อดีตพนักงานประจำ เคยอยู่เมืองนอก โบกมือลาเมืองกรุง เนรมิตรทุ่งนาที่เชียงราย เปิดคาเฟ่สไตล์ญี่ปุ่น “เรียวกังคาเฟ่”

“ญี่ปุ่น” ใครว่า ไกล

ขอบอก…อยู่ไม่ใกล้ไม่ไกลแค่ “เชียงราย” นี้เอง

ใครอยากพิสูจน์ต้องลองไป “เรียวกังคาเฟ่” ร้านกาแฟเท่ๆ กลางทุ่งนา ที่ยกบรรยากาศแบบชนบทญี่ปุ๊น …ญี่ปุ่น มาไว้ที่นี่

จุดกำเนิด เรียวกัง

ต้นตอความคิดสร้างสรรค์เช่นนี้มาจาก “คุณโอฬาร เนตรหาญ และภรรยา” ที่ตกหลุมรักความเป็นญี่ปุ่นเข้าอย่างจัง

ดังนั้น เมื่อความเบื่อหน่ายชีวิตในเมืองกรุงขยับขึ้นถึงจุดสูงสุด ประกอบกับแนวความคิดเกษียณตัวเองออกจากงานที่คุ้นเคยทำงานอย่างเข้มข้น การมองหาชีวิตในเส้นทางใหม่ๆ จึงเริ่มขึ้น

“ภรรยาของผมทำงานเป็นที่ปรึกษาเกี่ยวกับไอที ส่วนตัวผมเองเป็นสถาปนิก ทำงานอยู่ที่ภูเก็ตกับกรุงเทพฯ คิดอยากเกษียณตัวเอง อยากหาที่ทำโครงการหมู่บ้านเล็กๆ พอได้ขับรถมาเจอที่ดินผืนนี้ก็สนใจ ที่สวย แต่ไม่มีใครอยู่ บรรยากาศดีเหมือนชนบทในญี่ปุ่น เราทั้งคู่ชอบญี่ปุ่นอยู่แล้ว จึงตัดสินใจซื้อที่ดินผืนนี้”

ที่ดินในดวงใจผืนนี้ถูกวาดให้เป็นพื้นที่สร้างฝันที่สั่งสมมาเป็นเวลานานให้เป็นจริง เขาทั้งคู่ตั้งใจที่จะสร้าง “ร้านกาแฟ” ในรูปแบบใหม่ ในลุกส์ของ “ชนบทญี่ปุ่น” ที่ไม่เหมือนใคร

จากนั้นแล้วพอกพูนเสริมความรู้ให้เข้มข้นยิ่งขึ้น นอกจากความชอบดื่มกาแฟเป็นพื้นฐาน และความรู้ระดับบาริสต้าที่ร่ำเรียนมา เขายังลงลึกถึงพฤติกรรมผู้บริโภค วิเคราะห์การตลาด และการประชาสัมพันธ์อีกด้วย

“ผมกับภรรยาสนใจเกี่ยวกับเรื่องกาแฟมานาน มีแผนจะเปิดร้านกาแฟมาร่วม 10 ปีแล้ว พอได้ที่ผืนนี้ก็ออกสำรวจร้านกาแฟในเชียงรายเพื่อดูจุดอ่อนจุดแข็ง เราพบว่า มีร้านที่ออกไปเปิดไกลๆ แต่ก็ยังขายได้ นั่นแปลว่า เทรนด์เปลี่ยนไปแล้ว ร้านกาแฟในปัจจุบันไม่จำเป็นต้องอยู่แต่ในเมือง เราเองก็ไม่อยากอยู่แต่ในกล่อง อยากทำแบบโอเพ่นแอร์ มีบรรยากาศล้อมรอบด้วยทุ่งนา มีแมลง มีสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติที่ในเมืองหาไม่ได้”

ได้ข้อมูลเต็มกระเป๋ากับฝีมือที่เต็มเปี่ยม เหลือเพียงรูปแบบของร้านที่ออกแบบเองในแนวของชนบทของญี่ปุ่นตามธงที่ตั้งไว้ในใจ รวมไปถึงห้องชงชาที่ประดับด้วย ชุดเคนโด้และหมากล้อมของเขาเอง, ศาลาไม้กลมในน้ำ ทั้งยังจำลองเสาประตูโทริอิ ของศาลเจ้า ฟูชิมิอินาริ ที่เกียวโตมาไว้ที่นี่ ทั้งหมดนี้เขาลงมือสร้างด้วยตัวเองทั้งสิ้น

