ขยายพันธุ์ผักหวานป่า ด้วยการขุดหลุม ตัดราก วิธีนี้ไม่ยาก อาชีพเสริมสร้างรายได้เป็นอย่างดี

“ผักหวานป่า” ไม้ยืนต้นขนาดกลาง สรรพคุณทางอาหารเพียบ ปลูกไม่ยาก ไม่ชอบสารเคมี สร้างรายได้ให้เกษตรกรมานักต่อนักแล้ว เฉกเช่น คุณบุญยืน วงค์กระโซ่ เกษตรกรหนุ่มใหญ่ อยู่บ้านเลขที่ 99 หมู่ที่ 3 บ้านโพนไฮ ตำบลหนองแคน อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร

คุณบุญยืน เล่าว่า ปลูกผักหวานป่าเป็นอาชีพเสริมมาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 สาเหตุที่สนใจปลูกผักหวานป่า เพราะเคยไปศึกษาดูงานเรื่องการปลูกผักหวานป่า ที่อำเภอบ้านหมอ จังหวัดสระบุรี ขากลับแวะซื้อต้นกล้าผักหวานป่า และเมล็ดพันธุ์กลับบ้านมาด้วย

การปลูกผักหวานป่าด้วยเมล็ดของคุณบุญยืน เขาใช้วิธีการเพาะเมล็ดให้ออกรากเสียก่อน แล้วนำลงปลูก ช่วงปลูกเป็นฤดูฝน ฝนตกสม่ำเสมอ ทำให้ไม่มีปัญหาเรื่องการรดน้ำ ประกอบกับพื้นดินที่ใช้ปลูกมีความสมบูรณ์ค่อนข้างสูง การรอดของต้นกล้าจึงอยู่ในระดับที่น่าพอใจ จากนั้นก็ขยายปลูกเพิ่มเรื่อยๆ จนเต็มพื้นที่ราว 11 ไร่

การดูแลรักษา คุณบุญยืน เล่าว่า ทำเหมือนกับต้นไม้อื่นทั่วไป เช่น การใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ และปุ๋ยเคมี พืชที่เป็นพี่เลี้ยงก็ไม่ให้ความสำคัญมากนัก จะมีเพียงต้นลำไยซึ่งปลูกไว้ห่างๆ  นอกจากนั้นยังมีต้นไม้ที่เกิดเองตามธรรมชาติบ้าง

การเพิ่มปริมาณโดยไม่ต้องปลูกเพิ่ม คุณบุญยืน ใช้วิธีขุดหลุมข้างต้นผักหวานป่า หลุมที่ขุดควรห่างจากต้นแม่ ประมาณ 50-100 เซนติเมตร เมื่อพบรากก็ใช้เสียมสับให้รากขาดจากกัน แล้วปล่อยทิ้งไว้โดยมิต้องกลบหลุม จากรากที่ขาดต่อมาก็จะเกิดเป็นต้นอ่อนแล้วปล่อยให้เจริญเติบโต เมื่อต้นใหม่โตพอสมควรก็ขุดตัดรากต่อไป จะทำให้ได้ต้นผักหวานป่าเพิ่มไปเรื่อยๆ

ปัจจุบัน มีต้นผักหวานป่ารวมแล้วกว่า 4,000 ต้น ส่วนหนึ่งก็มาจากการสับราก สามารถเก็บยอดอ่อนจำหน่าย มีรายได้เพิ่มขึ้นตามลำดับ การเก็บยอดจะไม่เก็บยอดยาว ใบใหญ่เหมือนทางภาคกลาง จะเก็บเอายอดที่แตกใหม่ ใบเริ่มผลิเพียงครึ่งใบเท่านั้น หากเก็บยอดใหญ่ใบเต็มอย่างภาคอื่น จะไม่เป็นที่สนใจแก่ผู้บริโภค

การเก็บผลผลิตจะเริ่มแต่เช้ามืด ใช้ไฟฉายติดหน้าส่องเก็บไปจนถึง 8 โมงเช้า แรงงานก็ใช้คนในครอบครัว หากจ้างแรงงานภายนอกจะมีปัญหาหลายอย่าง เช่น แรงงานจะเน้นปริมาณ เลือกเก็บยอดจากต้นที่มีมาก ต้นยอดน้อยเขาจะไม่เก็บให้ แล้วปล่อยให้เจ้าของต้องไปเก็บตกเอาเอง และเวลาการเก็บยอดก็เป็นช่วงเช้ามืด ทำให้ไม่สะดวกทั้งสองฝ่าย

ผลผลิตในปัจจุบัน เก็บได้วันละ 10 กิโลกรัม และเคยเก็บได้สูงสุดถึง 30 กิโลกรัม ราคาขายส่ง กิโลกรัมละ 600 บาท การจำหน่ายมีแม่ค้าสั่งซื้อโดยไปรับถึงบ้าน จึงไม่มีปัญหาในเรื่องการตลาด นอกจากนี้ ยังมีรายได้จากการจำหน่ายต้นกล้า เมล็ดพันธุ์อีกส่วนหนึ่ง