คุยกับผู้ค้ามะละกอสุก รายใหญ่ของตลาดไท เผยตลาดรับซื้อแน่นอน สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ

คุณเบิร์ด พีอาร์หนุ่มร่างใหญ่ของตลาดไท พาผู้เขียนไปสำรวจตลาดมะละกอสุก พร้อมพูดคุยกับ คุณเดือนเพ็ญ วิเศษวงศา เจ้าของร้าน “ปิ่นแก้ว มะละกอ” โทร. (081) 922-6827 และ (085) 228-6564 ผู้ค้ามะละกอสุก รายใหญ่ของตลาดไท

คุณเดือนเพ็ญ วิเศษวงศา เล่าให้ฟังว่า เดิมทีครอบครัวเธอทำสวนมะละกอพันธุ์แขกดำ อยู่ที่จังหวัดจันทบุรี คุณแม่ปิ่นแก้วของเธอได้มาเปิดแผงค้ามะละกอที่ตลาดไท เมื่อปี 2538 ตามคำเชิญของผู้บริหารตลาดไทในยุคนั้น เรียกได้ว่า ร้านปิ่นแก้ว เป็นผู้ค้ามะละกอรุ่นบุกเบิกของตลาดไทได้เลย หลังเรียนจบ คุณแม่ได้มอบกิจการ ร้านปิ่นแก้ว มะละกอ ให้เธอบริหารงานมาตลอด จนถึงวันนี้เป็นระยะเวลากว่า 20 ปีแล้ว

คุณเดือนเพ็ญ วิเศษวงศา และสามี เจ้าของ “ร้านปิ่นแก้ว มะละกอ”

ระยะแรก ร้านปิ่นแก้ว จำหน่ายมะละกอพันธุ์แขกดำเป็นหลัก จวบจนกระทั่ง ปี 2550 กระแสตลาดมะละกอสุกได้เปลี่ยนแปลงไป มะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์เริ่มเข้ามาเป็นพระเอกแทน เพราะมีลักษณะเด่นถูกใจตลาดและผู้บริโภคหลายประการ ยกตัวอย่าง เช่น มีผิวสวย คุณภาพการเก็บรักษาที่ทนทานมากกว่า อายุการจำหน่ายที่นานขึ้น โดดเด่นด้านรสชาติความอร่อย มีรสหวานกว่าแขกดำ ขายได้ราคาสูงกว่ามะละกอพันธุ์แขกดำ

 

การปลูก

คุณเดือนเพ็ญ บอกว่า การส่งเสริมให้เกษตรกรลูกไร่หันมาปลูกมะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์แทนมะละกอพันธุ์แขกดำ ในแง่การผลิต ไม่ยุ่งยากอะไร เพราะเกษตรกรส่วนใหญ่คุ้นเคยกับการปลูกมะละกออยู่แล้ว ระยะเวลาการปลูกก็ไม่แตกต่างกัน  ในแง่ต้นทุนการผลิตก็เท่าเดิม ทุกวันนี้ทางร้านปิ่นแก้วมีเกษตรกรลูกไร่หลายสิบราย พื้นที่ปลูกเฉลี่ย รายละ 20-50 ไร่ เนื้อที่โดยรวมประมาณร้อยกว่าไร่ ครอบคลุมหลายจังหวัด เช่น กำแพงเพชร จันทบุรี กาญจนบุรี ตาก เชียงใหม่ นครราชสีมา ฯลฯ ที่ปลูกมะละกอพันธุ์ฮอลแลนด์ส่งขายร้านปิ่นแก้วจนถึงทุกวันนี้

การส่งเสริมเกษตรกรลูกไร่ปลูกมะละกอฮอลแลนด์ในหลายจังหวัด ช่วยกระจายความเสี่ยงหากกรณีเกิดปัญหาภัยธรรมชาติ และสามารถวางแผนการผลิตให้ลูกไร่ผลิตสินค้าเข้าสู่ตลาดได้ตลอดทั้งปี โดยลูกไร่จะตัดมะละกอสุก ที่มี 1-2 รอยแต้ม ส่งขายให้กับร้านปิ่นแก้ว

ฮอลแลนด์ ครองอันดับ 1 ตลาดมะละกอสุก

ด้านคุณภาพผลผลิต คุณเดือนเพ็ญ บอกว่า มะละกอฮอลแลนด์ที่ปลูกจากกำแพงเพชร มีคุณภาพดีเป็น อันดับ 1 เพราะปลูกในแหล่งดินที่ดี แหล่งน้ำสมบูรณ์ จึงมีรสชาติอร่อยถูกใจลูกค้า และขายผลผลิตได้ในราคาดีกว่าแหล่งอื่นๆ ประมาณกิโลกรัมละ 1 บาท ส่วนแหล่งผลิตที่มีคุณภาพดีรองลงมาคือ กาญจนบุรี นครราชสีมา จันทบุรี

