เปิดตำนาน PANDORA แบรนด์ดังเดนมาร์ก เกิดจากห้องแถวในไทย

เพิ่งมีข่าวว่า “แพนดอร่า (Pandora)” แบรนด์เครื่องประดับอัญมณีชื่อดังสัญชาติเดนมาร์กได้เปิดโรงงานใหม่ในเมืองไทยเพื่อขยายกำลังการผลิตให้ตอบโจทย์ความต้องการในระดับโลกที่เพิ่มขึ้น โดยเลือกพื้นที่ 45 ไร่ ในสวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์ จังหวัดลำพูน เป็นที่ตั้งโรงงานแห่งที่สอง หลังจากที่เปิดโรงงานแห่งแรกในนิคมอุตสาหกรรมอัญธานี กรุงเทพฯ เป็นฐานการผลิตหลักมาแล้วเกือบ 30 ปี

หากจะย้อนไปว่าทำไมแพนดอร่าเลือกไทยเป็นฐานการผลิต เหตุผลหนึ่งแน่นอนคือไทยมีช่างฝีมือดี แต่มากกว่านั้น น้อยคนนักที่รู้ว่าแพนดอร่า แบรนด์ดังจากเดนมาร์กมีความผูกพันกับเมืองไทยมาตั้งแต่จุดกำเนิดเลยทีเดียว

แต่ก่อนจะย้อนตำนานแบรนด์แพนดอร่า จะต้องเล่าเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ความนิยมของชาร์ม (Charm) หรือจี้ประดับ อันเป็นเครื่องประดับชิ้นสำคัญที่ทำให้เกิดแบรนด์นี้ขึ้นมา ชาร์มนั้นเป็นเครื่องประดับอายุเก่าแก่

มีตำนานตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งในยุคนั้นชาร์มทำมาจากเปลือกหอย กระดูกสัตว์ หรือดินเหนียว หลังจากนั้นก็เปลี่ยนเป็นอัญมณี แร่หินและไม้ ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่าชาร์มเป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์และความโชคดี

ในยุคจักรวรรดิโรมันรุ่งเรือง ชาวคริสเตียนมีชาร์มรูปปลาตัวเล็ก ๆ ซ่อนอยู่ในเสื้อผ้า เพื่อพิสูจน์ตัวเองกับคริสเตียนคนอื่น ๆ และในช่วงเวลาเดียวกันนั้น นักวิทยาศาสตร์

ชาวยิวเขียนข้อกฎหมายใส่ไว้ในชาร์ม ห้อยไว้รอบคอของพวกเขา โดยมีนัยว่าให้กฎหมายได้อยู่ใกล้หัวใจของพวกเขาตลอดเวลา แม้แต่อัศวินยุคกลางก็ยังสวมใส่ชาร์มเพื่อเป็นเครื่องรางในการป้องกันตัวในสนามรบ

ส่วนสร้อยข้อมือชาร์ม (Charm Bracelet) หนึ่งในเครื่องประดับที่ใช้ชาร์มสร้างลูกเล่นได้มากมาย คาดเดาว่าเริ่มมีมาตั้งแต่ช่วง 400-600 ปีก่อนคริสตกาล สวมใส่โดยชาวอัสซีเรีย บาบิโลเนีย เปอร์เซีย และฮิตไทต์

สร้อยข้อมือชาร์มเริ่มปรากฏเด่นชัดจนเป็นกระแสที่นิยมแพร่หลายในยุคสมเด็จพระราชินีวิกตอเรียแห่งอังกฤษ ผู้ทรงรักการสวมสร้อยข้อมือชาร์ม และเป็นผู้ริเริ่มแฟชั่นชาร์มในหมู่ชนชั้นสูงของยุโรป เริ่มจากการที่สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียทรงมอบชาร์มเป็นของขวัญแก่เชื้อพระวงศ์และพระสหายตามโอกาสพิเศษต่าง ๆ

หลังจากเจ้าชายอัลเบิร์ตเสด็จสวรรคต สมเด็จพระราชินีวิกตอเรียทรงทำชาร์มแกะสลัก โดยใส่ภาพวาดและเส้นผมของเจ้าชายอัลเบิร์ตไว้ในล็อกเกตชาร์ม เพื่อเป็นการไว้ทุกข์ และระลึกถึงพระสวามี ทำให้ชาร์มเป็นเครื่องประดับที่นิยมมากนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

หลังจากที่ชาร์มได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในแถบตะวันตก ก็ได้เริ่มแพร่ขยายความนิยมมายังฝั่งเอเชียด้วย

ในปี พ.ศ. 2525 มิสเตอร์เพียร์ อีนีโวลด์เซ่น (Per Enevoldsen) ช่างทองชาวเดนมาร์กและภรรยา ได้รับแรงบันดาลใจจากความนิยมของชาร์ม และปรารถนาจะนำเสนองานเครื่องประดับงานฝีมือคุณภาพสูง รูปแบบทันสมัย ในราคาที่คนทั่วไปครอบครองได้ เขาจึงเริ่มต้นสร้างกิจการของตัวเองในเดนมาร์ก เริ่มจากร้านเล็ก ๆ ซึ่งในตอนแรกยังไม่ได้ใช้ชื่อแพนดอร่า

ในช่วงเริ่มต้นกิจการสามี-ภรรยาคู่นี้เดินทางมายังประเทศไทยและได้พบแหล่งวัตถุดิบอัญมณี อีกทั้งได้พบช่างทำเครื่องประดับชาวไทยที่มีความชำนาญและฝีมือสุดประณีต ทั้งคู่ตัดสินใจจึงเริ่มต้นผลิตเครื่องประดับในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2532 โดยมีสำนักงานที่เป็นห้องแถวคูหาเดียว

ที่สำคัญคือคนที่ตั้งชื่อ “แพนดอร่า” หาใช่เจ้าของกิจการชาวเดนมาร์ก แต่เป็นนักศึกษาฝึกงานชาวไทยเรานี่เอง ซึ่งมีคำพูดทีเล่นทีจริงจากพนักงานของแพนดอร่าเองว่า “นักศึกษาฝึกงานคนนั้นคงได้รับค่าตอบแทนไปมากพอสมควร”

มิสเตอร์เพียร์ อีนีโวลด์เซ่นและภรรยาได้พัฒนากิจการแพนดอร่าในไทยเป็นฐานการผลิตและการส่งออกอัญมณีชั้นนำระดับโลก ปัจจุบันแพนดอร่าเป็นผู้ผลิตและส่งออกเครื่องประดับรายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ด้วยกำลังช่างฝีมือจำนวนกว่า 12,000 คน ภายในนิคมอุตสาหกรรมอัญธานี กรุงเทพมหานคร สามารถผลิตชิ้นงานได้ปีละ 122 ล้านชิ้น และเมื่อบวกกำลังช่างฝีมือในโรงงานแห่งใหม่อีก 5,000 คน จะทำให้แพนดอร่ามีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเป็นปีละ 200 ล้านชิ้นในปี 2562 นี้

แล้วเครื่องประดับชิ้นงามจากฝีมือช่างไทยก็กระจายออกไปปรากฏตัวแก่สายตาผู้คนในกว่า 100 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นความน่ายินดีภูมิใจที่ไทยมีส่วนร่วมสร้างแบรนด์ดังแบรนด์นี้ขึ้นมา