หนุ่มพังงา ทำอาชีพจับจักจั่นทะเลขายให้กับร้านอาหาร สนนราคาตัวละ 1 บาท บางวันโชคดีจับได้มากถึง 500-1000 ตัว ต่อวัน

สัตว์และพืชตามธรรมชาติของแต่ละท้องถิ่นมีความเหมือนและแตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์และสภาพอากาศ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้นเพื่อให้เหมาะสมกับสิ่งมีชีวิต รวมถึงมนุษย์ที่อยู่ในบริเวณนั้น เพราะสัตว์และพืชเป็นห่วงโซ่อาหารของมนุษย์ ซึ่งเป็นความจริงที่ต้องยอมรับแม้จะโหดไปนิด แต่ถ้าคุณกินมังสวิรัติก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง สัตว์ต่างๆ ก็ไม่ได้เป็นห่วงโซ่อาหารของคุณ

อาหารของท้องถิ่นแต่ละภาคมีความแตกต่างกันตามพืชพรรณและสัตว์ที่มีอยู่ในพื้นที่ภาคต่างๆ บางครั้งคนต่างถิ่นไปอาจมองเป็นเรื่องแปลกไม่กล้ากิน อาหารภาคเหนือและภาคอีสานมีสัตว์เล็กๆ และแมลงที่ภาคอื่นไม่กล้ากิน ส่วนภาคใต้ที่มีพื้นที่ติดชายทะเล อาหารทะเลเป็นอาหารที่ทำกินทุกมื้อในชีวิตประจำวัน บนโต๊ะกับข้าวของชาวใต้ที่มีพื้นที่ติดทะเล น้อยครั้งที่จะไม่มีอาหารทะเลในมื้อ

จักจั่นทะเลเป็นสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง เป็นสัตว์ในวงของปู โดยใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Hippoidea มีรูปร่างคล้ายจักจั่นที่เป็นแมลงบนบก มีขนาดเล็กเท่าหัวแม่มือ มีกระดอกไม่แข็งมากคล้ายปู มีขาทั้งหมด 10 ขา แบ่งเป็น 5 คู่ ขาทั้งหมดไม่ได้ใช้ในการว่ายน้ำเนื่องจากจักจั่นทะเลจะอยู่ในทรายที่มีน้ำขึ้นลงอยู่ตลอดเวลา ขาจึงใช้ในการขุดคุ้ยทรายเพื่อพยุงตัวหรือมุดลงไปซ่อนตัวในทราย หัวมีกรีแต่ไม่แหลมและแข็งเหมือนกุ้ง ไม่มีก้ามหนีบเหมือนปู อาหารของจักจั่นทะเลคือแพลงตอน และสาหร่ายขนาดเล็ก

โดยปกติจักจั่นทะเลจะอาศัยอยู่ตามชายหาดที่มีสภาพแวดล้อมเป็นธรรมชาติ ไม่มีมลพิษ จักจั่นทะเลจะไม่โพล่ออกจากทรายในการดำรงชีวิตอยู่ แต่จะโพล่ขึ้นมาตอนคลื่นซัดเข้าฝั่ง บนพื้นทรายหมาดๆ จักจั่นทะเลไม่สามารถมุดลงไปได้เนื่องจากทรายแน่นเกินไป แต่จะสามารถมุดลงใต้ทรายได้ดีต่อเมื่อมีน้ำทะเลอยู่เหนือพื้นทราย ซึ่งในกรณีนี้จักจั่นทะเลจะมุดทรายไวมาก แต่จะมีร่องร่อยให้เห็นว่าผิดปกติในผืนน้ำเป็นวงคล้ายวงกลมและมีฟองอากาศขึ้นมาจากพื้นทรายตอนที่มีน้ำทะเล ขนาดของจักจั่นทะเลตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้และมีไข่ติดใต้ท้องจำนวนมาก สีส้มแดงคล้ายปู จักจั่นทะเลจะวางไข่ลงลึกในพื้นทราย เมื่อเป็นตัวขนาดเล็กก็จะถูกน้ำทะเลพัดออกจากฝั่ง เมื่อเริ่มโตขึ้นจึงจะเข้ามาอาศัยอยู่ในทรายใกล้ฝั่ง

