เปิดมุมมอง “เจ้าของอาณาจักรสวนนงนุช” เผยกลยุทธ์จัดสวนยุคใหม่อย่างไร ? ให้โดนใจนักท่องเที่ยว

ทุกคนมีความฝัน บางคนได้เดินตามความฝันของตัวเอง บางคนต้องทิ้งความฝันของตัวเอง เพื่อกลับมาทำหน้าที่ลูกที่ดีตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ แต่การที่ไม่ได้เดินตามความฝันของตัวเองใช่ว่าจะไม่มีความสุขเสมอไป ใครจะไปรู้ว่าวันข้างหน้ารู้ตัวอีกทีเราอาจจะชอบและรักในสิ่งที่เราไม่ได้คิดไว้ตั้งแต่แรกก็ได้ ดังเช่น คุณกัมพล ตันสัจจา ชายผู้เป็นเจ้าของอาณาจักรสวนนงนุช สวนที่โด่งดังไปทั่วโลก ตั้งอยู่ ณ เมืองพัทยาแห่งนี้ กว่าจะมีทุกวันนี้ได้เขาต้องยอมทิ้งสิ่งที่รัก มาทำงานสวนเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของผู้เป็นแม่ เมื่อรู้ตัวอีกทีงานจัดสวนก็ได้กลายเป็นชีวิตจิตใจของเขาไปแล้ว

คุณกัมพล ตันสัจจา ชายเจ้าของอาณาจักรสวนนงนุช สวนที่เมื่อใครได้ยินชื่อก็ต้องนึกถึงความยิ่งใหญ่อลังการ บนเนื้อที่กว่า 1,700 ไร่ ที่รวบรวมพันธุ์ไม้หายากจากทั่วโลกมาจัดวางไว้ให้นักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม และนอกเหนือจากสวนสวยแล้ว ภายในสวนนงนุชยังมีกิจกรรมอีกหลายชนิด เรียกได้ว่าจะมากันเป็นหมู่คณะ หรือมากับครอบครัว สวนนงนุชก็มีกิจกรรมตอบโจทย์นักท่องเที่ยวทุกกลุ่ม แต่กว่าที่จะมาเป็นสวนที่ทุกคนรู้จักได้อย่างทุกวันนี้ ต้องผ่านอุปสรรคมากมาย

คุณกัมพล ตันสัจจา

คุณกัมพล เล่าว่า เมื่อก่อนตนไม่ได้ชอบงานจัดสวนและไม่มีความรู้เรื่องต้นไม้มาก่อนเลย เพราะตนคลุกคลีอยู่แต่กับวงการหนัง ทำหนังสร้างภาพยนตร์มาโดยตลอด การจัดสวนเป็นเรื่องที่ไกลตัวมาก แต่ก็มีจุดพลิกผันให้ต้องมาทำงานสวนตนเองเพราะคุณแม่ คือ คุณนงนุช ตันสัจจา ท่านเป็นคนรักต้นไม้มากๆ เมื่อท่านได้มีโอกาสไปเที่ยวตามต่างประเทศ เห็นสวนของทางต่างประเทศสวย กลับมาท่านจึงอยากมีสวนเป็นของตัวเองบ้าง ซึ่งตอนนั้นผมก็คัดค้านว่าไม่มีใครเขาทำกัน มันยากและต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล แต่ท่านบอกว่าที่ของเราอยู่ที่พัทยา เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำไปเหอะ เดี๋ยวก็มีนักท่องเที่ยว ทัวร์ มาหาเราเอง ด้วยปัจจัยเหล่านี้ผมจึงต้องยอมทิ้งวงการภาพยนตร์ มาลุยงานสวนที่ดูแล้วไกลตัวผมมากๆ

 

