ว่าที่ ร.ต.จบป.ตรีการตลาด สืบอาชีพปลูกทุเรียนจากบรรพบุรุษ เลือกปลูกหลายพันธุ์กระจายความเสี่ยง ขายออนไลน์ ยอดกระฉูด ลูกค้าจองข้ามปี

ผลไม้ภาคตะวันออกในปัจจุบันโดยเฉพาะทุเรียน ได้รับความนิยมอย่างมากทั้งจากตลาดในประเทศ และต่างประเทศ อีกทั้งการบุกซื้อถึงสวนของล้งจีน ทำให้ราคาทุเรียนพุ่งสูงขึ้น พูดได้ว่าในปัจจุบันนี้จะหาซื้อทุเรียนราคาต่ำกว่ากิโลกรัมละ 100 บาทนั้น ไม่มีอีกแล้ว

อย่างไรก็ตาม ทุก ๆ ปีเมื่อถึงหน้าทุเรียน ปัญหาที่มักมาคู่กันจนกลายเป็นเรื่องปกติ คือ การขายทุเรียนอ่อน ปัญหานี้ได้ลุกลามไปไกลถึงระดับชาติ จนรัฐบาลต้องตั้งคณะทำงานกวดขันจับผู้ค้าทุเรียนอ่อนติดคุกก็มีมาแล้ว

ปัญหานี้เองทำให้เกิดช่องทางการขายออนไลน์ขึ้นมากลายเป็นทางเลือกใหม่ของผู้บริโภคที่สำคัญยังเป็นทางรอดของเกษตรกรอีกด้วยเพราะโอกาสที่เข้าถึงผู้บริโภคมากกว่าเดิมจากแค่หน้าแผงค้ากลับขยายฐานลูกค้าทั่วประเทศข้อดี คือ ทำให้เกิดการแข่งขันในเชิงคุณภาพ ซึ่งหากผู้บริโภคมั่นใจว่าได้กินของดีแล้ว แม้ต้องควักกระเป๋าจ่ายแพงกว่าก็ยอม

“สวนหลงบูรพา” สวนผลไม้จังหวัดตราด เป็นอีกสวนที่ปรับตัวมาขายผ่านโซเชียล ด้วยฝีมือคนรุ่นใหม่อย่าง ว่าที่ ร.ต.กรีฑา งาเจือ วัย 30 ปี และ นางสาวณัฐวรรณ แปลงดี

ปัจจุบัน ว่าที่ ร.ต.กรีฑา เป็นรองประธานชมรมคนรักทุเรียนแห่งประเทศไทย และหัวหน้าศูนย์ศึกษาการผลิตทุเรียนคุณภาพ จังหวัดตราด พ่วงด้วยดีกรี อาจารย์พิเศษ สาขาวิชารัฐศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จันทบุรี

เกษตรกรหนุ่มเลือดใหม่กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายหลังจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้านการตลาด จากมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี และปริญญาโท สาขาบริหารรัฐกิจ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ก็เลือกสืบต่ออาชีพทำสวนตามพ่อแม่ ด้วยการนำภูมิปัญญาของพ่อ ผสมกับประสบการณ์ที่เรียนรู้ด้วยตัวเอง มาออกแบบการผลิตทุเรียนหลากหลายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตทั้งปริมาณ และคุณภาพ

ปลูกหลายพันธุ์กระจายความเสี่ยง

ว่าที่ ร.ต.กรีฑา งาเจือ เล่าว่า สวนหลงบูรพา มีพื้นที่ทั้งหมด 85 ไร่ เป็นพื้นที่ให้ผล 65 ไร่ รวม 3 แปลง โดยสองแปลงแรกเป็นสวนผลไม้รวม มีทุเรียนพันธุ์ชะนี กระดุม และเงาะ มังคุด ปะปนกัน เมื่อทุเรียนตายจึงปลูกหมอนทองทดแทน ต่อมาหมอนทองมีตายไปบ้าง จึงได้ปลูกพันธุ์กระดุม ก้านยาว หลงลับแล พวงมณี นวลทองจันทร์ ปัจจุบันแปลงนี้มีทุเรียนหลากหลายสายพันธุ์ จำนวน 200-300 ต้น

