มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ปิ๊งไอเดียสร้างอาชีพ – รายได้ให้ผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย เปิดคาเฟ่ใช้ชื่อ “ยิ้มสู้” ร้านน่านั่ง กาแฟดี อาหารอร่อย

Yimsoo Cafe (ยิ้มสู้คาเฟ่) ร้านน่านั่งบรรยากาศสุดชิลล์ ตั้งอยู่ที่ซอยอรุณอมรินทร์39 จังหวัด กทม.เปิดให้บริการ 7.00 – 18.00 น. เสิร์ฟออร์แกนิคและอาหารอร่อย มีมุมถ่ายรูปเก๋ๆ ไว้อวดลงโซเชียล พร้อมปลั๊กไฟและรหัสไวไฟให้ใช้งานไม่อั้น ก่อตั้งขึ้นโดยมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ สถานที่ดีๆ ช่วยสร้างรายได้ให้แก่ผู้ที่มีความบกพร่องทางด้านร่างกาย

ศาสตราจารย์ วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ ประธานมูลนิธิ สากลเพื่อคนพิการ และผู้ก่อตั้งร้านกาแฟ “ยิ้มสู้คาเฟ่” เท้าความว่า ในระหว่างปี พ.ศ. 2538 – 2541 ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ หลายธุรกิจล้มละลาย มีคนว่างงานเป็นจำนวนมาก จึงได้เขียนหนังสือ ”สู้ชีวิต เคราะห์สร้างโอกาส” ซึ่งเป็นการรวบรวมหลักธรรมคำสอนของมิสเจเนวีฟ คอลฟิลด์(ผู้ก่อตั้งโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ) และ ซิสเตอร์โรสมัวร์(แม่อธิการโรงเรียนสอนคนตาบอดกรุงเทพฯ) หลักธรรมคำสอนของทั้ง 2 ท่าน ช่วยให้มีกำลังใจต่อสู้ชีวิตจนประสบผลสำเร็จ รวมถึงได้เป็นอาจารย์สอนกฎหมายที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ขณะที่ศาสตราจารย์วิริยะได้รับโอกาสทางสังคม ยังมีผู้พิการอีกจำนวนมากที่ประสบความทุกข์ยากลำบาก และปราศจากการช่วยเหลือใดๆ เป็นสาเหตุให้ศาสตราจารย์วิริยะตัดสินใจนำรายได้จากการขายหนังสือ และเชิญชวนผู้อ่านหนังสือบริจาคเงินร่วมกันจัดตั้งมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่คนพิการ เป็นรูปเป็นร่างเมื่อปี พ.ศ.2542 ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 5/2 ซอยอรุณอมรินทร์ 37 ถนนอรุณอมรินทร์ แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ

“มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ก่อตั้งขึ้นเพื่อใช้เป็นสถานที่พัฒนาคนพิการให้พึ่งพาตนเองได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่าเทียมกับบุคคลทั่วไป เพราะคนพิการในสังคมจำนวนมากถูกปิดกั้นโอกาสหลายอย่าง เช่น การประกอบอาชีพ สาเหตุเพราะนายจ้างจำนวนไม่น้อยมองว่าคนที่อวัยวะไม่ครบ 32 อาจจะทำงานไม่มีประสิทธิภาพทัดเทียมคนปกติ”

ปัจจุบันมูลนิธิดังกล่าวถูกใช้เป็นพื้นที่นำเสนอผลงาน และเรื่องราวของผู้พิการในมิติต่างๆ รวมถึงมีผลงานศิลปะมากมายถูกจัดแสดงในสถานที่แห่งนี้ ที่นี้มีด้วยกัน 5 ชั้น มีบริการล่ามภาษามือทางไกล ศูนย์บริการจัดหางานคนพิการ ศูนย์เด็กเล็กเตรียมความพร้อมก่อนเข้าเรียน ศูนย์ฝึกอาชีพ และชั้นล่างสุดเปิดคาเฟ่ใช้ชื่อว่า ยิ้มสู้คาเฟ่

ศาสตราจารย์วิริยะ บอกเส้นทางเศรษฐีว่า ร้านยิ้มสู้คาเฟ่ เปิดขึ้นเมื่อ ธ.ค.2559 วัตถุประสงค์เพื่อต้องการสร้างงานให้คนพิการมีรายได้ โดยสถานที่แห่งนี้ถูกตกแต่งขึ้นเพื่อเอาใจคนรุ่นใหม่ ที่ชอบถ่ายรูป เพราะมีมุมถ่ายรูปเก๋ๆ เยอะ เสิร์ฟกาแฟออแกนิคและอาหารอร่อย พร้อมปลั๊กไฟและรหัสไวไฟให้ใช้งานไม่อั้น แบ่งเป็น 2 โซน โซนกาแฟ และ โซนอาหาร พื้นที่ร้านรองรับลูกค้าได้ถึง 100 คน

สำหรับเมนูอาหารที่อาจารย์วิริยะย้ำว่าต้องมาทาน มี แพนงไก่ ต้มยำ ผัดกระเพรา ผัดซีอิ๊ว ข้าวหน้าไก่ ส่วนเครื่องดื่มการันตีว่าอร่อยทุกเมนู เพราะก่อนจะเปิดร้านได้ผู้เชี่ยวชาญมาอบรมพนักงาน รวมถึงใช้กาแฟออแกนิคปลูกที่ดอยอินทนนท์ ได้การรับรองจากองค์กรสหประชาชาติว่าเป็นกาแฟอินทรีย์ ปราศจากสารเคมี

ด้วยเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งที่ต้องการจะใช้สถานที่แห่งนี้พัฒนาทักษะคนพิการรวมถึงสร้างอาชีพ ดังนั้นพนักงานล้วนเป็นผู้ที่มีความบ่งพร่องทางด้านร่างกายทั้งสิ้น

“พนักงานที่ยิ้มสู้คาเฟ่ ใช้วิธีประกาศรับสมัครทางอินเตอร์เน็ต ไม่คำนึงวุฒิการศึกษา ไม่จำกัดอายุ เพศ และ วัย ให้เงินเดือนเดือนละ 12,000 บาท ปัจจุบันมีพนักงาน 6 คน หูหนวกทำงานหน้าร้าน 3 คน พนักงานพิการร่างกาย ในครัว 2 คนอายุ 55 ปี คนหูดี 1 คน รายได้ต่อเดือน เดือนละ 1.2 หมื่นบาท”

ศาสตราจารย์วิริยะ บอกว่า ยิ้มสู้คาเฟ่ หวังเป็นสถานที่ฝึกอาชีพให้ผู้พิการเข้ามาเรียนรู้ เพื่อว่าสักวันหนึ่งจะสามารถไปประกอบอาชีพเลี้ยงตัวได้

สำหรับกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ 80 เปอร์เซ็นต์เป็นนักศึกษา  ที่เหลือคือวัยทำงานและคนทั่วไป

ชื่อ ยิ้มสู้คาเฟ่ มาจากชื่อบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ยิ้มสู้” ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นเป็นขวัญ กำลังใจให้คนพิการได้สู้ชีวิต