อดีตพนักงานธนาคาร เออร์ลี่รีไทร์ หันเลี้ยงปลาสังกะวาดในกระชัง ลงทุนน้อย สุดคุ้ม!!

ปลาสังกะวาด หรือที่คนภาคอีสานรู้จักกันในชื่อ ปลายอน เป็นปลาที่ไม่มีเกล็ด ชอบอาศัยอยู่กันเป็นกลุ่ม ว่ายน้ำได้รวดเร็ว สามารถกินได้ทั้งซากพืชและซากสัตว์ที่เน่าเปื่อย

ปลาสังกะวาด แพร่พันธุ์กระจายอยู่ตั้งแต่แม่น้ำโขง ตลอดจนแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งในประเทศไทยจะมีชุกชุมในเขื่อนเก็บน้ำบางแห่ง เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เป็นต้น

คุณปรีชา ชะเอม อยู่บ้านเลขที่ 99 หมู่ที่ 5 ตำบลท่าชัย อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท เป็นเกษตรกรที่เลี้ยงปลากระชังอยู่เหนือจากเขื่อนเจ้าพระยา ทำให้เขามีน้ำเลี้ยงปลาได้ตลอดทั้งปี และที่สำคัญปลาที่เลี้ยงเจริญเติบโตได้ดีเป็นที่ต้องการของตลาด รวมทั้งปลาสังกะวาดด้วย

จากพนักงานธนาคาร ผู้มีใจรักการเลี้ยงปลา

คุณปรีชา เล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนเมื่อช่วงชีวิตเข้าสู่วัยทำงาน ได้เลือกอาชีพเป็นพนักงานธนาคาร เมื่อทำมาได้จนอายุ 52 ปี จึงรู้สึกอิ่มตัวกับงานทางด้านนี้ จึงมีความคิดว่าอยากออกจากงานก่อนเกษียณ แต่ต้องมีอาชีพอื่นที่รองรับในการมีรายได้ เพื่อมีเงินเป็นค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันด้วย

“ช่วงแรกที่คิดจะออกจากงานที่ทำ ในใจคิดเสมอว่าต้องออกก่อนอายุ 60 ปี เพราะว่าถ้ามาอยู่บ้านอยู่เฉยๆ เดี๋ยวกำลังจะไม่มี ต้องออกก่อนวัยเกษียณ ช่วงแรกก็มาเลี้ยงปลาทับทิมก่อน เป็นปลาในกระชังที่เลี้ยงในแม่น้ำ การเลี้ยงประสบผลสำเร็จดีมาก เพราะว่าก่อนที่เราจะออกจากงานธนาคารมาทำ ก่อนหน้านั้นเราก็ศึกษาไว้มั้งแล้ว พอมาทำจริงๆ ก็เลยประสบผลดีไม่เจอปัญหา” คุณปรีชา เล่าถึงการเข้าสู่ชีวิตเกษตรกรเลี้ยงปลา

เมื่อการเลี้ยงปลาทับทิมเป็นที่น่าพอใจแล้ว คุณปรีชา เล่าว่า ได้ไปหาปลาชนิดอื่นมาเลี้ยงด้วย เช่น ปลากดคัง ปลากราย เพื่อให้ภายในฟาร์มมีปลาที่หลากหลายมากขึ้น

ต่อมาประมาณปี 2553 ปลาสังกะวาด เริ่มเข้ามามีบทบาทกับฟาร์มมากขึ้น ซึ่งคุณปรีชาเล่าย้อนความหลังให้ฟังว่า เดิมปลาสังกะวาดก็มีอยู่แล้วในแม่น้ำเจ้าพระยาของจังหวัดชัยนาท ซึ่งเป็นความโชคดีของกระชังเลี้ยงปลาของเขาที่มีทำเลอยู่เหนือเขื่อนเจ้าพระยาขึ้นมา ทำให้ค่อนข้างที่จะมีน้ำและสัตว์น้ำอื่นๆ สมบูรณ์ ลูกปลาสังกะวาดเองก็ได้ว่ายน้ำมากินอาหารรอบๆ กระชังปลาทับทิมอยู่จำนวนมาก

