ยืนหยัดปลูกมะยงชิดทูลเกล้า มะปรางหวานแม่ระมาด นานกว่า 2 ทศวรรษ ราคาดีมาโดยตลอด

ตระกูล “โสวรรณะตระกูล” ที่มี นายชม เป็นหัวหน้าครอบครัว ย้ายจากแถบสะพานพระราม 6 ไปทำมาหากินอยู่ที่อำเภอเมือง นครนายก โดยยึดอาชีพการเกษตร ปลูกทุเรียนและไม้ผลอื่นๆ

ก่อนที่นายชมจะเสียชีวิตได้แบ่งที่ดินให้กับลูกๆ ทุกคน ซึ่งมีอยู่ 5 คน ด้วยกัน

ลูกแต่ละคนตั้งชื่อสวนของตัวเองว่า “สวนละอองฟ้า”

สวนละอองฟ้า 1 รู้จักกันดีในฐานะที่รวบรวมทุเรียนพันธุ์ดีไว้กว่า 40 พันธุ์ มี คุณชาตรี โสวรรณะตระกูล เป็นเจ้าของในปัจจุบัน สมาชิกของครอบครัวนี้เคยเล่าให้ฟังว่า สมัยที่นายชมดูแลสวนทุเรียนอยู่ ลูกๆ ซึ่งเป็นหนุ่ม ไปหาน้ำมารดต้นทุเรียนในหน้าแล้ง ต้องไปแบ่งน้ำกับชาวบ้าน บางทีกระทบกระทั่งกัน เกือบจะมีเรื่อง เมื่อลูกๆ มารายงาน นายชม บอกว่า “เอาทุเรียนไว้ก่อน” นั่นแสดงว่า นายชมรักและผูกพันกับทุเรียนอย่างมาก น่าดีใจ ที่ทุกวันนี้ ทั้งรัฐและเอกชน เห็นความสำคัญพันธุกรรมทุเรียนสวนละอองฟ้า 1 มีการอนุรักษ์และนำไปเผยแพร่ในวงกว้างพอสมควร

 

ละอองฟ้า 2 เด่นมะยงชิด และมะปรางหวาน

ผู้ที่ได้ครอบครองที่ดิน บริเวณบ้านเลขที่ 153 หมู่ที่ 3 ตำบลสาลิกา อำเภอเมือง จังหวัดนครนายก จำนวน 12 ไร่ 2 งาน คือ คุณวชิระ โสวรรณะตระกูล เดิมที ที่ดินแปลงดังกล่าว ปลูกทุเรียนมาก่อน แต่หลังๆ ผลผลิตไม่ดีนัก คุณวชิระ จึงหาพืชที่ให้ผลตอบแทนดี ดูแลรักษาไม่ยากนักมาปลูก จากการทดลองปลูกโน่นปลูกนี่อยู่หลายปี สุดท้ายมาลงตัวที่มะยงชิด โดยปลูกพันธุ์ทูลเกล้า นอกจากนี้ ยังมีมะปรางหวานพันธุ์แม่ระมาด

คุณวชิระ โสวรรณะตระกูล กับมะยงชิดทูลเกล้า และหลานที่มาช่วยงาน

มะยงชิดกับมะปรางหวานต่างกันอย่างไร

มะปราง…จะดูที่ต้นและใบ แล้วบอกว่าเป็นมะปรางยาก แต่ดูได้ที่ผล ส่วนใหญ่แล้วมะปราง ผลมีขนาดไม่ใหญ่ มะปรางบางต้นเมื่อผลเขียวอยู่ รสไม่เปรี้ยว เมื่อสุกรสหวาน เนื้อไม่กรอบ มะปรางบางต้นรสเปรี้ยวจัด มีเกษตรกรพยายามคัดเลือกพันธุ์มะปรางผลใหญ่ เพื่อตอบสนองผู้บริโภค ซึ่งก็พบบ้าง แต่ขนาดยังสู้มะยงชิดไม่ได้

พันธุ์มะปรางหวานแหล่งดั้งเดิมและรู้จักกันดี อยู่ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมืองนนทบุรี

มะยงชิด…เป็นไม้ผลตระกูลมะปรางที่มาแรง และได้รับความสนใจจากผู้ปลูกและผู้บริโภคอย่างมาก เพราะผลมีขนาดใหญ่ มักจะเห็นเจ้าของสวน นำเสนอว่า มะยงชิดของตัวเองขนาดใหญ่ โดยถ่ายรูปคู่กับไข่ไก่ เคยมีผู้ทำสถิติไว้โดยนำผลผลิตมะยงชิดมาชั่งได้ 10-12 ผล หนัก 1 กิโลกรัม ขนาดเล็กใหญ่ นอกจากพันธุกรรมแล้ว หากปริมาณติดผลน้อย หรือบำรุงปุ๋ย ผลก็จะใหญ่ได้

คุณสมบัติอีกอย่างหนึ่งของมะยงชิดนั้น เนื้อกรอบกว่ามะปราง รสชาติหวานอมเปรี้ยว ความเปรี้ยวพบมากที่เปลือก ดังนั้น เวลารับประทาน จึงนิยมปอกเปลือก

