โรงเรียนบ้านบุ่งสิบสี่ราษฎร์บำรุง เกษตรสมบูรณ์ ปลูกจิตสำนึกอนุรักษ์ส้มโอพันธุ์พื้นเมือง

ระยะทางจากถนนใหญ่ตัดพุ่งตรงเข้าไปตามถนนที่มีเลนให้รถวิ่งเข้าออกไม่เล็กนัก มีป้ายบอกทางเป็นทางเข้าโรงเรียนบ้านบุ่งสิบสี่ราษฎร์บำรุง ตำบลโนนทอง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ ทำเอาใจชื้นว่าอีกไม่นานก็จะถึงโรงเรียนบ้านบุ่งสิบสี่ราษฎร์บำรุง ตามที่ตั้งใจไว้ แต่เอาเข้าจริงๆ ใช้เวลานานกว่าอึดใจแม้วทีเดียว

แต่ช่วงเวลาอึดใจแม้ว ก็มีทิวเขาเขียวขจี เมฆคล้อยต่ำเป็นแนวกระจายไม่เรียงตัวสวยงาม แต่สร้างความรู้สึกสดชื่นได้ดีไม่น้อย โดยเฉพาะเมื่อเดินทางมาถึงโรงเรียนบ้านบุ่งสิบสี่ราษฎร์บำรุงแห่งนี้ ฝนปรอยเม็ดลงมาไม่ขาดระยะ สูดอากาศบริสุทธิ์ได้เต็มปอด

ครูบุญเท เกื้อหนุน ครูชำนาญการพิเศษ

ครูบุญเท เกื้อหนุน ครูชำนาญการพิเศษ โรงเรียนบ้านบุ่งสิบสี่ราษฎร์บำรุง ให้การต้อนรับอย่างเป็นกันเอง พร้อมรอยยิ้มจากเด็กนักเรียนอีกหลายชีวิต

เป็นที่รู้กันว่า โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มีงบประมาณอุดหนุนอาหารมื้อกลางวันให้กับเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษา แต่โรงเรียนบ้านบุ่งสิบสี่ราษฎร์บำรุงแห่งนี้ ไม่ได้ดูแลเฉพาะนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาเท่านั้น แต่รวมปากท้องของเด็กนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ที่โรงเรียนมีนักเรียนในความรับผิดชอบอยู่ด้วย จึงแน่นอนว่า งบประมาณที่จัดสรรให้กับโครงการอาหารกลางวัน ไม่เพียงพอ

เด็กหญิงอัญชลี แสนคำ

ข้อมูลพื้นฐานของโรงเรียนบ้านบุ่งสิบสี่ราษฎร์บำรุง เป็นโรงเรียนที่ก่อตั้งมานานกว่า 80 ปี ปัจจุบัน มีนักเรียน 138 คน บุลลากรผู้สอน 15 คน และโรงเรียนมีพื้นที่ทั้งสิ้น 20 ไร่ แบ่งเป็น 2 แปลง แปลงขนาด 5 ไร่ โรงเรียนปล่อยให้เป็นป่าชุมชน ไว้สำหรับให้ชุมชนและนักเรียนเรียนรู้ ส่วนอีกแปลง ขนาด 15 ไร่ เป็นที่ตั้งของอาคารเรียน และพื้นที่ใช้สอยอื่นๆ ในจำนวนนี้ แบ่งเป็นพื้นที่สำหรับทำเกษตร 2 งาน

พื้นที่สำหรับทำแปลงเกษตร 2 งาน ประกอบไปด้วยแปลงผักสวนครัวทุกชนิด อาทิ พริก มะเขือ กะเพรา โหระพา มะนาว ฟัก ฟักทอง แตงกวา ตะไคร้ ใบมะกรูด และแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่ง ซึ่งครูบุญเท บอกว่า เป็นพื้นที่ที่ให้ความสำคัญมากเท่ากับวิชาเรียน เพราะเป็นพื้นที่สำหรับเก็บสะสมสายพันธุ์ส้มโอพื้นบ้าน

