น้ำพริกเผามังคุด 100 ปี จันทบุรี ภูมิปัญญาแม่บ้านปลายคลอง

ใครที่เดินทางไปจังหวัดจันทบุรี เวลานี้จะเห็นของฝากแปลกตามากมาย ส่วนมากเป็นสินค้าโอท็อปที่มีคุณภาพ ทำมาจากสินค้าพื้นเมือง หนึ่งในนั้นคือ “น้ำพริกเผามังคุด” เป็นน้ำพริกเนื้อมังคุดแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ และที่สำคัญ เป็น “มังคุดจันทบุรี”

“มังคุดจันทบุรี” ส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พื้นเมือง มีพัฒนาบ้างเพื่อให้ได้ต้นเตี้ย สะดวกแก่การเก็บ และมีลักษณะแตกต่างจากมังคุดในภาคอื่นๆ

กล่าวคือมีผลขนาดเล็กกว่า รูปทรงค่อนข้างเรียว และมีเปลือกค่อนข้างบาง สีของกลีบที่ปลายขั้วผลมีสีแดง ผลสุกจะมีสีม่วงดำ เนื้อนุ่ม รสจัดจ้าน มังคุดจันทบุรีจะออกผลประมาณเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมของทุกปี การทำสวนมังคุดมีพื้นที่เพาะปลูกเป็นอันดับ 3 ของจังหวัด ปัจจุบันนี้มีพื้นที่ปลูกมังคุดในจันทบุรี ประมาณ 85,906 ไร่ ทำเงินในระดับ 2,000 กว่าล้านต่อปี นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัดทีเดียว

สวนมังคุดหลักๆ อยู่บริเวณอำเภอมะขาม, นายายอาม, ขลุง, ท่าใหม่, เมือง, แก่งหางแมว, โป่งน้ำร้อน, แหลมสิงห์, สอยดาว และกิ่งอำเภอเขาคิชฌกูฏ มังคุดจันทบุรีขึ้นชื่อลือชาว่าอร่อยที่สุด ปัจจุบันมีการรวมกลุ่มกันและนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพาะปลูกมังคุด เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชาวสวนมังคุด นอกจากนั้น ชาวสวนมังคุดที่จันทบุรียังหันมาใช้เกษตรอินทรีย์ และพัฒนาเรื่องการเพาะปลูกให้สามารถเก็บผลได้ก่อนฤดูกาล ซึ่งทำให้ขายได้ราคามากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม มังคุดก็ยังเป็นเหมือนผลไม้ชนิดอื่นของไทย ที่บางฤดูกาลอาจเกิดปัญหาผลผลิตล้นตลาด ส่งผลให้ราคาตกต่ำกว่าที่ควรเป็น สร้างความเดือดร้อนให้เกษตรกรชาวสวนมังคุด ดังนั้น ปัญหานี้จึงได้รับการแก้ไขด้วยการพยายาม “แปรรูป” มังคุดเป็นผลิตภัณฑ์อื่น ซึ่งนอกจากสามารถแก้ปัญหาเรื่องราคาตกต่ำแล้ว ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับผลไม้ในจันทบุรีอีกด้วย ซึ่งการแก้ปัญหาดังกล่าวคือ นำมังคุดมาแปรรูปทำเป็น “น้ำพริกเผามังคุด”

น้ำพริกเผามังคุด เกิดจากการรวมกลุ่มของ “แม่บ้านเกษตรกรปลายคลอง” ในจังหวัดจันทบุรี โดยมี “แอ๊ด-จิรฐา มีผิว” ประธานกลุ่มคิดแก้ปัญหามังคุดล้นตลาดในช่วงฤดูกาล ให้กับชาวสวนที่เป็นสมาชิกกลุ่ม ถือเป็นเจ้าแรกที่บุกเบิกสินค้าดังกล่าวขึ้น

“จิรฐา” หรือ “แอ๊ด” เล่าว่า ที่คิดมาทำน้ำพริกเผามังคุด เพราะในตอนแรกที่บ้านเป็นสวนมังคุด ชื่อ “สวนคุณยาย 200 ปี” มีเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ ได้เริ่มจัดงานบุฟเฟ่ต์ผลไม้ พอแขกมาก็ทำน้ำมังคุดให้ดื่ม โดยกรองเอาแต่น้ำ จึงเหลือกากจำนวนมาก ไม่รู้ว่าจะนำไปทำอะไรดี เลยไปหารือกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี อาจารย์แนะนำว่า ให้ลองนำมาทำน้ำพริกมังคุด จึงทดลองทำกันดูว่ารสชาติเป็นอย่างไร จะเข้ากันได้หรือไม่ ซึ่งก็ได้ทดลองทำเรื่อยมา ได้ปรับปรุงแก้ไขพัฒนา จนออกมาเป็นน้ำพริกเผามังคุดในปัจจุบัน

