อดีตผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ เบื่อชีวิตคอยแก่งแย่งชิงดี ผันตัวเลี้ยงเเพะ รายได้สดใส

หลีกหนีชีวิตจากเมืองกรุง แล้วหันมาใช้ชีวิตในทุ่งหญ้า อยู่กับธรรมชาติ และบรรดาแพะที่สร้างรายได้ให้ไม่ขาดสาย สำหรับคุณเชาวรัตน์ อ่ำโพธิ์ หรือ คุณลุงเป้ง เกษตรกรตามแนวพระราชดำริ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 2552 และประธานชมรมส่งเสริมและพัฒนาพันธุ์แพะ แกะ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี

อดีตผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ ผันตัวมาเป็นเกษตรกร พร้อมยึดหลักการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช อย่างแท้จริง ปัจจุบันไม่ต้องไปคอยแก่งแย่งชิงดีในสังคมทำงาน มีอาชีพที่มั่นคง มีรายได้ที่ยั่งยืน มีความสุขทุกวันอยู่ในผืนแผ่นดินไทย

untitled

อดีตผู้รับเหมา ผันตัวทำเกษตร
กลายเป็นคนเลี้ยงสัตว์ดีเด่น

สำหรับประวัติคุณลุงเป้ง ครั้งหนึ่งเขาคือผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ ต้องคอยไปประมูลงานราชการ เพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ที่ดี กระทั่งปี 2536 ตัดสินใจเป็นเกษตรกร เพราะต้องการหนีชีวิตที่ต้องคอยเอาแต่แย่งชิงคนอื่น มาใช้ชีวิตเรียบง่ายอย่างที่ควรจะเป็น ได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ อยู่กับต้นไม้สีเขียว มีรายได้ยั่งยืนโดยไม่ต้องฝืนใจทำ จึงเป็นที่มาของชื่อไร่ว่า “คุณสุขฟาร์ม”

“ผมจบการศึกษาระดับ ปวส. ด้านเทคนิคและพาณิชยการ เมื่อก่อนตอนทำงานรับเหมาก่อสร้าง ต้องคอยไปประมูลงานราชการ เพราะรายได้ดีมีงานให้ทำตลอด กระทั่งเริ่มรู้สึกว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง เพราะแต่ละวันไม่มีความสุข แม้จะมีรายได้ดี แต่ชีวิตไม่มั่นคง ต้องมากังวลว่าจะประมูลงานได้หรือไม่ เป็นแบบนี้นานหลายปี หนที่สุดตัดสินใจมาเป็นเกษตรกร เพราะประเทศไทยเป็นเมืองเกษตร อย่างไรก็ตามหนีไม่พ้น”

คุณลุงเป้งเริ่มทำอาชีพเกษตรกรรมเมื่อปี 2536 โดยปลูกพืชไร่ อาทิ ข้าวโพด อ้อย ต่อมาทำไร่องุ่นไร้เมล็ด ราวปี  2546 เริ่มเลี้ยงโคขุน เลี้ยงแพะ แกะ เพราะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย ต้นทุนการผลิตต่ำกว่าการเลี้ยงโคขุน ต่อมาพบปัญหาเรื่องต้นทุนอาหารแพะเริ่มสูงขึ้น ประกอบกับแพะ-แกะป่วยเป็นโรค เช่น โรคปอดบวม โรคพยาธิ โรคแท้งติดต่อ ตลอดจนด้านการตลาดจึงได้พยายามศึกษาหาความรู้ทั้งจากเอกสาร ปรึกษาหารือกับผู้เลี้ยงแพะ ไปดูงานในหน่วยงานต่างๆ รวมถึงได้เข้าไปโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา เมื่อปี 2552 น้อมนำเรื่องการใช้จุลินทรีย์ลดกลิ่นมลพิษ นำกากมันสำปะหลังที่หีบแล้วมาลดต้นทุนค่าอาหาร และใช้พืชสมุนไพรช่วยในการรักษาสุขภาพแพะ-แกะ ทำวัคซีนป้องกันโรค

