วิสาหกิจชุมชน บ้านรักกะลา@เกาะช้าง งานคุณค่าแฮนด์เมดหนึ่งเดียวทุกชิ้น

คุณน้ำค้าง กุศลจิต หรือ คุณก้อย ประธานวิสาหกิจชุมชน บ้านรักกะลา เกาะช้างใต้ ภูมิลำเนาเป็นคนเกาะช้าง อยู่บ้านเลขที่ 67/5 หมู่ที่ 5 บ้านสลักเพชร ตำบลเกาะช้างใต้ อำเภอเกาะช้าง จังหวัดตราด อาชีพเดิมรับตัดเสื้อผ้า เมื่อแต่งงานกับ คุณพงษ์ศักดิ์ สวัสดิผล ที่ทำอาชีพช่างไฟฟ้า ทำนากุ้ง และรับจ้างขุดแบ๊กโฮ ได้ปรับเปลี่ยนอาชีพใหม่ ประดิษฐ์วัสดุจากกะลา เนื่องจากในหมู่บ้านเกาะช้างใต้มีสวนมะพร้าวและกะลามักจะถูกทิ้งหรือนำไปเผาทิ้งอย่างน่าเสียดาย จึงคิดนำกะลามาประดิษฐ์เป็นเครื่องประดับ เครื่องใช้ ของที่ระลึก เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างรายได้ให้กับชุมชน เพราะเกาะช้างเป็นเมืองท่องเที่ยวมีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมาก ที่ขี่มอเตอร์ไซค์รอบเกาะผ่านมาด้านสลักเพชร จึงเริ่มต้นจากการก่อตั้งวิสาหกิจชุมชน บ้านรักกะลา เกาะช้างใต้ และเรียนรู้จากวิทยากร จากองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. และสำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดตราดจัดหามาอบรมและพาไปดูงานที่บ้านทุ่งคา จังหวัดชุมพร และจังหวัดสมุทรสงคราม จากนั้นจึงเริ่มทำผลิตภัณฑ์จำหน่ายที่ “บ้านรักกะลา” แรกๆ มีไม่ถึง 10 แบบ ปัจจุบันมีกว่า 100 แบบ ซึ่งผลิตภัณฑ์ “โคมไฟต้นมะพร้าว” ได้รับรางวัล โอท็อป 4 ดาว ในปี 2559

ครอบครัวบ้านรักกะลา

สร้างงานวิสาหกิจชุมชน กระจายรายได้ในท้องถิ่น

คุณน้ำค้าง เล่าว่า เริ่มตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน บ้านรักกะลา ปี 2549 ปัจจุบันมีสมาชิกที่ทำจริงๆ 4-5 ราย เพราะต่างคนมีอาชีพหลัก ไม่มีเวลาว่างพอ ร้านจำหน่ายเดิมอยู่ในอาคารเล็กๆ ปัจจุบันสร้างเป็นร้าน “บ้านรักกะลา” จำหน่ายและตกแต่งโชว์ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดที่ผลิตขึ้นกว่า 100 แบบ และมากกว่า 1,000 ชิ้น ราคามีตั้งแต่ 15 บาท เป็นประเภทแหวน พวงกุญแจ ที่ทับกระดาษ 30 บาท ราคาจะไล่ขึ้นไปเรื่อยๆ ตามความยากและขนาด ของผลิตภัณฑ์สูงถึง 15,000 บาท ราคาแพงสุดขณะนี้คือโคมไฟชุดพิเศษมีราคา 30,000 บาท เป็นโคมไฟติดเพดานขนาดใหญ่ทำเพียงชิ้นเดียว ใช้เวลาทำเป็นเดือน ผลิตภัณฑ์ที่ทำแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ของประดับ ของตกแต่งภายในบ้าน และของที่ระลึก มีทั้งที่เป็นการออกแบบเองและที่ลูกค้าสั่งทำ สินค้าขายดีจะเป็นประเภท พวงกุญแจ กรอบรูป สร้อยข้อมือที่มีสัญลักษณ์รูปช้าง เพราะพกพากลับบ้านได้สะดวก ส่วนชาวต่างประเทศจะชอบซื้อโคมไฟ

