ปลูกมะละกอ “เรดเลดี้” รสหวาน ต้นเตี้ย เก็บผลผลิตง่าย ดูแลสะดวก ผู้บริโภคชอบ

ในสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่ไม่หยุดนิ่งทางธรรมชาติ อันมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตของพืชหลายชนิด การพัฒนาและปรับปรุงเมล็ดพันธุ์พืช ผัก ตลอดจนไม้ผลนานาชนิดให้สอดคล้องเพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดภาคเกษตรกรรมนับว่ามีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง

อย่างมะละกอ ที่ บริษัท เพื่อนเกษตรกร จำกัด มุ่งมั่นพัฒนาปรับปรุงให้มีคุณภาพอย่าง พันธุ์เรดเลดี้ เพื่อให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่ปลูกในตำบลยกกระบัตร อำเภอสามเงา จังหวัดตาก พัฒนาปรับปรุงพันธุ์ให้ทนแล้ง ตอบสนองความต้องการของพื้นที่

คุณธนิต นาดี เจ้าหน้าที่ฝ่ายขายเขตภาคเหนือ เปิดเผยว่า เดิมทีชาวบ้านแห่งนี้ปลูกมะละกอพันธุ์แขกดำและฮอลแลนด์ แต่ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะไม่ทนโรค จึงทำให้ชาวบ้านลองเปลี่ยนมาปลูกมะละกอพันธุ์เรดเลดี้แทน เพราะมีคุณสมบัติทนแล้งดี แล้วยังทนต่อโรค/แมลงศัตรู ช่วยให้ผลเน่าเสียลดลงหรือไม่มี จึงทำให้ได้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น ลดต้นทุนการใช้ยาป้องกันได้ด้วย

นอกจากนั้น มะละกอพันธุ์นี้ยังมีเปลือกหนา ทำให้มีความปลอดภัยระหว่างขนส่ง เพราะไม่ทำให้เนื้อช้ำเสียหายง่าย ส่วนเนื้อผลแน่น มีความหวาน ปกติประมาณ 13-14 บริกซ์ และถ้าสุกเต็มที่อาจได้ความหวานถึง 16 บริกซ์  แล้วยังมีเมล็ดน้อย จึงทำให้มีปริมาณเนื้อมากขึ้น ซึ่งระยะเริ่มต้นการปลูกในพื้นที่อาจจะมีปัญหาบ้างแต่ได้มีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์จนสมบูรณ์ แล้วประสบความสำเร็จปลูกได้ดีในแปลง

จนถึงขณะนี้มีปริมาณส่งเข้าตลาดอย่างเพียงพอ ทั้งตลาดผู้บริโภคสดและตลาดโรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อ ปี 2559 ถึงแม้จะประสบปัญหาวิกฤติแล้ง แต่เกษตรกรสามารถพัฒนาการปลูกมะละกอเรดเลดี้ได้อย่างดี จนทำให้มีน้ำหนักเกือบ 4 กิโลกรัม ต่อผล สูงกว่าปกติที่มีน้ำหนักเพียง 2 กิโลกรัม ต่อผล

คุณธนิต ชี้ว่า เรดเลดี้ เป็นพันธุ์มะละกอที่เพื่อนเกษตรกรมีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์เพื่อให้ตอบสนองกับพื้นที่ปลูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ฉะนั้นลักษณะผลในทุกสวนจึงมีรูปร่างทรงกลมต่างจากมะละกอสุกทั่วไปที่มีรูปร่างยาว ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นพันธุ์ที่มีรูปร่างกลม แต่พอมาปลูกในพื้นที่บริเวณนี้กลับเป็นผลทรงกลม อย่างไรก็ตาม กลับเป็นเรื่องดี เพราะตลาดชอบลักษณะผลกลม จึงทำให้มี 2 รูปลักษณะ ที่ตลาดต้องการคือผลรียาวและทรงกลม

“พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกมะละกอเรดเลดี้ได้ถึง 355 ต้น ช่วงที่มีผลผลิตเต็มที่ อยู่ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน ปกติจะเก็บผลผลิตกัน 3-4 คอ หลังจากเลิกปลูกจะตัดทิ้งไม่เก็บไว้ เพราะอาจทำให้พันธุ์ในรุ่นต่อมาเปลี่ยนไป ทั้งนี้ การโค่นต้นทิ้งจะเป็นปุ๋ยอย่างดีในดิน จากนั้นชาวบ้านจะเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น”

เจ้าหน้าที่ฝ่ายขายบอกว่ามะละกอเรดเลดี้มิใช่ไม้ผลเพื่อการค้าอย่างเดียว แต่สามารถปลูกตามบ้านพักอาศัยได้อาจปลูกบ้านละ 1-2 ต้น เพราะลำต้นไม่สูงมาก เก็บผลผลิตได้สะดวกและดูแลง่าย

 

ตรงตามความต้องการ แห่ปลูกกันเพิ่ม

การปรับปรุงพันธุ์จนมีจุดเด่นและข้อดีหลายประการของมะละกอเรดเลดี้ จึงทำให้ คุณสิริภัค จันทบุรี (คุณณี)  อยู่บ้านเลขที่ 171/4 หมู่ที่ 3 ตำบลยกกระบัตร อำเภอสามเงา จังหวัดตาก เกิดความสนใจโดยนำพันธุ์เรดเลดี้ที่ทางเพื่อนเกษตรกรแนะนำมาปลูกในพื้นที่ตัวเอง

คุณณี บอกว่า เรดเลดี้จะติดดอกช่วงเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน ของทุกปี ช่วงราวเดือนกรกฎาคมจะเริ่มมีผลผลิต และจะทยอยเก็บไปเรื่อยจนกระทั่งประมาณเดือนตุลาคม เป็นจังหวะเดียวกับช่วงที่น้ำเริ่มท่วมตามปกติ และมะละกอหมดคอพอดี ทำอะไรไม่ได้ จนกระทั่งถึงปลายปีจึงจะเริ่มทำรุ่นใหม่อีกครั้ง แต่ระหว่างเดือนกันยายน-ตุลาคม จะสั่งเมล็ดพันธุ์มาเพาะไว้ก่อน พอเดือนพฤศจิกายนจะเริ่มปลูกได้ แต่ถ้าปีไหนน้ำไม่ท่วมก็โชคดีจะเก็บไปได้เรื่อย

คุณณี ปลูกเรดเลดี้มานานกว่า 10 ปี ปลูกแบบยกร่อง เธอเผยว่าข้อดีของพันธุ์นี้คือ ทนแล้ง มีรสหวาน เนื้อแดง มีน้ำหนักผลปกติเฉลี่ย 2 กิโลกรัม ซึ่งผลผลิตถ้าดูแลเต็มที่จะได้ประมาณอย่างต่ำไร่ละ 30 ตัน

พร้อมกับให้รายละเอียดการปลูกมะละกอพันธุ์นี้ว่า เริ่มต้นด้วยการเพาะเมล็ดพันธุ์ ซึ่งจะใช้เวลา 25-30 วัน จึงย้ายลงแปลงปลูกที่เตรียมไว้ ขนาดร่องปลูกกว้างประมาณ 3 เมตร ระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 1.50 เมตร ใช้เมล็ดพันธุ์ จำนวน 5 กรัม ต่อไร่ ทั้งนี้ภายหลังที่ย้ายลงแปลงแล้วต้องสังเกตว่าต้นกล้ามีความแข็งแรงพอหรือยัง จากนั้นจึงเริ่มใส่ปุ๋ย และในช่วง 1-3 เดือนแรก จะต้องดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อให้ต้นมีความแข็งแรง