“ผมลงมือทำเอง มีช็อปไม้เป็นของตัวเอง ตั้งใจจะทำแบบญี่ปุ่น เพราะโลเกชั่น บรรยากาศมันสามารถผสมผสานระหว่างความเป็นล้านนากับญี่ปุ่น และความโมเดิร์นได้ ซึ่งแนวนี้ยังไม่มีใครทำมาก่อน สีที่ใช้ก็จะออกแนวเกียวโต เราใช้ผ้าแดง ร่มแดง เป็นสัญลักษณ์ เป้าหมายของผมคือ เอาฟิลลิ่ง ดูแลรักษาง่าย ประหยัดและสะดวก”

ร้านกาแฟสัญชาติไทย สไตล์ญี่ปุ่น “เรียวกังคาเฟ่” จึงเกิดขึ้น ณ บัดนั้น

 

เป็นหนึ่งเดียวกับชุมชน

แม้จะพกพาความมุ่งมั่นตั้งใจมาเต็มเปี่ยม แต่ก็ต้องบอกว่า การเปิด เรียวกังคาเฟ่ ไม่ได้ง่ายอย่างที่คิด ไม่ใช่เพราะการลงทุน หรือการวางแผนการตลาดใดๆ หากอยู่ที่การปรับตัวให้เข้ากับชุมชนท้องถิ่นที่ไปลงหลักปักฐาน เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่ง

เหล่านี้ ล้วนแต่เป็นสิ่งที่คุณโอฬารและภรรยาให้ความใส่ใจ ตั้งใจและเต็มใจเป็นอย่างยิ่ง

“ผมเป็นคนภูเก็ต เคยไปอยู่อเมริกามา 7 ปี การมาอยู่ที่นี่ต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง เพราะมันไม่เหมือนกับกรุงเทพฯ ที่ต่างคนต่างอยู่ อยู่ที่นี่ตื่นเช้ามาก็จะมีเสียงตามสายมาทัก บางครั้งเราก็จะไปร่วมงานกับชาวบ้าน และทุกเดือนก็จะมีการร่วมกันทำความสะอาดถนน ก็สนุกดี ไม่ได้อึดอัดกับการปรับเปลี่ยนนี้ แถมสุขภาพยังดีขึ้นอีกด้วย”

เพราะการได้ไปคลุกคลีกับชาวบ้าน ทำให้เขารับรู้ถึงภูมิปัญญาและของดีท้องถิ่นที่มีกระจายอยู่ทั่วทุกสารทิศ เขาจึงเริ่มดำเนินการนำภูมิปัญญาชาวบ้านมาทำมาร์เก็ตติ้ง มีการประสานงานกับหน่วยงานราชการ โดยมีภรรยาเป็นที่ปรึกษา

“ในเส้นทางจักรยานหมู่บ้านหนองป่าไคร้ เชื่อมกับหมู่บ้านร่องปลายนา จะเป็นกลุ่มทำเครื่องปั้นจากดินเผา มีชุมชนเย็บผ้า มีต้นมะขามอายุเป็นร้อยปีอยู่กลางนา มีวัดของชาวบ้าน สามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวไปกางเต๊นท์นอนได้ และที่สวนกำนันยังมีการทำพลังงานทดแทน ผมยังมีโครงการพานักท่องเที่ยวไปทำนา ไปเกี่ยวข้าว ไปดูวิถีของชาวบ้าน เรื่องแบบนี้ขายต่างชาติได้”

นอกจากนั้นแล้ว เขายังพยายามหยิบจับนำเอาฝีมือของชาวบ้านมาเติมไอเดีย สร้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในร้านกาแฟและบูติก โฮเต็ล ไม่ว่าจะเป็น ที่นอนผ้านวม เสื้อยูกาตะ ถ้วยชา ไปจนถึงที่จิ้มขนมชิ้นน้อย

เป้าหมายคือ การสร้างงานสร้างรายได้ให้กับชุมชนมากยิ่งขึ้น นอกเหนือไปจากการทำนาปลูกข้าวกันตามปกติ

 

มาตรฐานความอร่อย

“มันเริ่มจากไปกินกาแฟที่ร้านอื่นแล้วไม่อร่อย เราจึงคิดว่า ถ้าเราจะทำต้องได้มาตรฐาน”

เป็นความคิดเริ่มต้นที่แสนจะคลาสสิก “ทำอะไรที่ชอบ ถ้าเรากินไม่ได้ คนอื่นก็คงไม่อยากกิน”

