เกลือสมุทรดีๆ ที่คลองผีขุด

ผมมีเพื่อนที่พ่อแม่ของเขาทำนาเกลืออยู่สมุทรสาครสืบเนื่องมาหลายชั่วคน เขาเคยเล่าว่า เวลาขนย้ายเกลือจากนาไปรวมที่เรือใหญ่ เตรียมบรรทุกเข้าไปขายในเมืองนั้น มักทำกันตอนกลางคืน เพราะอากาศเย็นสบายดี แต่ก็ต้องพบเจออุปสรรคไม่คาดฝันอยู่เนืองๆ

คือ “ผี” นั่นเองครับ

พ่อของเขาบอกว่า อยู่ๆ ผีมักปรากฏกายที่หัวเรือ ทำให้รู้สึกว่าเรือหนักขึ้น ตอนแรก พวกนาเกลือต่างก็กลัวผีกัน แต่นานเข้าก็ชักชิน เริ่มไม่กลัวแล้ว พอผีโผล่มาก็คว้าเอาไม้พายนั่นแหละตีๆ ไล่ๆ ปากก็ร้องไล่ไปด้วย ผีเจอเข้าอีหรอบนี้ คงไม่รู้จะหลอกท่าไหน หลังๆ ก็เลยจำยอมหายตัวไปแต่โดยดี

เรื่องผีๆ แถบนั้นเห็นจะแรงจริงครับ เพราะขนาดชื่อคลอง ยังมี คลองหมาหอน ต่อด้วย คลองผีหลอกให้ชวนสะดุ้งได้ไม่ยาก ถ้าผ่านไปตอนกลางคืนเดือนมืดๆ

ที่เล่าเรื่องนี้ก็ไม่ใช่อะไรอื่นหรอกครับ ผมเพิ่งได้ไปดูแหล่งทำเกลือสมุทรแถบตำบลบางปะกง อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา มาเมื่อเดือนที่แล้ว เป็นพื้นที่ทำเกลือที่ใหญ่และสำคัญมากแห่งหนึ่งของเขตชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก

หมู่บ้านที่ว่านี้ ชื่อ “บ้านคลองผีขุด” ครับ เข้าใจว่าชาวนาเกลือที่นี่คงมีประสบการณ์ผีๆ ไม่น้อยไปกว่าแถบบางโทรัด บ้านเพื่อนผมคนนั้นเหมือนกัน

อันว่า “เกลือสมุทร” นี้ จะทำได้ก็แต่เฉพาะช่วงสั้นๆ ระหว่างฤดูหนาวต่อฤดูร้อน คือราวเดือนธันวาคมถึงเดือนเมษายน สิ่งที่ชาวนาเกลือต้องทำเหมือนกันหมดตั้งแต่ราวเดือนตุลาคม ก็คือปรับพื้นที่นา เก็บตะไคร่ กวาดพื้นให้เรียบ ทำคันนาใหม่ ก่อนที่จะชักน้ำจากทะเลมาเข้าบ่อเก็บ เตรียมปล่อยลงแปลงนา หลังจากไหว้ผีนาเสร็จในต้นปี

“แถวคลองผีขุดนี้ ยังเหลือทำกันอยู่ 24 รายครับ มีจ้างทำบ้าง เลิกทำแล้วขายที่ไปบ้าง แปลงของผมนี้ 50 กว่าไร่ ทำคราวหนึ่งก็ได้ราว 280 เกวียน ตก 600-700 ตัน”  พี่ไพฑูรย์ ซิ้มเจริญ เจ้าของนาเกลือที่ผมไปดูเล่าให้ฟัง

“เกลือเราคนมาซื้อไปทำปลาร้าก็มีนะ เราก็มาสังเกตว่า เกลือบ้านเราเนี่ยมันจะไม่เข้มเท่าเกลือของทางสมุทรสาครหรือเพชรบุรีเขา เวลาเอามาดองปลาดองปู ถ้าใช้เกลือเรา รู้สึกเนื้อมันจะนิ่มกว่าน่ะ”