“ต้นมะละกอเล็ก จะใส่ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 จนเข้าเดือนที่ 6 หรือในช่วงเริ่มติดดอกจึงเปลี่ยนมาใส่ปุ๋ย สูตร 8-24-24 แล้วใช้ปุ๋ย สูตร 13-0-46 ก่อนเก็บสักเดือน เพราะต้องการให้ผลมีความหวานพอเหมาะ โดยผลผลิตรุ่นแรกจะเริ่มประมาณเดือนมิถุนายน แล้วจะเก็บผลผลิตไปถึงประมาณคอสามจะหยุดเก็บ เพราะต้นจะสูง เก็บยาก ขณะเดียวกับคุณภาพผลผลิตลดลง

ดังนั้น เมื่อถึงคอสามแล้วจะรื้อแปลงทิ้งในราวปลายปี เพื่อเตรียมปรับดินแล้วเตรียมปลูกรุ่นต่อไปในแปลงอื่น จากนั้นจึงไถแปลงเตรียมปรับดินเพื่อรอปลูกพืชชนิดอื่น ส่วนมะละกอจะย้ายไปปลูกแปลงอื่นที่ไม่ใช่แปลงเดิมเพื่อป้องกันการเกิดโรค”

คุณณี เผยว่าสามารถปลูกมะละกอเรดเลดี้ได้ จำนวน 300 ต้น ต่อไร่ มีผลผลิตต้นละประมาณ 50 ผล มีน้ำหนักเฉลี่ยผลละ 2 กิโลกรัม เคยเก็บตัวเลขรายได้ต่อต้น ได้ต้นละ 1,000 บาท ฉะนั้น ถ้าในพื้นที่ 1 ไร่ ที่มีจำนวน 300 ต้น จะมีรายได้ก่อนหักต้นทุน ประมาณ 300,000 บาท โดยมีต้นทุนไร่ละประมาณ 15,000 บาท

สำหรับโรคที่พบคือ เพลี้ยไฟไรแดง แต่พันธุ์นี้ไม่เคยพบ หรือถ้ามีโรค/แมลงระบาดเกิดขึ้น แต่เรดเลดี้ยังกลับให้ผลผลิตเก็บได้ไม่ประสบความเสียหาย ส่วนการป้องกันคุณณีบอกว่าอาจจะพ่นยาป้องกันแมลงบ้างถ้าเกิดระบาดอย่างหนัก แต่จะใช้ในปริมาณน้อย นอกจากนั้น ยังใช้สารชีวภัณฑ์ฉีดพ่นด้วย เพื่อเป็นการบำรุงต้นและป้องกันโรค/แมลง

เกษตรกรรายนี้เล่าว่า สมัยก่อนชาวบ้านปลูกมะละกอแขกดำ แต่เมื่อนำมะละกอพันธุ์เรดเลดี้มาปลูกแล้วได้ผลดี จึงทำให้ชาวสวนทุกรายในพื้นที่เปลี่ยนมาปลูกเรดเลดี้แทนแขกดำซึ่งประสบปัญหา ไม่ค่อยมีผลผลิตมากนัก เพราะอากาศแถวตากร้อนมาก หรือแม้แต่ฮอลแลนด์เคยทดลองปลูกมาแล้วและไม่ได้ผลเช่นกัน

“แต่เรดเลดี้ตอบสนองต่อสภาวะอากาศได้ดีมาก สามารถให้ผลผลิตได้จำนวนมากและมีคุณภาพสมบูรณ์ดีปลูกง่าย ทนทาน ให้ผลผลิตดก และรวดเร็ว มีรสหวาน อีกทั้งยังมีตลาดรองรับที่แน่นอนไม่ต้องเสี่ยง จึงทำให้ชาวบ้านในพื้นที่หันมาปลูกพันธุ์นี้อย่างเดียว ทั้งขายผลสดและส่งเข้าโรงงาน”

คุณณี ไม่เพียงเป็นผู้ปลูกแต่ยังเป็นหนึ่งในผู้รับซื้อมะละกอในพื้นที่ในลักษณะรับซื้อผลผลิตจากลูกสวน ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 60 ราย แต่ละรายมีพื้นที่ปลูกเฉลี่ย 10 ไร่ ซึ่งสมัยก่อนยังมีลูกสวนจำนวนไม่มาก แต่ภายหลังที่พบว่ามีรายได้จากการปลูกมะละกอเป็นที่น่าพอใจ จึงหันมาปลูกเพิ่มขึ้นกันอย่างคับคั่ง คนที่ปลูกแบบกระจัดกระจายก็มาเข้าร่วมกับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ลุ่มแม่น้ำวัง ตำบลยกกระบัตร