“พอถึงหน้าที่ลูกปลามันออกมาตามธรรมชาติ มันก็ว่ายมาให้ทั่วหมดแถวกระชังตัวเล็กๆ เต็มพื้นน้ำไปหมด มาคอยกินอาหารปลาเรา ผมก็เลยค่อยๆ ช้อนใส่ลงกระชังที่ว่าง เห็นเมื่อไหร่ก็ตักใส่เรื่อยๆ พอเลี้ยงไปนานเข้ามันก็ตัวใหญ่ มีคนมาติดต่อซื้อก็ขายไป ไม่น่าเชื่อตอนนั้นได้ตั้ง 1,000 กิโลกรัม คนซื้อต้องมาจับ 2 รอบ เรียกว่าไม่ต้องลงทุนอะไรมากเลย มีแต่ทุนอาหารอย่างเดียว ก็ถือว่าคุ้ม” คุณปรีชา เล่าถึงที่มาของการได้เลี้ยงปลาสังกะวาด

ใช้เวลาเลี้ยง 6 เดือนขึ้น ปลาก็ได้ขนาดขายได้

เมื่อปลาสังกะวาดเริ่มเป็นที่ต้องการของทุกคนที่เลี้ยงปลาในแถบนี้มากขึ้น คุณปรีชา เล่าว่า ลูกปลาก็เริ่มมีจำนวนที่น้อยลง จะหาช้อนเองเพื่อใส่ลงในกระชังเลี้ยงแบบก่อนก็ไม่มีให้จับมากนัก จึงได้ติดต่อหาซื้อลูกปลาสังกะวาดจากพ่อค้าทางภาคอีสานและภาคเหนือ เพื่อนำมาเลี้ยงให้เป็นปลาไซซ์ใหญ่แล้วส่งขาย

พื้นที่ภายในฟาร์ม
กระชังเลี้ยง ขนาด 5×5 เมตร ลึก 3 เมตร

“พอเราได้ลูกปลามาจากพ่อค้า เป็นลูกปลาไซซ์ประมาณ 2-3 นิ้ว ก็เอามาใส่เลี้ยงในกระชังที่เราเตรียมไว้ ขนาด 5×5 เมตร ความลึกประมาณ 3 เมตร เอาลูกปลาสังกะวาดปล่อยประมาณ 20,000 ตัว ต่อกระชัง ก็เลี้ยงแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนกระทั่งจับ ไม่ต้องย้ายกระชังอะไรอีก” คุณปรีชา บอกถึงขนาดของกระชังที่ใช้เลี้ยง

ลูกปลาสังกะวาด

อาหารที่ให้ลูกปลาสังกะวาดกินในระยะแรก จะเป็นอาหารเม็ดเล็กที่มีเปอร์เซ็นต์โปรตีน ประมาณ 40 ให้กินประมาณ 1-2 เดือน เมื่อเห็นว่าปลาเริ่มมีขนาดที่ใหญ่ขึ้น จึงเปลี่ยนเป็นอาหารที่มีขนาดเม็ดใหญ่ขึ้นกว่าเดิม และจำนวนของเปอร์เซ็นต์โปรตีนลดลง ให้อยู่ที่ 30 เปอร์เซ็นต์ เพื่อเป็นการลดต้นทุน ซึ่งอาหารจะให้กิน วันละ 2 มื้อ คือช่วงเช้าและเย็น

“เราจะให้อาหารกินวันละ 3 มื้อ ก็ได้ พูดถึงมันกินไหมมันกิน แต่ไม่ดี ต้องให้อย่างเหมาะสม เรียกว่ามันกินเรื่อยๆ จนอิ่มตายก็มี จนท้องพอง บางทีมันก็ไม่หยุดกิน อาหารเราก็เลี้ยงวันละ 2 มื้อ นี่แหละเหมาะสม พอถึงหน้าที่มีแมลงชีปะขาวบินมาลงในกระชัง อันนี้ถือว่าของขวัญจากธรรมชาติเลย เป็นแหล่งโปรตีนที่ดีมาก เราก็เอาให้มันกินได้ ก็ถือว่าประหยัดต้นทุนได้อีกหน่อย” คุณปรีชา อธิบายถึงขั้นตอนการให้อาหาร

