เครื่องปลูกสับปะรด แก้ปัญหาแรงงานจ้างปลูก ประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว

สับปะรด เป็นผลไม้ที่น่ารับประทาน ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือชาวต่างประเทศ ต่างก็ชอบรับประทาน ทั้งแปรรูปและผลสด ถึงแม้ว่าสับปะรดจะไม่มีชื่อเสียงโด่งดัง เช่น ทุเรียน หรือมังคุด แต่ประเทศไทยก็เป็นประเทศที่ผลิตสับปะรดมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก หรือราว 12% ของผลผลิตทั้งโลก

จากรายงานของกรมศุลกากร ปี 2554 ประเทศไทยส่งออกสับปะรดสดและสับปะรดแปรรูปต่างๆ รวมแล้วประมาณ 0.85 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 21,279 ล้านบาท อาจกล่าวได้ว่าสับปะรดเป็นสินค้าเกษตรที่มีปริมาณการผลิตและการส่งออกสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก

จากปริมาณความต้องการสับปะรดของโลกที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการขาดแคลนวัตถุดิบที่จะป้อนเข้าสู่โรงงานแปรรูปและโรงงานส่งออกสับปะรดในรูปของสับปะรดกระป๋องเป็นประจำ ดังนั้น ภาคเอกชนหรือโรงงานจึงแนะนำให้เกษตรกรหันมาปลูกสับปะรดใหม่ทุกครั้งหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิต เพราะจะทำให้ผลของสับปะรดที่ได้มีขนาดสม่ำเสมอและขายได้ราคา

คุณทวีศักดิ์ แสงอุดม นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า สับปะรดที่นิยมปลูกเป็นการค้า จะมีอยู่ 2 กลุ่ม คือ พันธุ์ที่สำหรับส่งโรงงาน เรียกสั้นๆ ว่าสับปะรดโรงงาน ส่วนใหญ่จะเป็นพันธุ์ปัตตาเวีย และพันธุ์นางแล หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สับปะรดภูแล

“พันธุ์ภูแล ถึงแม้ว่าจะอยู่กลุ่มเดียวกับสับปะรดโรงงาน แต่ก็จะเป็นสับปะรดที่นำมาบริโภคสด พันธุ์ภูแลจะปลูกกันทางภาคเหนือ ที่ ตำบลนางแล อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นแหล่งปลูกที่เหมาะสมที่สุด”

อีกกลุ่มหนึ่งเป็นพันธุ์ที่เรารู้จักกันดี คือ พันธุ์สวี ภูเก็ต และตราดสีทอง เป็นพันธุ์ที่ใช้บริโภคสดเช่นเดียวกัน ไม่สามารถนำมาทำสับปะรดกระป๋องได้ เพราะเนื้อไม่แน่น พันธุ์สวีจะมีผลสั้นกว่าพันธุ์ภูเก็ตและตราดสีทอง

วิศวกรการเกษตร ถ่ายภาพร่วมกับเกษตรกร

คุณทวีศักดิ์ กล่าวอีกด้วยว่า จังหวัดภูเก็ต เป็นแหล่งปลูกสับปะรดที่เหมาะสมสำหรับพันธุ์ภูเก็ต จังหวัดตราดก็เหมาะสมกับพันธุ์ตราดสีทอง และอำเภอสวี จังหวัดชุมพร ก็เป็นแหล่งที่เหมาะสมกับการปลูกสับปะรดพันธุ์สวี

การปลูกสับปะรดส่งป้อนโรงงานอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋องซึ่งเป็นพันธุ์ปัตตาเวีย จะมีพื้นที่ปลูกทางภาคตะวันตก ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี รวมพื้นที่ปลูกประมาณ 300,000 กว่าไร่ อีกประมาณ 200,000 ไร่ จะอยู่ทางภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง ซึ่งจะมีโรงงานอุตสาหกรรมสับปะรดรองรับทั้ง 2 ภาค

สร้างต้นแบบเครื่องปลูกสับปะรด แบบพ่วง 3 จุด ท้ายรถแทรกเตอร์

สำหรับทางภาคใต้ แถวจังหวัดชุมพร พัทลุง ภาคเหนือ ได้แก่ ลำปางและอุตรดิตถ์ จะนิยมปลูกพันธุ์ปัตตาเวียสำหรับบริโภค

 