ในวัยเด็กของผู้เขียน เมื่อไรได้มีโอกาสไปทะเล จักจั่นทะเลเป็นสิ่งที่จับไม่ยาก ไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ใดๆ เพียงแต่ไปยืนบริเวณหาดทรายที่คลื่นซัดถึง ตอนคลื่นซัดเข้ามาให้ใช้เท้าขยี้พื้นทรายให้เป็นหลุม พอตอนคลื่นซัดลงให้เร่งขยี้ทรายให้เร็ว เท้าเราจะสัมผัสตัวของจักจั่นก็ให้เหยียบให้แน่นไว้ไม่ให้จักจั่นมุดทรายหนีพอน้ำลงเลยเท้าเราให้เอาเท้าออกแล้วรีบจับตัวจักจั่นขึ้นมาทันที เพราะถ้าน้ำซัดมาอีกครั้งจักจั่นจะมุดทรายหนีได้อย่างรวดเร็ว

เนื่องจากจำนวนการจับได้ครั้งละตัวสองตัว นานๆ จึงจะได้ที เราจึงต้องไปกันหลายๆ คนแล้วเอามารวมๆ กัน จึงได้ทำอาหารกิน แต่คลื่นค่อนข้างแรงมาก บางครั้งโดนซัดลงไปหงายท้องก็มี ยิ่งตอนคลื่นถอยหลังลงทะเลจะรู้สึกงงหัวมาก สักสองสามครั้งจะรู้สึกหมุนติ้วต้องขึ้นมาพักบนชายหาด

พรานทะเล

จนกระทั่งได้มีโอกาสเจอคนคนหนึ่งที่ถือว่าเป็นพรานทะเลชื่อ พี่รมย์ ที่มีอาชีพจับจักจั่นขาย แห่งชายหาดอำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา โดยเล่าว่า ได้ทำเป็นอาชีพมาหลายสิบปีแล้ว โดยการจับจักจั่นขายให้กับร้านอาหารในหาดท้ายเหมือง ในสนนราคาตัวละ 1 บาท บางวันโชคดีได้มากก็ 500-1,000 ตัว บางวันก็ได้น้อย วิธีจับจักจั่นทะเลแบบภูมิปัญญาชาวบ้านที่ทำประมงท้องถิ่นคือการใช้สวิงที่ติดกับไม้ 4 ท่อน เอามาผู้เชือกพอแน่นให้มีความยืดหยุ่นแต่ไม่หลุดง่าย และใช้ตาข่ายขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร จะทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าหรือสี่เหลี่ยมจัตุรัสแล้วแต่ชอบ นอกจากนี้ ยังต้องผูกเชือกรั้งตาข่ายด้านหน้าไว้ 1 เส้น เพื่อไม่ให้เวลาคลื่นซัดลงจะพลิกตาข่ายให้คว่ำลงได้ และที่ต้องผูกเชือกไม่ให้แน่นมากเพื่อความยืดหยุ่น เนื่องจากคลื่นค่อนข้างแรง ถ้าสวิงตายตัวอาจจะหักหรือกระชากจนคนจับล้ม

วิธีจับจักจั่นทะเล

เมื่อน้ำทะเลซัดเข้ามาแล้วถอยลงไปเราจะเห็นตามพื้นทรายมีตาน้ำเป็นฟองขึ้นมา แสดงว่าอาจจะมีจักจั่นทะเลอยู่ เราก็จะเอาสวิงไปดักรอข้างหน้าพื้นทรายที่เราคาดว่าจะเจอจักจั่นโดยกดสวิงลงไปบนพื้นทราย และไปยืนใกล้ตาข่ายที่สุด เมื่อน้ำทะเลซัดขึ้นให้ขยี้เท้าบริเวณนั้นและเร่งขยี้ให้มากตอนที่คลื่นตีกลับลงทะเลเพื่อคุ้ยจักจั่นให้ขึ้นมา กระแสคลื่นจะถอยกลับก็จะนำตัวจักจั่นเข้าไปติดที่ตาข่าย จักจั่นที่มีขนาดเล็กจะรอดตาข่ายไป แต่จะติดตาข่ายเฉพาะตัวที่มีขนาดใหญ่พอ เป็นการอนุรักษ์ให้หาดทะเลท้ายเหมืองมีจักจั่นอยู่ตลอดไป