อาหารเม็ดใช้เลี้ยงปลา

ส่วนเรื่องโรคของปลาสังกะวาด คุณปรีชา บอกว่า ยังไม่เจออาการของโรคที่ทำให้ปลาตายในจำนวนที่มากๆ แต่เรื่องการตายของปลาที่อ่อนแอพอมีอยู่บ้างเป็นธรรมดา แต่ช่วงที่มีน้ำไหลมามากในฤดูฝน คุณปรีชาจะให้อาหารน้อยลง เพราะปลาจะไม่ค่อยกินอาหารเหมือนช่วงฤดูอื่น

พ่อค้ามารับปลาสังกะวาด ไปขายทางภาคอีสาน

ปลาสังกะวาด ใช้เวลาเลี้ยงทั้งหมดจนขายได้ประมาณ 7 เดือน ซึ่งการทำตลาดนั้น คุณปรีชา บอกว่า จะมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อถึงหน้าฟาร์ม เป็นหน้าใหม่บ้างหน้าเก่าบ้างสลับกันไป เพราะเขาจะรู้ว่าในย่านนี้เลี้ยงปลาอะไรบ้าง พอถึงช่วงที่ปลาโตก็จะมาติดต่อขอซื้อทันที

“พอปลาอายุได้ประมาณ 7 เดือน เราก็จะเตรียมขาย ขนาดไซซ์ก็ประมาณ 20 ตัวโล ซึ่งเวลาที่เขามาซื้อก็เอาหมดยกกระชังเลย ขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 115 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่เลี้ยงแรกๆ ราคากิโลกรัมละ 70 บาทเอง เทียบกับราคาปัจจุบันนี้ถือว่าดีกว่ามาก ราคายังไม่มีตก เป็นปลาที่นิยมมากทางภาคอีสาน” คุณปรีชา บอกถึงเรื่องราคา

ทั้งนี้ คุณปรีชา ยังได้บอกถึงข้อคิดในเรื่องของการเลี้ยงปลาว่า ควรเลือกเลี้ยงปลาอะไรก็ได้ที่คิดว่ามีอายุการเลี้ยงที่สั้น และสามารถทำเงินให้กับผู้เลี้ยงได้เร็ว โดยที่ไม่กินเงินทุนของผู้เลี้ยงเป็นระยะที่นานเกินไป และนอกจากนี้ยังได้กล่าวแนะนำสำหรับผู้ที่อยากเลี้ยงปลาเป็นอาชีพว่า คนที่จะเลี้ยงปลาให้ประสบผลสำเร็จนั้น เรื่องการจดบันทึกถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะจะทำให้รับรู้ถึงเรื่องต้นทุนและกำไรได้อย่างแม่นยำ

ปลาสังกะวาดพร้อมขาย

“การสังเกตเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดของผู้ที่จะเลี้ยงปลา โดยเฉพาะเรื่องการลงมือทำด้วยตัวเอง เราจะสามารถรู้เรื่องอาการของปลาที่เป็นได้ทั้งหมด จะได้รับมือได้เมื่อเกิดอะไรขึ้นกับปลาเรา ส่วนอีกอย่างคือ คนที่เลี้ยงต้องหมั่นไปพูดคุยกับเกษตรกรที่เลี้ยงคนอื่นๆ ด้วย เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน แบบนี้จะสามารถแก้ปัญหาได้หมดทุกเรื่อง ต้องเรียนรู้ เพราะคนเรามันไม่มีใครหรอกที่จะรู้ทุกเรื่องมาตั้งแต่เกิด หมั่นถามเท่านี้ความสำเร็จเรื่องการเลี้ยงปลาก็อยู่ไม่ไกล” คุณปรีชา กล่าวแนะนำ

สำหรับท่านใดที่สนใจเรื่องการเลี้ยงปลาในกระชัง ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณปรีชา ชะเอม ที่หมายเลขโทรศัพท์ (081) 888-2115