เพาะกุ้งก้ามแดง เป็นอาชีพสร้างรายได้ เลี้ยงง่าย ใช้ทุนน้อย ผลตอบแทนดี

ปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่ากระแสการทำเกษตรของคนในยุคนี้เป็นที่นิยมมากขึ้น ซึ่งเห็นได้จากรายการโทรทัศน์หรือข่าวสารตามโลกโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่คนจากหลากหลายอาชีพผันชีวิตสู่การทำเกษตรกรรมกันอย่างกว้างขวาง

จากแรงบันดาลใจของผู้ที่ประสบความสำเร็จในด้านนี้ จะเห็นได้ว่าการเกษตรไม่จำเป็นที่จะต้องใช้เนื้อที่หรือความรู้ของการจบใน ด้านนี้มาทำมากนัก แต่เกิดจากการที่เริ่มชอบในสิ่งที่อยากทำ จนคิดค้นริเริ่มทดลองทำจนให้เกิดเป็นงานสร้างรายได้ แบบที่ว่าสามารถเลี้ยงครอบครัวได้อย่างสบาย

คุณสุมิตรา ศรีเดช และลูกสาว

คุณสุมิตรา ศรีเดช อยู่บ้านเลขที่ 44 หมู่ที่ 4 ตำบลสามชุก อำเภอสามชุก จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ได้ลาออกจากงานบริษัท มาเพาะเลี้ยงกุ้งก้ามแดง โดยใช้พื้นที่บริเวณภายในบ้าน เรียกง่ายๆ ว่า มีพื้นที่ตรงไหนว่างนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด จนเป็นอาชีพที่เธอบอกว่าทำแล้วมีความสุข และที่สำคัญทำให้เธอมีเวลาอยู่บ้านดูแลบุคคลอันเป็นที่รักอย่างใกล้ชิดได้ อีกด้วย

จากพนักงานบริษัท ผันชีวิตสู่ผู้เลี้ยงกุ้งก้ามแดง

คุณสุมิตรา เล่าให้ฟังว่า ได้ลาออกจากงานบริษัทมาอยู่ที่บ้านเพื่อประกอบอาชีพเลี้ยงปลากระชังในแม่น้ำ ท่าจีน จากนั้นประมาณ ปี 2558 สามีของเธอได้ดูรายการโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง จึงเกิดความสนใจ ได้ออกเดินทางไปศึกษาในแหล่งที่มีการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง และได้หาซื้อกุ้งก้ามแดงมาทดลองเลี้ยงในเวลาต่อมา ผลปรากฏว่ากุ้งเจริญเติบโตได้ดี จึงอยากยึดเป็นอาชีพอีกทางเพื่อสร้างรายได้

“ตอนนั้นดูอะไรไปเรื่อย บังเอิญไปเจอรายการเกี่ยวกับเกษตร ว่ากุ้งชนิดนี้มันสามารถเลี้ยงในน้ำจืดได้ ก็เลยลองไปดูที่เขาเลี้ยงกับสามี ก็เลยซื้อมาทดลองเลี้ยงดู ประมาณเดือนมิถุนายน ปี 58 เอาแบบไซซ์เล็กๆ มาลองเลี้ยงดู ช่วงนั้นก็ประมาณ 100 ตัว พอเห็นว่าตัวเล็กพวกนั้นโตดีตายน้อย เพราะในฐานะที่เราเป็นคนเลี้ยงมือสมัครเล่น แต่ประสบผลสำเร็จได้แบบนี้ ก็เริ่มอยากจะยึดเป็นอาชีพน่าจะได้” คุณสุมิตรา เล่าถึงความเป็นมา

Kung 9

หลังจากที่เห็นผลสำเร็จที่เกิดขึ้น คุณสุมิตรา เล่าว่า จึงหาซื้อพ่อแม่พันธุ์มาทดลองเพาะลูกกุ้งก้ามแดง เพื่อทดแทนการซื้อลูกกุ้งเข้ามาเลี้ยงเป็นการประหยัดต้นทุนอีกทาง