คอนเซ็ปต์ถูกกำหนด ดังนั้น เมนูของที่ร้านนี้จึงมีตั้งแต่ระดับสแตนดาร์ดไปจนถึงเมนูประหลาดที่คิดค้นขึ้นเอง ที่ไม่ได้สร้างสรรค์เพื่อความโก้เก๋เท่านั้น หากยังการันตีได้อีกว่า

…ทุกเมนู ทุกแก้ว ทุกจาน นอกจากหน้าตาดีแล้ว ต้องอร่อยอีกด้วย…

“ตอนแรกก็มีแต่กาแฟกับเบเกอรี่ อร่อยจากสวนจริณ แต่ลูกค้าชอบถามถึงอาหาร ก็เลยคิดเมนูอาหารและเครื่องดื่มใหม่ๆ ในสไตล์ที่ตัวเองชอบกินและชอบทำขึ้นมา

เมนูอาหารที่ว่านั้นมีตั้งแต่ ข้าวผัดเรียวกัง–ข้าวผัดน้ำพริกหนุ่มใส่ไส้อั่ว, เมนูน้ำเงี้ยว ที่แสนเข้มข้น ไม่หวงเนื้อ และข้าวแกงกะหรี่หมูทอด ที่ช้าหมด อดกิน”

ด้านเครื่องดื่มก็ไม่น้อยหน้า เจ้าของร้านแนะนำ นอกจากกาแฟตามมาตรฐานแล้ว พลาดไม่ได้กับ ช็อกคอฟฟี่ เฟรปเป้, ราสป์เบอร์รี่ เจลลี่ เฟรปเป้ เช่นเดียวกับ คาราเมล แมคชิอาโต้ กาแฟร้อนที่หอมหวานด้วยกลิ่นคาราเมล ที่เป็นเมนูขายดีพอๆ กับ ชาเขียวมัตฉะเย็น (matcha) หรือใครจะชอบแนวร้อนก็ไม่เกี่ยง

“เพราะความชื้นในอากาศที่เปลี่ยนทุกวัน มีผลทำให้รสชาติของกาแฟเปลี่ยนไปด้วย ทุกๆ เช้าก่อนเปิดร้าน เราจะต้องทำการเทสต์ช็อตกาแฟ เพื่อปรับค่าของเครื่องบดเพื่อให้ได้รสชาติที่ดีที่สุด เพื่อความมั่นใจว่า ลูกค้าจะได้ชิมรสชาติกาแฟที่ดีที่สุดในทุกวัน”

“กาแฟของเรารสชาติจะไม่บาดคอ ออกแนวหวานนุ่ม ส่วนชาเขียวเย็นสูตรญี่ปุ่น จะไม่ใช้นมข้นหวานและใช้ผงมัตฉะแท้จากญี่ปุ่น หวานเย็นชุ่มคอ หรือถ้าชอบแบบร้อน เราจะใช้ผงชาเขียวแท้ผสมน้ำในอุณหภูมิพอเหมาะ และชงด้วยเครื่องมือแบบเดียวกับในพิธีชงชาของญี่ปุ่น ยิ่งได้กินกับขนมหวานสักชิ้นจะไปด้วยกันได้ดีมาก”

นอกจากความอร่อยระดับที่พูดกันปากต่อปากแล้ว เมนูคาว-หวาน และเครื่องดื่มร้อน-เย็นนี้ เริ่มต้นราคาอยู่ที่ 45 บาท ไปจนถึงอาหารจานละ 100 กว่าบาท

เรียกว่าถูกตา ถูกใจ อิ่มท้อง และยังสบายกระเป๋าอีกด้วย

 

บูติก โฮเต็ล น้อย-ดี-แพง-ไม่เน้นวอลุ่ม

ตลอดเวลาเกือบ 10 ปี ต้องบอกว่า เรียวกังคาเฟ่ ได้ผลตอบรับค่อนข้างดี จากการพูดถึงกันอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีการประชาสัมพันธ์ผ่านทางอินเตอร์เน็ต จนทำให้มีลูกค้าที่เป็นคนเชียงรายเอง และเป็นนักท่องเที่ยวแวะเวียนมาอย่างไม่ขาดสาย ในจำนวนนั้นมีไม่น้อยที่เป็นคนญี่ปุ่น