“สำหรับทุเรียนชะนี และกระดุม ที่ต้นใหญ่จะให้ผลสุกช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ถึงต้นเดือนมีนาคม ทุเรียนลอตนี้ขายได้ราว 2 แสนบาท ซึ่งจะนำมาเป็นทุนหมุนเวียนในการตัดทุเรียนรุ่นต่อมาที่ทยอยสุกในอีก 30-40 วัน”

ว่าที่ ร.ต.กรีฑากล่าวว่า แม้ว่าหมอนทองทั้งตลาดต่างประเทศ และในประเทศจะให้ความนิยมมาก และเกษตรกรนิยมปลูก เพราะลูกใหญ่ ได้น้ำหนักดี แต่ควรกระจายความเสี่ยงตลาดหมอนทองในอนาคต ด้วยปัจจัย 3-4 ข้อ คือ 1.มีปริมาณมาก เพราะปลูกตาม ๆ กัน 2.มีการพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ตลาดผู้บริโภคที่มีทางเลือก โดยเฉพาะกับตลาดภายในประเทศที่รู้จักทุเรียนดี และนิยมบริโภคทุเรียนสายพันธุ์พื้นเมืองที่มีคุณภาพ 3.รสนิยมผู้บริโภคกลุ่มลูกค้ากลุ่มพรีเมี่ยมทั้งภายในประเทศและต่างประเทศแตกต่างกัน ชื่นชอบทุเรียนไม่เหมือนกัน และ 4.ได้ราคาสูงกว่าหมอนทอง ทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองลูกเล็ก น้ำหนักเบากว่าหมอนทอง แต่ด้วยคุณภาพของเนื้อ รสชาติที่อร่อย ราคาจะสูงกว่า ทำรายได้ให้ดีกว่า เช่น ราคาปีที่แล้ว พันธุ์หมอนทองกิโลกรัมละ 120-130 บาทหลงลับแล กิโลกรัมละ 280-300 บาท พวงมณี ราคา 100-120 บาท ก้านยาว 200-300 บาท

ปั้นพันธุ์ท้องถิ่นป้อนตลาดพรีเมี่ยม

ชาวสวนรุ่นใหม่มองว่า แม้ว่าทุเรียนหมอนทองต้องทำส่งตลาดต่างประเทศในปริมาณมาก แต่พันธุ์อื่น ๆ ที่มีปริมาณน้อย และได้รับการพัฒนาคุณภาพ ควรเจาะตลาดภายในประเทศระดับบนที่กำลังซื้อสูง เพื่อให้คนไทยด้วยกันบริโภคทุเรียนมีคุณภาพและปลอดภัยต่อสุขภาพ

สำหรับข้อดีของทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองทางภาคตะวันออกเช่นกระดุมพวงมณีจะมีคุณสมบัติคือแข็งแรง ไม่เป็นโรคง่าย ส่วนหลงลับแล ทุเรียนพันธุ์พื้นเมืองของอุตรดิตถ์ที่นำมาปลูก ตั้งใจปั้นให้เป็นดาวเด่นของภาคตะวันออก โดยสวนหลงบูรพาได้มีการขยายพันธุ์ ด้วยการทาบกิ่งใบจากต้นที่ให้ผลดีรุ่นก่อน ๆ ขณะนี้ปลูกไว้ประมาณ 100 ต้น รุ่นแรก 10 ต้น ให้ผลมาเป็นปีที่ 4 แล้ว คาดว่าอนาคตตลาดระดับพรีเมี่ยมทั้งในและต่างประเทศ จีน ไต้หวัน ให้ความนิยมมาก ที่ผ่านมาผลผลิตไม่พอขาย ลูกค้าสั่งจองทั้งหมด เนื่องจากทรงสวย ลูกใหญ่ รสชาติดี ไม่หวานมาก เนื้อหนาเนียนละเอียด สีเหลืองสวย เนื้อเยอะ เม็ดเล็ก กลิ่นไม่แรง


จองลูก-เหมาต้นออนไลน์ไม่พอขาย

พร้อมกันนี้ยังบริหารจัดการด้านการตลาดแบบใหม่ด้วยการใช้สื่อโซเชียลมีเดียและสร้างเครือข่ายกับชมรมเพื่อติดต่อกับลูกค้ากลุ่มพรีเมี่ยมที่ต้องการบริโภคทุเรียนคุณภาพ