“ผมน้อมนำองค์ความรู้หลายอย่างที่ได้จากการไปศึกษาที่สวนจิตรลดา อาทิ นำจุลินทรีย์ที่หมักจากต้นกล้วยและกากน้ำตาล เป็นเวลา 21 วัน ไปให้แพะกินช่วยลดกลิ่นแอมโมเนีย ทำให้แพะตัวไม่เหม็น นำกากมันสำปะหลัง หมักใบกระถิน ใบไม้ยืนต้นต่างๆ มาหมักยีตส์ ลดต้นทุนค่าอาหารได้ 10 เท่า เพราะปกติแพะจะกินอาหารข้น กิโลกรัมละ 12 บาท มันสำปะหลังหมักยีตส์ต้นทุนกิโลกรัมละเพียง 1 บาท ให้อัตราส่วน 1 : 1 นอกจากนั้นยังใช้พืชสมุนไพร เช่น ฟ้าทะลายโจร บอระเพ็ด รักษาโรค ไม่ใช้เคมี”

dsc_2923

ธรรมชาติ ตามพระราชดำริ
กลไกที่ยั่งยืน

คุณลุงเป้ง อธิบายต่อว่า จุลินทรีย์ที่หมักจากต้นกล้วยและกากน้ำตาลมีประโยชน์หลายอย่าง อาทิ ผสมในน้ำดื่มของแพะ แกะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการย่อยอาหาร ลดกลิ่นของมูลที่ถ่ายออกมา บริเวณฟาร์มก็ฉีดพ่นด้วยน้ำจุลินทรีย์ เพื่อลดกลิ่นรบกวนและแมลงวัน สามารถนำไปหมักมูลเพื่อให้ย่อยสลายเร็ว ลดการใช้ปุ๋ยเคมี

ตลอดระยะเวลากว่า 13 ปี คุณลุงเป้งได้พัฒนาการเลี้ยงแพะ แกะ ตามหลักวิชาการอย่างเป็นระบบต่อเนื่องมาโดยตลอด ทำให้คุณภาพแพะ แกะจากไร่ “คุณสุขฟาร์ม” เป็นที่ยอมรับโดยทั่วกัน ทั้งด้านสายพันธุ์มีการปรับปรุงสายพันธุ์แพะเพื่อให้ทนต่อสภาพแวดล้อม โตเร็ว ตัวอย่างเช่น แม่พันธุ์แพะใช้พันธุ์ลูกผสม ระหว่างพันธุ์แองโกลนูเบียน (Anglo  Nubian) กับ จัมนาปารี (Jumnapari) ส่วนพ่อพันธุ์ใช้พ่อพันธุ์แพะลูกผสมระหว่างพันธุ์บอร์กับพันธุ์ซาแนน ปัจจุบันมีการเลี้ยงแพะ-แกะ แม่พันธุ์แพะ จำนวน 200 ตัว พ่อแม่พันธุ์แกะ 50 ตัว ปัจจุบันขยายพื้นที่ทำฟาร์มแพะเกือบ 100 ไร่

untitled

ด้านการตลาด คุณลุงเป้งจะผลิตแพะเพื่อจำหน่ายปีละประมาณ 100-200 ตัว คุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด มีราคาที่ดีโดยตลอด โดยวางแผนการผสมพันธุ์เพื่อให้แม่แพะออกลูก สามารถขุนจำหน่ายสู่ตลาดในช่วงเวลาที่มีความต้องการสูง อีกทั้งยังได้เป็นผู้นำในการรวบรวมสมาชิกเครือข่ายผู้เลี้ยงแพะ-แกะ ซึ่งทำให้มีอำนาจต่อรองราคากับผู้ซื้อได้

นอกจากคุณลุงเป้งยังได้เพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์แพะ-แกะ โดยทำการฟอกหนัง เพื่อทำเป็นหมวก เข็มขัด  กระเป๋า รองเท้า เพื่อจำหน่าย สำหรับแพะนม ได้นำน้ำนมแพะมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์เสริมความงามต่างๆ อาทิเช่น ครีมบำรุงผิว สบู่

2

“ทุกวันนี้ ผมได้ดีเป็นเกษตรกรก็เพราะเชื่อในหลวง เพราะเดินตามรอยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผมตอบแทนสังคมด้วยการเปิดศูนย์เรียนรู้ และฝึกอาชีพให้แก่ผู้ที่สนใจ ยังได้ร่วมกับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะในตำบลลำสมพุง ก่อตั้งชมรมส่งเสริมและพัฒนาพันธุ์แพะ แกะ อำเภอมวกเหล็ก มีการประชุมคณะกรรมการและสมาชิกทุก 3 เดือน เพื่อกำหนดแนวทางการทำโควต้าประจำปี และจัดกิจกรรมต่างๆ”

ด้วยความพยายามฟันฝ่าอุปสรรคและการแก้ไขปัญหา ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ทำให้คุณลุงเป้งได้รับเลือกจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นเกษตรกรดีเด่น ระดับชาติ ประจำปี 2552 สาขาอาชีพการเลี้ยงสัตว์ และปราชญ์เกษตร ปี 2558 จัดโดยมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

กด like ติดตาม sentangsedtee.com