“ตะกร้า ลวกไข่” สานจากไม้รวก – ไม้ไผ่ ภูมิปัญญาชาวบ้าน จากวัสดุธรรมชาติไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยี

ชีวิตคือการเดินทาง การเดินทางทำให้เราทราบเรื่องราวต่างๆ ในโลกมากมาย ถึงกับมีคนกล่าวว่า เพียงแค่ก้าวออกจากหัวบันไดบ้าน ก็ได้ประสบการณ์ชีวิตแล้ว ก็ว่ากันไป

ข้าพเจ้าเดินทางไปจังหวัดน่าน พบแหล่งน้ำพุร้อน บริเวณน้ำพุร้อนนั้นมีบริการของชาวบ้านอย่างหนึ่งคือ ลวกไข่จากน้ำพุร้อน

การลวกไข่ด้วยน้ำพุร้อนนับเป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านอย่างแท้จริง เพราะใช้ธรรมชาติจริงๆ ไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีใดๆ

ภูมิความรู้จากธรรมชาตินี้ สั่งสมกันมาแต่โบราณกาล หากศึกษาประวัติศาสตร์การพัฒนาของคน จะพบว่าความรู้หลายอย่างที่คนนำมาใช้พัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ เกิดจากการสังเกตจากธรรมชาติ บางอย่างนำมาแก้ไขดัดแปลงก่อนใช้ บางอย่างก็นำมาใช้โดยตรง

การลวกไข่จากน้ำพุธรรมชาติ วิธีการก็คือ นำตะกร้าเล็กๆ มาใส่ไข่ แล้วหย่อนลงไปในน้ำพุร้อนธรรมชาติที่เดือดปุดๆ

ไข่เราชาวบ้านใช้ทั้งไข่ไก่ ไข่เป็ด และไข่นกกระทา แล้วแต่ความพอใจ ถ้าต้องการให้สุกเร็วๆ เราก็ใช้ไข่นกกระทา ถ้าไม่รีบร้อน เราชาวบ้านก็ใช้ไข่เป็ดหรือไข่ไก่ก็ได้ สองชนิดหลังนี้ใบโตกว่า เลยต้องใช้เวลาลวกนานกว่าไข่นกกระทา

ขั้นตอนการลวก เครื่องมือสำคัญก็คือ ตะกร้าใส่ไข่ ตะกร้านี้ใบเล็ก ไม่ใช่ตะกร้าใหญ่ๆ อย่างตะกร้าที่ใช้ทำรังไก่

จำกันได้ไหม สมัยเด็กๆ เราเคยท่องว่า “แม่ไก่อยู่ในตะกร้า ไข่ไข่มาสี่ห้าใบ อีแม่กาก็มาไล่ อีแม่ไก่ก็ไล่ตีกา หมาใหญ่ก็ไล่เห่า หมูในเล้าแลดูหมา ปูแสมแลปูนา…”

ช่วงที่อ่านว่า “ปูแสมแลปูนา” เด็กหัดอ่านเองมักอ่านว่า ปู แสม ไม่อ่าน สะ แหม ครูเลยต้องอธิบายกันยืดยาว เรื่องกฎเกณฑ์การอ่านอักษรควบและอักษรนำ

เอาเป็นว่า ตะกร้า ใส่ไข่ลวกเราชาวบ้าน หรือเขาชาวเมืองก็ตาม ใช้ตะกร้าใบเล็กๆ

ตะกร้าเราสานมาจากไม้รวกก็ได้ ไม้ไผ่ก็ดี

ไม้รวก ก็ได้หมายความว่า ไม้รวกเป็นลำไม้ที่ผ่าออกมาแล้วผิวข้างๆ คมมาก เราชาวบ้านสมัยก่อนจึงนำมาใช้แทนใบมีดตัดสายสะดือเด็กทารก ผู้เขียนเองที่เติบโตมาได้ก็ด้วยคมไม้รวกตัดสายสะดือเหมือนกัน

เมื่อผิวไม้รวกคม อันตรายต่อมือของเรา เผลอนิดเดียวอาจถูกบาดเลือดไหล ถ้ามีตัวเลือก เราชาวบ้านก็จะเลือกใช้ไม้ไผ่ เพราะไม้ไผ่ผิวนิ่มกว่า และผ่าออกมาแล้ว ผิวข้างๆ ไม่คมเหมือนไม้รวก

เราผ่าลำไผ่ออก แล้วจักตอก สานออกมาเป็นตะกร้าใบเล็กๆ เราชาวบ้านที่ฝีมือทางจักสานดี ก็สานออกมาสวยงาม แต่ถ้าฝีมือไม่ดี ตะกร้าที่สานออกมาก็อย่างน้อยพอดูได้ หรืออย่างไม่น้อยไม่มากก็นำมาใช้ใส่ไข่ลวกได้ก็แล้วกัน

บริเวณรอบๆ น้ำพุจังหวัดน่าน ชาวบ้านหลายคนยึดอาชีพบริการลวกไข่ให้นักท่องเที่ยว

ฟังว่า “ลวกไข่” สุภาพบุรุษบางคนอาจสะดุ้ง ด้วยคิดไปถึงไข่บางอย่างในร่างกาย ถ้าคิดอย่างนั้นก็ช่วยไม่ได้ แต่อย่าพูดออกมาก็แล้วกัน คนฟังจะหาว่าคิดได้พิเรนทร์

ไข่ในตะกร้าเล็กๆ ราคาไม่แพงนัก เรียกว่าพอซื้อหารับประทานได้

แรกๆ คนแปลกถิ่นอย่างผู้เขียนก็คิดเหมือนกันว่า น้ำธรรมชาติจะร้อนขนาดลวกไข่สุกได้อย่างไร แต่พอได้ฟังกับหูรู้กับตาก็ถึงบางอ้อ…ที่จังหวัดน่าน ว่าทำได้จริงๆ

นักท่องเที่ยวแต่ละวันมากหน้าหลายตา คนแปลกที่แปลกถิ่นไปเยือนกันมากมาย คนที่เห็นเป็นเรื่องแปลกก็ให้ความสนใจอุดหนุนกันคับคั่ง ทำให้การบริการลวกไข่กลายเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของท้องถิ่น

คนที่ซื้อไข่ลวกบริเวณน้ำพุ ส่วนใหญ่ไม่ได้อยากรับประทานไข่ หรือต้องการกินไข่เป็นอาหาร แต่ต้องการสัมผัสความแปลกใหม่ การเติมเต็มความแปลกใหม่ให้ชีวิต เป็นเรื่องธรรมดาของคนอยู่แล้ว

การเยือนจังหวัดน่าน นอกจากสัมผัสเสน่ห์ภาพจิตรกรรมฝาผนัง วัดภูมินทร์แล้ว ยังมีเสน่ห์ในท้องถิ่นมากมาย

หนึ่งในเสน่ห์ของท้องถิ่นคือ การได้ชิมไข่ลวก จากน้ำพุในตะกร้าใบเล็กของชาวบ้าน