จากสาวโรงงานถูกเลิกจ้าง สู่แม่ค้าขนมหวาน อาชีพที่ช่วยได้ในยามคับขัน

ถ้าเป็นขนมหวานไทยๆ ประเภทขนมหม้อ อย่าง บัวลอย ข้าวเหนียวมูน สาคูน้ำกะทิ รวมมิตร ซ่าหริ่ม ลอดช่อง ฯลฯ ไม่มีใครไม่รู้จัก “ขนมหวานป้าเยาว์”
มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย ล้วนแล้วแต่เป็นระดับเศรษฐีย่อมๆ เพราะได้วิชาบริหารเสน่ห์ปลายจวัก กวักเรียกลูกค้าเข้ามาใช้บริการขนมหวานไม่ขาดสาย
ป้าเยาว์ หรือ พะเยาว์ กฤษแก้ว เป็นคนบ้านแพน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่พ่อแม่พาครอบครัวเข้ามาตั้งรกรากที่เมืองฟ้าอมร ป้าเยาว์จึงเข้ามาเป็นสาวโรงงานที่บริษัท โทเรไนล่อนไทย แถวลาดปลาเค้า นานถึง 16 ปี และแล้วโชคชะตาก็เล่นตลก ภาวะเศรษฐกิจที่ติดๆขัดๆ ทำให้โรงงานที่ทำอยู่แบกรับภาระต่อไปไม่ไหว ประกาศให้พนักงานเออรี่รีไทร์

_dsc1295
ป้าเยาว์ คือ หนึ่งในนั้นที่ก้าวออกมาพร้อมเงินก้อนหนึ่งเป็นทุนครั้งใหม่
หลังออกจากงาน ป้าเยาว์เล่าว่าได้ไปดูดวงกับหลวงพ่อรูปหนี่ง ซึ่งท่านบอกว่า จะให้ดีน่าจะทำค้าขาย
แล้วอาชีพแม่ค้าก็เริ่มต้นขี้นจากตรงนั้น ขนมชนิดแรกที่ป้าเยาว์ประเดิมขายคือ ขนม “บัวลอย” เพราะเป็นสิ่งที่คุ้นเคยมาแต่เด็ก ด้วยเคยช่วยแม่ทำขนมหวานและช่วยขายบ้างเป็นบางคราว แต่ไม่เคยคิดจะยึดเป็นอาชีพ เมื่อถึงคราวคับขันวิชาของแม่กลับกลายมาเป็นที่พึ่งพิง
ปรากฏว่าบัวลอยป้าเยาว์ได้รับการตอบรับจากลูกค้าดีมาก ใครๆก็ชมว่าอร่อย ทำให้มีกำลังใจมากขึ้น หลังจากนั้นก็ค่อยๆ เสริมขนมหวานเมนูอื่นเข้าไป
“ไม่ได้ไปเรียนเพิ่มเติมที่ไหน อาศัยครูพักลักจำ ร้านไหนที่ว่าอร่อยก็จะไปชิม แล้วลองทำดู เจ้าไหนที่รสชาติยังไม่ถูกปากก็จะมาปรุงเพิ่ม” ป้าเยาว์บอก และว่า
“ขนมหวานที่ได้จากแม่มีแค่อย่างเดียวคือ ข้าวเหนียวมูน เพราะตอนที่เริ่มทำขนมขาย แม่เสียแล้ว ซึ่งขนมของแม่นอกจากข้าวเหนียวมูน ก็จะมีขนมหม้ออีกนิดหน่อย”
ซึ่งตอนที่แม่ยังทำขนมอยู่ ป้าเยาว์บอกว่า ไม่ชอบการทำขนมเลย “เบื่อเพราะเห็นแม่ทำงานหนักขายของอยู่ทุกวัน” ป้าเยาว์บอก พร้อมกับระบายยิ้มอย่างเข้าใจ และว่า ก็เหมือนกับลูกสาวของป้าเยาว์ตอนนี้ก็ไม่อยากขายขนมเหมือนแม่ แม้แต่สามีเองก็ไม่อยากให้ลูกสาวมารับสืบทอดการขายขนมเพราะเห็นว่าเป็นงาน ที่เหนื่อย” ป้าเยาว์บอก

และกล่าวต่ออีกว่า “เมื่อก่อนจะตระเวนไปขายที่ตลาดนู้นตลาดนี้ไม่เคยรู้สึกเหนื่อย ภาคภูมิใจที่ทำมาได้ถึงแค่นี้ เพราะไม่ว่าจะไปขายที่ไหนก็ขายดีตลอด แต่มาถึงตอนนี้อายุ 64 ปีแล้ว กำลังไม่ได้แข็งแกร่งเหมือนเมื่อก่อน จึงต้องจ้างลูกจ้างมาเป็นลูกมือ โดยตัวป้าเองมีหน้าที่ทำขนมเพียงอย่างเดียว เพราะขายวันหนึ่ง 2 แห่ง คือ ที่โรงพยาบาลกรมชลประทาน ตอน 10.00-12.00 พอขายหมดก็กลับบ้านทำขนมสำหรับขายในตอนบ่าย 4 จนถึงตอนหัวค่ำ ที่หน้าปากซอยติวานนท์ 25 ซอยที่เป็นบ้านของป้าเยาว์ในปัจจุบัน”
“ถ้าเป็นที่โรงพยาบาลกรมชลประทานจะขายอาทิตย์ละ 2 วัน วันอังคารและวันศุกร์ มีลูกค้ามาเข้าคิวรอซื้อตั้งแต่เช้าก่อนที่หม้อขนมจะมาตั้งเสียอีก”