เด็กหญิงเปรมยุดา ภาชา

“ที่บ้านบุ่งสิบสี่ เดิมเป็นต้นกำเนิดของส้มโอหลายสายพันธุ์ และเป็นส้มโอดั้งเดิมของพื้นบ้านทั้งนั้น มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ แต่ผลผลิตที่มาก การตลาดไม่มี ทำให้ชาวบ้านต้องนำไปขายในราคาถูก คิดราคาขายกันเป็นร้อยละ หมายถึง 100 ลูก ราคา 5-10 บาทเท่านั้น เกษตรกรจึงท้อแท้ ประกอบกับระหว่างนั้น ภาครัฐส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพด ทำให้เกษตรกรจำนวนมากไถทิ้ง เปลี่ยนมาปลูกข้าวโพด ส้มโอพื้นบ้านหลายสายพันธุ์จึงลดลงจนเกือบหมด”

ครูบุญเท เกิดและเติบโตมาพร้อมกับสภาพแวดล้อมของบ้านบุ่งสิบสี่ เห็นการเจริญเติบโตของชุมชน การศึกษาและการเกษตรในพื้นที่จึงมีแนวคิดต้องการอนุรักษ์ส้มโอพื้นบ้านของบ้านบุ่งสิบสี่ไว้

เด็กชายพรชัย เวียงคำ

ครูบุญเท เล่าว่า ส้มโอบ้านบุ่งสิบสี่ เป็นส้มโอพื้นบ้านที่มีหลายสายพันธุ์ มีความทนทานต่อโรค เนื้อกุ้งของส้มโอมีสีที่แตกต่างกัน บางสายพันธุ์เป็นกุ้งสีขาว สีชมพู สีแดง สีส้ม แม้กระทั่งสีเขียวก็ยังมี แต่ปัจจุบัน หาได้ยากแล้ว ดังนั้น การแบ่งพื้นที่เพื่อปลูกส้มโอพื้นบ้านจึงเป็นการเก็บรวบรวมและอนุรักษ์สายพันธุ์ส้มโอพื้นบ้านของบ้านบุ่งสิบสี่ได้เป็นอย่างดี โดยปัจจุบัน เก็บรวบรวมได้แล้ว 27 สายพันธุ์

พื้นที่บางส่วนของ 2 งาน ยังแบ่งเป็นแปลงกล้วยหอมทอง ซึ่งส่วนนี้ เมื่อแตกหน่อก็แยกหน่อจำหน่าย และบางส่วนให้กับเด็กนักเรียนนำกลับไปปลูกที่บ้าน เพื่อให้ครอบครัวของเด็กนักเรียนมีรายได้ และเมื่อได้ผลผลิตก็นำผลผลิตไปจำหน่าย เป็นรายได้ให้กับโรงเรียนด้วย

เป็ด มีไว้กำจัดวัชพืช

กิจกรรมเพาะเห็ด เป็นอีกกิจกรรมที่ดำเนินไปตามฤดูกาล หากเป็นฤดูฝน โรงเรียนจะพักการเพาะเห็ด เนื่องจากสภาพแวดล้อมของบ้านบุ่งสิบสี่ มีภูเขาใกล้เคียง และเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง มักอาศัยธรรมชาติในการดำรงชีวิต เช่น หาของป่า เก็บเห็ดขาย ซึ่งหากเพาะในฤดูฝนที่เห็ดมีจำนวนมาก อาจจำหน่ายไม่ได้ ดังนั้น การเพาะเห็ด จึงเป็นกิจกรรมที่ยกเว้นในฤดูฝน ซึ่งเห็ดที่เพาะเป็นเห็ดนางฟ้าและเห็ดขอนขาว

เห็ดนางฟ้า เก็บขายได้เป็นกอบเป็นกำ

“เห็ดที่เราเพาะ เราเพาะในตะกร้า ใช้วัสดุจากท้องถิ่นที่หาง่าย สอนให้เด็กให้รู้จักใช้ประโยชน์จากวัสดุที่เหลือใช้ในท้องถิ่น ซึ่งเด็กก็เข้าใจและชอบ”

กิจกรรมเลี้ยงปลา เป็นอีกกิจกรรมที่ทำให้โรงเรียนมีรายได้มาใช้ในโครงการอาหารกลางวัน เนื่องจากโรงเรียนมีบ่อดินขุด ปล่อยปลากินพืชไว้จำนวนหนึ่ง และทำกระชังไว้ ปล่อยปลาดุก จำนวน 500 ตัวเ

