ผู้เขียน | นฤมล รัตนสุวรรณ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเขาบายศรี เกิดจากการรวมตัวของกลุ่มแม่บ้านในพื้นที่บ้านหนองบัว ต.เขาบายศรี อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี เดิมทีเป็นกลุ่มแม่บ้านทุ่งเบญจาหน่วยที่ 2 ต่อมาเจ้าหน้าที่และหน่วยงานภาครัฐได้เสนอแนะให้จดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้สอดคล้องกับที่ตั้งจริง ประกอบกับมีกฎหมายรับรอง
สุรดา บุญสวัสดิ์ ประธานกลุ่มฯ เล่าว่า กลุ่มแม่บ้านรวมตัวกันขึ้นจากการใช้เวลาว่างหลังทำการเกษตรเพื่อหารายได้เสริม ช่วงแรกร่วมกันลองผิดลองถูก จนพัฒนาสินค้าแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรที่มีอยู่ในท้องถิ่นจำพวก ทุเรียน มังคุด กล้วย ชมพู่ ให้มีมูลค่าเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะการแปรรูปทุเรียน หรือราชาผลไม้ ซึ่งปลูกกันมากระหว่างเดือนเมษายนถึงมิถุนายน
ด้วยปัญหาผลผลิตจำนวนมากที่ออกสู่ท้องตลาดพร้อมกันในแต่ละปี ทำให้ราคาทุเรียนตกต่ำ และมักถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง หากผลผลิตไม่ตรงตามความต้องการของตลาด จากนั้นกลุ่มแม่บ้านจึงมีแนวคิดรับซื้อทุเรียนจากกลุ่มสมาชิกแม่บ้านมาแปรรูป เริ่มจากทำเป็นทุเรียนทอด บางส่วนที่สุกระหว่างคัดทุเรียนไปทอด จะนำมาแปรรูปเป็นทุเรียนกวน รวมถึงทุเรียนพันธุ์อื่นที่ตกหล่นเพราะเก็บเกี่ยวไม่ทัน ด้วยสูตรทุเรียนกวนที่คิดค้นขึ้นเอง สูตรหวานน้อยอร่อยมาก จุดเด่นคือ สีเหลืองสวย ไม่คล้ำ จนเป็นที่รู้จักภายใต้แบรนด์ ป้าแกลบ และได้รับประกาศเป็นผลิตภัณฑ์โอท็อป ระดับ 5 ดาว ในปี 2546 และต่อเนื่องเกือบทุกปี
สุรดาบอกว่า ในระยะหลังกลุ่มแม่บ้านประสบกับปัญหาราคาวัตถุดิบแพง เกิดต้นทุนสูง ทำให้ต้องคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ กระทั่งในปี 2559 ได้เข้าร่วมโครงการคูปองวิทย์เพื่อโอท็อปของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ทางกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) จึงเข้ามาถ่ายทอดองค์ความรู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ในทุกกระบวนการผลิตให้มีคุณภาพและมาตรฐาน เกิดความสม่ำเสมอและความคงที่ของผลิตภัณฑ์ รวมถึงออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้สวยงามยิ่งขึ้น จากทุเรียนชิ้นเศษไร้ราคา สู่สแน็คบาร์ หรือผลิตภัณฑ์ประเภท อัดแท่ง ทำให้สินค้าที่ใฝ่ฝันกลายเป็นจริง ทางกลุ่มจึงได้พัฒนาสินค้าเรื่อยมา และ วศ.สนับสนุนให้เข้าร่วมโครงการเพิ่มศักยภาพผู้ประกอบการอาหารแปรรูปตามมาตรฐานเพื่อการส่งออกประจำปี 2560 จนได้รับรองมาตรฐานส่งออก สามารถต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เป็นน้ำกะทิทุเรียนผง
เมื่อปี 2552 สแน็คบาร์ชนะการประกวดผลิตภัณฑ์โอท็อปรูปแบบใหม่ โดยสแน็คบาร์มีเพียงป้าแกลบเป็นผู้ผลิตเพียงเจ้าเดียวใน จ.จันทบุรี สาเหตุหลักเพราะขั้นตอนซับซ้อน ต้องทำด้วยแรงงานคนและใช้เวลานาน จึงไม่มีคู่แข่ง ทำให้ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก แม้เส้นทางค่อนข้างห่างเมือง พบว่ามีคนต่างถิ่นและชาวต่างชาติเดินทางมายังกลุ่มแม่บ้านเพื่อซื้อสินค้าโดยตรง ทำให้สมาชิก 18 คน มีรายได้เสริมเฉลี่ยเดือนละ 10,000 บาทต่อคน โดยไม่ต้องออกไปทำงานห่างไกลครอบครัว ปัจจุบันชุมชนสามารถอยู่ได้ด้วยลำแข้งของตัวเอง ประธานกลุ่มฯกล่าว
อุมาพร สุขม่วง อธิบดี วศ. กล่าวว่า วศ.ได้เข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาผู้ประกอบการในพื้นที่จันทบุรี ตั้งแต่ปี 2549 มองเห็นภาพของผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง และเล็กที่สามารถเติบโตได้ สถานการณ์ของธุรกิจมักขึ้นอยู่กับความผันผวนตามกระแสโลก แต่วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ทุกสถานการณ์ อย่างทุเรียนสแน็ค และ น้ำกะทิทุเรียนผง รวมถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้สวยงาม ช่วยเพิ่มมูลค่า เป็นภารกิจหลักของ วศ. เพื่อช่วยให้ชุมชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ส่วนหนึ่งเห็นได้จากความสำเร็จของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรเขาบายศรี โดยในปี 2559 เข้ามาพัฒนาชุมชนด้วยโครงการคูปองวิทย์ฯ ขณะที่ผู้ประกอบการต้องมีความตั้งใจที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์เช่นกัน
ทั้งนี้ ยังได้นำนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ลงพื้นที่เพื่อนำสินค้ากลับไปทดลองให้เกิดการต่อยอดสินค้าใหม่ ตลอดจนโครงการพัฒนาผู้ประกอบการตามมาตรฐานส่งออก เพื่อช่วยส่งเสริมรายได้ให้ชุมชนทุกกลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ประกอบการโอท็อปใหม่ เช่น ประชาชนทั่วไป กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนโอท็อป 2.ผู้ประกอบการโอท็อปที่ขึ้นทะเบียนแล้ว และต้องการยกระดับดาว และ 3.ผู้ประกอบการโอท็อปที่เป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนที่ต้องการเพิ่มศักยภาพในการส่งออก พร้อมจัดสรรงบประมาณปี 2562 เข้ามาช่วยพัฒนาผู้ประกอบการอีกเท่าตัว
เพราะเช่นนั้น วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม จึงสำคัญ