เผยแพร่ |
---|
เกษตรกรชาวสวนผลไม้ ที่ปลูกทุเรียน มังคุด มะม่วง น้อยหน่า มะเฟือง กล้วย มะพร้าว ข้าวโพด มะกรูด สับปะรด ส้มโอ ฯลฯ ในบางครั้งอาจเจอปัญหาภัยธรรมชาติ โรคแมลงรบกวนทำให้ผลไม้ร่วงหล่นจากต้นก่อนการเก็บเกี่ยว ทำให้สูญเสียรายได้ไปอย่างน่าเสียดาย ความจริงผลไม้เหล่านั้นสามารถนำมากลับมาสร้างรายได้ใหม่ในรูปของ “ ถ่านผลไม้ดูดกลิ่น ” ที่มีรูปทรงเด่นสะดุดตา น่าใช้งานมากกว่าถ่านไม้ทั่วไป และช่วยดูดกลิ่นอันไม่พึงประสงค์ได้อย่างดีเยี่ยม
ไอเดียนี้สามารถทำได้ง่าย ขายคล่อง สร้างผลกำไรงามอีกต่างหาก เพราะถ่านผลไม้ดูดกลิ่น มีราคาขายส่งต่อชิ้นตั้งแต่ 10-40 บาท ตามขนาดรูปทรงและชนิดผลไม้ ดังนั้น เกษตรกรที่ประสบปัญหาผลผลิตร่วงหล่นก่อนการเก็บเกี่ยว หรือมีผลไม้เหลือจากการขาย หรือประสบปัญหาราคาผลไม้ตกต่ำ สามารถนำผลไม้เหล่านี้ กลับมาสร้างมูลค่าเพิ่มในรูปถ่านผลไม้ดูดกลิ่นได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากนี้ เกษตรกรยังสามารถนำเศษวัสดุเหลือใช้ในท้องถิ่นประเภท เปลือกทุเรียน ฝักบัว กาบมะพร้าว กาบตาล ฯลฯ มาเผาเป็นถ่านได้เช่นกัน ถ่านผลไม้เหล่านี้ ได้รับการยอมรับจากตลาดว่า สามารถดูดกลิ่นได้ดีกว่าถ่านที่ทำมาจากไม้ทั่วไป หลายชุมชนได้นำไอเดียนี้นำมาใช้ผลิตถ่านผลไม้ กลายเป็นสินค้าเด่น ถูกคัดเลือกให้เป็นผลิตภัณฑ์โอท็อป สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้ตลอดทั้งปี
การผลิตถ่านผลไม้ดูดกลิ่น
แต่ละท้องถิ่นมีเทคนิควิธีการเผาถ่านผลไม้ที่น่าสนใจ ยกตัวอย่างเช่น เทคนิคการผลิตถ่านผลไม้ดูดกลิ่น จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ของ กลุ่มยุวเกษตรกรประจำตำบลหนองกะท้าว ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลหนองกะท้าว อำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลก
เยาวชนในชุมชนแห่งนี้ มีเทคนิคการเผาถ่านผลไม้ได้ในปริมาณที่มาก โดยใช้วิธีขุดหลุมให้มีขนาดกว้าง 1×1.5 เมตร ลึก 1 เมตร สามารถบรรจุผลไม้ใส่หลุมได้จำนวน 20 กิโลกรัม จากนั้นคัดเลือกผลไม้ที่มีลักษณะเปลือกแข็ง เมื่อเผาแล้วสามารถคงรูปเดิมได้ เช่น ข้าวโพด ส้มโอ สับปะรด มังคุด กล้วย น้อยหน่า นำผลไม้วางบนตะแกรงลวด ใช้ถ่านจากซังข้าวโพดและซังข้าวโพดแห้งเป็นเชื้อเพลิงเผาไหม้ ใช้เวลาในการเผานาน 10 ชั่วโมง ก็จะได้ถ่านผลไม้ไว้ใช้ดูดกลิ่น ทำให้ประหยัดเวลาและได้ผลผลิตมากกว่าเดิม ลักษณะเด่นของสินค้าที่นี่คือ ถ่านผลไม้จะมีผิวมันวาว เมื่อหยิบแล้วไม่ทำให้มือเปื้อนคราบเขม่าสีดำของถ่าน
