ผู้เขียน | เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
การเลี้ยงหอยแครง ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม มี 2 แบบ คือ การเลี้ยงแบบพัฒนาและ การเลี้ยงแบบธรรมชาติ แต่การเลี้ยงทั้งสองแบบ มีข้อจำกัดเรื่องของเงินทุนและพื้นที่สัมปทานในท้องทะเล เกษตรกรที่มีเงินทุนน้อยจึงปรับเปลี่ยนการเลี้ยงใหม่ โดยเอาทั้งสองวิธีมาผสมผสานกันเป็นการเลี้ยงแบบ “กึ่งพัฒนาธรรมชาติ”
คุณวรเดช เขียวเจริญ เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงหอยแครงแห่งบ้านคลองคด ตำบลคลองโคน อำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม เป็นบุคคลหนึ่งที่พลิกผันตัวเองจากเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำมาเป็นเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จกับการเพาะเลี้ยงหอยแครงแบบกึ่งธรรมชาติ บนพื้นที่ 130 ไร่
คุณวรเดช เล่าให้ฟังว่า จากที่ฟาร์มกุ้ง ซึ่งเป็นอาชีพที่พ่อและแม่ทำมา ประสบปัญหากับโรคอย่างรุนแรง ทำให้ผลผลิตเสียหาย กุ้งตายเป็นจำนวนมาก แต่ในขณะที่กุ้งเกิดปัญหาอย่างรุนแรง ตนกลับพบว่าหอยแครงที่ปล่อยลงไปในบ่อหลังจากที่จับกุ้งจำหน่ายสามารถสร้างรายได้แทน จึงค่อยปรับเปลี่ยนจากกุ้งมาเป็นหอยแครง โดยผสมผสานวิธีการเลี้ยงเป็นแบบกึ่งพัฒนาธรรมาชาติ
“การเลี้ยงแบบกึ่งพัฒนา เป็นแนวคิดที่ผมทดลองทำหลังจากที่กุ้งเกิดโรค ซึ่งผมมองว่ามีพื้นที่อยู่แล้ว มีบ่ออยู่แล้ว จะไปเลี้ยงแบบพัฒนาอย่างเต็มตัวก็ยังไม่ไหว เพราะต้องใช้แรงงานคนเป็นจำนวนมากในการดูแลและต้องใช้เงินทุนสูง เลยกลับมาปรับคิดเลี้ยงแบบกึ่งพัฒนาธรรมชาติ โดยการนำมาเลี้ยงในบ่อกุ้งและปล่อยให้หาอาหารกินเอง ซึ่งจากที่เลี้ยงมา ผลตอบแทนถือว่าเป็นที่น่าพอใจ” คุณวรเดช กล่าว
ปรับเปลี่ยน เลี้ยงแบบกึ่งพัฒนาธรรมชาติ
คุณวรเดช ปรับบ่อกุ้ง เป็นบ่อเลี้ยงหอยแครง โดยขนาดของบ่อที่ใช้เลี้ยงจะมีความกว้างความยาวขึ้นอยู่กับพื้นที่ ซึ่งบางบ่อกินเนื้อที่เกือบ 33 ไร่ ความลึกโดยทั่วไปจะอยู่ที่ 1 เมตร ถึง 1.5 เมตร โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ของฟาร์มจะอยู่ติดกับทะเล
“ก่อนจะปล่อยพันธุ์หอยแครงลงไปในบ่อกุ้งเดิม ผมจะทำความสะอาดบ่อเพาะเลี้ยง ฆ่าเชื้อโรค โดยการตากบ่อไว้ระยะหนึ่งก่อน พอหลังจากบ่อพร้อม ผมก็จะปล่อยน้ำเข้าในบ่อประมาณ 1 เมตร แต่ละเดือนจะคอยปล่อยน้ำ เข้า-ออก 2 ครั้ง เพื่อปรับคุณภาพของน้ำภายในบ่อให้มีความสมดุล โดยการปล่อยน้ำเข้า-ออกบ่อนั้นจะอาศัยช่วงเวลาที่น้ำทะเลขึ้น”
พันธุ์และอัตราการปล่อยและการเลี้ยง คุณวรเดช เล่าว่า ในแต่ละบ่อจะปล่อยลูกหอยแครงที่รับชื้อจากชาวบ้านที่ไปลากอวนมาจากทะเล ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นหอยแครงปากแบน จากจังหวัดสุราษฎ์ธานีและประเทศเพื่อนบ้านแถบมาเลเซีย มาปล่อยลงบ่อ ในอัตราบ่อละ 300 ตัว (300-500 กิโลกรัม) เท่านั้น เนื่องจากหอยแครงที่ปล่อยลงไปมีอัตราการรอดสูงถึง 70 เปอร์เซ็นต์ เลี้ยงไประยะหนึ่งหอยแครงจะไปแพร่ขยายออกลูกเพิ่มขึ้นเป็นอีกเท่าตัว ดังนั้นไม่จำเป็นต้องปล่อยในปริมาณมาก
การเลี้ยงแบบกึ่งพัฒนาธรรมชาติ ในแต่ละวันไม่มีกิจกรรมอะไรมาก นอกจากการบำบัดหน้าดิน โดยให้จุลินทรีย์ทุกๆ 7 วัน ควบคู่กับให้แคลเซียมเพิ่มความหนาของเปลือกหอยแครง แต่อย่างไรก็ตาม อาชีพเพาะเลี้ยงหอยแครง ต้องใช้ระยะในการเลี้ยงประมาณ 8 เดือน หรือมากถึง 1 ปีถึงจะสามารถจับขายได้ ดังนั้นการเพาะเลี้ยงหอยแครงของคุณวรเดช จึงเน้นเพาะเลี้ยงหอยแครงให้แต่ละรุ่นมีอายุห่างกัน เพื่อจะจับขายสร้างรายได้ทุกวัน ส่วนอาหาร คุณวรเดช บอกว่า เนื่องจากเป็นการเลี้ยงแบบกึ่งพัฒนาธรรมชาติ อาหารจึงไม่จำเป็นต้องให้ จะปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติ
สำหรับปัญหาในการเลี้ยง หลักๆ แล้วทางธรรมชาติจะไม่มีจะมีก็แต่เรื่องของแรงงานที่ต้องจ้างมาดูแลฟาร์ม พันธุ์หอยและเงินทุนที่จะต้องนำมาใช้หมุนเวียนในช่วงระยะเวลาที่รอเก็บหอยจำหน่าย
ในการจับหอยแครงจำหน่ายให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่เข้ามารับชื้อ โดยวันธรรมดาทั่วไปจับได้ประมาณ 200-300 กิโลกรัม ราวๆ 6,000-7,000 บาทต่อวัน แต่หากช่วงไหนที่ตรงกับช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ ซึ่งเป็นช่วงที่หอยจะโตเร็ว จับขายได้มากถึง 3,000 กิโลกรัมต่อวัน ราวๆ 63,000 ต่อวันโดยเฉลี่ย
สงสัยหรือสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับวิธีการเพาะเลี้ยง สามารถติดต่อได้ที่คุณวรเดช เขียวเจริญ โทรศัพท์ (084) 478-7636