ราคาเริ่มต้น 15-30บาท
โคมไฟที่ได้รางวัล OTOP 4 ดาว

เริ่มต้นงานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนด้วยการสอนวิธีทำ ให้สมาชิกเริ่มฝึกทำงานชิ้นเล็กๆ ก่อนที่จะเป็นชิ้นใหญ่ จากนั้นให้รับงานไปทำที่บ้าน เพื่อให้ใช้เวลาว่างทำหรือให้คนสูงอายุทำ โดยมีค่าตอบแทนให้ วันละ 305 บาท งานที่รับไปทำ โดยมากเป็นชิ้นงานย่อยๆ ที่ต้องนำมาประกอบ เช่น การฉลุลายโคมไฟ การขัดกะลา การปะกาวลายพวงกุญแจ งานเล็กๆ จะจ่ายเงินให้ทันทีที่ทำงานเสร็จ สมาชิกที่ทำงานชิ้นใหญ่ได้นำมาฝากขายที่ร้าน 15 วัน จะคิดเงินให้ โดยจะหักเงินเข้ากลุ่มประมาณ 15% เช่น ราคาขาย 350 บาท จะหักเข้ากลุ่ม 50 บาท เพื่อเป็นทุนหมุนเวียน และจ่ายเงินสดให้ 200 บาท ภายใน 1-2 สัปดาห์ที่ขายได้ อีก 100 บาทเก็บเป็นทุนหมุนเวียน จะนำมาปันผลภายใน 1 ปี

“แรกๆ ชาวบ้านไม่คิดว่าจะทำเป็นอาชีพเสริมได้ และปัญหาการนำชิ้นงานมาฝากขายต้องได้เงินทันที ได้พยายามทำให้มีผลิตภัณฑ์หลากหลายมากขึ้นและต้องให้ขายได้จริงๆ ใช้เวลานานร่วม 3 ปี กว่าสมาชิกจะเข้าใจและยอมรับ ตอนนี้การทำงานสบายขึ้น สมาชิกเห็นคุณค่าของกะลาและสร้างรายได้เสริมให้จริง สมาชิกจะมีรายได้เสริมคนละ 2,000-4,000 บาท ต่อเดือน” คุณน้ำค้าง กล่าว

 

ออกแบบด้วยจินตนาการ แฮนด์เมดหนึ่งเดียวทุกชิ้น

คุณน้ำค้าง เล่าว่า กับคุณพงษ์ศักดิ์จะช่วยกันออกแบบผลิตภัณฑ์กะลา ตามจินตนาการของตัวเอง ตามรูปร่างของกะลา หรือลูกมะพร้าวว่าจะทำอะไร มีรูปทรงแบบไหน และวัสดุส่วนประกอบและตกแต่งต้องดูเป็นธรรมชาติกลมกลืนกัน เมื่อทำผลิตภัณฑ์ตามแบบลวดลายต่างๆ มีเศษกะลาเหลือสามารถเก็บมาใช้ประดับตกแต่งงานชิ้นอื่นๆ ได้ จากนั้นนำมาทดลองวางประกอบกันดูก่อน จึงเริ่มต้นทำตามแบบ ส่วนใหญ่ลูกค้าจะชื่นชอบชิ้นงานที่มีสัญลักษณ์รูปช้างเอกลักษณ์ของเกาะช้าง เช่น กระปุกออมสินรูปช้างสินค้าขายดีมาก มีหลายองค์กรที่เป็นหน่วยงาน เช่น องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะช้างใต้ ศูนย์การศึกษานอกระบบ จะให้ออกแบบตามแนวคิดของงาน เช่น งานวิ่ง งานแข่งเรือใบ หรือบางครั้งเป็นโรงแรมให้ออกแบบโคมไฟ ซึ่งจะออกแบบไปให้ดูก่อน เมื่อพึงพอใจจึงกลับมาทำผลิตภัณฑ์ แต่ละชิ้นดูเหมือนทำง่ายๆ แต่ทำจริงๆ แล้วต้องใช้เวลาเพราะเป็นงานละเอียด ทุกชิ้นงานเราใส่ใจให้สวยงามและคงทน

