ทุเรียนทอดชุมพร “ชายน้อยอีซี่” โกย 100 ล้าน

ทุเรียนทอดเมืองชุมพร “ชายน้อยอีซี่” โตเงียบ ยอดขายเฉียด 100 ล้าน มุ่งเปิดตลาดอาเซียน เร่งพัฒนาโปรดักต์ใหม่แปรรูปเป็นแครกเกอร์ทุเรียน เตรียมเพิ่มกล้วยเล็บมือนางอบเนยสู่ตลาดต่างประเทศ มั่นใจจุดแข็งชุมพรเป็นแหล่งรับซื้อทุเรียนใหญ่ที่สุดในประเทศ

นายสุรพงษ์ ณรงค์น้อย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชายน้อยฟู้ด จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายทุเรียนทอดแบรนด์ชายน้อยอีซี่ ซึ่งมีฐานผลิตใหญ่อยู่ที่จังหวัดชุมพร เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันบริษัทมีโรงงาน 2 แห่ง คือ โรงงานผลิตแครกเกอร์ทุเรียน กล้วยเล็บมือนาง และอื่น ๆ ส่วนอีกโรงงานเพิ่งเปิดใช้เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา บนเนื้อที่ 200 ตารางวา มูลค่า 1 ล้านบาท ที่ ต.ทะเลทรัพย์ อ.ปะทิว เป็นโรงงานทุเรียนทอด อีกทั้งมีเครือข่ายผู้ผลิตโอท็อปในจังหวัด 4 ราย ที่บริษัทได้ซื้ออุปกรณ์/วัตถุดิบให้ และจ้างผลิตทุเรียนทอด โดยราคาทุเรียนทอดเฉลี่ยอยู่ที่ 90 บาท/กิโลกรัม

ทั้งนี้ บริษัทได้เปลี่ยนจากการจำหน่ายทุเรียนผลสดมาเป็นการแปรรูปผลิตภัณฑ์ทุเรียนทอด เพื่อเพิ่มมูลค่าหลังจากประสบปัญหาราคาทุเรียนตกต่ำมากในปี 2544 โดยมีปริมาณทุเรียนเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก ทำให้เกิดภาวะล้นตลาด ราคาทุเรียนลดลงเหลือเพียง 4-5 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) หลังจากนั้นปี 2546 จึงเข้าร่วมการคัดสรรสินค้าโอท็อป โดยได้ระดับ 4 ดาว ต่อมาก็มีการพัฒนาและปรังปรุงจนได้รับการรับรองมาตรฐาน อย. และฮาลาล รวมทั้งจดทะเบียนในชื่อบริษัท ชายน้อยฟู้ด จำกัด และนำสินค้าไปจำหน่ายในท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ตทุกสาขาทั่วประเทศ และได้ร่วมกับเซเว่นอีเลฟเว่น วางจำหน่ายสินค้าทุเรียนทอด 3 ไซซ์ และกล้วยเล็บมือนางอบแห้ง

“ทุเรียนที่มีขนาดใหญ่จัมโบ้ 7 กิโลกรัมขึ้นไป จะนำไปแปรรูปเป็นทุเรียนทอด ส่วนที่ตกเกรด น้ำหนักต่ำกว่า 3 กิโลกรัม จะนำมาทำเป็นแครกเกอร์ทุเรียน ซึ่งสามารถช่วยเพิ่มมูลค่าได้อีก ซึ่งปี 2558 ที่ผ่านมา ใช้ทุเรียนกว่า 1,000 ตัน ปัจจุบันมีพนักงานทั้งหมด 70 คน”

 

นายสุรพงษ์กล่าวว่า ปัจจุบันมีช่องทางการจำหน่ายผ่านร้านค้าภายในจังหวัดชุมพร และใกล้เคียง ได้แก่ ภูเก็ต เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี กระบี่ พัทลุง กาญจนบุรี และราชบุรี รวมไปถึงกลุ่มโมเดิร์นเทรด เช่น เทสโก้ โลตัส เดอะมอลล์ เลมอนฟาร์ม โกลเด้นเพลส เซเว่นอีเลฟเว่น ดอยคำ และท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต

สำหรับผลประกอบการของบริษัทในปี 2558 มีรายได้รวมทั้งสิ้น 70 ล้านบาท แบ่งเป็นสัดส่วนรายได้จากทุเรียนทอด 40% แครกเกอร์ทุเรียน 40% กล้วยเล็บมือนางอบและอื่น ๆ 20% นอกจากจำหน่ายในประเทศแล้ว ยังส่งออกไปจีน เมียนมา ออสเตรเลีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ อีกทั้งยังเพิ่มช่องทางการตลาดด้วยการออกบูทตามงานต่าง ๆ เช่น THAIFEX-World of Food Asia งานโอท็อป ขณะที่รายได้มาจากการจำหน่ายในเซเว่นอีเลฟเว่น 40% โมเดิร์นเทรด 30% และร้านขายของฝาก 20% และส่งออก 10%

สำหรับการส่งออกไปยุโรปนั้น อยู่ในขั้นตอนการขอใบรับรอง และเปลี่ยนแครกเกอร์จากข้าวสาลีเป็นวัตถุดิบชนิดอื่น เนื่องจากยุโรปมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องภูมิแพ้จากข้าวสาลี ขณะที่ปี 2559 นี้ตั้งเป้ารายได้ 100 ล้านบาท ซึ่งยังเหลือเวลาอีก 5 เดือน จะเร่งทำรายได้อีก 30-40 ล้านบาท และในปี 2560 ตั้งเป้าจำหน่ายทุเรียนทอดเพิ่มเป็น 50% และแครกเกอร์ 50%

14732357031473235784l

ขณะเดียวกันเตรียมเจาะตลาดอาเซียนมากขึ้น โดยจะเริ่มที่ลาวและกัมพูชาก่อน และจะเพิ่มกล้วยอบเนยในสินค้าส่งออกด้วย แต่จะมีการปรับราคาให้ถูกลง ซึ่งจะมี 2 ราคา คือ 15 และ 20 บาท อีกทั้งจะออกบูทตามงานต่าง ๆ มากขึ้น เพื่อเพิ่มกลุ่มลูกค้า

อย่างไรก็ตาม ปีนี้ประสบปัญหาวัตถุดิบไม่เพียงพอ ทั้งทุเรียนและกล้วยเล็บมือนาง เนื่องจากปัญหาภัยแล้งและฝนตกหนัก สร้างความเสียหายอย่างมาก ทำให้ราคาทุเรียนสูงขึ้น จากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 35 บาท/กก. เป็น 55-60 บาท/กก. จึงจำเป็นต้องปรับราคาผลิตภัณฑ์ขึ้น 30% ซึ่งฤดูการผลิตทุเรียนในภาคใต้จะต่อเนื่อง 8 เดือน แต่ในภาคตะวันออกมีเพียง 4 เดือน โดยชุมพรเป็นแหล่งรับซื้อทุเรียนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ แม้ว่าจันทบุรีจะมีปริมาณทุเรียนออกสู่ตลาดมากที่สุด แต่หากรวมผลผลิตทั้งภาคใต้แล้ว ภาคใต้จะมีปริมาณทุเรียนมากกว่าจันทบุรี 2 เท่า

“จากสถานการณ์วัตถุดิบที่มีไม่เพียงพอนั้น จริง ๆ แล้วปริมาณลดลงแค่ 10% แต่ส่งออกจีนมากขึ้นเท่านั้น จึงทำให้ดูเหมือนว่าปริมาณในประเทศลดลง และเริ่มเห็นสัญญาณจีนกดราคารับซื้อจากเกษตรกรหน้าสวน จาก 100 บาท/กก. เหลือ 50 บาท/กก. โดยอ้างเหตุผลว่าตลาดตายและตลาดเต็ม” นายสุรพงษ์กล่าว