“ช่วงแรกที่เราคิดว่าเราจะเลี้ยง เราก็สั่งแบบหลากหลายที่มาเลย ลงทุนช่วงแรก แต่คนที่อยากจะเริ่มลองดู ก็จะบอกว่าอย่าเพิ่งเริ่มเยอะ ซื้อมาทีละน้อยก่อน เพราะว่าแม่พันธุ์ 1 ตัวนี่ ก็ให้ลูกประมาณ 300-400 ตัว เราเลี้ยงลูกพวกนั้นไปอีกประมาณ 4 เดือน เราก็จะได้ลูกพวกนั้นมาเป็นพ่อแม่พันธุ์ต่อไป แต่อย่างของที่ฟาร์มเรานี่จะเน้นจำหน่ายลูกที่เกิดมาเสียมากกว่า ค่อนข้างมั่นใจเรื่องตลาด ก็จะเอามาเลี้ยงเยอะไปเลย” คุณสุมิตรา กล่าว

ใช้พื้นที่น้อย กุ้งกินอาหารได้หลากหลาย

การเลี้ยงกุ้งก้ามแดงอาจเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์สำหรับคนที่มีพื้นที่น้อย เพราะสามารถใช้พื้นที่บริเวณบ้านเลี้ยงได้แบบไม่ใช้พื้นที่มากนัก ซึ่งที่ฟาร์มของคุณสุมิตราเลี้ยงทั้งในผ้าใบพลาสติกและในโอ่งใหญ่ที่มีอยู่ เดิมภายในบ้าน เรียกง่ายๆ ว่า อะไรที่สามารถใช้ให้เกิดประโยชน์นำมาทำเพื่อประหยัดต้นทุนให้มากที่สุด

โอ่งน้ำใหญ่ที่ไม่ได้ใช้ นำมาไว้เลี้ยงกุ้ง

“อุปกรณ์ที่ใช้เลี้ยง เลือกอะไรก็ได้ที่สามารถใส่น้ำได้ อย่างน้อยต้องใส่น้ำให้สูงประมาณ 20 เซนติเมตร เพื่อที่จะใช้ในการผสมพันธุ์ เพื่อให้กุ้งอยู่ได้อย่างสะดวก แล้วก็จะเอาพ่อแม่พันธุ์มาลงปล่อย ในอัตราส่วน 1 ต่อ 2 หรือ 1 ต่อ 3 ก็แล้วแต่ ดูตามความเหมาะสม” คุณสุมิตรา กล่าว

การเพาะกุ้งก้ามแดงเพื่อการผสมพันธุ์ที่ฟาร์มแห่งนี้ จะให้กุ้งอยู่รวมกันในผ้าใบพลาสติก ขนาด 3×4 เมตร ปล่อยกุ้งพ่อพันธุ์ 30 ตัว และปล่อยแม่พันธุ์ 60 ตัว จากนั้นรออีกประมาณ 30 วัน จึงเช็กแม่พันธุ์กุ้งทั้งหมดว่าตัวใดเริ่มมีไข่ที่ท้องแล้ว ก็จะนำมาแยกใส่ลงในตะกร้าขังแบบเดี่ยวเพื่อให้ฟักลูกออกให้หมดจากหน้าท้อง

บ่อที่ทำไว้เลี้ยงภายในบ้าน

“ช่วงที่เราเลี้ยงหรือเพาะพันธุ์ อาหารที่ให้กุ้งจะเป็นอะไรก็ได้ ต้องบอกเลยว่ากุ้งชนิดนี้กินง่ายมาก มันกินได้หมด ไม่ว่าจะเป็นกุ้งฝอย ไส้เดือน หรือว่าหอยขม ทั้งสัตว์น้ำ พืชน้ำตามธรรมชาติมันกินได้หมด แต่ที่ฟาร์มนี้ไม่ค่อยมีเวลาก็จะเน้นให้อาหารเม็ดเสียมากกว่า อาหารมีโปรตีน ตั้งแต่ 40-45 เปอร์เซ็นต์ ให้เวลาเย็นอย่างเดียว เพราะกุ้งเป็นสัตว์ที่ชอบหากินตอนกลางคืน” คุณสุมิตรา เล่าถึงสิ่งที่เป็นอาหารของกุ้งก้ามแดง