โคมไฟ  30,000 บาท

“แรกๆ ออกแบบไม่ถึง 10 แบบ พอทำๆ ไปเกิดไอเดียขึ้นมาเอง ตอนนี้ทำไปกว่า 100 แบบ จากการไปเห็นสิ่งประดับสวยงามตามโรงแรมใช้วัสดุสมัยใหม่หรูๆ อย่างคริสตัล จึงคิดดัดแปลงมาทำด้วยวัสดุกะลาบ้าง บางอย่างคิดแบบทำตามความต้องการของลูกค้า อย่างโคมไฟที่ส่งประกวดรางวัลโอท็อป จริงๆ แล้วออกแบบทำให้ลูกค้าโรงแรม แต่ส่งไปประกวดก่อน บางอย่างคิดเองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะโคมไฟอย่างเดียวก็สร้างสรรค์ได้ถึง 10 แบบแล้ว เราจะซื้อวัสดุกะลา จะซื้อมะพร้าวเก็บไว้เป็น 1,000 ลูก เพราะเก็บนานไม่มีปัญหาปลวกมอดกินเหมือนไม้ เมื่อลูกค้ามาสั่งงานชิ้นใหม่ๆ หรือสั่งจำนวนมากจะสามารถทำให้ได้ทันที” คุณน้ำค้าง กล่าว

 

นักท่องเที่ยงต่างประเทศให้ความสนใจ ตลาดดี ต้องสร้างแรงงาน

คุณน้ำค้าง กล่าวว่า ปกติฤดูกาลท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศชาวยุโรปจะมาแวะเที่ยวชมและบางคนสนใจที่จะทดลองทำ งานชิ้นง่ายๆ เช่น พวงกุญแจ และมีทิปให้ ซื้อของง่ายกว่านักท่องเที่ยวไทย เพราะราคาขายเป็นราคาเดียวกับคนไทย แต่ช่วงฤดูกรีนซีซั่นที่มีฝน นักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศที่เป็นลูกค้าจะหายไป 50-60% และตอนนี้โรงแรมบางแห่งบนเกาะช้างเริ่มมีการสั่งโคมไฟไปตกแต่ง มีออร์เดอร์มา 20 ชุด ส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยยังให้ความสนใจไม่มาก ส่วนใหญ่จะมาศึกษาดูงาน แต่คนสนใจจริงๆ ยังไม่มากนัก ที่สนับสนุนอยู่จะเป็นภาคเอกชน หรือองค์กรมหาชน อบต.ที่สนับสนุนให้ทำถ้วยรางวัล เหรียญรางวัลการแข่งขันกีฬา เนื่องจากเข้ากับธีมนโยบายโลว์คาร์บอนของจังหวัดตราด

“ปัญหาของการทำผลิตภัณฑ์บ้านรักกะลาเวลานี้มี 2 ปัญหาหลักๆ คือ การขาดแคลนแรงงานฝีมือ ที่บ้านรักกะลาจะเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง กศน.อำเภอเกาะช้าง เปิดสอนไม่คิดค่าใช้จ่าย และเป็นที่ศึกษาดูงาน อยากให้ชุมชนมาเรียนฝึกทำ เพราะต้องการให้มีแรงงานฝีมือทำอาชีพนี้ แต่ยังไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร ส่วนใหญ่มักจะมีอาชีพหลักทำสวนไม่มีเวลา ส่วนเด็กๆ เยาวชนยังไม่ให้ความสนใจ ตอนนี้ฝึกลูกสาว น้องเมจิก และหลานชาย น้องพี อายุ 6-7 ขวบ ช่วยทำอุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ เมื่อลูกค้าสั่งเข้ามาจำนวนมาก ทำให้ต้องใช้เวลาทำนาน และระบบการขนส่งบนเกาะไม่สะดวกไม่สามารถให้บริการส่งสินค้าได้ ทำให้เสียโอกาสในการจำหน่ายสินค้าไปอย่างน่าเสียดาย เนื่องจากไปรษณีย์บนเกาะอยู่คนละด้านของเกาะ ไกลเกือบ 20 กิโลเมตร เส้นทางรถต้องขึ้นเขาไป ส่วนบริษัทขนส่งเอกชนก็เช่นเดียวกัน อยู่ไกลคนละด้านและการส่งมีปัญหาเรื่องบรรจุภัณฑ์ บริษัทไม่สามารถรับบริการได้” คุณน้ำค้าง กล่าว

น้องเมจิก น้องพี

สร้างแลนด์มาร์ก มะพร้าวยักษ์ ให้ลูกเซลฟี่ช่วยโปรโมต

ตั้งแต่เดือนตุลาคมใกล้ฤดูกาลท่องเที่ยวของเกาะช้าง ทางร้านได้ใช้เวลาเดือนกว่าๆทำมะพร้าวยักษ์ ขนาด สูง 2 เมตร กว้าง 1.5 เมตร โดยใช้ซีกกะลามาประกอบกันเป็นลูกมะพร้าวยักษ์ให้ดูสวยงามทำเป็นแลนด์มาร์ก เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวที่ผ่านไป-มาได้แวะเลือกซื้อสินค้า และให้นักท่องเที่ยวที่ชอบถ่ายรูปได้เซลฟี่กัน ซึ่งช่วยประชาสัมพันธ์ที่ดีให้กับทางร้านด้วย…เที่ยวเกาะช้างครั้งต่อไปอย่าลืมแวะชมเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่บ้านรักกะลากัน…เกาะช้างเลี้ยวซ้าย สนใจสอบถามรายละเอียดโทร. (096) 807-2731

