2 สาว มทร.ธัญบุรี ดึงคุณค่าพืชสวนครัวจากตะไคร้ สู่ชาดอกไม้บาน

2 สาว มทร.ธัญบุรี รับกระแสสุขภาพ พัฒนาการชงชารูปแบบเดิม ดึงคุณค่าพืชสวนครัวจากตะไคร้ สู่ชาดอกไม้บาน ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ชูรสชาติความเป็นไทย

คำจำกัดความ “ชาดอกไม้บาน” คือ การนำใบชามามัดรวมกันเป็นก้อนกลม ซึ่งจะมัดรวมกับดอกไม้ที่มีสรรพคุณต่อร่างกาย แล้วนำไปอบหรือตากแห้ง เมื่อนำไปชงพร้อมกับน้ำร้อน จะบานออก มีลักษณะคล้ายดอกไม้ มีต้นกำเนิดจากแถบมณฑลฝูเจี้ยนของจีน โดยชาวจีนเรียกชานี้ว่า “กงอี้ฮวาฉา”

การนำชามามัดรวมกับดอกไม้นอกจากจะได้กลิ่นหอมแล้วยังให้ความสวยงามอีกด้วย จึงได้พัฒนาชาดอกไม้บาน (Blooming Tea) จากใบชามาเป็นตะไคร้ ซึ่งเป็นพืชสวนครัวที่ทุกคนรู้จักกันดี ผลงานของ นางสาวเสาวลักษณ์ ผ่านสุวรรณ และ นางสาวกนกกานต์ บุญประสพ นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี คณะเทคโนโลยีการเกษตร สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอาหาร และมี ผศ.ดร. นันท์ชนก นันทะไชย เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

นางสาวเสาวลักษณ์ ผ่านสุวรรณ

เหตุที่นำตะไคร้มาทำเป็นชา เนื่องจากมีสรรพคุณในการรักษาบำบัดโรคและอาการป่วยต่างๆ ในคน และจัดเป็นพืชสมุนไพร เมื่อนำไปกลั่นด้วยไอน้ำจะได้น้ำมันหอมระเหย ซึ่งฤทธิ์ทางยาของสารสกัดจากตะไคร้สามารถออกฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียและกระตุ้นการขับลมในร่างกายได้ ต้นสดของตะไคร้นำมาเป็นส่วนผสมของเครื่องแกง ต้มยำ และยำ หรือนำไปทำน้ำตะไคร้ดื่มคลายร้อน ขับลม แก้ท้องอืด ช่วยเพิ่มเกลือแร่ต่างๆ เช่น แคลเซียม ฟอสฟอรัส และวิตามินเอ อีกทั้งตะไคร้ยังหาซื้อได้ง่าย มีราคาถูก เป็นที่รู้จักของคนไทยและปรากฏเป็นส่วนผสมและส่วนประกอบของอาหารไทยหลายชนิด จึงเลือกมาทำเป็นชา โดยศึกษากรรมวิธีที่เหมาะสมสำหรับการแปรรูปตะไคร้เป็นชาดอกไม้บาน

ขั้นตอนการมัดเพื่อให้เป็นก้อนชา

กระบวนการแปรรูปตะไคร้เป็นชาดอกไม้บาน เริ่มต้นจากคัดแยกตะไคร้ให้มีลักษณะสมบูรณ์ ไม่มีรอยตำหนิหรือเน่าเสีย จากนั้นนำตะไคร้ฉีกออกเป็นเส้นๆ ตามความยาวของลำต้น ล้างให้สะอาด ประมาณ 3 ครั้ง วางในถาดตะแกรงแล้วนำไปอบที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 20 นาที จากนั้นนวดและหมักไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วมัดให้ได้น้ำหนัก ประมาณ 30 กรัม

ห่อด้วยผ้าขาวบางแล้วนำไปอบ

ชาดอกไม้บานจากตะไคร้นี้จะใช้ดอกมะลิเป็นส่วนประกอบด้วย โดยนำดอกมะลิล้างด้วยน้ำสะอาด แล้วแช่ลงในเบกกิ้งโซดากับน้ำสะอาด ประมาณ 15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง นำไปอบที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 20 นาที

ตัวอย่างก้อนชาดอกไม้บานที่ผ่านการอบ

จากนั้นนำดอกมะลิ 1 กรัม ไปมัดรวมกับตะไคร้ 30 กรัม ที่เตรียมไว้เรียบร้อยแล้ว ให้เป็นก้อนกลมด้วยเทคนิคการมัดกลมแล้วย้อนปลายตะไคร้ทั้งหมดขึ้นมารวมกับที่มัดไว้ แล้วห่อด้วยผ้าขาวบาง นำไปอบอีกครั้งด้วยอุณหภูมิ 50 องศาเซลเซียส แล้วเก็บใส่ถุงพลาสติกปิดสนิทและเก็บไว้ในที่แห้ง เพื่อสำหรับเตรียมดื่มชาต่อไป

ชาดอกไม้บานจากตะไคร้

นางสาวเสาวลักษณ์ หนึ่งในเจ้าของผลงาน อธิบายเสริมว่า เคล็ดลับการชงชาดอกไม้บานให้มีรสชาติดี จะต้องต้มน้ำสะอาดให้เดือด แล้วทิ้งไว้สักครู่ให้น้ำมีอุณหภูมิ ประมาณ 80-90 องศาเซลเซียส จากนั้นใส่ชาดอกไม้บาน 1 ก้อน ลงไปในกาสำหรับชงชา ใส่น้ำร้อนให้ท่วมก้อนชา แล้วเทน้ำทิ้งทั้งหมดเพื่อชำระล้างเศษฝุ่นละออง ขั้นตอนถัดมาเทน้ำร้อนลงไปในกา ประมาณ 500 มิลลิลิตร แช่ไว้จนก้อนชาบานเป็นดอกไม้ ใช้เวลา 2-4 นาที แล้วดื่มได้ทันที หากต้องการความหวาน สามารถเติมน้ำตาลทรายลงได้ตามความชอบ

“รสชาติและกลิ่นหอมของชาดอกไม้บานตะไคร้จะช่วยให้รู้สึกสบายท้อง ขับลมและผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี”

นับเป็นอีกหนึ่งผลงานที่นำสมุนไพรครัวเรือนมาพัฒนาและประยุกต์กรรมวิธีการผลิต แม้ตอนนี้ยังไม่มีขายเชิงพาณิชย์ แต่ผู้สนใจกรรมวิธีการผลิตสามารถขอรับคำแนะนำได้ที่ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี โทร. (02) 592-1956