รอคลื่นซัดขึ้นมา
ใช้เท้าขยี้ทรายให้ตัวจั๊กจั่นขึ้นมา
ยกยอขึ้นเมื่อน้ำลด

พี่รมย์ บอกว่า ช่วงหน้าแล้งระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน จักจั่นทะเลจะมีมากที่สุด ส่วนในฤดูฝนช่วงพฤษภาคมถึงกันยายนจะมีน้อย ในช่วงฤดูแล้งจากราคาตัวละ 1 บาท มาเป็นช่วงฤดูฝนจะได้ราคาถึง 2 บาท เพราะถือเป็นเมนูยอดฮิตสำหรับชายหาดท้ายเหมือง คู่กับส้มตำสาหร่ายเม็ดพริกที่เคยนำเสนอไปแล้ว

 

เมนูจักจั่นทะเล

ในช่วงหน้าแล้งเหมาะสำหรับการเที่ยวทะเลแถบฝั่งอันดามัน เนื่องจากคลื่นลมสงบ นักท่องเที่ยวที่มากินอาหารทะเลเมนูขึ้นชื่อของร้านตาต้า หาดทะเลท้ายเหมืองของเจ๊เขียว คือ ส้มตำสาหร่าย ปลาทรายทอดขมิ้น และเมนูจักจั่นซึ่งทำได้ 3 อย่างที่ขึ้นชื่อคือ จักจั่นทะเลชุบแป้งทอด ทอดกระเทียมพริกไทย และแกงเหลืองใส่สับปะรด ก่อนปรุงเมนูต่างๆ ก็จะต้องนำจักจั่นทะเลมาล้างน้ำจืดให้หมดทรายเสียก่อน แล้วจึงดึงกรีด้านหน้าเป็นลักษณะยื่นออกมาสองข้าง เอากระดองข้างหลังออก แล้วนำมาชุบแป้ง ตั้งกระทะน้ำมันให้เดือดดีก็ใส่จักจั่นทะเลลงไป ใช้ไฟกลาง พอด้านหนึ่งสุกก็กลับอีกด้านเป็นอันใช้ได้ ไม่ได้ยุ่งยากอะไร ส่วนทอดกระเทียมพริกไทยก็ทำแบบทั่วไป สำหรับเมนูแกงเหลืองหรือแกงส้มใส่ย่าหนัดหรือสับปะรดก็เหมือนแกงเหลืองทั่วไป แต่จะได้อรรถรสตรงความสดของจักจั่นทะเลซึ่งจับมาสดๆ จากหน้าชายหาด เมนูนี้จำหน่ายในราคาจานละ 120 บาท กินอาหารไปก็มองคลื่นซัดฝั่งไปได้บรรยากาศทะเลสุดๆ รสชาติของจักจั่นทะเลทอดกรอบจะคล้ายกุ้งกับปูผสมรวมกัน กรอบนอกนิ่มใน จิ้มน้ำจิ้มที่เตรียมมาให้ก็สุดฟิน บรรยายให้สำหรับคนไม่เคยกิน จินตนาการไม่ถูก ต้องชิมถึงจะรู้

ชุบแป้งทอด

เสียดายที่ชายหาดทะเลท้ายเหมืองไม่สามารถลงเล่นน้ำได้เช่นกับชายหาดอื่น เนื่องจากช่วงชายหาดจะสั้น เดินลงไปซัก 100 เมตร พื้นหาดทรายจะกลายเป็นหน้าผาคล้ายไหล่ทวีป และคลื่นซัดแรงมาก ชายหาดอีกด้านมีโรงแรมสำหรับชาวต่างชาติมาพักเป็นส่วนใหญ่ มักนิยมเล่นวินเซิร์ฟ แต่ก็มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ นักท่องเที่ยวไทย และชาวบ้านเองเอาชีวิตมาเซ่นทะเลที่นี่ทุกปี