เนื้อมะยงชิดทูลเกล้า

คุณวชิระ บอกว่า มะยงชิดทูลเกล้า ปลูกครั้งแรกเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ซื้อกิ่งพันธุ์มา ราคา 500 บาท เจ้าของบอกว่า ไม่สามารถปลูกทีเดียวได้ เพราะราคาสูง จึงปลูกครั้งแรกจำนวนไม่กี่ต้น จากนั้นได้ขยายพันธุ์เพิ่มขึ้นโดยวิธีทาบกิ่ง จนทุกวันนี้ มีมะยงชิดทูลเกล้าอยู่ทั้งหมด 300 ต้น

“มะยงชิดทูลเกล้า ออกดอกติดผลดก ออกดอกง่าย ผลขนาดใหญ่สุดเคยชั่งได้ 12 ผล ต่อกิโลกรัม ขนาดเท่าไข่ไก่ เนื้อกรอบ เมล็ดเล็ก เปอร์เซ็นต์เนื้อที่กินได้สูง” คุณวชิระ พูดถึงมะยงชิดทูลเกล้า

สำหรับมะปรางหวานพันธุ์แม่ระมาด เป็นมะปรางที่ออกดอกติดผลดีเช่นกัน ผลขนาดใหญ่ ทรงยาว รสชาติหวานสนิท เจ้าของปลูกไว้จำนวนหนึ่ง

มะปรางแม่ระมาด

นอกจากนี้ ยังมีมะปรางพันธุ์พื้นเมือง ที่เก็บรวบรวมพันธุ์มาจากบริเวณใกล้เคียง ซึ่งได้รับความสนใจจากลูกค้า ถึงช่วงมีผลผลิต มักถามหาอยู่เป็นประจำ

 

น้ำดี ปลูกได้ผลดี

อย่างที่แนะนำไปแล้วว่า กิ่งพันธุ์ช่วงแรกๆ มีราคาแพง เจ้าของจึงเรียนรู้การขยายพันธุ์ ซึ่งพบว่า ใช้วิธีทาบกิ่งดีและเร็วที่สุด นอกจากขยายพันธุ์เพื่อปลูกแล้ว ส่วนหนึ่งเจ้าของยังเผยแพร่ให้กับผู้สนใจ มีคนจากแหล่งปลูกมะยงชิดขึ้นชื่อในปัจจุบันซื้อหาไปปลูกกันมาก เช่น พิจิตร สุโขทัย รวมทั้งอีสานและภาคเหนือ ผู้ที่ปลูกอยู่บริเวณใกล้เคียงก็ไปอุดหนุนคุณวชิระอย่างต่อเนื่อง

“มีนำไปปลูกที่อีสานและภาคเหนือได้ผลดี โดยเฉพาะผู้ที่มีระบบน้ำให้ ผลผลิตที่เขาได้ส่วนหนึ่งยังส่งกลับมาขายที่นครนายกเลย เพราะที่นี่เปรียบเหมือนตลาดกลางไปแล้ว” คุณวชิระ บอก

เจ้าของแนะนำว่า มะยงชิดเดิมเป็นไม้ป่า ต่อมาได้รับการเอาใจใส่ จึงกลายเป็นพืชสวน ดังนั้น เมื่อปลูกลงดินไปแล้ว ช่วงแล้งควรดูแลเรื่องน้ำ หากผู้ที่ปลูกเป็นการค้า พื้นที่ 5-10 ไร่ หรือมากกว่านี้ ควรมีระบบน้ำให้ เพราะช่วงแล้งมีโอกาสตาย หากไม่รดน้ำ

ช่วงที่ต้นยังไม่โตนัก คุณวชิระ ปลูกพืชตระกูลถั่ว เป็นการปรับปรุงบำรุงดิน รอบๆ โคนต้น เป็นที่ชัดเจนว่า ดินบริเวณโคนต้นดีขึ้น ต้นมะยงชิดเติบโตเร็วผิดปกติ

สภาพสวนและการติดผลของมะยงชิด

สิ่งหนึ่งที่เจ้าของทำหลังจากปลูกคือ การเสริมรากให้กับมะยงชิด ในส่วนนี้ได้รับคำแนะนำว่า อย่าเสริมชิดเกินไป เพราะจะทำให้เบียดแน่นเมื่อต้นและรากที่เสริมโตขึ้น

การไว้ผล ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น หากทรงพุ่มใหญ่ก็เริ่มไว้ผลตั้งแต่ปีที่ 2 อาจจะได้ปีหนึ่งไม่มาก ผ่านปีที่ 5 ไปแล้ว จึงจะเก็บเกี่ยวได้เต็มที่

มะยงชิด จำนวน 300 ต้น ปีที่ดกๆ เจ้าของเก็บผลผลิตได้ถึง 10 ตัน สวนอื่นๆ ก็มีมากเช่นกัน ราคาขายจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท แต่หากปีใดผลผลิตมีไม่มาก ราคาจะสูงขึ้น กิโลกรัมละ 300 บาท สำหรับมะยงชิดขนาดผลใหญ่

