ถอดบทเรียนนักธุรกิจไทยที่เคยเผชิญวิกฤตต้มยำกุ้ง ใช้อดีตที่เคยพลาด มาเป็นไกด์ดำเนินชีวิต

เศรษฐกิจไทย นับว่าผ่านวิกฤตและการชะลอตัวมาหลายครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่เป็นโศกนาฏกรรมใหญ่ คือ ‘วิกฤตการณ์ต้มยำกุ้ง’ เมื่อปี 2540  อันเกิดจากการเปิดเสรีทางการเงิน ขณะที่ยังคงตรึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทไว้ ส่งผลให้เกิดการกู้เงินจากต่างประเทศมากเกินควร โดยเงินกู้เหล่านั้นจำนวนมากไหลเวียนในวังวนของการเก็งกำไร โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ ราคาของสินทรัพย์ถูกปั่นให้มีมูลค่าสูงเกินจริง

จนเกิดภาวะ ‘เศรษฐกิจฟองสบู่’ เมื่อเศรษฐกิจไทยประสบภาวะขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และการส่งออกที่ลดต่ำลงอย่างมาก จึงเกิดช่องโหว่ให้ค่าเงินบาทถูกโจมตีอย่างหนัก  จนรัฐบาลต้องประกาศลอยตัวค่าเงินในที่สุด ส่งผลให้ค่าเงินบาทลดต่ำลงทันทีเกือบหนึ่งเท่าตัว เท่ากับว่า หนี้ที่กู้จากต่างประเทศในจำนวนเดิม จะต้องใช้เงินบาทมากขึ้นในการชำระคืน ทำให้ภาคเอกชนและสถาบันการเงินที่ก่อหนี้ต่างประเทศเอาไว้ต้องล้มละลายและปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก เกิดผลกระทบทางสังคมและระบบเศรษฐกิจไทยอย่างมหาศาล จวบจนวันที่ 2 กรกฎาคม 2560 นี้ กำลังจะครบรอบ 20 ปีของวิกฤตการณ์แล้วแต่พบว่าเศรษฐกิจไทยยังไม่ก้าวออกจากขอบเหวของวิกฤตนัก

รองศาสตราจารย์ ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวในงานเสวนาประกอบนิทรรศการ ‘ต้มยำกุ้งวิทยา : วิชานี้อย่าเลียน’ ว่า ในช่วงก่อนปี 2540 เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือการลงทุน มีก่อสร้างขนานใหญ่ ทั้งโรงงานอุตสาหกรรมและสาธารณูปโภค มีกำลังการผลิตมหาศาล จนตอนนั้นไทยเติบโต ‘ดับเบิ้ลดิจิท’ สูงติดอันดับโลก แต่ในปัจจุบัน สินค้าขายไม่ดีเท่าก่อนเกิดวิกฤต อีกทั้งภาคการส่งออกยังติดลบ จึงเท่ากับว่า โรงงานที่เคยสร้างไว้มีล้นเกิน และยังใช้ไม่เต็มกำลังการผลิต จึงยังไม่เกิดการลงทุนใหม่ๆ ขึ้นในประเทศ ผลที่ตามมาก็คือ นักลงทุนรายใหญ่เลือกลงทุนในต่างประเทศ ทำให้ไม่เกิดการจ้างงานในประเทศ การผลิตอยู่ในระดับต่ำ รายได้ก็น้อยตามมา ดังนั้น จึงเป็นห่วงโซ่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตช้ามาก ประกอบกับคู่ค้าอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น จีน ก็ประสบปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้การส่งออกของไทยติดขัดไปด้วย เศรษฐกิจไทยจึงไม่โต แม้ว่าภาครัฐจะอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบแล้วก็ตาม

นอกจากนี้ ในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ไทยเกิดภาวะเศรษฐกิจผันผวนชั่วคราวอันเกิดจากปัญหาทางการเมืองตั้งแต่ช่วงปี 2549 – 2560 และหากแม้ว่า ปัญหานี้จะคลี่คลายไปได้ ไทยก็ยังคงมีปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่ดี ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นปัญหาระยะยาว ได้แก่ ปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ลดลง อาทิ ค่าแรง อันเป็นสาเหตุให้นักลงทุนโยกย้ายฐานการผลิตไปประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีค่าแรงถูกกว่า เช่น เมียนมา ค่าแรงราววันละ 100 บาท   หรือ การที่ไทยเป็นเพียงโรงงานรับจ้างทำของ จึงไม่มีมูลค่าในเชิงตราสินค้าของตัวเอง และปัญหาด้านโครงสร้างของประชากร ที่ไทยเข้าสู่ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ ในอนาคต ไทยจะมีประชากรในวัยแรงงานน้อยกว่าประชากรวัยชราและวัยเด็ก โจทย์ที่ท้าทายคือ ในเมื่อประชากรวัยแรงงานน้อยลง จะทำอย่างไรให้ แต่ละคนมีศักยภาพการผลิตมากขึ้น เพื่อแบกรับภาระที่หนักมากขึ้นในการขับเคลื่อนประเทศ

“วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่รุนแรงและฉับพลันแบบ ‘ต้มยำกุ้ง’ คงยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทยในเร็ววันนี้ เพราะภาคการเงินเราแข็งแกร่งขึ้นมากจากบทเรียนของวิกฤต แต่ปัญหาโครงสร้างที่ซึมลึกยาวนาน และเราไม่ทันสังเกตต่างหากที่น่ากลัว เปรียบเหมือนการต้มกบที่ค่อยๆ เพิ่มความร้อนเข้าไป กว่ากบจะรู้ตัวว่าอยู่ในน้ำร้อน ก็สุกและสายเกินกว่าที่จะกระโดดออกจากหม้อเสียแล้ว” รองศาสตราจารย์ ดร.อภิชาต กล่าวทิ้งท้าย

ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานกรรมการบริหารกลุ่มไทยซัมมิท อีกหนึ่งหนุ่มในวงการธุรกิจ ที่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ช่วงก่อนและหลังวิกฤต “ต้มยำกุ้ง” ถ่ายทอดว่า ในช่วงก่อนปี 2540 นั้น เป็นระบบการผูกขาดของธนาคารไทย เนื่องจากในขณะนั้นสถาบันการเงินมีอยู่เพียงไม่กี่เจ้า การเข้าถึงสินเชื่อเพื่อนำมาประกอบธุรกิจก็ยากมาก ภาคอุตสาหกรรมต้องไปอ้อนวอนสถาบันการเงินเพื่อให้ปล่อยกู้ แต่เมื่อพบว่ายากเกินความสามารถทำให้ภาคอุตสาหกรรมมีความคิดในการหาแหล่งเงินทุนเป็นของตนเอง ส่งผลให้ในไทยมีสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นมากมาย โดยส่วนใหญ่ผู้บริหารของสถาบันการเงินจะเป็นคนเดียวกับผู้บริหารในบริษัทภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจะดูแลทั้ง 2 กิจการควบคู่กันไปทำให้การปล่อยกู้ง่ายขึ้นเพราะท้ายที่สุดก็คือการเอื้อผลประโยชน์ให้กับตนเอง  แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจทำให้ไม่สามารถพยุงกันได้ กลายเป็นล้มทั้งสองขา

“หนี้ในยุคนั้นหลักๆ แล้วเกิดจากการปล่อยกู้สินเชื่อแล้วปล่อยให้เกิดเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL ที่รู้จักกันดีในนามหนี้เสียจำนวนมหาศาล เช่น กรณีธนาคารกรุงไทยที่มี วิโรจน์ นวลแข กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย ในขณะนั้นปล่อยให้หลายบริษัทกู้เงินจนเกิดเป็นหนี้เสีย ซึ่งแม้จะถูกศาลฎีกาตัดสินจำคุก 18 ปี แล้วก็ตาม หนี้ที่เกิดขึ้นจนถึงทุกวันนี้ก็ยังไม่มีผู้รับผิดชอบ นอกจากนี้ก็ยังมีคดีล้มบนฟูกอีกมากที่ทำให้เกิดหนี้ 1.4 ล้านล้านบาท ที่ยังไม่ถูกจัดการ แม้ว่าประเทศไทยจะชำระหนี้มาแล้วถึง 20 ปี ก็ยังมีหนี้ในระบบอีกถึง 9.3 แสนล้านบาท ซึ่งกว่าจะคืนเงินต้นหมดต้องใช้เวลาอีก 20 ปีจากนี้  แต่ที่น่าเสียดายคือเราต้องจ่ายดอกเบี้ย 4 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งเปรียบเทียบได้เท่ากับการสูญเสียโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง จากลาดพร้าว-สำโรง ที่พึ่งอนุมัติไปเป็นเงินประมาณ 5 หมื่นล้านบาท หรือรถไฟฟ้าสายสีชมพู จากแคราย-มีนบุรี 5.3 หมื่นล้านบาท เทียบกับดอกเบี้ย นั่นหมายความว่า ทุกๆ ปี รถไฟฟ้าก็จะหายไปปีละเส้น หรือสามารถสร้างท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตได้ปีละอีก 3 สนามบิน”