แทบไม่น่าเชื่อว่า เกลือสมุทรดีๆ ที่บ้านคลองผีขุดของพี่ไพฑูรย์ ที่ทำสืบทอดกันมาตลอดสี่ชั่วอายุคนแล้วนี้ ราคาขายส่งที่หน้าแปลงนาเกลือตกกิโลกรัมละ 3 บาทเท่านั้น ผมนึกถึงเกลือแพงๆ ที่ใส่กระปุกขายกันตามตลาดเขียวหลายแห่งแล้วก็สะท้อนใจ อดถามไม่ได้ว่า แล้วราคาส่งที่พอใจควรจะเป็นเท่าไหร่ คำตอบของพี่เขายิ่งทำให้เศร้าใจ

3.50 บาทก็พอครับ ขนาดดอกเกลือสวยๆ เรายังขายที่หน้านานี่กิโลละไม่ถึง 6 บาทเลยน่ะ”

พี่ไพฑูรย์ เล่าว่า ดอกเกลือที่คุณภาพดีที่สุดจะลอยเป็นฝ้าให้ช้อนตักเอามาขายได้ในเดือนมกราคม อันเป็นช่วงแรกของการทำเกลือปีนั้นๆ ยิ่งอากาศหนาวเย็น มีลมพัดอ่อนๆ ทั้งวัน จะได้ดอกเกลือสีขาว สะอาด เนื้อละเอียดมาก

“มันมีคนทำปลอมด้วยนะ ดอกเกลือเนี่ย” พี่เขาบอกยิ้มๆ “เขาจะเอาเกลือสินเธาว์มาฉีดน้ำ ล้างให้ขาวหน่อย แล้วบดให้ละเอียด ปลอมขายเป็นดอกเกลือครับ”

เกลือและดอกเกลือของพี่ไพฑูรย์มีวางขายริมถนนสุขุมวิทสายเก่า ฝั่งตรงข้ามกับนาเกลือนั้นเอง มีป้าพร ญาติๆ กันเป็นคนขาย ที่บ้านผมก็ซื้อดอกเกลือที่นี่กินจนติดแล้วล่ะครับ สนนราคาขายปลีกดอกเกลือที่ร้าน “มาลัย” ของป้าพร ตกราวกิโลกรัมละ 20-30 บาท แต่หากต้องการปริมาณมาก อาจติดต่อพี่ไพฑูรย์ หรือ คุณชเอม ภรรยาพี่ไพฑูรย์โดยตรงได้ที่ โทรศัพท์ (038) 832-054, (089) 832-4133 นะครับ

ย้อนกลับไปที่บ้านบางโทรัดของเพื่อนผมอีกครั้ง ชาวนาเกลือแถบนั้นนอกจากเจอผีแล้ว ยังพบเครื่องถ้วยจีนเคลือบลายคราม แบบที่กำหนดอายุได้ราวพุทธศตวรรษที่ 23-24 ด้วยครับ นักโบราณคดีเชื่อว่า นี่เป็นหลักฐานแสดงตัวตนของ “ผู้มาใหม่” ที่น่าจะคือกลุ่มชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งเริ่มอพยพมาทางเรือตั้งแต่ช่วงสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น และคงนำเทคโนโลยีการทำเกลือสมุทรจากจีนมาเผยแพร่ในพื้นที่ชายฝั่งแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วย

ดังนั้น ก่อนจะกลับ ผมจึงไม่ลืมถามพี่ไพฑูรย์ถึงเบาะแสเรื่องนี้ที่คลองผีขุด

“มีนะ ชาวบ้านเคยเจอพวกชามที่ว่านี่แหละ ที่ตรงโน้น” ชี้มือไปทางชายฝั่งทะเล “แถวคลองหัวตอน่ะ เจอเยอะเหมือนกันนะ” เสียดายที่ผมไม่ได้เห็นถ้วยชามที่ว่านะครับ แต่ก็ทำให้ได้ข้อมูลที่สนับสนุนสมมติฐานเรื่องการทำเกลือสมุทรดั้งเดิมเพิ่มขึ้นมาอีกหน่อยหนึ่ง

บางที นามของ “ผีนา” บ้านคลองผีขุด ที่ชาวนาเกลือต้องเซ่นไหว้ทุกปี คือ “ตากุ๋ย-ยายกาด” ก็อาจบ่งบอกเบาะแสของการเคลื่อนย้าย ผสมผสาน ระหว่างผู้มาใหม่กับคนท้องถิ่นเดิมได้ไม่น้อยทีเดียวครับ