ผู้เขียน | ดวงกมล โลหศรีสกุล [email protected] |
---|---|
เผยแพร่ |
เจ้าของฟาร์มนกยูง และไก่ฟ้า วัยเจนวาย ไอเดียดีนำขนนกยูงในช่วงที่สลัดขนมาเพิ่มมูลค่าเป็นต่างหู ใช้วัสดุล้ำค่ามาประยุกต์ อาทิ ทองคำ พลอย นาค ลูกค้าคนไทยและต่างชาติชื่นชอบ เพราะเป็นงานแฮนด์เมดชิ้นเดียวในโลกที่สวยแปลกตา รายได้ช่วยค่าเลี้ยงดูนกยูงในฟาร์ม ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ
ยุพาภรณ์ แก้วคำ หรือ เจี๊ยบ อยู่บ้านเลขที่ 32 ม.3 ต.แม่ฮี้ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ในวัย 23 ปี เล่าว่า
ที่บ้านเป็นฟาร์มเพาะพันธุ์สัตว์ป่าถูกต้องตามกฎหมาย ขึ้นทะเบียนกับกรมป่าไม้ โดยสัตว์ที่เลี้ยงนั้นมีไก่ฟ้า และนกยูง 2 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ไทยและพันธุ์อินเดีย วัตถุประสงค์ที่เลี้ยงก็เพื่อดูเล่น จำหน่าย และส่วนหนึ่งปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ในพื้นที่ที่ปลอดภัย เพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมในธรรมชาติ
สำหรับการเพิ่มมูลค่าขนนกยูงนั้น เจ้าของฟาร์ม ให้ข้อมูลว่า ในช่วงฤดูฝน หรือราวเดือนพฤษภาคมของทุกปี นกยูงจะผลัดขน ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้เห็นคุณค่ากระทั่งเมื่อ 2 เดือนที่แล้ว ทดลองเก็บขนนกยูงมาทำเป็นต่างหู ปรากฏว่าได้การตอบรับดี เริ่มมีคนสนใจสั่งซื้อ จากงานอดิเรกเลยกลายเป็นธุรกิจขึ้นมา
“เจี๊ยบทดลองนำขนนกยูงมาทำต่างหู ปรากฏว่าคนรอบข้างชื่นชอบ และเริ่มมีลูกค้าสนใจเรียกร้องให้ทำจำหน่าย เลยออกแบบบรรจุภัณฑ์ สร้างแบรนด์ใช้ชื่อว่า โมรียา รวมถึงพัฒนารูปแบบของต่างหูอย่างจริงจัง มีการนำวัสดุอื่นมาประยุกต์ด้วย อาทิ ไข่มุก ทองคำ พลอย นาค เงิน เป็นต้น”
ขนของนกยูงที่ใช้ทำเครื่องประดับ หญิงสาว ย้ำว่า ไม่ได้เบียดเบียนสัตว์ เพราะขนที่ได้มาเป็นขนที่นกยูงผลัดตามธรรมชาติ ซึ่งจะได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น นกยูงจะพลัดขนช่วงหน้าฝน และขนจะขึ้นใหม่ในช่วงหน้าหนาว นกยูงในฟาร์มถูกเลี้ยงแบบปลอดภัย พื้นที่เลี้ยงกว้างมีสนามหญ้าให้เดิน นกยูงจะไม่เครียด
นกยูง 2 สายพันธุ์ที่คุณเจี๊ยบเลี้ยง คือ พันธุ์ไทยและพันธุ์อินเดีย มีความแตกต่างกัน ขนนกยูงอินเดียจะมีสีน้ำชา สีทอง และสีขาวล้วน ส่วนพันธุ์ไทย ขนจะมีลูกเล่น มีมิติ เวลาโดนแดดจะมีความมันวาว
สำหรับกระบวนการผลิต คุณเจี๊ยบ เผยว่า
ขั้นตอนแรก นำขนนกยูงมาทำความสะอาด คัดเลือกเฉพาะขนที่มีความสมบูรณ์และสวยงาม
ขั้นตอนที่สอง นำขนนกยูงทาน้ำมันบำรุง เพื่อให้ขนมีความมันวาว
ขั้นตอนสุดท้าย นำไปทำเป็นต่างหู โดยประยุกต์วัสดุอื่นร่วมด้วยเพื่อเพิ่มลูกเล่นและเพิ่มมูลค่า
ด้านการทำตลาดของแบรนด์โมรียา ปัจจุบันใช้ช่องทางจำหน่ายออนไลน์ และส่งออกไปเยอรมนี อังกฤษ ซึ่งเจ้าของ ระบุว่า เนื่องจากเป็นงานแฮนด์เมด ต่างหูแต่ละคู่มีเพียงชิ้นเดียวในโลก และขนนกยูงเก็บได้เพียงปีละครั้ง ทำให้สินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด
“รายได้จากการจำหน่ายต่างหู นำไปเลี้ยงดูนกยูงในฟาร์ม ซึ่งทางฟาร์มมีโครงการ ปล่อยลูกนกยูงสายพันธุ์ไทยแท้คืนสู่ธรรมชาติ และเพิ่มความหลากหลายทางพันธุกรรมสู่นกยูงในธรรมชาติ”
สำหรับราคาต่างหูขึ้นอยู่กับวัตถุดิบที่ใช้ เริ่มต้นที่ 450 – 9000 บาท มีการรับประกันหนึ่งปี สามารถส่งซ่อมฟรีได้ 1 ครั้ง
สำหรับผู้ที่สนใจ เครื่องประดับจากนกยูง สามารถติดต่อได้ที่ คุณเจี๊ยบ-ยุพาภรณ์ แก้วคำ เบอร์โทรศัพท์ (062) 264-6282 และผู้ที่สนใจสอบถามเกี่ยวกับการเลี้ยงนกยูง ติดต่อ โจ้-ยุทธนาศักดิ์ แก้วคำ (089) 560-4258