“เสน่ห์ของอาชีพการปลูกมะละกอ อยู่ที่ลงทุนปลูกครั้งเดียว แต่มีอายุการเก็บเกี่ยวนาน 3-4 ปี แต่ละวันเกษตรกรสามารถเก็บผลผลิตออกขายได้วันละหลายตัน ราคาสินค้าจะถูกหรือแพง ก็ไม่น่าห่วงมากนัก แค่มีตลาดรับซื้อที่แน่นอน ก็สร้างผลกำไรเป็นกอบเป็นกำ” คุณเดือนเพ็ญ กล่าว

 

ด้านตลาด        

หลังเดือนเมษายนเป็นต้นไป จะมีผลผลิตเข้าสู่ตลาดน้อยลง ราคาขายจะปรับตัวดีขึ้น ตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ไปจนถึงเดือนมกราคมจะมีผลผลิตเข้าตลาดจำนวนมาก ทางร้านได้คัดคุณภาพสินค้าออกจำหน่ายใน 3 เกรด คือ เอ บี และซี ซึ่งสินค้าแต่ละกลุ่มมีราคาห่างกันประมาณ 2-3 บาท ต่อกิโลกรัม ปัจจุบันสินค้ากลุ่มเอ น้ำหนักโดยเฉลี่ย 1 กิโลกรัมขึ้นไป ส่วน เกรดบี น้ำหนักโดยเฉลี่ยต่ำกว่า 1 กิโลกรัม และเกรดซี ผลงอ ลูกเล็ก น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 5 ขีด

คัดมะละกอฮอลแลนด์ เกรดเอ ป้อนตลาดส่งออก

ที่ผ่านมา ลูกค้าหลักของ ร้านปิ่นแก้ว มะละกอ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร ปัญหาชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลกระทบทำให้ตลาดมะละกอสุกโดยรวม ในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา ไม่ค่อยสู้ดีนัก ยอดขายลดลงกว่าเดิมถึง 50% เพราะมะละกอเป็นเพียงผลไม้ เป็นสินค้าทางเลือกที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตมากนัก ในยุคที่ต้องประหยัดค่าใช้จ่าย ลูกค้าจึงตัดงบฯ ส่วนนี้ลง

มะละกอฮอลแลนด์ เกรดเอ

ทุกปีที่ผ่านมา ทางร้านปิ่นแก้ว จะรับซื้อสินค้าตกเกรด จะส่งขายโรงงาน เพื่อนำไปผลิตเป็นฟรุตค็อกเทลส่งขายต่างประเทศ แต่ช่วงปี 2559-2560 ไม่มีออเดอร์สั่งซื้อมะละกอตกเกรดจากโรงงาน เพราะลูกค้าต่างประเทศมียอดสั่งซื้อลดลง ทางโรงงานพยายามเคลียร์สินค้าในสต๊อกเดิมที่มีอยู่ให้หมดเสียก่อน จึงหยุดการสั่งซื้อมะละกอรอบใหม่เข้าไปใช้ในกระบวนการผลิต

มะละกอฮอลแลนด์ เกรดบี

มะละกอ เป็นผลไม้ที่น่าสงสาร ไม่มีจังหวะในการทุบราคาขาย เหมือนกับผลไม้มงคล ประเภทส้มเขียวหวาน กล้วย ส้มโอ ฯลฯ ที่ใช้ในช่วงเทศกาลสำคัญต่างๆ ประเภทเทศกาลตรุษจีน งานสารทไทย สารทจีน ฯลฯ ในช่วงตลาดต้องการใช้ผลผลิตจำนวนมาก เปิดโอกาสให้แม่ค้าสามารถกำหนดราคาขายสินค้าได้สูงขึ้น

คุณเดือนเพ็ญ กล่าวว่า ตลาดมะละกอสุก เป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูง เพราะมีอายุการขายสั้น ต้องเร่งระบายสินค้าให้ไวที่สุด ก่อนผลไม้จะเน่าเสีย ในช่วงนี้เศรษฐกิจไม่ดี หากขายไม่ได้ ก็ต้องเทมะละกอทิ้งกันอย่างเดียว ช่วงนี้คนขายต้องยอมขาดทุน เพื่อรักษาตลาด รอวันที่ตลาดฟื้นตัวได้ในช่วงปลายปี

เมื่อปีที่แล้ว ราคามะละกอค่อนข้างดี ราคาขายหน้าสวน อยู่ที่กิโลกรัมละ 40-50 บาท ทำให้เกษตรกรแห่มาปลูกมะละกอกันเยอะมาก แต่ปีนี้เจอภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและโรงงานหยุดการรับซื้อผลผลิต ทำให้เกิดภาวะผลผลิตล้นตลาด ราคามะละกอสุกปรับตัวลดลง เมื่อสินค้าขายได้ยาก เพื่อลดความเสี่ยงทางการตลาด ทางร้านจำเป็นต้องปรับนโยบายการรับซื้อผลผลิต จากเดิมที่เคยซื้อสินค้าแบบง่ายๆ ก็ต้องเข้มงวดเรื่องการจัดซื้อมากขึ้น เน้นคัดเลือกสินค้าคุณภาพดีเป็นหลัก จึงอยากแนะนำให้เกษตรกรเร่งผลิตสินค้าให้มีคุณภาพดีป้อนเข้าสู่ตลาดมากขึ้น