ชีวิตดั่งนิยาย จากวินมอไซค์ สู่เถ้าแก่ รง.หมูปิ้ง – ไส้กรอกอีสาน ยอดขายวันละกว่าล้านบาท

“ชีวิตคนเราไม่แน่ไม่นอน” ประโยคดังกล่าวนี้ เห็นจะจริงที่สุดสำหรับ คุณชวพจน์ ชูหิรัญ หรือ “เฮียนพ”

ผู้ผ่านชีวิตจากจุดต่ำสุด ขนาดที่ว่าบ้านซุกหัวนอนแทบจะยังไม่มี ผ่านงานมาแล้วนับร้อยอาชีพ ทั้งพนักงานรักษาความปลอดภัย คนขับแท็กซี่ ขับวินมอเตอร์ไซค์ มาสู่ เถ้าแก่โรงงานหมูปิ้ง ที่มีออร์เดอร์เฉลี่ยวันละ 100,000 ไม้ อ่านไม่ผิดหรอกค่ะ เฉลี่ยวันละหนึ่งแสนไม้

เหตุที่มียอดขายขนาดนี้เพราะมีแหล่งที่ส่งคือ โมเดิร์นเทรด / คนที่มาซื้อไปสร้างเป็นแบรนด์ของตัวเอง/ ตัวแทนขาย และพ่อค้ารายเล็กรายน้อย

ชีวิตที่ผกผัน ลงต่ำสุด ขึ้นสูงสุดนี้ ไม่ใช่อยู่ๆ ก็ได้มา หากแต่ต้องผ่านประสบการณ์ ผ่านร้อน ผ่านหนาว กระทั่งมาสู่จุดนี้

คุณนพ เล่าว่า จบการศึกษาแค่มัธยมศึกษาปีที่ 3 หลังจากเรียนจบ ทำงานโรงงานอีก 10 ปี ผันไปสู่พนักงานโรงแรม จนกระทั่งเข้าสู่ปี 2540 วิกฤตต้มยำกุ้ง ก็ถูกเลิกจ้าง จากนั้นก็ดิ้นรนทำและพยายามหาอาชีพอีกหลายอาชีพ ทั้งค้าขายตามตลาดนัด เป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย ไปเรียนการทำน้ำยาล้างจาน เรียนทำไอศกรีม พร้อมๆ กับออกไปขับแท็กซี่ ขับวินมอเตอร์ไซค์แถวสถานีตำรวจ อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และชีวิตมาสู่จุดผกผันครั้งยิ่งใหญ่เมื่อได้รู้จักกับกลุ่มแม่บ้านโรงพักตำรวจปากเกร็ด

ที่กลุ่มแม่บ้านนี้เอง คุณนพได้สูตรการทำหมูปิ้งมาจาก “คุณอั้ว อักษร” ซึ่งคุณนพ บอกว่า อยากให้เอ่ยชื่อคุณอั้ว เลย เพราะสูตรของคุณอั้วนี่เองที่ทำให้คุณนพได้มีวันนี้

จากสูตรหมูปิ้งคุณอั้ว กับเงินลงทุนก้อนแรก ราว 500 บาท เป็นค่าเครื่องปรุง ไม้เสียบหมู ทำส่งขายแม่ค้า วันละ 100-200 บาท (ส่งเป็นหมูหมักเสียบไม้ ให้แม่ค้าไปปิ้งขายเอง) ทำได้พักใหญ่ก็พบกับผู้ปกครองที่มารับบุตรหลานแถวนั้นมาสั่งครั้งละเป็นพันไม้ ซึ่งทำให้คุณนพคิดต่อยอดออกไปอีกว่า ถ้าได้ออร์เดอร์ทำนองนี้สัก 3-4 เจ้าต่อวันก็น่าจะดี

คิดดังนั้น คุณนพก็ทำสติ๊กเกอร์โฆษณา ออกแปะตามเสาไฟ ทำให้มีลูกค้ามากขึ้นมาอีกนิด กระทั่ง เข้าสู่ช่วงหักเหครั้งใหญ่ของชีวิตอีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปี 2554

