เกษตรกรรุ่นใหญ่วัยเกษียณ จ.หนองบัวลำภู สร้างชีวิตดี-ครอบครัวมีรายได้ ด้วยไร่นาสวนผสม

ลุงสิงทอง นาชัย เกิดวันที่ 10 มิถุนายน 2489 ปัจจุบัน อายุ 71 ปี สัญชาติไทย เชื้อชาติไทย ศาสนาพุทธ จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 สมรสกับ ป้าเพ็ญ นาชัย มีบุตรด้วยกันจำนวน 2 คน ปัจจุบัน อยู่บ้านเลขที่ 49 หมู่ที่ 13 บ้านทรัพย์ภูเก้า ตำบลหนองเรือ อำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู เป็นเกษตรกรที่ไฟแรง เพราะทำการเกษตรมาหลายปี ทำให้ชีวิตดีขึ้น ฐานะครอบครัวเข้มแข็ง ฐานะการเงินมั่นคง และเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรของอำเภอโนนสัง

ข้อมูลเกี่ยวกับประเภททางการเกษตรที่ดำเนินการ
ตำแหน่งทางสังคม
1. หมอดินอาสา
2. ประมงอาสา
3. คณะกรรมการบริหารศูนย์บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลหนองเรือ
4. อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน

จากซ้ายไปขวา ป้าเพ็ญ-ลุงสิงทอง นาชัย และ คุณวีรสุทธิ์ โฮสูงเนิน เกษตรอำเภอโนนสัง ออกเยี่ยมเยือนแลกเปลี่ยนข้อมูล

ประเภททางการเกษตรที่ดำเนินการ
มีประสบการณ์ในการทำงานภาคเกษตรมาแล้ว 25 ปี
ดำเนินงานทางด้านการเกษตร ได้แก่ การทำไร่นาสวนผสม และการเกษตรทฤษฎีใหม่

กิจกรรมการทำไร่นาสวนผสม โดยแบ่งพื้นที่สำหรับการทำกิจกรรมทางการเกษตร มีพื้นที่ทั้งหมด 32 ไร่ พื้นที่อยู่อาศัย จำนวน 1 ไร่
พื้นที่สระน้ำ จำนวน 5 ไร่ (เลี้ยงปลานิล ปลาจีน ปลาตะเพียน)
พื้นที่ปลูกผัก จำนวน 1 ไร่ (บวบ และถั่วฝักยาว)
พื้นที่ปลูกไม้ผล จำนวน 6 ไร่ (ฝรั่ง พุทรา มะขามเทศ แก้วมังกร)
ที่นา จำนวน 19 ไร่
ไก่พื้นบ้าน จำนวน 123 ตัว
เจ้าของการใช้แรงงานจากตนเองและสมาชิกในครอบครัว ทั้งสิ้น จำนวน 4 คน

ทดลองปลูกทุเรียน

ข้อมูลด้านผลงาน
1. ทำนา พันธุ์ข้าวที่ปลูก กข 6 ผลผลิต/ไร่/ปี 340 กิโลกรัม/ไร่/ปี ขายได้ 24,000 บาท
2. ทำสวน (พุทรา ฝรั่ง มะขามเทศ แก้วมังกร) ปีละ 113,000 บาท
3. ประมง ชนิดของสัตว์ที่เลี้ยง ปลานิล ปลาจีน ปลาตะเพียน รายได้ปีละ 30,000 บาท
4. การเลี้ยงสัตว์ รายได้ปีละ 20,000 บาท
5. การปลูกผัก รายได้ปีละ 15,000 บาท

ประวัติการอบรม
1. การทำการเกษตรตามแนวทางการเกษตรทฤษฎีใหม่
2. การผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน
3. การเลี้ยงปลาในบ่อดิน
4. การทำปุ๋ยหมักและปุ๋ยชีวภาพ

ความคิดริเริ่มและความพยายามฟันฝ่าอุปสรรคในการสร้างผลงา

1. การนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ได้นำแนวทางเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่มาปรับใช้ในการทำงาน โดยแบ่งพื้นที่ที่มีอยู่ออกเป็นส่วนๆ เพื่อใช้ในการทำกิจกรรมการเกษตรผสมผสาน แล้วพัฒนาปรับปรุงดินให้มีคุณภาพ เน้นการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก ปุ๋ยน้ำสมุนไพร และทำสารสกัดจากสมุนไพรเพื่อไล่แมลง

2. เกษตรกรมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงและไร่นาสวนผสม การน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในชีวิตประจำวัน

ด้านความพอประมาณ…โดยการดำเนินชีวิตด้วยความพอเพียง ความเป็นอยู่ไม่ฟุ้งเฟ้อ ทำอาชีพการเกษตร โดยความร่วมมือของคนในครอบครัวก่อให้เกิดรายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงตนเองและครอบครัว ไม่เป็นหนี้เป็นสิน มีเงินออมไว้ใช้ในยามจำเป็น

ด้านความมีเหตุผล…ด้านครอบครัวพยายามใช้จ่ายอย่างประหยัด ไม่ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือยเกินความจำเป็น ด้านการเกษตรเน้นการลดต้นทุนการผลิต โดยการทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยน้ำ และสารไล่แมลงที่ผลิตขึ้นใช้เองและไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ศัตรูธรรมชาติ

ระบบน้ำ

การมีภูมิคุ้มกันที่ดี…ซึ่งเริ่มจากการรู้จักทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายในครัวเรือน และทำบัญชีต้นทุนการประกอบอาชีพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 จนถึงปัจจุบัน ทำให้ตนเองรู้ว่ามีรายรับเพียงพอกับรายจ่าย และยังมีเงินเหลือเก็บเป็นเงินออมไว้ใช้เมื่อคราวจำเป็น และยังรู้ว่าการประกอบอาชีพเกษตรกรรมนั้น ทำแล้วรู้ต้นทุน รู้ว่าทำแล้วได้กำไร ไม่ขาดทุน แล้วยังได้นำความรู้นี่ไปถ่ายทอดให้เกษตรกรและคนในชุมชนได้จัดทำบัญชีครัวเรือน เพราะเห็นแล้วว่ามีประโยชน์มาก

โดยการเป็นอาสาสมัครเกษตรด้านการทำบัญชี (ครูบัญชี) ประจำตำบลหนองเรือ ซึ่งดูแลโดยสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์จังหวัดหนองบัวลำภู กรมตรวจบัญชี จนได้รับคัดเลือกให้เป็นครูบัญชีดีเด่นระดับจังหวัดหนองบัวลำภู นอกจากนี้ ยังได้รับรางวัลชนะเลิศ อันดับที่ 2 การประกวด เกษตรกรดีเด่น สาขาไร่นาสวนผสม สำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู ปี 2549

ความรอบรู้…เมื่อทำการเกษตรแล้วต้องทำให้จริง โดยอาศัยประสบการณ์และพยายามศึกษาหาความรู้จากหน่วยงานต่างๆ ที่จัดการอบรมให้ความรู้และการให้ความสนับสนุน จนได้รับเชิญให้เป็นวิทยากร เช่น
วิทยากรการจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง
วิทยากรการขยายพันธุ์พืช การทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์น้ำ ปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด สารขับไล่แมลง การทำเกษตรทฤษฎีใหม่ การเกษตรผสมผสาน
ความมีคุณธรรมตามหลักศาสนา โดยการปฏิบัติตนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี นำหลักศีล 5 ยึดถือเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต และสอนให้บุตรหลานปฏิบัติตนเป็นคนดี

3. ความรู้ด้านการเกษตร ทั้งจากประสบการณ์ที่เคยปฏิบัติมา และจากการเข้าอบรมจากทางหน่วยงานราชการ รวมทั้งความพยายามคิดค้นในการปรับปรุงการทำการเกษตร ก็ได้นำมาถ่ายทอดให้เกษตรกรและผู้สนใจได้รับรู้และนำไปใช้ประโยชน์ โดยการบรรยายประกอบการสาธิตการฝึกปฏิบัติ เพื่อให้เกษตรกรเกิดความรู้ ความเข้าใจ และสามารถนำไปปฏิบัติได้ด้วยตนเอง

4. ในด้านใฝ่หาความรู้ ใฝ่เรียน และใฝ่ปฏิบัตินั้น โดยการศึกษา สังเกต การไปศึกษาดูงาน รวมถึงการคิดค้นในสิ่งต่างๆ ที่ทำให้ได้รู้และเข้าใจ หากมีหน่วยงานติดต่อมาให้ไปร่วมหรือเข้ารับการอบรม หรือมาให้การสนับสนุน ก็จะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีและทุกครั้ง แล้วนำความรู้ที่ได้รับกลับมาประยุกต์ใช้ในอาชีพในงานของตนเองต่อไป