แต่ถึงกระนั้นก็ยังไม่ได้ทำให้มองว่าปัจจุบันจะเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยปี 2540 เนื่องจากสถาบันการเงินไทยยังคงอยู่ในระดับที่มั่นคงเห็นได้จากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ที่ขณะนี้มีเพียงร้อยละ 2.8  ของมูลหนี้ทั้งหมด มูลค่า 3.8 แสนล้านบาทแต่เมื่อเทียบกับเงินทุนสำรองซึ่งไทยมี 5.82 แสนล้านบาท ถือว่าหากเกิดวิกฤตก็สามารถพยุงเศรษฐกิจได้ รวมถึงกฎระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทยที่เข้มงวดจนธนาคารบางแห่งปล่อยกู้น้อยมากเนื่องจากไม่มีผู้ลงทุนทำให้ไม่เกิดผู้กู้ จึงมีเงินสำรองในธนาคารจำนวนมากโอกาสล้มเหลวจึงน้อยมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วจะว่ามั่นคงทุกธนาคารก็คงไม่ถูกนัก เพราะดูจากสถานการณ์มีธนาคารบางแห่งที่อาจล้มเหลวได้ในอนาคต

ขณะที่บริษัทเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงนี้ที่ถือได้ว่าเป็น ‘ยุคทอง’ เพราะเมื่อกางดูผลประกอบการแล้วพบว่าในปี 2559 มียอดขายรวม 10 ล้านล้านบาท คิดเป็นกำไร 9 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นสถิติยอดผลประกอบการที่สูงที่สุด ในทางกลับกันอัตราส่วนหนี้ต่อต้นทุนก็ต่ำ ทำให้ยังคงเป็นลูกหนี้ชั้นดีของธนาคารพาณิชย์ อีกปัจจัยหนึ่งที่ยังคงเป็นลูกหนี้ที่แข็งแกร่งได้ก็คงเป็นเพราะขยาดกับการเป็นหนี้จากรุ่นบรรพบุรุษจากปี 2540 ทำให้ไม่กู้หนี้ยืมสินจนเกินตัว ดังนั้นมั่นใจว่าเหตุการณ์วิกฤตเศรษฐกิจจะไม่เกิดขึ้นอีก แต่ต้องจับตาผู้บริหารบริษัทเอกชนอีก 2 รุ่นหลังว่าจะกู้แบบพอดีตัวเหมือนรุ่นนี้หรือไม่อย่างไรก็ตามแม้อาจมองว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะไม่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ควรใช้ชีวิตอย่างประมาท โดยหากจะขอสินเชื่อควรจะประเมินตนเองว่าหนี้ระดับไหนที่เราจะสามารถจัดการได้ และไม่ควรกลัวการเป็นหนี้มากเกินไปเนื่องจากหากไม่กล้าคิดที่จะลงทุน ก็จะไม่กล้าขอสินเชื่อ สังคมก็จะไม่พัฒนา

ด้าน ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ เซียนหุ้นไทยผู้เคยล้มละลาย เมื่อครั้งวิกฤตต้มยำกุ้ง หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม ‘ศิริวัฒน์แซนด์วิช’ บอกว่า “ผมเป็นโบรกเกอร์ใหญ่ที่สุดในตลาดหลักทรัพย์ หรือเซียนหุ้น แม้แต่ฝรั่งเองก็เรียกผมว่า Stock Guru แต่ผมก็ได้รับผลกระทบจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 จนกลายมาเป็นคนขายแซนวิช” วิกฤตครั้งนั้น ทำให้คุณศิริวัฒน์ขายหุ้นที่มีอยู่ทั้งหมด ขณะที่ต้องดูแลลูกน้องอีกกว่า 40 กว่าชีวิต จึงต้องริเริ่มทำแซนด์วิชออกมาขาย เพราะทำง่ายและเริ่มต้นลงมือทำได้เร็วที่สุด ซึ่งแรกๆ ยืนขายตามริมถนน และต้องคอยหลบเทศกิจอยู่เสมอ แต่จุดนี้ก็ทำให้ได้เห็นชีวิตของผู้ค้ารายเล็กรายน้อย ที่แม้จะมีสายป่านไม่ยาวนักแต่ก็ไม่ลืมที่จะแบ่งปันน้ำใจให้กับเขาที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเศรษฐีหุ้น

