คนรุ่นใหม่เติมไอเดีย “ครกหิน” หิ้วได้ มีที่วางสาก ดีไซน์เฉียบ ไซซ์กะทัดรัด เพิ่มยอดขายเท่าตัว

ทายาทธุรกิจผลิตครก เติมไอเดียครกหินดีไซน์เก๋ มีหูหิ้ว มีที่วางสากป้องกันสากกลิ้ง ขนาดกะทัดรัด ถูกจริตคนรุ่นใหม่และโดนใจชาวต่างชาติให้หันมาทำกับข้าวมากขึ้น  นับเป็นการฟื้นคืนชีพอุปกรณ์ทำครัวที่เกือบถูกลืม ให้กลับมามีชีวิตที่สมบูรณ์แบบอีกครั้ง

คุณอัฐภิญา ธาราศักดิ์ หรือ คุณกุ๊ก ภรรยาสาวในวัย 35 ปีของคุณธารา ธาราศักดิ์ เจ้าของไอเดียครกหิ้วได้ ดีไซน์เฉียบ แนวคิด “พัก พิง คว่ำ” เล่าว่า ครอบครัวคุณธารา (สามี) ประกอบกิจการผลิต จัดจำหน่ายครก และผลิตภัณฑ์จากหินแกรนิตยาวนาน 70 ปี สินค้าที่มี อาทิ จาน ชาม แก้วน้ำ เชิงเทียน งานหินแกะสลัก แรกเริ่มอยู่ที่จังหวัดชลบุรี ต่อมาย้ายมายังจังหวัดตาก เนื่องจากหินแกรนิตที่แข็งแกร่งที่สุดในประเทศไทยอยู่ที่จังหวัดตาก

ภรรยาสาว เล่าต่อว่า ทางครอบครัวสามีมีแนวคิดต้องการช่วยเหลือชุมชน สร้างงาน สร้างรายได้ โดยจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน  ชื่อว่า “กลุ่มผลิตภัณฑ์จากหิน ศิลาทิพย์” เมื่อปี พ.ศ.2552 เพื่อเข้าโครงการ OTOP      

 “หลังจากที่จัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากหินก็มีเพิ่มขึ้น เน้นดีไซน์ตามความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก และเกิดแนวคิดพัฒนาครกหิน”

คุณกุ๊ก บอกว่า สามีคลุกคลีกับ ‘ครก’ มาตั้งแต่เกิด เห็นรูปทรงเดิมๆ ตลอด ทั้งที่ยุคสมัยเปลี่ยนไป การใช้งานก็ค่อนข้างลำบาก น้ำหนักเยอะ ไม่มีที่วางสาก บางครั้งสากก็กลิ้งแตกหัก ปัญหาดังกล่าวไม่เคยถูกแก้ไข  

“ดิฉันและสามี ร่วมกันแก้ไข และพัฒนาครกจากรูปแบบเดิมๆ ให้กลายเป็นครกที่สามารถหิ้วได้ มาพร้อมที่วางสาก สะดวกใช้งาน โจทย์คนรุ่นใหม่ ชูแนวคิด “พัก พิง คว่ำ” ตัวครกมีร่องด้านบน ใช้วางพัก ป้องกันสากกลิ้งตกแตก หรือจะพิงสากไว้ด้านข้างตัวครกก็ได้  และเมื่อล้างทำความสะอาดครก ก็สามารถคว่ำครก แล้วล็อกสาก ป้องกันการตกแตกได้ ช่วยระบายอากาศ ทำให้ป้องกันกลิ่นอับชื้นและเชื้อราได้อีกด้วย”ปัจจุบันมีครก 10 ไซซ์ บางขนาดก็สามารถหิ้วได้ ยกตัวอย่าง รุ่นที่หิ้วได้ จะเจาะร่อง 4 ด้านแล้วใช้สายผ้าคล้องเป็นที่หิ้ว ครกรูปแบบใหม่ทั้งหมดใช้เวลาพัฒนาร่วม 2 ปี

สำหรับขนาดครกที่ครอบครัวธาราศักดิ์ผลิตและวางจำหน่าย เริ่มต้นตั้งแต่ขนาด 3 นิ้ว 3.5 นิ้ว 4  นิ้ว 4.5 นิ้ว  5 นิ้ว และ 6 นิ้ว ครอบครัวรุ่นใหม่ อาศัยอยู่คอนโดฯ ก็สามารถใช้งานได้ น้ำหนักเบา  ให้ความรู้สึกว่าการทำกับข้าวที่ใช้ครกนั้นไม่เชย

ปัจจุบัน กำลังการผลิต ภรรยา บอกว่า ประมาณ 500 -1,000 ลูก/เดือน ด้านสามีพัฒนานำเครื่องจักรมาช่วยทุ่นแรง และจัดระบบการทำงานใหม่ แบ่งเป็นขั้นตอน ช่วยให้ผลิตครกหินได้เร็วขึ้น

ด้านช่องทางจำหน่าย เจ้าของกิจการ เผยว่า มีวางหน้าร้านที่จังหวัดตาก ที่จังหวัดชลบุรีร้านบ้านครูน้อย สามารถสั่งทางเว็บไซต์ได้ด้วย  รวมถึงตอนนี้มีนักธุรกิจสั่งไปจำหน่ายที่ประเทศฮ่องกง และพม่า

เจ้าของกิจการ เชื่อว่าการไม่หยุดพัฒนาสินค้า ถือเป็นหัวใจหลักของผู้ประกอบการ ในอนาคตจะมีสินค้ารูปแบบใหม่ๆ จากหินแกรนิตออกมาอีกอย่างแน่นอน