“คนญี่ปุ่นที่มาก็จะชอบ บอกว่า เหมือนได้กลับบ้าน ซึ่ นอกจากนั้น มีกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ส่วนมากจะรับรู้ผ่านทางเน็ตและจะมีลูกค้าประจำเป็นกลุ่มคนเชียงรายที่เบื่อห้าง ที่พอมาถึงร้านแล้ว จะได้รับความรู้สึกแปลกใหม่ เหมือนได้ค้นพบสถานที่ใหม่ ก็เป็นความประทับใจไปอีกแบบ”

นอกจากในส่วนธุรกิจคาเฟ่ เรียวกัง ยังสร้าง “บูติก โฮเต็ล” ในรูปแบบ “เรียวกัง” ในช่วงฤดูกาลเพาะปลูก ท่านสามารถเข้าร่วมกิจกรรมการลงแขกทำนา เช่น การดำนา การเกี่ยวข้าว การนวดข้าว ตามวัฒนธรรมทางล้านนา

สำหรับห้องพัก มี 4 ห้อง ทั้งหมดเป็นห้องพักที่ถูกออกแบบในลักษณะเรียวกังแท้ๆ แบบญี่ปุ่น ด้วยการคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของรูปแบบสถาปัตยกรรม รวมไปถึงการตกแต่งภายใน แบบญี่ปุ่นชนบท ภายในห้องพัก ตกแต่งพื้นด้วยเสื่อตาตามิ (Tatami) ขนาด 8 เสื่อ พร้อมกับ มีฉากประตูเลื่อนโชจิ (Shoji)โดยคงลักษณะของขนบธรรมเนียมญี่ปุ่นไว้อย่างชัดเจน แม้แต่การนอนพัก ก็จะนอนบนฟูกแบบฟุตอง(Futon) แบบเดียวกับที่เรียวกังในญี่ปุ่น

นอกจากห้องพักแบบญี่ปุ่นแล้ว ในส่วนห้องน้ำ ก็มีอ่างแช่น้ำร้อนภายนอกอาคาร (โรเท็มปุโระ)  ในสวนหินแบบญี่ปุ่น ให้ผ่อนคลายกับบรรยากาศ หนาวเย็นรอบตัวในช่วงฤดูหนาว พร้อมกับมีชุดยูกาตะ (Yukata)ไว้บริการสำหรับใส่ในรีสอร์ทอีกด้วย

สำหรับลักษณะของการเข้าพักที่นี่ จะเป็นรูปแบบเหมือนกับเรียวกังที่ญี่ปุ่น ภายในห้องพักตอนกลางวัน จะจัดเป็นห้องนั่งเล่น ทานน้ำชา และตกเย็นจะมีเจ้าหน้าที่ไปปูที่นอน (ฟุตอง) ให้ ถ้าสนใจจะท่องเที่ยวแถวๆ ในหมู่บ้าน ทางเรียวกังก็มีบริการจักรยานให้ปั่นเล่นแถวๆ นี้ด้วย

ถึงแม้ว่า จะพักอยู่ท่ามกลางท้องทุ่ง แต่ ความสะดวกสบายด้านเทคโนโลยีของเรียวกัง ก็มีไม่น้อยไปกว่าห้องพักในเมืองใหญ่ ที่เชียงรายเรียวกัง เราให้บริการ WIFI ด้วยความเร็วสูง เพื่อรองรับการใช้ Smart TV ในทุก ๆ ห้องพัก นอกจากนี้เรายังมีบริการ DVD และหนังสืออ่านเล่นมากมายให้ผู้เข้าพักได้เลือกยืมไปชมในห้องพัก

การพักผ่อนในเรียวกังนั้น อาจจะไม่เป็นที่คุ้นเคยกับคนไทยเท่าไรนัก ทางเรียวกังจึงได้จัดทำคู่มือสำหรับแขกที่มาพัก ได้ศึกษาถึงรูปแบบสถาปัตยกรรม วัฒนธรรมความเป็นอยู่ เพื่อที่จะได้ซึมซับประสบการณ์ของการพักผ่อนในอีกรูปแบบหนึ่งมาเก็บไว้ในความทรงจำ

ด้วยเหตุนี้ เรียวกัง จึงเหมาะกับคนที่ต้องการประสบการณ์แปลกใหม่ ที่อยากจะซึมซับในวัฒนธรรมญี่ปุ่น โดยที่ไม่ต้องบินไปไกลถึงญี่ปุ่น เพียงแค่มาเชียงราย แล้วใช้ชีวิตนิ่งๆ ชาร์ตแบ็ตให้กับตัวเองท่ามกลางธรรมชาติแวดล้อมที่รื่นรมย์ เติมพลังชีวิต เพื่อกลับไปสู้กับการทำงานในเมืองใหญ่กันต่อไป