14
เพราะเน้นที่การใช้ของดี และต้องมีคุณภาพ สดใหม่วันต่อวัน แม้วัตถุดิบที่ใช้ราคาจะแพงขึ้นก็ไม่มีการลดของ ของเลยหมดทุกวัน ทำให้มีเงินสดเข้ามาทุกวัน อย่าง ถ้าหน้าข้าวเหนียวมูน จะทำข้าวเหนียวมูนวันละ 6-7 กิโลกรัม เฉพาะกะทิอย่างเดียวสั่งคั้นสดๆ ทุกวันๆละ 100 กว่ากิโล เพราะมีขนมอย่างอื่นๆ อีก 20 กว่าชนิด ลูกค้าจึงติดใจรสชาติขนมหวานป้าเยาว์ ชนิดที่ป้าเยาว์ไปไหนลูกค้าไปที่นั่น
ซึ่งไม่เพียงแต่ลูกค้า ป้าเยาว์ยังมีลูกศิษย์ลูกหาอีกเพียบ ทั้งที่ตามไปสมัครเรียนในคอร์สสอนทำขนม ที่ป้าเยาว์เป็นวิทยากรสอนศูนย์อบรมอาชีพและธุรกิจมติชน (มติชนอคาเดมี) ทั้งยังตามไปเป็นลูกมือช่วยทำขนมที่บ้านอีก
เช่น อ้น – มานะชัย เอื้อบุญประเสริฐ ศิษย์เอกของป้าเยาว์ ที่เล่าว่า ไปสมัครเรียนคอร์สทำอาหารที่มติชนอคาเดมี แล้วมีโอกาสได้ลิ้มรสชาติสาคูน้ำกะทิของป้าเยาว์ เพียงแค่คำแรกก็หลงเสน่ห์ปลายจวัก
                “ขนมหวานของป้าเยาว์กลมกล่อม ไม่ใช่หวานหรือเค็มเกิน ได้ชิมวันนั้นพอรู้ว่าป้าเยาว์ตอนที่มติชนด้วย ตกลงใจสมัครเรียนวันนั้นเลย พอเรียนแล้วรู้สึกเลยว่าตำรากับที่แม่ค้าทำมันไม่เหมือนกันเลย มันมีขั้นตอนและเทคนิคที่หนังสือไม่ได้อธิบาย”
เช่นเดียวกับ นงลักษณ์ อรชร พนักงานวิสาหกิจที่บอกว่าตนเองเป็นนักชิมข้าวเหนียวมูน ไม่ว่าที่ไหนทั่วประเทศมีข้าวเหนียวมูนอร่อย เธอจะเดินทางไปชิม ไม่ว่าจะเป็น ส.บุญประกอบ หรือ ก.พานิช เธอชิมมาหมดแล้ว และมายอมสยบกับ ข้าวเหนียวมูนป้าเยาว์
ปัจจุบันทั้ง นงลักษณ์ และ อ้น เมื่อมีเวลาจะเข้าไปช่วยป้าเยาว์ทำขนมที่บ้าน รวมทั้งตามไปเป็นลูกมือช่วยสอนคอร์สขนมหวานที่มติชนอคาเดมีด้วย
คนจะมาเป็นแม่ค้าขายขนมต้องอดทน เพราะบางครั้งขาดทุนก็มี จึงต้องมีใจรัก ต้องอดทนเป็นอย่างมาก ขยัน หมั่นเรียนรู้ฝึกฝนบ่อยๆ ให้ซึมซับความรู้ เหมือนป้าเยาว์ที่ทำขนมจนทุกวันนี้ไม่ต้องชิมก็ได้รสชาติเป๊ะ”


                ส่วนใครที่อยากจะได้เสน่ห์ปลายจวัก ป้าเยาว์บอกว่าตามมาเรียนได้ที่มติชนอคาเดมี เพราะสอนแค่ที่นี่ที่เดียว และให้วิชาความรู้แบบตรงๆ ทุกอย่าง อยากให้ลูกศิษย์ทุกคนเอาวิชาจากป้าเยาว์ไปทำมาหากินได้ทุกคน
3

 

สำหรับ ท่านที่สนใจ มติชนอคาเดมี จะเปิดสอนหลักสูตร รวยด้วยขนมหวาน โดยอาจารย์พะเยาว์ กฤษแก้ว  วันอาทิตย์ที่ 5 พฤศจิกายน 2560 นี้ 

ติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์อาชีพและธุรกิจ มติชน (มติชนอคาเดมี) หรือสำรองที่นั่งได้ที่ โทร. (02) 954-3977-85 ต่อ 2123, 2124 (จันทร์-ศุกร์), (082) 993-9097, (082) 993-9105 (เสาร์-อาทิตย์) http://www.matichonacademy.com  และ http://www.facebook.com/Matichon.Academy.Thailand

27

26