สาว ป.โท จากอังกฤษ ลูกสาวโรงสี แปลงข้าวสารเป็นข้าวเส้น ไอเดียฉีก โกอินเตอร์

กนกวรรณ ถิตะพาณิชย์ สลัดคราบลูกสาวโรงสี หอบดีกรีปริญญาโทจากอังกฤษ มาพร้อมมาดนักธุรกิจเต็มตัวในฐานะเจ้าของบริษัท อารีจิตต์ จำกัด ผู้แปลงข้าวสารจากโรงสีมาทำเป็นข้าวเส้น โดยใช้เทคโนโลยีผสมผสานข้าวสารกับแป้งมันฝรั่งบ้าง ผสมบุกบ้าง ผสมซีอิ๊วบ้าง ทำให้ได้เส้นพร้อมปรุงหรือพร้อมทานรูปแบบใหม่ เหนียว-นุ่ม-เด้ง-ใส ภายใต้ชื่อแบรนด์สินค้าหน้าใหม่ว่า “มาร์รีไรซ์” มีเป้าหมายยึดตลาดคนชอบทานเส้นยุคใหม่ที่มีความหลากหลายมากขึ้น

หักเหลี่ยมคนมีเส้น  5 เส้น 5 สไตล์

เส้นผัดไทย เรียกหรูๆ ว่า Pad Thai Rice Noodle เป็นเส้นเล็กที่โดดเด่นในเรื่องความเหนียวของเส้น ตัวเส้นไม่เกาะตัวกันให้รำคาญใจ มาพร้อมซอสผัดไทย แพ็กคู่มาด้วยกัน ฉีกถุงใส่ซอสผลักเข้าเตาไมโครเวฟ ก็จะได้เมนูอร่อยไม่กี่นาที

เส้นยากิ เรียกให้ดูเป็นฝรั่งมังค่าว่า Yaki Rice Vermicelli เป็นเส้นหมี่อบซีอิ๊วสีน้ำตาลที่มีรสชาติปรุงสำเร็จในตัว ไม่ต้องเติมเครื่องปรุงอีก ฉีกถุงเติมน้ำนิดหน่อยพอกล้อมแกล้ม ใส่เข้าไมโครเวฟ แค่อึดใจเดียวทานได้ทันที ตอบโจทย์ชีวิตเร่งรีบของคนเมืองได้เหมาะเจาะ เส้นประเภทนี้มีขายในตลาดเมืองนอก แต่เมืองไทยยังไม่มีใครกล้าเล่น อาจเป็นเพราะหน้าตาของเส้นดูไม่น่าพิสมัย แต่มาร์รีไรซ์จับมาแต่งตัวใส่แบรนด์ใส่ถุงเกรดเยี่ยม ทดลองทำตลาดเล่นๆ ปรากฏว่ากระแสตอบรับไม่ใช่เล่นๆ กลายเป็นเส้นที่ทำรายได้ชิลๆ ทีเดียว

เส้นหมี่ เรียกเป็นทางการว่า Rice Vermicelli เป็นเส้นเหนียวนุ่มเพื่อตอบโจทย์ร้านอาหาร เมื่อนำไปผัดแล้ว สามารถคงตัวได้ดี เหมาะสำหรับร้านอาหารและแม่บ้านที่ชอบทำอาหารเส้นเป็นประจำ จึงจงใจทำเส้นให้มีทรวดทรงบาดตาบาดใจ 2 แบบ คือเส้นหมี่ตรงและเส้นหมี่เหลี่ยม

เส้นเล็ก เรียกเท่ๆ ว่า Rice Noodle ทำจากข้าวคุณภาพดี ให้ความเหนียวนุ่มเฉพาะตัว เหมาะสำหรับเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว หรือแกล้งทำให้เบี่ยงเบนทางเส้นกลมกลืนเป็นเส้นขนมจีน ทานกับแกงหรือน้ำยาก็ได้

เส้นแก้ว หรือ วุ้นเส้นญี่ปุ่น เรียกให้ดูเป็นสัญชาติซามูไรว่า Kuzukiri Vermicelli เป็นเส้นที่ทำจากแป้งมันฝรั่ง ตัวเส้นมีความใสคล้ายวุ้นเส้น นิยมทานคู่กับเมนูชาบู คนรุ่นใหม่กลัวอ้วน จับมาทานคู่กับน้ำสลัด ส่วนมาร์รีไรซ์จับวุ้นเส้นญี่ปุ่นมาคลุมถุงชนจับคู่กับซอสผัดไทย ไม่ว่าจะเสิร์ฟกับเมนูไหน เส้นแก้วสไตล์ญี่ปุ่นให้อารมณ์กุ๊บๆ กั๊บๆ ในการขบเคี้ยวอย่าบอกใครเชียว