เข้าสู่วงการจัดสวนอย่างเต็มตัว

คุณกัมพล เริ่มทำสวนบนพื้นที่กว่า 1,300 ไร่ โดยมีสวนสวยของคุณแม่ 200 ไร่ ที่เหลือเป็นสวนมะม่วงกับมะพร้าว ปัจจุบันมีที่ดินทำสวนทั้งหมด 1,700 ไร่ คุณกัมพล บอกว่าการทำสวนของเขาคือ การค่อยเป็นค่อยไป เพราะพื้นฐานเริ่มจากศูนย์ ศึกษาโดยเรียนวิธีลัด เอาทีมงานคนจัดสวนไปเรียนกับผู้จัดสวนมืออาชีพ ขอตามมืออาชีพไปทำ ทำให้ฟรีไม่เอาค่าแรง ขอไปด้วย ให้เขาสอนเรื่องการจัดสวน แล้วก็ดัดแปลงใส่แนวคิดในสวน ตั้งเป้าว่าการจัดสวนต้องมีพระเอกเพื่อดึงจุดสนใจของผู้มาเยี่ยมชมสวน ซึ่งใช้หลักการเดียวกันกับภาพยนตร์คือ ต้องมีพระเอก เขาจึงเลือกปาล์มเป็นพระเอกของสวน เก็บปาล์มมาจากทั่วโลก ปลูกมาเพื่อเป็นพระเอกของสวน แล้วก็รวบรวมพันธุ์ไม้ไว้เยอะมาก เพราะเป็นสวนพฤกษศาสตร์ จนตอนนี้มีพันธุ์ไม้กว่า 18,000 กว่าชนิด และยังเป็น เบอร์ 1 ของโลกรวบรวมพันธุ์ไม้หายากอีกหลายชนิด

 

 

มุมมองการทำสวน ของคนยุคใหม่

สิ่งแรกคือ นักออกแบบสวนต้องเข้าใจองค์ประกอบของการจัดสวนก่อน

“เรื่องสวนถ้าไม่เข้าใจจะออกแบบไม่ได้ การบริการคุณเข้าใจไหม ยกตัวอย่าง สมมุติว่าคุณออกแบบสวน ต้องคิดแล้วว่าที่จอดรถควรอยู่จุดไหน ทางเข้า-ออก ตรงไหน ผู้ชมสวนต้องดูอะไรก่อน จุดแรกเสร็จแล้วไปไหนต่อ คุณต้องเล่าเรื่องราวให้เสร็จ ถ้าเข้าใจตรงนี้แล้ว คุณเสนอแล้วคนจ้างงานพอใจ จึงจะลงมือออกแบบได้” คุณกัมพล บอกและเล่าต่ออีกว่า

“แต่ทุกวันนี้ ออกแบบสวนสวยอย่างเดียว แต่องค์ประกอบไม่สัมพันธ์กัน อย่างสวนผมนั่งรถชมสวนแล้วไปไหนต่อ เมื่อก่อนผมเริ่มปั้นสัตว์ก็วางไว้ทั่ว แต่ไม่มีคนเดิน เราก็คิดใหม่ จะทำอย่างไร ให้คนสนใจในสิ่งที่เราอยากจะนำเสนอ เราจึงยกสัตว์ทั้งหมดไปไว้ระหว่างทาง ได้ผล คนดูชอบได้เห็นสัตว์นานาชนิด สร้างความสะดวกให้เขา ทำง่ายๆ ไม่ต้องใหญ่ แต่ทุกคนพอใจ เห็นแล้วประทับใจ สิ่งสำคัญคือ พยายามยกทุกอย่างมาอยู่ด้วยกัน…ที่นี่เราเปลี่ยนสวนทุกวัน ด้วยความที่ผมอยู่วงการหนังมาก่อน ผมจึงใช้หลักและวิธีการคิดของคนทำหนังคือ หนังต้องมีตัวเอก และสอนให้เราหลอกคนมาดูหนัง การหลอกคนคือ มองในมุมมองของคนอื่น อย่างในมุมมองของผู้หญิง เขาชอบดูอะไร ชอบพระเอกคนนี้ ผมก็เอาคนนี้มาเล่นหนังเลยครับ ผู้ชายชอบผู้หญิงคนนี้ เราก็เอาคนนี้มาเล่น เท่ากับเรามองในมุมของคนดู ไม่ใช่ทำสิ่งที่เราอยากทำ ต้องทำในสิ่งที่ผู้ชมชอบ ผมขอใช้ คำว่า การ์เด้นท์ออฟเอฟเวอรี่วัน คือสวนสำหรับทุกๆ คน ทุกคนมาแล้วต้องแฮปปี้ แม่ชอบต้นไม้ ลูกอาจจะชอบสัตว์ พ่ออาจจะชอบดูรถ หรือใครชอบกิน ที่นี่เราตอบโจทย์หมด คนมาก็แฮปปี้กลับไป ความสะดวกสบายเราก็ใส่ให้ครบ คนที่ทำสวนต้องเข้าใจกลุ่มลูกค้าด้วย ต้องแก้ไขไปเรื่อยๆ เพื่อให้ถูกจริตของนักท่องเที่ยว ทำสวนให้น่าสนใจ ไม่น่าเบื่อ”