ที่น่าสนใจไม่แพ้กัน คือ เทคนิคการผลิตถ่านผลไม้ดูดกลิ่น ของ ชุมชนบ้านหนองยอเหนือ ต.โพธิ์ประสาท อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์ เริ่มจากขุดดินเป็นร่องขนาดกว้าง 1 ศอก ลึก 1 คืบ แล้วใช้ซังข้าวโพดโรยลงไปในร่อง ใช้เหล็กเส้นขนาดเท่านิ้วชี้พาดขวางร่องขนาดพอที่จะวางภาชนะได้ แล้วเทน้ำมันเบนซินรดซังข้าวโพดนิดหน่อย จึงค่อยจุดไฟ
เมื่อซังข้าวโพดติดไฟแล้วนำภาชนะที่บรรจุวัตถุดิบจนเต็มปิดฝา นำไปวางบนตะแกรงเหล็ก จากนั้นให้เทแกลบดินกลบภาชนะให้มิดแล้วเผาไปเรื่อย ๆ ระหว่างที่เผาเถ้าแกลบยุบต้องเติม และควบคุมไม่ให้ไฟลุกเหมือนกับการเผาถ่านไม้ทุกประมาณ ใช้เวลาเผาประมาณ 24 ชั่วโมง จึงเขี่ยเอาแกลบออกดับไฟ แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้เย็น โดยไม่ต้องเปิดภาชนะ ไม่ต้องรดน้ำ ครบ 1 คืน ก็มาคัดแยกเพื่อนำไปจำหน่ายได้
ผลไม้และเศษวัตถุเหลือใช้ที่นำมาเผาถ่านมีหลายชนิดด้วยกัน เช่น น้อยหน่า มังคุด สับปะรด ทุเรียน มะพร้าว ลูกตาล ขนุน ลูกท้อ ฝักบัว ซังข้าวโพด ไปจนถึงกระบอกไม้ไผ่ ซึ่งวัตถุดิบที่นำมาเผาแต่ละชนิด มีขนาดรูปทรงสมบูรณ์ ผลไม้บางชนิดต้องมีจุก มีขั้วติด เช่น มะพร้าว ลูกตาล มังคุด ขนุน ทุเรียน ส่วนกล้วยอาจแยกผลหรือเผาเป็นหวีก็ได้ หากเป็นกระบอกไม้ไผ่ต้องตัดให้มีข้อ ความยาวและลักษณะพอกับกระบอกข้าวหลาม
มีคำแนะนำว่า อายุของวัตถุดิบที่ใช้ต้องไม่ใช้ผลแก่ ห้ามใช้ผลที่มีน้ำข้างใน ข้าวโพดจะต้องดิบเมล็ดยังไม่ลงแป้ง ทุเรียนก็จะใช้ผลอ่อน ไม่ใช้ผลที่พร้อมจะรับประทาน การจัดเรียงในภาชนะจะต้องจัดวางให้ดี ไม่ให้ทับซ้อนหนาแน่นจนเกินไป โดยเฉพาะสับปะรดที่ต้องระวังไม่ให้ตะเกียง ใบ และตา หลุดหักหรือชำรุด การจัดเรียงต้องไม่ซ้อนทับกัน หลังจากเผาเสร็จและทิ้งไว้ให้เย็นแล้ว ควรคัดเลือกถ่านผลไม้ โดยสังเกตจากน้ำหนักของแต่ละชิ้น ถ้าเบาและไม่มีกลิ่นอะไรออกมาแสดงว่าใช้ได้ หากผลไม้ยังมีน้ำหนักและมีกลิ่นอยู่ต้องนำไปเผาใหม่ สำหรับชิ้นงานที่แตกร้าวก็นำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงแทนถ่านหุงข้าวได้
ถ่านทุเรียน ดูดกลิ่นได้ดีที่สุด
โดยทั่วไป ทุเรียน มังคุด น้อยหน่า และมะม่วง เมื่อนำมาเผา จะได้ถ่านผลไม้ที่มีลักษณะสีดำสนิท น้ำหนักเบา รูปร่างคงเดิมและขนาดลดลงเล็กน้อย โดยผลไม้ที่สามารถคงรูปได้ดีที่สุด คือ น้อยหน่า รองลงมา คือ มังคุด ทุเรียน มะม่วง ตามลำดับ เมื่อนำถ่านผลไม้ไปทดสอบดูดกลิ่นในตู้เย็น พบว่า ถ่านจากทุเรียนสามารถดูดกลิ่นได้ดีที่สุด รองลงมาคือ น้อยหน่า มังคุด มะม่วง เพราะถ่านจากทุเรียนมีความพรุนของผิวมากกว่าถ่านผลไม้ชนิดอื่น จึงสามารถดูดซับกลิ่นได้มากนั่นเอง
ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์