ตะกร้าใส่แม่พันธุ์กุ้งที่มีไข่

แม่พันธุ์ที่มีไข่ติดอยู่ที่ท้องเมื่อนำมาแยกใส่ลงในตะกร้า ใช้เวลาดูแลในช่วงนี้อีกประมาณ 1 เดือน ก็จะเริ่มฟักออกมาเป็นตัวลูกกุ้ง ซึ่งจะค่อยๆ สลัดออกจากท้องแม่ ประมาณ 7 วัน ก็จะย้ายลูกกุ้งมาใส่ลงในบ่อผ้าใบพลาสติก ในอัตราประมาณ 2,000 ตัว ต่อบ่อ ซึ่งไซซ์นี้เรียกว่าไซซ์ลงเดิน สามารถจำหน่ายได้เลยหากมีลูกค้าต้องการ

หากทางฟาร์มต้องการต่อยอด ไม่ได้จำหน่ายไซซ์ลงเดิน ก็จะนำลูกกุ้งเหล่านั้นมาเลี้ยงอีกประมาณ 30-45 วัน เพื่อให้เป็นลูกกุ้งขนาดไซซ์นิ้วไว้รองรับความต้องการของลูกค้าอีกกลุ่ม หนึ่ง

“เรื่องการดูแลรักษาโรค ต้องบอกก่อนว่ากุ้งพวกนี้ ถ้าเลี้ยงที่น้ำสะอาดกุ้งพวกนี้จะแข็งแรงมาก แต่ถ้าเกิดปล่อยให้สกปรกเมื่อไหร่ เรื่องโรคก็จะเกิดขึ้นทันที ทั้งหางพอง ปรสิตเข้าทำลาย เราก็จะแก้ด้วยการนำกุ้งพวกนี้ไปแช่ในน้ำเกลือ เดี๋ยวมันก็จะลอกคราบ โรคมันก็จะหาย ส่วนออกซิเจนเราก็จะเปิด 24 ชั่วโมง และก็มีการถ่ายน้ำภายในบ่อ เดือนละ 1 ครั้ง” คุณสุมิตรา กล่าวถึงการดูแลรักษา

นอกจากกุ้งที่ฟาร์มของคุณสุมิตราจะเลี้ยงให้เป็นไซซ์นิ้วแล้ว ยังนำกุ้งที่มีขนาดไซซ์นิ้วลงไปปล่อยเลี้ยงในบ่อดิน ขนาด 30×40 เมตร ความลึก 1-2 เมตร เลี้ยงประมาณ 4 เดือน ก็จะได้กุ้งขนาดไซซ์ 4 นิ้ว เพื่อให้กุ้งเหล่านี้เจริญเติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์ชุดต่อไป เพื่อจำหน่ายให้กับลูกค้าที่ต้องการนำไปเลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์

ไซซ์ลูกกุ้งลงเดิน

“ภายในบ่อดินที่ปล่อยเลี้ยง หรือแม้แต่ในบ่อพลาสติกและโอ่ง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ที่ซ่อนตัว เราต้องจัดสรรพื้นที่ให้ดี แล้วก็กระจายไปให้ทั่ว ไม่ว่าจะท่อหรือจะเป็นซาแรน กิ่งไม้ ได้หมด เพื่อให้มีการหลบซ่อนตัว เพราะเวลาที่มันลอกคราบมันจะได้ไม่กินกันเอง” คุณสุมิตรา กล่าว

ตอบโจทย์ลูกค้าทุกด้าน ตามที่ลูกค้าต้องการ

ด้านการทำการตลาดเพื่อจำหน่ายกุ้งก้ามแดงนั้น คุณสุมิตรา บอกว่า จะเน้นออกตามสื่อโซเชียลมีเดียและติดป้ายประกาศในพื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจได้รู้จักมากขึ้น ซึ่งที่ฟาร์มแห่งนี้จะเน้นจำหน่ายลูกกุ้งแบบเป็นพ่อแม่พันธุ์ ลูกกุ้งไซซ์นิ้ว และลูกกุ้งลงเดิน