ปี 2560 สถานการณ์การติดผลไม่ดีนัก

 

อากาศ มีผลต่อผลผลิต

คุณวชิระ บอกว่า มะยงชิดจะออกดอกราวเดือนมกราคมต่อเดือนธันวาคม

หากปีใด อุณหภูมิต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส นานติดต่อกันราว 1 สัปดาห์ การออกดอกและติดผลของมะยงชิดจะดีมาก ผลผลิตจะมีชุดใหญ่ แต่หากปีใดหนาวๆ ร้อนๆ หมายถึง อากาศเย็น 2 วัน ร้อน 3 วัน เป็นอย่างนี้แล้ว จะทำให้มะยงชิดออกดอกติดผลไม่ดี แล้วก็มีหลายรุ่น

อย่าง ปี 2560 ได้ผลผลิตราว 1 ตัน เท่านั้น ทั้งๆ ที่เคยได้ 6-10 ตัน ในปีที่ผ่านๆ มา ซึ่งเกษตรกรชาวสวนมะยงชิดรายอื่นๆ ก็ประสบกับสถาณการณ์นี้เหมือนกัน

เจ้าของสวนแนะนำว่า หลังเก็บผลผลิตหมดเดือนเมษายน ต้องตัดแต่งกิ่งให้โปร่ง ที่ผ่านมาบางปีตัดแต่งกิ่งให้ไม่มากนัก ปรากฏว่า มีเชื้อราที่ต้น มีสาเหตุมาจากเชื้อแอนแทรกโนส ดังนั้น เจ้าของฉีดพ่นสารเคมีกันราให้บ้าง ปีละครั้งสองครั้งก็สามารถป้องกันกำจัดได้

มะปรางแม่ระมาดบนต้น

เรื่องของปุ๋ย หลังเก็บเกี่ยวและตัดแต่งกิ่ง เจ้าของเน้นปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก เพื่อบำรุงต้นให้สมบูรณ์ ส่วนหนึ่งก็หมักปุ๋ยชีวภาพใช้เอง

ถึงแม้บางปี ผลผลิตมะยงชิดมีไม่มาก แต่ราคาขยับสูงขึ้น กิโลกรัมหนึ่ง 300 บาท เจ้าของจึงอยู่ได้ เรื่องของต้นทุนก็สำคัญ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก รวมทั้งปุ๋ยชีวภาพ ลดต้นทุนได้มากทีเดียว

กิ่งพันธุ์มะยงชิดทูลเกล้าและมะปรางหวานแม่ระมาด ที่ทำอย่างมีคุณภาพ ก็สร้างงานทำเงินให้กับสวนแห่งนี้อย่างต่อเนื่อง

ถามแทนผู้อ่านว่า ปลูกอย่างไร จึงจะทำให้มะยงชิดรอดตาย

“ต้องดูแลเรื่องน้ำ ควรสม่ำเสมอ ไม่ต้องมากเกินไป ผมนี่ 3 ปีแรกดูแลเหมือนลูก พอผ่าน 3 ปีไปแล้ว ดูแลง่ายมาก ศัตรูของเขามีน้อย ที่พบคือ แอนแทรกโนสเท่านั้นเอง ใบของมะยงชิดจะเขียวทั้งปี ทำต้นเตรียมต้นให้ออกดอกติดผลง่ายมาก แต่ก็อย่างว่า ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ คนที่จะปลูกมะยงชิดต้นสองต้น รอบๆ บ้านทำได้ สวยด้วย ให้ร่มเงา พอหน้าหนาวต่อหน้าร้อนก็มีผลผลิตให้ชิม ใครจะปลูกเป็นการค้าหากมีพื้นที่มากก็ทำได้ ดูราคาสิ 200-300 มาตั้งแต่เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ปลูกกันมานาน ทุกวันนี้ก็ยังเท่าเดิม ปีที่มีน้อยราคายิ่งสูงขึ้น” คุณวชิระ บอก

ติดผลบนต้นสวยงามดี

ปลูกมะยงชิดมา 25 ปี ถือว่าคุณวชิระเป็นเกษตรกรที่มีองค์ความรู้ พบอุปสรรคและการแก้ไขมาหลายรูปแบบ จึงเป็นเกษตรกรผู้รู้ และมีคุณค่าอย่างยิ่ง

ในวัย 71 ปี ถึงแม้ร่างกายบางส่วนโดยเฉพาะที่ขาไม่ดีนัก แต่เจ้าตัวยังขับรถเข้าสวน ตัดแต่งกิ่ง ดูโน่นทำนี่ไม่ได้หยุด ด้วยเหตุนี้ เวลาพูดคุยด้วย จึงมีข้อมูลใหม่ๆ ให้ทราบอยู่เสมอ

สวนละอองฟ้า 2 ไปไม่ยาก จากนครนายกไปทางน้ำตกสาลิกา 11 กิโลเมตร สวนอยู่ตรงสามแยก

ผู้สนใจปลูก สอบถามได้ตามที่อยู่ หรือโทรศัพท์ (081) 481-4287 หรือ (089) 699-3083 เบอร์หลังนี่เป็นลูกของคุณวชิระ