 

ชาวบ้านสบายใจ มีตลาดรองรับแน่นอน

สำหรับการซื้อ-ขาย มะละกอเรดเลดี้ของกลุ่มนี้ในช่วงฤดูเก็บผลผลิต จะมีชาวบ้านจากทุกสวนแต่ละรายจะเก็บผลผลิตกันตั้งแต่เช้า พอในช่วงสายจะทยอยบรรทุกใส่รถนำมาส่งขายที่บ้านคุณณี ซึ่งกำหนดเป็นสถานที่สำหรับรับซื้อ โดยผลผลิตที่ชาวบ้านนำมาส่งมีจำนวนมาก/น้อยต่างกัน และการขายผลสดจะต้องคัดคุณภาพ รูปร่าง พร้อมทั้งมีการห่อผลด้วยเพื่อทำให้ได้ราคาดี แต่ถ้าส่งโรงงานจะแยกคุณภาพออกมา

จากนั้นจะมีรถบรรทุกจากแหล่งรับซื้อขนาดใหญ่ทั่วประเทศเข้ามารับผลผลิต แล้วนำไปส่งตาม ตลาดไท ตลาดสี่มุมเมือง ขอนแก่น โคราช หรือเชียงใหม่ นอกจากนั้น อาจมีส่งขายไปยังประเทศลาว ทั้งนี้มะละกอเรดเลดี้จะไม่ค่อยมีวางจำหน่ายตามแผงในตลาดมากนัก

ผู้รับซื้อรายนี้ระบุว่า ความต้องการของตลาดมีทั้งผลเล็กและใหญ่ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับว่าตลาดไหนจะนำไปใช้อะไร ดังนั้น การรับซื้อผลผลิตจากลูกสวนจะมีทุกขนาด โดยจะให้แต่ละสวนแยกขนาดในระหว่างที่เก็บจากในสวน

ทั้งนี้ ราคาขายส่งต่างกัน ขึ้นอยู่กับพื้นที่ ถ้าเป็นตลาดขายส่งขนาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ส่งขายราคา กิโลกรัมละ 9 บาท อันนี้เป็นไซซ์ใหญ่ แต่ถ้าเป็นไซซ์ที่ลดลงมา ราคาขายก็จะลงตามมาด้วยสัก 3-4 บาท ต่อกิโลกรัม สำหรับขนาดที่ตลาดนิยมมาก อยู่ที่ระหว่าง 2.5-3 กิโลกรัม ต่อผล

“ภายหลังที่ชาวบ้านเปลี่ยนมาปลูกมะละกอพันธุ์นี้ ทำให้หลายรายมีฐานะความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกว่าเดิม ถ้าเทียบรายได้การปลูกมะละกอเรดเลดี้ กับกล้วยไข่ ที่เป็นไม้ผลที่ปลูกอยู่เป็นประจำแล้ว รายได้ของมะละกอได้ดีกว่ากล้วยไข่มาก” เจ้าของสวนและผู้รับซื้อกล่าว

สอบถามรายละเอียดการสั่งซื้อมะละกอเรดเลดี้ได้ที่ คุณสิริภัค จันทบุรี (คุณณี) โทรศัพท์ (098) 754-1765 หรือต้องการสั่งซื้อเมล็ดพันธุ์มะละกอเรดเลดี้ ติดต่อได้ที่ บริษัท เพื่อนเกษตรกร จำกัด โทรศัพท์ (053) 406-333

 

ขอบคุณ : คุณธนิต นาดี คุณวศิน ชมพูคำ และ คุณนันทิยา แสชัยราษฎร์ จากทีมงานเพื่อนเกษตรกร