ปลูกกล้วย

ผลงานและความสำเร็จ
1. ผลงานที่เกิดจากความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วย
ผลงานที่เป็นต้นแบบสามารถนำไปปฏิบัติได้ ได้แก่ เป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรแบบพอเพียง ศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชนตำบลหนองเรือ

การพัฒนาผลงานต้นแบบให้เหมาะสมกับท้องถิ่น เนื่องจากพื้นที่ทำการเกษตรแบบพอเพียงนั้นมีความเหมาะสม ไม่แห้งแล้งเกินไป และไม่มีน้ำท่วม คนในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร จึงเป็นการง่ายที่จะพัฒนาพื้นที่ของตนเองให้เป็นศูนย์เรียนรู้และมีจุดสาธิตการปลูกพืชและการทำปุ๋ยต่างๆ ที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม

เลี้ยงไก่

มีการนำเทคโนโลยีการพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อก่อนเริ่มมาจากการใช้แรงงานของคนในครอบครัวทำเอง ต่อมาพอมีเงินทุนเพิ่มขึ้น ก็ได้ซื้อเครื่องสูบน้ำ และรถไถเดินตาม เข้ามาทำการเกษตรในพื้นที่ของตนเอง

การพัฒนารูปแบบองค์ความรู้ให้เหมาะสมกับผู้รับการถ่ายทอด/ท้องถิ่น/ยุคสมัย โดยพยายามที่จะเรียนรู้ จัดทำแปลงสาธิต คิดค้นการทำปุ๋ยสูตรต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับพืชและให้มีประสิทธิภาพที่จะทำให้พืชผลได้ผลผลิตมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ แล้วนำผลที่ได้ไปถ่ายทอดแก่เกษตรกรที่สนใจนำไปใช้เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อไป

2. ผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม โดยการถ่ายทอดความรู้ที่เกิดจากการทำแล้วประสบผลสำเร็จด้วยตนเองไปถ่ายทอดให้คนในชุมชนและคนทั่วไปได้รู้และนำไปปฏิบัติ

ผลงานที่ได้รับการยอมรับในระดับชุมชน ได้แก่ เป็นประธานกลุ่มปุ๋ยอินทรีย์ เป็นคณะกรรมการบริหารศูนย์บริการถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลหนองเรือ อำเภอโนนสัง เป็นกรรมการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร อาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน

ผลงานที่ได้รับในระดับสังคม ได้แก่ เป็นครูบัญชีดีเด่นระดับจังหวัดหนองบัวลำภู กรมตรวจบัญชีสหกรณ์
เป็นหมอดินอาสาระดับภาค กรมพัฒนาที่ดิน เป็นประมงอาสา กรมประมง

พุทรา สร้างรายได้ดี

ผลการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ชีวิตมีความสุข ครอบครัวก็มีความสุข การทำเกษตรด้วยใจรักทำให้มีความสุขที่ได้ทำ จนเป็นแบบอย่างให้คนในชุมชนและบุคคลทั่วไปที่สนใจเข้ามาศึกษาดูงาน และเรียนรู้การทำการเกษตร และพยายามที่จะให้คนมาสนใจทำการเกษตรแบบพอเพียงต่อไปอีกด้วย

การปฏิบัติตนตามระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยการไปเลือกตั้งทั้งในระดับชุมชน จนถึงระดับประเทศ เพื่อใช้สิทธิ์ที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การใช้คุณธรรม จริยธรรม และความเสียสละในการถ่ายทอดองค์ความรู้ โดยการทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดีทั้งในด้านการครองตน และการทำงาน บางครั้งได้ถูกเชิญไปเป็นวิทยากรในการอบรมที่ต่างๆ ก็ไปด้วยความเต็มใจ แม้บางครั้งจะได้ค่าตอบแทนหรือไม่ได้ก็ตาม

ผลงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ
ในการแก้ไขปัญหา และเพื่อการพัฒนา

ผลงานที่เป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาสำหรับครอบครัว ได้แก่ การทำให้ครอบครัวมีงานทำ มีรายได้ที่เพียงพอจนสามารถสร้างบ้านได้เสร็จ โดยไม่ต้องเป็นหนี้เป็นสิน ครอบครัวมีความผูกพันกัน เนื่องจากไม่ต้องเร่ร่อนไปทำงานในต่างจังหวัด ทำให้ครอบครัวอบอุ่น ทุนมี หนี้หมด