ว่าที่ร.ต.กรีฑากล่าวว่า การทำสวนในปัจจุบันต้องทำเป็นธุรกิจ เกษตรกรยุคใหม่ต้องกล้าลงทุนนำเครื่องมือเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ ผสมผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิม ออกแบบการบริหารจัดการทำกำไร และผลผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐาน แล้วตลาดจะมาหาเราเอง โดยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เริ่มทำตลาดออนไลน์ เปิดให้ลูกค้าสั่งจองทางไลน์ และเฟซบุ๊ก และปีที่ผ่านมาเปิดจองผ่านชมรมคนรักทุเรียนแห่งประเทศไทย ทำให้ตลาดไปได้กว้างมากทั่วประเทศ และบริการจัดส่งให้ทางไปรษณีย์ และบริษัทขนส่ง

“การซื้อขายออนไลน์เรามีการรับประกันคุณภาพ แนะนำวันบริโภค หากมีปัญหาสามารถเคลม หรือเปลี่ยนทุเรียนลูกใหม่ได้ ส่วนปัญหาทุเรียนอ่อนมักเจอในช่วงมีฝน แต่มีน้อยมากเพียง 1-2 ราย โดยรวมผลตอบรับดีมาก แม้ราคาจะสูงกว่าตลาดทั่วไป ลูกค้าจองกันมาล่วงหน้า ผลผลิตไม่พอขาย ปีนี้มีลูกค้าจองทุเรียนก้านยาวแบบเหมาต้น ต้นละประมาณ 20 ลูก กิโลกรัมละ 280-300 บาท ต้นจองเหมาต้องจัดทำเครื่องหมายเฉพาะ เมื่อมีปัญหาจากลูกค้าจะแก้ไขได้ถูก”

ผุดชมรมคนรักทุเรียน

ด้าน “บุญอนันต์ บุญรอด” ประธานชมรมคนรักทุเรียนแห่งประเทศไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันชมรมคือศูนย์กลางการจำหน่ายทุเรียนคุณภาพผ่านทางออนไลน์ เป็นการรวมตัวของชาวสวน และคนที่ชอบรับประทานทุเรียน แต่ประสบปัญหากับทุเรียนด้อยคุณภาพ หรือทุเรียนอ่อนตามท้องตลาด จึงรวมตัวกันเป็นชมรมทำเรื่องทุเรียนดี 6 ภาค ด้วยการส่งเสริมชาวบ้านให้พัฒนาพันธุ์ที่หลากหลาย และควบคุมคุณภาพ แล้วเริ่มเปิดตลาดออนไลน์ รับซื้อผลผลิตของเกษตรกรในราคาสูงกว่าตลาด ภายใต้เงื่อนไขมาตรฐานของชมรม ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งเกษตรกร และผู้บริโภค ประมาณ 1 หมื่นกว่าราย และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

“ปัจจุบันหลายหน่วยงานมองว่า ควรสนับสนุนให้เกษตรกรขายตรงต่อผู้บริโภค เพื่อตัดตอนพ่อค้าคนกลาง แต่ชมรมมองแตกต่าง มองว่าเกษตรกรควรทำผลผลิตให้ได้คุณภาพ แล้วขายผ่านคนกลางที่มีคุณธรรม เพราะการขายออนไลน์มีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพ การขนส่ง แม้กระทั่งการบรรจุ ไม่ใช่แค่ตัดทุเรียนมาลูกหนึ่งแล้วแพ็กขายได้ทันที แล้วบางทีมุมมองชาวสวนจะมองเรื่องความคุ้มค่า พอทุเรียนที่ส่งไปมีปัญหาก็ปฏิเสธความรับผิดชอบ หลายรายไม่ประสบความสำเร็จในการขายออนไลน์ก็เพราะพ่ายแพ้ต่อปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้”

การขายผ่านออนไลน์แม้ว่าจะยังมีอุปสรรคอยู่บ้าง ซึ่งต้องปรับปรุงแก้ไขกันต่อไป แต่ถือเป็นช่องทางใหม่ ที่เป็นทั้งโอกาสของเกษตรกร และทางเลือกของผู้บริโภคที่เพิ่มมากขึ้น