Kung 3

“ราคาลูกกุ้งที่เป็นไซซ์ลงเดินจะอยู่ที่ราคา ตัวละ 5-10 บาท ส่วนกุ้งที่เป็นไซซ์นิ้วก็จะอยู่ที่ ราคา ตัวละ 15-20 บาท และกุ้งที่เป็นพ่อแม่พันธุ์ 4 นิ้วขึ้นไป ก็จำหน่ายอยู่ที่ คู่ละ 500-700 บาท ซึ่งลูกค้าที่มาที่ฟาร์มนี้ก็จะซื้อทุกไซซ์ เรียกง่ายๆ ว่า เขาต้องการอะไร เรามีให้หมด โดยที่เขามาแล้วไม่ต้องกลัวว่าจะผิดหวัง ว่าจะไม่มีแบบที่เขาต้องการ” คุณสุมิตรา เล่าถึงหลักการทำตลาด

สีที่คนนิยมมากที่สุดสำหรับผู้ที่ชื่นชอบการเลี้ยงกุ้งก้ามแดง จะเน้นสีให้ออกเป็นสีน้ำเงินฟ้าสำหรับผู้ที่ชื่นชอบไปเลี้ยงเพื่อดูเป็นความ สวยงาม ส่วนเกษตรกรที่เลี้ยงเป็นกุ้งเนื้อหรือเพื่อขยายพันธุ์ จะไม่เน้นเรื่องสีสันมากนัก

เลี้ยงง่าย ใช้ทุนน้อย

คุณสุมิตรา บอกว่า การเลี้ยงกุ้งก้ามแดงเมื่อเทียบกับเลี้ยงปลากระชังที่เคยเลี้ยงมา ยอมรับว่ากุ้งก้ามแดงตอบโจทย์สำหรับเธอมากกว่า เพราะกุ้งที่เลี้ยงทั้งหมดสามารถนำมาพัฒนาให้เป็นพ่อแม่พันธุ์ได้ ผิดกับปลาที่ต้องซื้อลูกพันธุ์มาเลี้ยงเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถทำให้เกิดลูกปลาได้เอง

“เราสามารถมีพ่อแม่พันธุ์เองได้ ต่อจากนั้นเราก็เอาพวกนั้นมาต่อยอดได้ตลอด คือมันไม่เหมือนกับปลาบางชนิด ที่ต้องทำเป็นปลาหมัน เราต้องซื้อลูกพันธุ์ปลามาเลี้ยงตลอด ซึ่งผิดกับกุ้งก้ามแดงที่เราสามารถนำมาพัฒนาพันธุ์เองได้ ส่วนเรื่องของอาหาร กุ้งเป็นสัตว์ที่กินอาหารน้อยมาก เมื่อเทียบกับการเลี้ยงปลากว่าจะโตจนจำหน่ายได้” พร้อมทั้งกล่าวแนะนำสำหรับผู้ที่สนใจอยากทำเป็นอาชีพเสริมหรืออาชีพหลักต่อ ไปว่า

“สำหรับคนที่อยากทำเป็นอาชีพ อันดับแรกต้องบอกก่อนว่า ต้องชอบมันเสียก่อน ต้องมีใจรัก โดยเริ่มเลี้ยงใส่ภาชนะเล็กก่อนจากที่เรามีภายในบ้าน แล้วดูสักระยะว่าเราชอบไหมที่จะเลี้ยง ถ้าชอบจริง ก็ศึกษาข้อมูลให้มากที่สุดเท่าที่เราจะทำได้ เสร็จแล้วก็ลงมือทำเต็มที่ แล้วค่อยขยายลงมือทำต่อไป ต่อไปคิดทำเพื่อสร้างอาชีพเสริม คราวนี้มันก็จะกลายมาเป็นหลักแทน ก็จะเป็นงานที่สร้างรายต่อไป” คุณสุมิตรา กล่าวแนะนำ

สำหรับท่านใดที่สนใจ สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คุณสุมิตรา ศรีเดช ที่หมายเลขโทรศัพท์ (084) 640-0326