ผลงานที่เป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาชุมชน คือคนในชุมชนได้เรียนรู้ที่จะลดต้นทุนในการทำการเกษตร โดยการผลิตปุ๋ย การทำสารไล่แมลง ทำให้สามารถลดต้นทุนการผลิตได้มาก ทำให้เกษตรกรมีกำไรและยังทำให้พืชผลที่ได้มีคุณภาพดีอีกด้วย

ผลงานที่เป็นประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาสำหรับสังคม ได้แก่ ด้านการเป็นผู้คิดค้นที่จะพัฒนาปุ๋ยให้มีคุณภาพดี เหมาะสมกับพืชแต่ละชนิด รวมถึงการพัฒนาพันธุ์พืช โดยการทดลองทำด้วยตนเองแล้วนำผลสำเร็จที่ได้ไปเผยแพร่ให้ผู้อื่นได้รับรู้ ถือเป็นการพัฒนาการเกษตรอีกด้านและการทำปุ๋ยจากธรรมชาติยังเป็นการรักษาสิ่งแวดล้อมให้ดีอีกด้วยได้รับการสนับสนุนโครงการสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ปี 2560 เข้าร่วมโครงการ 5 ประสาน สืบสานเกษตรทฤษฎีใหม่ ถวายในหลวง

ความเป็นผู้นำและเสียสละ
เพื่อประโยชน์ส่วนรวมในด้านต่างๆ

ด้านการเป็นผู้นำ ด้วยการเสียสละตนเองเพื่อให้คนในชุมชนได้รับการพัฒนาและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้แก่
1. ครูบัญชีอาสา ในการเป็นผู้นำ ในการสอนแนะนำให้เกษตรกรได้รู้และเข้าใจ สามารถทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายในครัวเรือน และบัญชีต้นทุนประกอบอาชีพ ให้เห็นประโยชน์ของการทำบัญชี

2. หมอดินอาสา ในการถ่ายทอดความรู้ ให้คำแนะนำเรื่องการพัฒนาปรับปรุงดิน การปลูกพืช ตลอดจนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยน้ำ และสารไล่แมลง

3. ประมงอาสา ให้การถ่ายทอดความรู้ และให้คำแนะนำในการเลี้ยงปลา ปลากำจัดโรคในบ่อดิน เป็นต้น

ความสามารถในการถ่ายทอดองค์ความรู้
1. วิธีการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่หลากหลายและเหมาะสมกับผู้รับการถ่ายทอดความรู้ โดยการบรรยายประกอบการสาธิตให้ผู้ที่รับฟังได้เข้าใจง่าย ได้พูดคุยสอบถาม แนะนำเทคนิควิธีการให้สามารถนำไปปฏิบัติได้จริง

2. สื่อ/อุปกรณ์ในการถ่ายทอดความรู้ โดยการจัดทำจุดเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ รวมถึงแปลงสาธิตการทำการเกษตรแบบต่างๆ ให้ผู้มาศึกษาได้เห็นของจริงที่เป็นรูปธรรม

3. กระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่เป็นลำดับขั้นตอนที่ชัดเจน โดยการอธิบายตามขั้นตอนของกระบวนการทำกิจกรรมแต่ละอย่างตามขั้นตอนให้เข้าใจ พร้อมสาธิต ตอบข้อซักถาม

มีการปรับปรุงและพัฒนาวิธีการในการถ่ายทอดองค์ความรู้
1. การปรับปรุงหรือพัฒนาวิธีการถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างต่อเนื่อง โดยทุกครั้งที่ได้มีโอกาสไปเป็นวิทยากร หรือเข้าอบรมในที่ต่างๆ รวมถึงการได้ไปศึกษาดูงาน ก็จะศึกษา สังเกต เปรียบเทียบกับสิ่งที่ตนเองทำและนำมาปรับใช้ในครั้งต่อไป เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

2. การจัดทำข้อมูลการถ่ายทอดองค์ความรู้ไว้ ในการทำการเกษตร ได้จัดให้มีศูนย์เรียนรู้เกษตรพอเพียง โดยภายในพื้นที่จะมีการจัดทำฐานเรียนรู้แปลงสาธิตในเรื่องต่างๆ ไว้สำหรับผู้เข้ามาเยี่ยมชมและศึกษาเรียนรู้ไว้ภายในศูนย์