เป็นเจ้าของโรงสีก็ดีอยู่แล้ว คิดอย่างไรอยากเป็นคนมีเส้น

คุณกนกวรรณ เถ้าแก่สาวผู้สืบทอดกิจการ “โรงสีไฟตั้งซุ่นหลี” ในรุ่นที่ 3 ต่อจากรุ่นปู่และรุ่นพ่อ นับเป็นโรงสีข้าวเก่าแก่อายุร่วม 20 ปี ตั้งอยู่ริมคลองย่านเมืองนนทบุรี เมื่อค้นพบว่าตัวเองมีความเก๋าอยู่ 3 ประการที่เหนือกว่าคนอื่น (ไม่รวมความสวย) คุณกนกวรรณจึงเอาความเก๋าของตนมาเป็นจุดยุทธศาสตร์ปักหลักลงสนามเพื่อทำการค้า “เส้น” ตามประสา “คนมีเส้น” หรือเรียกทับศัพท์การตลาดว่า “คนทำเส้น”

ความเก๋า 3 ประการในตัวเธอที่กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ 1. มีโรงสีเป็นของตัวเอง นั่นหมายถึง กุมวัตถุดิบสำคัญในการทำเส้นไว้ในมือ 2. มีลูกค้าเป็นพันธมิตรอย่างเหนียวแน่น จึงแปลงลูกค้าเป็นคู่ค้า ส่งข้าวสารให้ลูกค้าซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการผลิตเส้น อาศัยความไว้ใจที่มีต่อกันมายาวนานถึง 40 ปี เชื่อมธุรกิจ 2 ฝ่ายให้เหนียวแน่นกว่าเส้นที่ผลิตเสียอีก 3. มีดีกรีปริญญาโทจากเมืองนอก ด้าน International Business จากอังกฤษ จุดนี้ย่อมการันตีความสามารถทางการตลาดได้เป็นอย่างดี

ความเก๋า 3 ประการกลายเป็นจุดแข็งที่ทำให้คุณกนกวรรณอยากทำธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพตามกระแสโลกที่กำลังนิยม หลังจากเจรจากับคู่ค้าสำเร็จ ก็เริ่มทำการวิจัยตลาด หลังจากนั้นก็นำผลิตภัณฑ์ไปทดสอบตลาด ปรากฏว่า ผลตอบรับแรงกว่าที่ตั้งเป้าไว้ หอบไปขายที่ไหนเป็นหมดเกลี้ยงทุกครั้ง แถมลูกค้าเรียกหาเพื่อซื้อซ้ำ จึงเกิดความมั่นใจสูงและมองเห็นความสำเร็จในอนาคต จึงตัดสินใจทุ่มสุดตัวสร้างแบรนด์ “มาร์รีไรซ์” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือบุกตลาดอย่างจริงจัง

หลักการสร้างแบรนด์  ชื่อไทยแต่ได้สำเนียงฝรั่ง

หลักการสร้างแบรนด์ของสาวยุคใหม่นักเรียนนอก ไม่ได้ยุ่งยากสลับซับซ้อน แค่เอาชื่อแม่กับชื่อผลิตภัณฑ์ที่ผลิตมาจับคู่กัน ก็ได้ชื่อแบรนด์ที่ลงตัวพอดีว่า “มาร์รีไรซ์” (MARLEERICE) มาร์รี มาจาก คุณแม่มาลี ส่วนคำ ไรซ์ มาจากข้าวในโรงสี ได้ชื่อไทยสำเนียงฝรั่งเหมาะเจาะกับเป้าหมายผลิตเพื่อการส่งออกเป็นหลัก

เมื่อย้อนถามกลับไปว่า ทำไมจึงเอาชื่อแม่มาตั้งเป็นชื่อแบรนด์สินค้า คราวนี้ได้เรื่อง เพราะได้คำตอบมาพร้อมน้ำตา