กิจกรรมเลี้ยงไก่และเป็ด แบ่งเป็น ไก่ไข่ ไก่ดำภูพาน และเป็ด

เป็ด มีไว้จัดการกับวัชพืชที่ขึ้นรก

ส่วนไก่ไข่ จำนวน 70 ตัว เก็บไข่เข้าโครงการอาหารกลางวัน ที่เหลือจำหน่าย

ไก่ดำภูพาน ก็เพาะเพื่อใช้เป็นอาหารกลางวันสำหรับเด็กนักเรียน และยังขายเป็นไก่เนื้อให้กับชุมชน

เห็ดขอนขาวในตะกร้า

ทุกๆ กิจกรรม เมื่อได้ผลผลิต เป้าหมายส่งเป็นวัตถุดิบเข้าโครงการอาหารกลางวันทั้งหมด แต่ถ้ามีจำนวนมากเกินความต้องการขณะนั้น จะนำไปจำหน่ายยังตลาดชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง และเป็นหน้าที่ที่เด็กนักเรียนจะทราบดีว่าต้องดำเนินการเองทุกขั้นตอน ตั้งแต่ปลูก ดูแล เก็บผลผลิต และนำไปจำหน่าย ซึ่งราคาจำหน่ายจะถูกกว่าท้องตลาด เช่น ราคากล้วย หวีละ 20 บาท ราคาขายของโรงเรียนอยู่ที่ 15 บาท เนื่องจากโรงเรียนมีวัตถุประสงค์ให้นักเรียนเรียนรู้และฝึกอาชีพเป็นหลัก นอกจากนี้ ในทุกกิจกรรม เด็กนักเรียนที่มีหน้าที่ดูแลกิจกรรมต่างๆ จะทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ไว้ด้วย

กระชังปลาดุกในบ่อ

ครูบุญเท กล่าวว่า การเพิ่มเติมความรู้ในเชิงเกษตรให้กับเด็กนักเรียน เฉพาะวิชาเรียนการงานพื้นฐานอาชีพ 1 คาบ ต่อสัปดาห์ ไม่เพียงพอ ในแต่ละสัปดาห์จึงตกลงกับครูผู้สอนแต่ละชั้น ขอช่วงบ่าย 1 วัน วันใดก็ได้ในสัปดาห์นั้นๆ เพื่อพานักเรียนลงแปลงเกษตรเรียนรู้อย่างเต็มที่

“การสอนนักเรียนให้ทำการเกษตร ไม่ใช่เพียงแค่ให้รู้จักการเพาะ การรดน้ำต้นไม้ หรือการกำจัดวัชพืชเท่านั้น เราต้องสอนให้เด็กได้ลงมือจริง ซึ่งเวลาเพียงสัปดาห์ละ 1 คาบเรียนไม่เพียงพอ เช่น การสอนให้ตอนกิ่งส้มโอ จะเริ่มสอนทฤษฎีให้นักเรียนรู้จักวิธีการเลือกกิ่งที่เหมาะสม เมื่อเข้าใจ นักเรียนจะต้องไปหากิ่งที่เหมาะสมสำหรับการตอนมาให้ได้ และให้เด็กทุกคนลงมือตอนกิ่งด้วยตนเอง ใช้อุปกรณ์จริง เมื่อตอนได้ประสบความสำเร็จ ก็ให้กิ่งพันธุ์ส้มโอกลับไปปลูกดูแลเองที่บ้าน ซึ่งก็ได้ผลดีทุกคน”

ขายในตลาดชุมชน

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมทางการเกษตร ยังคงเน้นการลงมือปฏิบัติให้กับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนปลาย (ป.4-6) ถึงระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (ม.1-3) ส่วนนักเรียนระดับก่อนปฐมวัย และระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น (ป.1-3) ยังคงเป็นเด็กเล็ก จึงให้เรียนรู้ทฤษฎีในห้องเรียน และลงแปลงเกษตรเฉพาะการรดน้ำ การเก็บวัชพืช เล็กน้อยเท่านั้น