จนปัจจุบันบริษัทของเขาไม่ได้มีเพียงแซนด์วิช แต่ยังมีผลิตภัณฑ์จากวัตถุดิบไทย ด้วยปณิธานที่จะไม่รวยคนเดียว แต่ต้องช่วยสังคมด้วย เช่น น้ำหมากเม่า ข้าวกล้องห่อสาหร่าย ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างอาหารชาติอื่นและวัตถุดิบไทย แต่แม้ว่าจะกลับมายืนได้อีกครั้งก็ไม่ได้ทำให้สบายใจนักกับเศรษฐกิจปัจจุบัน เพราะมองว่า การที่เศรษฐกิจจะกลับมาเฟื่องฟูอีกครั้ง คนไทยต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง และยอมรับมัน และต้องเปลี่ยนสำนึกของผู้นำประเทศว่าวัตถุประสงค์การเข้ามาทำงาน ทำเพื่อใคร และจะทำอะไร ทั้งข้าราชการ นักการเมือง ทั้งที่มาและไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจไทยจะแย่กว่าปี 2540 ด้วยซ้ำ เพราะครั้งนั้นได้รับผลกระทบเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่เพียงกว่า 2 แสนราย แต่ที่กำลังเป็นอยู่เริ่มกระทบกับประชากรครึ่งประเทศ หรือเกิน 30 ล้านคนไปแล้ว

ศรินยา คำพิลา กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิวนเกษตร ‘ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม’ ยอมรับว่าวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นภาคการเกษตรอาจไม่ได้รับผลกระทบเท่าไรนัก เพราะร้อยละ 80 คนในชุมชนทำเพื่อเลี้ยงชีพตนเอง ส่วนอีกร้อยละ 20 จะเป็นการเชื่อมโยงผ่านบุคคลภายนอกผ่านการขาย แต่ในทางกลับกันวิกฤตนี้ทำให้ชาวบ้านได้รับการฟื้นฟูและมีความแข็งแกร่งจากมันสมองของคนรุ่นใหม่ที่ตัดสินใจกลับไปทำการเกษตรที่บ้านเกิดตนหลังตกงานเพราะพิษวิกฤตต้มยำกุ้ง หลายที่มีความคิดใช้คูปองในการซื้อสินค้าภายในแทนการใช้เงิน บางที่ตั้งกลุ่มออมทรัพย์ที่มีการดำเนินการคล้ายธนาคารเพื่อสร้างแหล่งเงินทุนของตัวเอง แม้จะยังไม่ประสบความสำเร็จในทุกพื้นที่ แต่ก็ทำให้ชาวบ้านลดการพึ่งพิงระบบเศรษฐกิจภายนอกที่กำลังมีปัญหา แต่สิ่งที่เป็นข้อเสียของชาวบ้านคือการบริหารจัดการที่ยังทำได้ไม่ดีพอ ทำให้ยังคงเป็นหนี้

ดังนั้นมูลนิธิวนเกษตร ‘ผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม’ จึงมุ่งสอนให้ชาวบ้านในจังหวัดฉะเชิงเทราได้เรียนรู้การทำบัญชีรายรับรายจ่าย และให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูพันธุ์ข้าว ยาสมุนไพร และเกษตรอินทรีย์ ซึ่งนับเป็นวิสัยทัศน์ที่ถูกต้อง เพราะอีกสิบปีต่อมาเกษตรอินทรีย์ กลายเป็นกระแสที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก และประจวบเหมาะกับนโยบายสตาร์ทอัพในปัจจุบัน ผลักดันสินค้าเกษตรให้เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน ทำให้ชาวบ้านเริ่มมีความมั่นใจมากขึ้น รวมถึงการมีสื่อออนไลน์ทำให้ผู้ซื้อและผู้ขายซึ่งเป็นคนในชุมชนเข้าถึงกันง่ายมากขึ้น อย่างไรก็ดี จากบทเรียนวิกฤตต้มยำกุ้ง เราต้องระมัดระวังไม่ให้เกิด ‘ฟองสบู่สตาร์ทอัพ’

ท้ายที่สุดแล้วอดคิดไม่ได้ว่าหากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจขึ้นมาอีกครั้ง เด็กรุ่นใหม่ที่ตัดสินใจเดินทางออกจากชนบทมาเมืองหลวงเพื่อทำงานหาเงิน หากตกงานและต้องกลับไปอยู่ในชนบทแล้ว จะสามารถเอาตัวรอดได้หรือไม่ เพราะพวกเขาเหล่านี้ไม่มีทักษะด้านการเกษตรติดตัวเลย ศรินยา กล่าวทิ้งท้าย