 

อลังการ แปลก สะใจ คีย์เวิร์ดสู่ความสำเร็จ

คุณกัมพล บอกว่า การทำสวนให้ประสบผลสำเร็จให้ยึดหลักคีย์เวิร์ดมา 3 อย่าง คือ 1. อลังการ  2. แปลก 3. สะใจ ถ้าทำได้ 3 อย่างนี้ รับรองสิ่งที่ได้ไม่มีพลาด การทำสวนของคุณกัมพลคือ จะทำอย่างไร ให้คนเข้าสวน ชมสวน จึงมีการเปลี่ยนรูปแบบสวนไปเรื่อยๆ ไม่ให้ซ้ำ คือท่านที่เคยมาแล้วมาอีกก็ต้องตื่นเต้นกับสวนอีกครั้ง

รูปปั้นไดโนเสาร์ พระเอกของสวน

“การทำสวนของผม ผมถือว่าเป็นสวนแบบเศรษฐกิจพอเพียง แต่พอเพียงแบบไม่รู้ตัว เพราะมีเท่าไรก็ทำเท่านั้น  แต่ที่สำคัญคือ ทำไม่หยุด สร้างต่อเนื่อง เพื่อรองรับให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวถาวร ตอนแรกมีสวนสัตว์เล็กๆ เลี้ยงไปสักพักสัตว์ก็ตายไปเรื่อยๆ เราจึงเปลี่ยนแนวคิดมาปั้นสัตว์ดีกว่า ไม่ต้องเลี้ยง ประหยัดต้นทุน ตอนนี้ปั้นสัตว์ได้กว่า 90 ชนิด โครงการปีหน้าจะเลิกทั้งหมด หันมาปั้นสัตว์แทน ประกอบกับเราสังเกตได้ว่านักท่องเที่ยวเข้ามาถึงสวนเดินไปไกลมาก เพื่อไปถ่ายรูปกับไดโนเสาร์ คุณกัมพลจึงสั่งปั้นเพิ่ม ซึ่งตอนนี้ถือได้ว่ารูปปั้นไดโนเสาร์เป็นที่ป๊อปปูล่าร์มากที่สุด และตั้งเป้าไว้ว่าจะปั้นสัตว์ทุกชนิดที่มีบนโลก คาดว่า 4 ปีข้างหน้าแล้วเสร็จ” คุณกัมพล บอก

 

จัดการดูแลต้นไม้บนพื้นที่สวนขนาดใหญ่

หลายคนคงตั้งคำถามว่า สวนใหญ่ขนาดนี้ดูแลอย่างไร คุณกัมพล บอกว่า เทคนิคไม่มีอะไรมาก เพียงต้องหมั่นคอยสอบถาม ย้ำกับพนักงานเป็นประจำว่า ต้องทำแบบนี้ คือพยายามถามวันนี้จะทำไร ตกเย็นทำหรือยัง ถึงจะได้อย่างทุกวันนี้ ส่วนไม้ที่นำมาจัดในสวนให้พยายามเลี้ยงไม้ที่เลี้ยงได้ ไม่ต้องพยายามทุกอย่าง อันไหนทำได้ เราถึงทำ ทุกอย่างในโลกนี้เราทำไม่ได้ทุกอย่าง

“อย่างผมได้ลองพูดคุยกับเกษตรกรจากจังหวัดเลยว่า ให้พวกเขาปลูกต้นไม้ที่คุณปลูกได้ ผมก็ใช้ต้นไม้ที่ผมใช้ได้ ไม้ที่ผมใช้ได้คืออะไร ผมเอาสีเป็นหลัก อะไรก็ได้แต่ขอให้ทน คนบอกต้นนี้หายาก หายากผมไม่สนใจ ผมต้องการให้ทนและสีจัดไหม คนต้องการตรงนี้ เพราะเราผลิตไม้ใหม่ๆ ออกมาไม่มีคนซื้อ เพราะฉะนั้นควรผลิตไม้ที่ทนและคนรู้จัก แต่ถ้าคุณบอกไม้นี้สวยมากแต่ไม่ทน สักพักคนก็จะเลิกใช้กันไปเอง” คุณกัมพล กล่าวทิ้งท้าย