กิ่งส้มโอก็มีจำหน่าย

เด็กหญิงอัญชลี แสนคำ หรือ น้องตุ้ม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อายุ 14 ปี บอกว่า เข้ามาศึกษาที่โรงเรียนบ้านบุ่งสิบสี่ราษฎร์บำรุง ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จึงไม่ได้สัมผัสกับการทำแปลงผักสวนครัวและโรงเรือนเพาะเห็ดมากนัก เพราะนักเรียนชั้นมัธยมศึกษามีหน้าที่ดูแลกิจกรรมการเลี้ยงไก่และการเลี้ยงปลา สำหรับตนเองรับผิดชอบดูแลปลาดุก ที่ลงเลี้ยงในกระชังไว้ จำนวน 500 ตัว การดูแลในแต่ละวัน คือ การให้อาหารปลาดุกในตอนเช้าและเย็น ควรหมั่นสังเกตการกินอาหารของปลา หากปลากินหมด ควรให้อาหารเพิ่มอีก แต่ถ้ากินช้า ควรหยุด เพราะหากให้อาหารเพิ่มจะทำให้น้ำเสีย และปลาอาจจะตายได้

เด็กๆ ลงมือทำจริง

ด้าน เด็กหญิงเปรมยุดา ภาชา หรือ น้องติ้ว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อายุ 14 ปี เล่าว่า เมื่อครั้งที่เรียนในระดับประถมศึกษา มีหน้าที่ดูแลแปลงผัก ในทุกๆ วัน ต้องรดน้ำ และเก็บวัชพืช รวมถึงการสังเกตว่ามีแมลงรบกวนพืชผักหรือไม่ ส่วนการลงสวนส้มโอที่โรงเรียนตั้งใจอนุรักษ์ไว้เป็นพันธุ์พื้นบ้านของบ้านบุ่งสิบสี่ ตนก็เห็นด้วย และมองว่าเป็นเรื่องดี สำหรับการตอนกิ่งส้มโอที่ครูบุญเทสอน คิดว่าไม่ยาก และลงมือปฏิบัติแล้ว ได้กิ่งตอนส้มโอไปปลูกที่บ้าน 1 ต้น ปัจจุบัน ส้มโอมีความสูงเกือบ 2 เมตร แล้ว แต่ยังไม่ให้ผลผลิต ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก

สำหรับ เด็กชายพรชัย เวียงคำ หรือ น้องเบียร์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 อายุ 14 ปี กล่าวว่า ครอบครัวไม่ได้ทำการเกษตร ไม่มีแปลงเกษตรเป็นของตนเอง การเรียนรู้เรื่องเกษตรในโรงเรียนจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องตักตวงให้ได้มากที่สุด เช่น การตอนกิ่งส้มโอ เมื่อเรียนรู้และทดลองทำ ทั้งยังได้กิ่งตอนส้มโอกลับไปปลูกที่บ้าน ก็จะดูแลให้ดีที่สุด

“การปลูกส้มโอ ไม่ยากครับ ผมขุดหลุมไม่ลึกมาก หาปุ๋ยคอกรองก้นหลุม จากนั้นนำถุงที่ห่อบริเวณตอนกิ่งออก แล้วนำวางกลางหลุม กลบดินเบาๆ ไม่ต้องแน่นมาก แล้วรดน้ำ เพียงเท่านี้ก็ได้ต้นส้มโอแล้ว”

โรงเรียนบ้านบุ่งสิบสี่ราษฎร์บำรุง เป็นโรงเรียนที่ตั้งอยู่ท่ามกลางทุ่งนาและทิวเขา รองรับนักเรียนในชุมชนใกล้เคียง ตั้งอยู่ห่างชุมชนหลัก 14 กิโลเมตร แต่ระหว่างทางไม่มีความเจริญใดๆ เข้าถึง มีเพียงการเกษตรเท่านั้นที่ใกล้ชิดกับนักเรียนมากที่สุด ครูบุญเท จึงหวังว่า การเกษตรจะช่วยหล่อหลอมจิตใจและสอนให้เด็กมีความรับผิดชอบ อดทน และรักในการเกษตร เพราะเกษตรกรรมเป็นหัวใจของประเทศไทย