การปลูกส่งโรงงานต่างจากการปลูกเพื่อบริโภคสด

คุณทวีศักดิ์ อธิบายว่า การปลูกสับปะรดส่งโรงงาน ทางโรงงานต้องการสับปะรดที่มีน้ำหนัก ประมาณ 1-2 กิโลกรัม ต่อผล แบ่งตามเส้นผ่าศูนย์กลางเป็น 2 ขนาด คือสับปะรดคุณภาพชั้นหนึ่ง ต้องมีเส้นผ่าศูนย์กลางผล 10.5-15.5 เซนติเมตร ความยาวผลต้องไม่น้อยกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางของผลสับปะรด

ส่วนคุณภาพชั้นสอง เส้นผ่าศูนย์กลางผลต้องอยู่ระหว่าง 9.0-10.0 เซนติเมตร ถ้าใหญ่กว่านี้ จะถูกคัดขายไปเป็นสับปะรดสำหรับบริโภค การปลูกเพื่อบริโภคสด เกษตรกรจะปลูกให้มีผลใหญ่ต่างจากการปลูกส่งโรงงาน ซึ่งต้องการให้มีผลสม่ำเสมอทั่วทั้งแปลง ต้องการผลเล็กจึงต้องปลูกจำนวนต้นต่อพื้นที่ค่อนข้างมาก

มีกระบะ สำหรับใส่หน่อสับปะรดเตรียมปลูก 2 กระบะ อยู่ด้านข้างซ้าย-ขวา

ที่มาของการคิดประดิษฐ์เครื่องปลูกสับปะรด

เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมสับปะรดกระป๋อง ต้องการสับปะรดจำนวนมากและต้องมีผลขนาดสม่ำเสมอ จึงแนะนำให้เกษตรกรปลูกใหม่หลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วทุกครั้ง เพราะสับปะรดที่ได้จะมีขนาดสม่ำเสมอกัน ถึงแม้ว่าการปลูกให้ได้ขนาดจะมีวิธีบังคับ โดยจำนวนที่ปลูกก็ตาม คือ ปลูกประมาณ 8,000-10,000 ต้น ต่อไร่ จะได้ผลสับปะรดขนาดหรือไซซ์ ประมาณ 1-2 กิโลกรัม

ป้อนหน่อสับปะรดลงในลูกโม่ที่ทำจากท่อพีวีซี จำนวน 9 ท่อ

เนื่องจากพื้นที่ปลูกสับปะรดส่งโรงงานส่วนใหญ่จะเป็นที่ราบแปลงใหญ่ และการปลูกสับปะรดจะเป็นการใช้แรงงานคนทั้งหมด ตั้งแต่การยกร่อง การเตรียมดิน การใส่ปุ๋ย การขนย้ายหน่อสับปะรด รวมทั้งการปลูก การเก็บเกี่ยว ยกเว้นขั้นตอนการเตรียมดินซึ่งใช้รถแทรกเตอร์ติดจานผาล นอกนั้นใช้แรงงานคนทั้งหมด

คุณวุฒิพล จันสระคู วิศวกรการเกษตรชำนาญการพิเศษ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมขอนแก่น สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร หัวหน้าคณะทำงานประดิษฐ์และพัฒนาเครื่องปลูกสับปะรด กล่าวว่า ปัญหาแรงงานภาคการเกษตรของไทยในปัจจุบันมีจำนวนลดลง และค่าแรงงานก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ค่าแรงงานการผลิตสับปะรดคิดเป็น 37% ของต้นทุนค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการผลิตสับปะรด โดยคิดเป็นต้นทุนค่าแรงงานในการเก็บเกี่ยวสับปะรดถึง 65% ของต้นทุนค่าแรงงานทั้งหมด ต้นทุนค่าแรงปลูก 9% และต้นทุนค่าแรงงานในการเตรียมดิน 8%

คุณวุฒิพล กล่าวต่ออีกว่า การที่คิดประดิษฐ์คิดสร้างเครื่องปลูกสับปะรดนี้ขึ้นมา เนื่องจากนักวิชาการเกษตรจากสถาบันวิจัยพืชสวน ไปได้หารือกับ คุณอัคคพล เสนาณรงค์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร ให้ช่วยหาแนวทางในการพัฒนาและประดิษฐ์เครื่องทุ่นแรงในการปลูกสับปะรด เพื่อช่วยเกษตรกรแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ประหยัดเวลาในการปลูกและประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว

ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม จึงได้มอบให้ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมขอนแก่นดำเนินการออกแบบและสร้างต้นแบบเครื่องปลูกสับปะรดดังกล่าว

 

แนวคิดการสร้างเครื่องต้นแบบ

คุณวุฒิพล บอกว่า สร้างโดยเลียนแบบพฤติกรรมการปลูกสับปะรดของเกษตรกร ซึ่งมีวิธีปลูกอยู่ 2 แบบ คือ ปลูกโดยใช้หน่อและปลูกโดยใช้จุก แต่การปลูกโดยใช้หน่อจะให้ผลผลิตดีกว่า และเกษตรกรนิยมปลูกโดยใช้หน่อมากกว่า

