ผู้เขียน | ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
แม้กระแสแอนตี้อิสลามจะกำลังร้อนแรงในสหรัฐอเมริกา หลังจาก “โดนัลด์ ทรัมป์” ผู้สมัครจากพรรครีพับลิกันใช้เรื่องนี้เป็นประเด็นหาเสียงในศึกชิงตำแหน่งประธานาธิบดีบ่อยครั้ง รวมถึงเหตุรุนแรงที่เชื่อมโยงกับกลุ่มไอเอส แต่ขณะเดียวกัน อาหารฮาลาล ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมอิสลามกลับได้รับความนิยมจากเหล่าวัยรุ่นอเมริกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆเห็นได้จากการมีร้านอาหารที่เสิร์ฟเมนูฮาลาลกระจายอยู่ทั่วสหรัฐไม่น้อยกว่า 7,600 แห่ง เพิ่มขึ้นถึง 38 เท่าจากปี 2541 ซึ่งมีเพียง 200 แห่งเท่านั้น
โดยสำนักข่าว “บลูมเบิร์ก” รายงานว่า ตลาดอาหารฮาลาลในสหรัฐกำลังเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกช่องทางทั้งร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านชำและร้านสะดวกซื้อด้วยอัตราที่รวดเร็วขึ้นทุกปี ตามตัวเลขของหลายหน่วยงาน อาทิ สภาอาหารอิสลามแห่งสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นหน่วยงานรับรองมาตรฐานฮาลาล และบริษัทวิจัยนีลเส็น ระบุว่าหากรวมยอดขายทั้งในร้านอาหารและซูเปอร์มาเก็ตเข้าด้วยกันแล้ว ตลาดนี้จะมีมูลค่ากว่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตขึ้นประมาณ 30% จากปี 2553 เช่นเดียวกับยอดขายอาหารฮาลาลในช่องทางร้านชำและร้านสะดวกซื้อทั่วสหรัฐตั้งแต่ ส.ค.ปีที่แล้วจนถึง ส.ค.ปีนี้สูงถึง 1,900 ล้านเหรียญสหรัฐ เติบโต 15% จากช่วงเดียวกันในปี 2555
“แอนนัน ดูรานี” ซีอีโอของอเมริกัน ฮาลาล ผู้ผลิตขนมและอาหารฮาลาลพร้อมทาน แบรนด์ “แซฟฟรอน โรด” (SaffronRoad) วางจำหน่ายในกว่า 12,000 ช่องทางทั่วสหรัฐ อธิบายเทรนด์นี้ว่า การเติบโตของอาหารฮาลาลมาจาก 2 ปัจจัย คือ ความนิยมอาหารฮาลาลของกลุ่มวัยรุ่นยุคมิลเลนเนียล ซึ่งเป็นผู้บริโภครุ่นใหม่ที่มองว่าอาหารฮาลาลดีต่อสุขภาพ เมื่อเทียบกับฟาสต์ฟู้ดหรืออาหารตะวันตกอื่น เห็นได้จากฐานลูกค้า 80%ของบริษัทนั้นไม่ใช่ผู้นับถืออิสลาม ขณะเดียวกันจำนวนชาวมุสลิมในสหรัฐที่มีกว่า 3.3 ล้านคนในปัจจุบันและมีแนวโน้มจะเพิ่มเป็น8.1 ล้านคนภายในปี 2593 ด้วยเช่นกันแสดงถึงศักยภาพการเติบโตของตลาดในระยะยาว
ขณะเดียวกันหลายธุรกิจทั้งซูเปอร์มาร์เก็ตไปจนถึงฟู้ดทรักเริ่มหันมาจับกระแสนี้ เพื่อสร้างยอดขายพร้อมกับสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด
ไม่ว่าจะเป็น “โฮลฟู้ด มาร์เก็ต” (Whole Foods Market) ผู้บริหารเชนซูเปอร์มาร์เก็ตโฮลฟู้ดจำนวน 433 สาขาในสหรัฐซึ่งเริ่มจัดแคมเปญอาหารฮาลาลในเดือนรอมฎอนมาตั้งแต่ปี 2554 โดย “ริค ไฟน์เลย์” ผู้ประสานงานด้านสินค้าของโฮลฟู้ด ยืนยันว่าตลอด 5 ปีที่ผ่านมายอดขายของแคมเปญนี้เพิ่มขึ้นเป็นเลข 2 หลักทุกครั้ง
“แม้ตอนแรกจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มอนุรักษนิยมเรื่องความเหมาะสมบ้าง แต่สถานการณ์ปัจจุบันก็ได้พิสูจน์แล้วว่ากลยุทธ์นี้ช่วยย้ำภาพลักษณ์ของบริษัทในฐานะผู้นำเทรนด์ในตลาดซูเปอร์มาร์เก็ตได้เป็นอย่างดีอีกทั้งยังทำให้โฮลฟู้ดเป็นฟู้ดเดสติเนชั่นของผู้ชื่นชอบอาหารฮาลาลอีกด้วย”
เช่นเดียวกับ”ฮาลาลกายส์” (Halal Guys)ธุรกิจฟู้ดทรักอาหารฮาลาลในกรุงนิวยอร์กซึ่งได้อานิสงส์จากความนิยมที่เพิ่มขึ้น จนประกาศแผนเปิดโมเดลร้านอาหารฮาลาล พร้อมตั้งเป้าขยายสาขาไม่น้อยกว่า 300 สาขา ทั่วสหรัฐในอีก 2-3 ปีจากนี้
โดยหลังจากนี้ยังต้องจับตาดูผู้ผลิตขนมระดับบิ๊กเนมอย่าง “มอนเดลีซ” ซึ่งครองตลาดขนมฮาลาลในกลุ่มประเทศมุสลิม อาทิ อินโดนีเซีย ซาอุดีอาระเบีย แต่ยังไม่ทำตลาดขนมฮาลาลในสหรัฐ เช่นเดียวกับ “เนสท์เล่” ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ที่มีโรงงานมาตรฐานฮาลาลอยู่ 151 แห่งทั่วโลก แต่ในตลาดสหรัฐกลับยังขายอาหารฮาลาลเหล่านี้ให้กับโรงพยาบาลเป็นหลัก
ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงทิศทางของตลาดอาหารฮาลาลในสหรัฐที่น่าจะเริ่มร้อนแรงขึ้นตามลำดับหลังภาพดีมานด์ในตลาดและความสำเร็จของผู้ประกอบการรุ่นบุกเบิกเด่นชัดขึ้น
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