“ตลอดเวลาที่เห็นคุณแม่มาตั้งแต่เล็กจนโต คุณแม่เป็นผู้หญิงเก่งและแกร่งมาก เป็นต้นแบบการทำธุรกิจให้กับตัวเราด้วย ที่เห็นชัดคือท่านมีความมานะมาก และสอนลูกเสมอไม่ให้เอาเปรียบใคร แม้คุณแม่จะมีการศึกษาน้อย แต่สามารถทำธุรกิจให้เติบโตมาได้ถึงวันนี้ ให้โอกาสลูกได้เรียนสูงๆ คำสอนที่ยังก้องอยู่ในหูก็คือ ไปไหนมาไหนให้หมั่นสังเกต คำสอนเหล่านั้นยังคงนำมาใช้จนถึงทุกวันนี้ แม้ว่าท่านจะไม่ได้อยู่แล้วก็ตาม” เจ้าของธุรกิจสาวหน้าหวาน กล่าวเสียงเครือพร้อมปาดน้ำตา

ฉีก-เท-เข้าเวฟ แบบสัญชาติไทย

ความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์มาร์รีไรซ์ อยู่ที่ความเหนียวนุ่มพิเศษของตัวเส้น ซึ่งได้มาจากข้าวเกรด A ตัวผลิตภัณฑ์ถูกประกาศอย่างแจ้งชัดว่าปราศจากสารฟอกขาวและสารกันบูด ซึ่งเป็นจุดยืนหลักของการผลิตสินค้าเพื่อสุขภาพ หันมามองวิธีการผลักดันสินค้าหน้าใหม่แถมยังเป็นแบรนด์ใหม่ออกสู่ตลาด คุณกนกวรรณ คิดอย่างไร/ทำอย่างไร คำตอบที่ได้ก็คือ การดึงไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการความสะดวกรวดเร็ว และชอบความหลากหลาย จึงทำผลิตภัณฑ์ของมาร์รีไรซ์เป็นอาหารเส้นกึ่งสำเร็จรูป ที่มีเส้นให้เลือกถึง 5 สไตล์ตามที่กล่าวมาแล้ว มีซอสปรุงรสแพ็กคู่พร้อมเส้นในซองเดียวกัน แค่ลงมือฉีก-เท-เข้าเวฟ จบด้วยความอร่อยเพื่อสุขภาพ ทั้งนี้เน้นความเป็นสัญชาติไทยด้วยรสชาติซอสที่บรรจุในถุงฟอยด์ ซึ่งชูรสชาติตามวัฒนธรรมไทย ได้แก่ ซอสผัดไทย ซอสกะเพรา ซอสแกงเขียวหวาน เป็นต้น

เป้าหมายส่งออก สุดยอดความท้าทาย

คุณกนกวรรณ เผยถึงความสำเร็จด้านการตลาดโดยยอมรับว่า ปัจจุบัน หน่วยราชการมีส่วนสนับสนุนผู้ประกอบการอย่างมาก โดยเฉพาะกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมให้โอกาสไปออกร้านที่เมืองกว่างโจว เพื่อทดลองตลาดที่ประเทศจีนเป็นครั้งแรก และนั่นคือจุดหักเหที่ทำให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง และได้ไอเดียในการใช้แพ็กเกจจิ้งเป็นตัวขับเคลื่อนตลาด จึงเลือกวางภาพอาหารขับกับพื้นสีดำของบรรจุภัณฑ์ วางชื่อแบรนด์ MARLEERICE ให้เห็นเด่นชัด เพื่อสร้างการจดจำให้กับผู้ซื้อ วางจำหน่ายหลายไซซ์หลายขนาดเพื่อตอบโจทย์ตามกลุ่มเป้าหมาย สนนราคาตั้งแต่ 45 บาทไปจนถึง 200 บาท

“เป้าหมายการตลาดอาหารเส้นพร้อมปรุงคือ ต้องการส่งออกเป็นหลัก ในระยะแรกต้องเดินสายแถบ CLMV เพื่อศึกษาตลาดไปก่อน ส่วนตลาดที่ออสเตรเลียและอเมริกาเริ่มเดินหน้าไปได้ระยะหนึ่งแล้ว กำลังพัฒนาระบบเพื่อให้สามารถสั่งซื้อผ่านออนไลน์ได้ การทำธุรกิจไม่มีการหยุดคิด แต่ขึ้นอยู่กับการวางแผนและการพัฒนา ซึ่งถ้าสามารถขยายการตลาดให้มากขึ้น และทำให้แบรนด์ประสบความสำเร็จได้ ทางบริษัทก็จะมองหาพันธมิตรคู่ค้ามาร่วมเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน” เจ้าของธุรกิจคนมีเส้น กล่าวทิ้งท้าย ถึงแผนการรุกตลาดอย่างค่อยเป็นค่อยไป