“เราจึงยกเอาวิธีการปลูกโดยใช้หน่อมาเป็นแนวคิดในการพัฒนาเป็นเครื่องต้นแบบ คณะผู้วิจัยพิจารณาเห็นว่า การออกแบบและพัฒนาเครื่องปลูกสับปะรดแบบพ่วงท้ายรถแทรกเตอร์สำหรับใช้ในระดับเกษตรกร โดยใช้หน่อสับปะรดที่ผ่านการคัดขนาดแล้ว และเครื่องปลูกแบบที่ใช้หน่อปลูกจะใช้แรงงานเพียง 2-3 คน ก็สามารถช่วยให้เกษตรกรทำงานได้เร็วขึ้น และลดปัญหาการใช้แรงงานได้อีกด้วย”

 

ศึกษารูปแบบการปลูกสับปะรดของเกษตรกร

รูปแบบที่หนึ่ง การปลูกแบบแถวเดี่ยว ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น 30-50 เซนติเมตร ระหว่างแถว 75-100 เซนติเมตร พื้นที่ 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 6,000-10,000 ต้น การปลูกวิธีนี้ปลูกเพื่อจำหน่ายผลสด เพราะให้ผลใหญ่ ให้หน่อมาก และไว้หน่อให้ออกผลสืบแทนต้นแม่ได้หลายรุ่น แต่ก็มีข้อเสียคือให้ผลผลิตต่อไร่ต่ำ เปลืองเนื้อที่ เปลืองแรงงาน เปลืองค่าใช้จ่ายในการกำจัดวัชพืช และการทรงตัวของลำต้นไม่ดี

รูปแบบที่สอง การปลูกแบบแถวคู่ ใช้ระยะปลูกระหว่างต้น ประมาณ 25-30 เซนติเมตร ระหว่างแถวประมาณ 50 เซนติเมตร สลับฟันปลาระยะระหว่างแถวของคู่ 70-100 เซนติเมตร ใน 1 ไร่ จะปลูกได้ประมาณ 6,500-8,000 ต้น บางแห่งอาจถึง 10,000 ต้น แล้วแต่ความต้องการของโรงงานว่าต้องการผลขนาดใด

เมื่อศึกษารูปแบบการปลูกสับปะรดทั้ง 2 แบบแล้ว เห็นว่าการปลูกแบบแถวคู่เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับการปลูกเพื่อจำหน่ายให้แก่โรงงานอุตสาหกรรม เพราะให้ผลขนาดเล็กตามความต้องการของโรงงานและให้ผลผลิตต่อไร่สูง เสียค่าใช้จ่ายแรงงานและเวลาในการกำจัดวัชพืชน้อยกว่าการปลูกแบบแถวเดี่ยว การทรงตัวของลำต้นดี เพราะต้นสับปะรดจะเจริญเติบโตเบียดเสียดพยุงกันไว้ไม่ให้ล้ม

เมื่อศึกษารูปแบบการปลูกสับปะรดทั้ง 2 แบบแล้ว เห็นว่าการปลูกแบบแถวคู่เป็นวิธีเหมาะสำหรับปลูกเพื่อจำหน่ายให้แก่โรงงาน คณะผู้วิจัยจึงได้ออกแบบและสร้างต้นแบบเครื่องปลูกสับปะรด เป็นแบบพ่วง 3 จุด ท้ายรถแทรกเตอร์ขนาดกลาง 39-50 แรงม้า มีกระบะสำหรับใส่หน่อสับปะรด 2 กระบะ อยู่ด้านข้าง ข้างละ 1 กระบะ มีคนนั่งป้อนหน่อสับปะรดซ้าย-ขวา ข้างละ 1 คน เพื่อให้สามารถหยิบหน่อสับปะรดใส่ท่อลำเลียงได้สะดวก กระบะ 2 กระบะนี้ สามารถบรรจุหน่อสับปะรดได้กระบะละไม่ต่ำกว่า 200 หน่อ

สำหรับหน่อสับปะรดที่ใช้ปลูก จะต้องตัดแต่งยอดให้สม่ำเสมอ มีความยาว 30-50 เซนติเมตร และคัดขนาดหน่อให้มีน้ำหนักใกล้เคียงกัน ระหว่าง 300-500 กรัม

 

