ (095) 631-0160 คุณแนน โทรศัพท์ (095) 250-3639

 

ทดลองเลี้ยงปลาผสมผสาน ป้องกันต้นทุนสูงในอนาคต

อย่างไรก็ตาม แนวโน้มปัญหาราคาขายปลากรายอาจไม่ยุติง่าย ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันต้นทุนการเลี้ยงปลาในอนาคตที่ไม่แน่นอน จึงหาทางออกด้วยการทดลองเลี้ยงปลานิล ปลากราย และปลากดคัง ผสมผสานในบ่อเดียวเพื่อให้ปลาแต่ละชนิดเกื้อกูลกัน

โดยเริ่มจากการปล่อยลูกปลานิลที่มีอายุ 2 เดือน ขนาดสัก 2-3 นิ้ว จำนวน 2,000-2,500 ตัว ลงไปเลี้ยงก่อนสัก 2 เดือน ปลานิลกินพืชเป็นอาหารจึงแทบไม่ต้องลงทุนค่าอาหาร จนเมื่อปลานิลมีลูกเกิดขึ้นจึงปล่อยปลากรายขนาด 3 นิ้ว จำนวนสักหมื่นตัว แล้วใช้ลูกปลานิลเป็นอาหารปลากราย ขณะที่ปลากรายกินลูกปลานิลไม่หมดจะเหลือเป็นเศษไว้ ก็เลยทำให้ปลากดคังกินเศษที่เหลือจากปลากรายเป็นอาหาร

หากผลที่ได้รับจากการทดลองนี้สำเร็จจะช่วยให้ 1. ลดค่าอาหาร 2. สภาพน้ำในบ่อไม่เน่าเสียหรือไม่ต้องถ่ายบ่อย เพราะไม่มีเศษอาหารหลงเหลือ และ 3. ไม่ต้องเดือดร้อนกับการขยับราคาซื้อ-ขายปลาแต่ละชนิดเพราะมีต้นทุนต่ำอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าจะได้กำไรมาก-น้อยเท่าไร

“จึงถือได้ว่าแนวทางนี้ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายจากการเลี้ยงปลาแบบเดิมได้ถึง 30-40 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขสูงมาก แล้วที่สำคัญ มีรายได้ที่เกิดจากการขายปลาทั้ง 3 ชนิด ถือเป็นการชดเชยรายได้ แนวทางนี้ถือเป็นทางเลือกที่ดีและเกิดประโยชน์แก่ชาวบ้านอย่างแท้จริง” คุณชัย กล่าว

สอบถามรายละเอียดสั่งซื้อผลิตภัณฑ์ปลากราย หรือสนใจเข้าศึกษาดูงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรปลากราย จังหวัดชัยนาท ติดต่อได้ที่ คุณสิทธิชัย ลิ้มตระกูล โทรศัพท์ (089) 745-0399 หรือติดตามความเคลื่อนไหวและกิจกรรมต่างๆ ของกลุ่มได้ที่ Fb : วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรปลากรายจังหวัดชัยนาท

 

เนื้อปลากรายมาประยุกต์ใส่ในพิซซ่า