“กากใยมังคุดจะเต็มไปด้วยคุณประโยชน์ รวมถึงสารที่เรียกว่าแซนโทน ซึ่งต้านอนุมูลอิสระได้อย่างดี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีเชี่ยวชาญในการสอนทำน้ำพริกเผา ก็แนะให้ทำน้ำพริกเผามังคุด ซึ่งยังไม่เคยทำมาก่อน จึงลองผิดลองถูกกันไปเป็นเวลา 1 ปีเต็ม กระทั่งสำเร็จออกมาเป็นน้ำพริกเผามังคุดในปัจจุบัน สิ่งที่ได้ในน้ำพริกเผา คือ ประโยชน์จากมังคุด ประโยชน์จากสมุนไพรในน้ำพริกด้วย เป็นสองคุณค่าในหนึ่งเดียว คิดว่าถึงวันนี้ทุกอย่างลงตัวหมดแล้ว ตอนนี้กำลังยื่นขอเครื่องหมายจาก อย. กำลังรออยู่ว่าจะได้เมื่อไหร่” ประธานกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กล่าว

ตั้งแต่ที่เริ่มออกวางจำหน่าย จิรฐา บอกว่า สามารถขายได้เรื่อยๆ โดยใช้วิธีประชาสัมพันธ์แบบปากต่อปาก และให้ทดลองชิมด้วยตัวเอง ซึ่งทุกคนที่ชิมยอมรับในรสชาติที่อร่อย และจะซื้อกลับไปแทบทุกคน เธอบอกด้วยว่า น้ำพริกมังคุดเคยไปออกร้านในงานโอท็อปที่เมืองทองธานี ได้รับป้ายเป็นสินค้าขายดีในงาน แต่ละครั้งขายได้ไม่ต่ำกว่า 300-400 ขวด นอกจากขายในงานออกร้านต่างๆ แล้ว ยังฝากขายตามร้านขายของฝากในจังหวัดจันทบุรีด้วย ซึ่งวางขายเฉพาะในจันทบุรีเท่านั้น ยังไม่มีการวางขายในจังหวัดอื่น ส่วนสนนราคาขายปลีก กระปุกละ 70 บาท ขายส่งอยู่ประมาณ 50 บาท ตราสินค้าของกลุ่มคือ “ดาวจันทน์”

สำหรับใครที่สนใจอยากรู้ว่า “มังคุด” ทำเป็นน้ำพริกเผาได้อย่างไร แอ๊ด-จิรฐา บอกเล่าคร่าว ๆ ว่า ใช้หอม กระเทียม แบบเดียวกับที่ทำน้ำพริกเผา และมะขามเปียกมาทำให้สุก แคะเอาเฉพาะเนื้อมังคุดขาว ๆ มาปั่นทั้งเมล็ดให้ละเอียด จากนั้นนำไปรวนให้แห้งเหนียว ก่อนนำขวดแก้วมาบรรจุน้ำพริกต้องต้มในน้ำเดือดก่อน แล้วปิดฝาให้สนิท นำไปสเตอริไลซ์

“น้ำพริกเผามังคุดของเราได้รับรางวัลที่ 1 ของดีบ้านฉัน ประเภทอาหาร เคล็ดลับที่ไม่มีใครเหมือนก็คือ ใช้เนื้อมังคุดจากต้นที่มีอายุ 100 ปี ซึ่งเนื้อจะฟูมาก และมีเปลือกบาง รสชาติหวาน ตอนนี้เริ่มทำขายทางไปรษณีย์บ้างแล้ว นอกจากน้ำพริกเผามังคุด ยังมีสินค้าโอท็อปของกลุ่มแม่บ้านตัวอื่น ๆ ด้วย อาทิ มังคุดกวน ทุเรียนกรอบ ลองกองอบแห้ง ท็อฟฟี่ผลไม้”

น้ำพริกเผามังคุดของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรปลายคลอง นอกจากจะทำรายได้ให้กับคนในชุมชนแล้ว กำลังจะขยายเพื่อส่งไปขายในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้กำลังรอการพิจารณาของ “อย.”

หากสามารถมีตรารับประกันจาก อย.แล้ว น้ำพริกเผามังคุดจันทบุรี ก็จะเป็นสินค้าขึ้นชื่ออีกสินค้าหนึ่งของจันทบุรี เป็นความภูมิใจของคนจันทบูรที่ใช้ภูมิปัญญาให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อชุมชนและตนเอง