ช่วงน้ำท่วม แม่ค้าพ่อค้าหลายรายหยุดค้าขาย แต่คุณนพไม่หยุด ซึ่งเป็นเหตุให้ได้ลูกค้า และได้เงินค่อนข้างมากในช่วงนี้ เรียกว่าฟันยอดขายเละเทะ จนสามารถออกรถกระบะได้ 1 คัน หลังน้ำท่วม และไปพบกับลูกค้าใหญ่รายหนึ่ง ที่สั่งหมูเสียบไม้ (ยังไม่ปิ้ง) ถึงวันละ 50,000 ไม้ (และลูกค้ารายนี้เองที่เป็นคนแนะนำให้จดทะเบียนการค้า การเสียภาษีอย่างถูกต้อง กระทั่งไปสู่การสร้างโรงงาน ที่ซอยติวานนท์ จังหวัดนนทบุรี

ปัจจุบัน โรงงานหมูเสียบไม้ 2 โรงงานของคุณนพ อยู่ที่ซอยติวานนท์ และสร้างเพิ่มอีก 1 โรงงานที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งนับเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ หากลองมองย้อนกลับไปดูว่าอะไรที่ทำให้คุณนพเดินมาถึงจุดนี้  จุดที่เรียกว่า “มาไกลมาก”

แถมล่าสุด ยังมีโรงงานไส้กรอกอีสานอีก ซึ่งคุณนพ  นำเครื่องจักรมาใช้แทนแรงงานคน โดยเทียบสมรรถนะ ของเครื่องจักร ให้ฟังว่า   ถ้าใช้แรงงานคน กำลังการผลิต 10,000 ลูก ใช้คน 30 คน จะใช้เวลา 12 ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นเครื่องจักร  กำลังการผลิต 10,000 ลูกใช้เวลา 1 ชั่วโมง 40 นาที  แต่ทั้งนี้ ก็ต้องลงทุน ค่าเครื่องจักรไปราว 2 ล้าน 7 แสนบาทเศษ

จริงๆ แล้ว คุณนพบอกว่า อยากใช้แรงงานคนมากว่า เพราะเป็นการสร้างงาน แต่ การใช้เครื่องจักร จะผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรมอาหารได้ดีกว่า  อีกเหตุผลหนึ่งคือ การทำไส้กรอกอีสาน ถ้าไม่สะอาดจริงๆ แล้ว จะมีโอกาสมีเชื้อปนเปื้อน ได้ง่ายมาก

คุณนพ บอกว่า เหตุที่เพิ่มไลน์การผลิต ไส้กรอก ก็เนื่องจากว่า มีพ่อค้าแม่ค้ามาซื้อหมูเสียบไม้ไปปิ้งขาย ก็มีคำถามตามมาค่ะว่า น่าจะไส้กรอกอีสานด้วย เพราะเป็นอาหารที่ใกล้เคียงกัน ซึ่งนอกจากจะเพิ่มตัวเลือกสินค้าให้พ่อค้าแม่ค้าแล้ว ผู้บริโภคก็มีตัวเลือกมากขึ้นด้วยเช่นกัน

คุณนพ บอกว่า “ที่มาได้อย่างทุกวันนี้ ชีวิตไม่ได้วางแผนเลย เราแค่ดิ้นรน หนีความจน หนีความลำบาก และหลีกหนีการเป็นหนี้เป็นสิน แต่สิ่งหนึ่งที่ผมยึดมาตลอดการทำธุรกิจ นั่นคือ สัจจะ ผมไม่หลอกลวงลูกค้า ผมตรงไปตรงมา ทำธุรกิจก็ตรงไปตรงมา ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นทะเบียน การเสียภาษี ทุกอย่างถูกต้อง แรงงานในโรงงานมี 200 คน เป็นต่างด้าว 90 เปอร์เซ็นต์ ขึ้นทะเบียนถูกต้องทุกคน และมีคนไทย 10 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นต่างด้าว หรือคนไทย ผมให้สวัสดิการเหมือนกันทุกประการ”

นอกจากนี้ คุณนพ ยังเล่าให้ฟังอีกว่า ช่วงที่่ดิ้นรนขวนขวายหาอาชีพ เขาติดตามนิตสารเส้นทางเศรษฐีมาโดยตลอด เรียกว่าเป็นแฟนพันธุ์แท้เลยทีเดียว ได้ไอเดีย ได้แนวคิดมากมายจากนิตยสารเล่มนี้ โดยบอกว่าเป็นนิตยสารสำหรับคนที่กำลังมองหาอาชีพโดยแท้

ชีวิตดังนิยายของคุณนพ ยังไม่จบแต่เพียงเท่านี้ หากแต่จุดที่ยืนอยู่นี้ก็พอจะเป็นแรงบันดาลใจให้คนสู้ชีวิต ได้ดูเป็นแบบอย่าง และมีแรงฮึดลุกขึ้นมาสร้างสรรค์กิจการในแบบของตัวเอง