 

ขั้นตอนชิ้นงานผลิตภัณฑ์กะลา

คุณพงษ์ศักดิ์ สวัสดิผล เล่าว่า การทำผลิตภัณฑ์กะลานั้นไม่มีเครื่องมือที่ใช้ทำโดยตรง ต้องใช้วิธีนำเครื่องมืออื่นมาดัดแปลงให้เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น สว่านแท่นใช้เจาะรู บางชิ้นต้องทำเอง เช่น ดอกสว่านที่ใช้มีถึง 20 ขนาด ดอกเล็กๆ เราต้องทำเอง สำหรับขั้นตอนการทำมี 4-5 ขั้นตอน ดังนี้

  1. การออกแบบไม่มีลายให้ลอกเลียนแบบ ใช้จินตนาการและต้องนำวัสดุที่ทำเป็นชิ้นมาทดลองต่อเป็นรูปร่าง ขึ้นกับรูปทรงขนาดของกะลา การออกแบบต้องนึกว่าจะใช้ส่วนไหนของกะลาทำอะไร ต้องให้เป็นธรรมชาติมากที่สุด เช่น ต้นมะพร้าว รูปช้าง ลูกมะพร้าวยักษ์ กระปุกออมสินรูปช้าง โคมไฟแบบต่างๆ
  2. การเลือกกะลา ต้องใช้กะลาแก่จัดมีสีดำสวยและทนทานกว่ากะลาอ่อนที่มีสีขาวและราจะขึ้นง่ายกว่า จากนั้นนำไปขัดให้เรียบด้วยเครื่องเจียน โรงขัดจะแยกออกไปต่างหากเพราะมีฝุ่นมาก
  3. การประกอบตามแบบ การประกอบชิ้นส่วนให้ติดกันใช้สว่านเจาะรูใส่สลักเป็นหมุดยึด ไม่ใช้กาวทาแปะเพราะจะทำให้หลุดง่าย
  4. การเลือกใช้วัสดุธรรมชาติเป็นส่วนประกอบ เช่น ไม้ไผ่ ไม้เนื้ออ่อน ลูกปาล์มฟอกซ์เทล ปาล์มน้ำมัน เชือกปอ
  5. การตกแต่งและบรรจุภัณฑ์ เมื่อทำเสร็จแล้วผลิตภัณฑ์จะมันเงาตามธรรมชาติ ไม่ลงแล็กเกอร์จากนั้นใส่ถุงพลาสติกหรือกล่องบรรจุภัณฑ์ที่พิมพ์เรื่องราวของบ้านรักกะลา

ขั้นตอนการทำกระปุกออมสินรูปช้าง 

  1. 1. เลือกกะลามะพร้าว 2 ลูก ด้านหัวเลือกลูกกลม ลำตัวเลือกลูกยาว จากนั้นนำมาขัดเงาดำ (กะลาแก่จะสีดำสวย)
  2. 2. เจาะรูมะพร้าว 2 ลูก ใส่เดือยให้ติดกัน เจาะเปลือกกะลาใส่ขา ทำด้วยไม้ไผ่ขัดผิวยาวครึ่งนิ้ว ใช้กาวผสมผิวกะลาทาบริเวณรอยต่อที่หมุดยึด
  3. 3. งวงช้าง ใช้ช้างพื้นบ้านทำจากไม้เนื้ออ่อน
  4. 4. เจาะรูด้านบน 2 รู ร้อยเชือกป่านกระสอบไขว้ทำโบ พันที่คอ พันขา 4 ขา เพื่อไม่ให้เห็นรอยต่อ หางช้างใช้เชือกกระสอบถักเปียเล็กๆ เจาะรูปากใส่เหรียญ
  5. 5. ติดลูกตา ใช้พลาสติกเพราะจะกลอกตาได้ ดูมีชีวิตชีวา
มะพร้าวขนาด 1.5×2 เมตร