อุปกรณ์ป้อนหน่อสับปะรด

เรียกว่า อุปกรณ์ลำเลียงสับปะรด มีลักษณะเหมือนลูกโม่ปืน มีจำนวน 2 ลูก ทำจากท่อพีวีซี ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 4 นิ้ว ความสูงของท่อพีวีซี 60 เซนติเมตร ในแต่ละลูกโม่มีท่อพีวีซี จำนวน 9 อัน มีระบบถ่ายทอดกำลัง โดยใช้ล้อขับเคลื่อนส่งกำลังผ่านชุดเฟืองขับอุปกรณ์ป้อนลำเลียงหน่อสับปะรด ขนาดล้อเส้นผ่าศูนย์กลาง 60 เซนติเมตร เพื่อกำหนดระยะระหว่างต้น ประมาณ 30-40 เซนติเมตร

ตัวเปิดร่องปลูก เป็นแบบขาไถป้อนส่งหน่อสับปะรดผ่านท่อพีวีซี กลบดินและหน่อสับปะรดโดยใช้ผาลจาน ขนาด 10 นิ้ว จำนวน 2 ผาล กลบดินที่หน่อสับปะรด กระบะสำหรับบรรจุหน่อสับปะรดบรรจุได้ครั้งละไม่ต่ำกว่า 400 หน่อ (กระบะละ 200 หน่อ)

“เราได้ทำการทดสอบต้นแบบเครื่องปลูกสับปะรดแบบพ่วงท้ายรถแทรกเตอร์ในหลายจังหวัด ได้แก่ แปลงปลูกของศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรหนองคาย แปลงปลูกสับปะรดของเกษตรกรที่อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย แปลงปลูกสับปะรดของเกษตรกรที่จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดเพชรบุรี จากผลงานวิจัยและพัฒนาเครื่องปลูกสับปะรดแบบพ่วงท้ายรถแทรกเตอร์ขนาดเล็ก 30-50 แรงม้า ปลูกแบบแถวคู่ โดยใช้หน่อที่ตัดแต่งยอดให้สม่ำเสมอ ให้มีความยาว 30-50 เซนติเมตร น้ำหนักหน่อขนาดที่ใกล้เคียงกัน คือในช่วง 300-500 กรัม กระบะบรรจุหน่อสับปะรด 2 ข้าง ซ้าย-ขวา  บรรจุข้างละประมาณ 200 หน่อ

มีกระบะ สำหรับใส่หน่อสับปะรดเตรียมปลูก 2 กระบะ อยู่ด้านข้างซ้าย-ขวา

เครื่องปลูกสับปะรดมีความสามารถในการทำงาน 0.63 ไร่ ต่อชั่วโมง ที่ความเร็วขับเคลื่อน 0.28 เมตร ต่อวินาที อัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง 2.15 ลิตร ต่อไร่ ประสิทธิภาพปลูก 96.05% หน่อมีความเอียง 72.02 องศา จากแนวระนาบ ความลึกการปลูกเฉลี่ย 16.20 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างต้นเฉลี่ย 34.80 เซนติเมตร ระยะห่างระหว่างแถวเฉลี่ย 105 เซนติเมตร

คุณวุฒิพล บอกว่า เกษตรกรที่จะซื้อเครื่องปลูกสับปะรดมาใช้งาน ควรมีพื้นที่ปลูกหรือรับจ้างปลูกไม่ต่ำกว่า 58.47 ไร่ ต่อปี และต้องใช้งานเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 7 ปี จะคุ้มมากกว่าการจ้างแรงงานปลูก ในกรณีที่เกษตรกรมีพื้นที่การใช้งาน 150 ไร่ ต่อปี ถ้าเลือกใช้เครื่องปลูกสับปะรดจะมีต้นทุนในการทำงาน 730.83 บาท ต่อไร่ ซึ่งถูกกว่าการจ้างแรงงานปลูกถึง 149.17 บาท ต่อไร่ เมื่อใช้เครื่องปลูกสับปะรดแทนการจ้างแรงงานคนปลูก

“จากการศึกษา พบว่า ต้นทุนในการใช้งานของเครื่องปลูกสับปะรดจะลดลง เมื่อพื้นที่การใช้งานมากขึ้น หากเกษตรกรต้องการจะซื้อเครื่องปลูกสับปะรดมาใช้งาน ควรพิจารณาจากต้นทุนในการใช้งานเครื่องปลูกสับปะรด ซึ่งควรจะต่ำกว่าราคาค่าจ้างแรงงานปลูก ในปัจจุบันมีค่าจ้างปลูก 880 บาท ต่อไร่” คุณวุฒิพล กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์วิจัยเกษตรวิศวกรรมขอนแก่น สถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม กรมวิชาการเกษตร เลขที่ 320 หมู่ที่ 2 ถนนมะลิวัลย์ ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โทร. (043) 255-038, (084) 602-5648