3. การรวบรวมข้อมูลเพื่อปรับปรุงและพัฒนาวิธีการถ่ายทอดองค์ความรู้อย่างสม่ำเสมอ โดยอาศัยจากประสบการณ์ การเรียนรู้ การสังเกต และลงมือปฏิบัติ แล้วนำวิธีการและผลสำเร็จที่ได้มาเป็นข้อมูลและตัวอย่างเพื่อถ่ายทอดความรู้ต่อไป

4. มีการพัฒนาปรับปรุงสื่อ/อุปกรณ์ในการถ่ายทอดองค์ความรู้ โดยการนำตัวอย่างที่ได้ทดลองปฏิบัติเองแล้วประสบผลสำเร็จ ทั้งในเรื่องการจัดทำบัญชี การทำปุ๋ยหมัก การปลูกพืช การเลี้ยงปลา แล้วนำตัวอย่างหรือประสบผลสำเร็จมาประกอบในการอธิบายเพื่อให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น

ความสามารถในการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้
1. มีระบบการสร้างเครือข่ายที่ชัดเจน คือเกษตรกรในชุมชนและชุมชนใกล้เคียงประมาณ 100 คน ในเรื่องด้านการเกษตร และเครือข่ายครูบัญชี จำนวน 5 คน

2. มีการสร้างเครือข่ายกับองค์กรภาครัฐ โดยหน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แก่ สำนักงานเกษตรอำเภอโนนสัง สำนักงานเกษตรจังหวัดหนองบัวลำภู สถานีพัฒนาที่ดินหนองบัวลำภู สำนักงานประมงจังหวัด สำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์จังหวัด เป็นต้น ในการเป็นตัวแทนของหน่วยงานราชการ ในการติดต่อประสานงาน รวมทั้งให้ความช่วยเหลือ แนะนำ ข้อมูล ความรู้ต่างๆ ให้กับเกษตรกรในพื้นที่และผู้สนใจ

3. มีการสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ในชุมชน/นอกชุมชน โดยพยายามให้คนในชุมชนหรือผู้ที่สนใจในการทำการเกษตรเห็นความสำคัญและนำความรู้ที่ได้เผยแพร่นำไปปฏิบัติให้ประสบผลสำเร็จ

4. มีการผสมผสาน/บูรณาการเครือข่ายองค์ความรู้ เช่น โดยการติดต่อประสานงานของมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด ที่ได้เป็นตัวกลางนำผู้สนใจในการทำการเกษตรแบบพอเพียงเข้ามาศึกษาดูงานในศูนย์เรียนรู้เกษตรพอเพียง

5. มีการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์องค์ความรู้ผ่านสื่อ เช่น หอกระจายข่าว เวทีการประชุมต่างๆ

การอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
มีการปรับปรุงบำรุงดิน โดยการทำปุ๋ยหมัก และปุ๋ยคอก ใช้ในแปลงนา ไม้ผล พืชผัก
การป้องกันและรักษาหน้าดิน มีการปลูกหญ้าแฝก ขวางแนวลาดชันป้องกันการพังทลายของดิน
การป้องกันกำจัดศัตรูพืช มีการใช้สารสกัดจากสมุนไพรที่ผลิตขึ้นเองนำมาใช้ในพื้นที่การเกษตรเพื่อกำจัดและขับไล่แมลง และป้องกันกำจัดศัตรูพืช

คุณวีรสุทธิ์ โฮสูงเนิน เกษตรอำเภอโนนสัง กล่าวว่า แปลงเกษตรแบบพอเพียงแปลงนี้ มีฐานเรียนรู้หลายอย่าง และมีพื้นที่ใช้ประโยชน์ได้อย่างดี มีกิจกรรมการเกษตรหลายอย่าง เหมาะในการเป็นแหล่งเรียนรู้การเกษตรสำหรับเกษตรกรที่สนใจมาศึกษา เรียนรู้ ได้เป็นอย่างดี

หากเกษตรกรท่านใดอยากเยี่ยมชมกิจกรรม ติดต่อได้ที่ สำนักงานเกษตรอำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู โทร. (042) 357-386 หรือ ลุงสิงทอง นาชัย โทร. (083) 362-9846