“เลิฟเบิร์ด” นกตัวเล็กสีสวย เสียงใส รักเดียวใจเดียว ขายคู่ละ 10,000 บาท เจาะตลาดคนรักสัตว์

นอกจากสีสันสวยงาม รูปร่างเล็ก เสียงร้องใสๆ อุปนิสัยของนกชนิดนี้ “เลิฟเบิร์ด” (Lovebird) ยังน่ายกย่อง

ว่ากันว่าเมื่อเติบโตเต็มที่ เลิฟเบิร์ดจะหาคู่ของตัวเอง และเมื่อพบคู่แล้ว จะครองรักไปจนกว่าคู่ของตนจะตายจากไป บ้างว่าบางตัวถึงขั้นตรอมใจตายตาม

จริงเท็จเช่นไรไม่อาจรู้ได้ จนกระทั่งได้มาพบกับเลิฟเบิร์ดตัวจริง และได้เห็นภาพของการดูแลถ้อยทีถ้อยอาศัย

เปิดธุรกิจเลิฟเบิร์ด
เปิดตลาดคนรักนก

“Mally Lovebird” (มอลลี่ เลิฟเบิร์ด) คือฟาร์มนกเลิฟเบิร์ดขนาดกลาง ที่ “เส้นทางเศรษฐี” มีโอกาสเข้าไปเยือน และได้สัมผัสการใช้ชีวิตของนกชนิดนี้มา แม้จะไม่นานแต่ทว่าก็ได้เห็นมุมน่ารักๆ

สอบถาม คุณเกรียงไกร แม้นเหมือน เจ้าของฟาร์มผู้มีประสบการณ์เลี้ยงนกมากว่า 3 ปี บอกเล่าให้ฟังว่า สิ่งที่ทำให้นกชนิดนี้เป็นที่สนใจของผู้เลี้ยงคือ สี ซึ่งปัจจุบันได้พัฒนาสายพันธุ์ใหม่ๆ สร้างสีสันขึ้นมาอวดโฉม จนกลายเป็นเทรนด์สีที่ตลาดต้องการ ซึ่งอาจปรับเปลี่ยนไปในแต่ละปี

จุดเริ่มต้นของการเลี้ยงนกชนิดนี้ คุณเกรียงไกร ว่า มาจากความรักสัตว์ และเมื่อคิดสร้างอาชีพเสริม จึงมองไปยังสัตว์เลี้ยงก่อน

แม้เริ่มต้นวางแผนกับการเลี้ยงปลาสวยงาม สร้างบ่อเตรียมไว้รองรับ รวมถึงซื้ออุปกรณ์บางชิ้นมาตระเตรียม แต่ด้วยพื้นที่มีปัญหาน้ำ จึงต้องล้มเลิกไป จนกระทั่งหันมาให้ความสนใจเลิฟเบิร์ด เพราะหุ้นส่วนเคยเลี้ยงจำหน่ายมาก่อน

การลงทุนทั้งโรงเรือน และองค์ความรู้ใหม่ๆ โดยเฉพาะการพัฒนาสายพันธุ์ เป็นสิ่งที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม ทั้งเดินทางไปตามฟาร์มเลิฟเบิร์ดศึกษาจากผู้เลี้ยงโดยตรง และเปิดโลกโซเชียล ซึ่งปัจจุบันมีกลุ่มผู้เลี้ยงจัดตั้งเฟซบุ๊กเพื่อเป็นกระบอกเสียงแนะนำให้ความรู้

“แม้หุ้นส่วนจะมีองค์ความรู้มาก่อน แต่ก็หยุดธุรกิจไปสักพักหนึ่งแล้ว ในขณะการเลี้ยงจำหน่ายนกชนิดนี้มีสิ่งใหม่ๆ เข้ามาต่อเนื่อง อย่างการพัฒนาสายพันธุ์ เราจึงต้องหันมาศึกษาอีกครั้ง ทั้งระบบดูแล ให้อาหาร เรียนรู้วิธีผสมสี เพราะนกชนิดนี้มีจุดขายคือ สี อย่างในปีที่แล้วมาจนถึงตอนนี้สีที่ได้รับความนิยมคือ เยลโล่ เฟส (W/F)”

ขายความจริงใจ
เลี้ยงง่าย ขายสีสัน

พื้นที่เช่าทำโรงเรือนขนาดประมาณ 80-100 ตารางเมตร กับค่าก่อสร้างราว 200,000 บาท ซึ่งในส่วนของโรงเรือนเป็นลักษณะโอเพ่นแอร์ แต่ทว่าต้องกรุด้วยตาข่ายตาถี่ เพื่อป้องกันศัตรูของนก อย่าง หนู งู เป็นต้น

จำนวนพ่อแม่พันธุ์เลิฟเบิร์ด 40 คู่ ถูกซื้อมาจากฟาร์มมีชื่อเสียงในประเทศไทย กับราคาขายคู่ละ 1,500 บาท ไปจนถึง 20,000 บาท ขึ้นอยู่กับสี จากนั้นนำมาผสมสายพันธุ์ให้ได้สีสันตามตลาดต้องการ โดยมีตลาดรับซื้อชั้นนำ อย่าง ตลาดนัดจตุจักร, ตลาดนัดจตุจักร 2 มีนบุรี, ตลาดไท เป็นต้น

“ก่อนก้าวมาเปิดฟาร์ม เราดูตลาดแล้วว่าจะขายใคร ควรมีร้านรับซื้อแน่นอน เพราะเลิฟเบิร์ดอาจขายไม่ได้ผลบนโลกโซเชียล โดยเฉพาะถ้าเป็นผู้ก้าวเข้ามาใหม่ ความเชื่อถือไม่เกิด เราต้องเข้าไปติดต่อกับผู้ขาย เปิดเผยฟาร์มให้เห็น จากนั้นก็ใช้ความจริงใจเข้าแลกกับความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ซึ่งตอนนี้จะมีทั้งผู้ซื้อที่เป็นร้านจำหน่ายเพื่อไปขายต่อ ผู้ต้องการนำไปขยายธุรกิจนำไปเลี้ยงต่อ ซื้อไปเป็นพ่อแม่พันธุ์ ซื้อไปเลี้ยงเอง และรวมถึงฟาร์มขนาดใหญ่ที่รับซื้อเพื่อนำไปทำตลาดส่งขายทั้งในและต่างประเทศ โดยประเทศกำลังให้ความนิยมได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์”

จากจำนวนนก 40 คู่ ขยับขยายเป็น 200 คู่ ซึ่งในแต่ละเดือนให้กำเนิดลูกนกกว่า 20 ตัว ส่วนราคาขายก็ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ เริ่มต้น 500 บาท ไปจนถึงประมาณ 10,000 บาท ต่อตัว แต่กับราคาต่ำกว่า 1,000 บาท ค่อนข้างซื้อง่ายขายคล่อง

คุณเกรียงไกร ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงนกที่พร้อมผสมพันธุ์อายุจะราว 1 ปี โดยผสมพันธุ์ปีละ 4 ครั้ง ให้ไข่ครั้งละ 4-5  ฟอง ส่วนเปอร์เซ็นต์รอดประมาณ 3-4 ตัว

เจาะสายพันธุ์หายาก
สร้างชื่อเสียงให้ฟาร์ม

ด้วยเพราะตอนเริ่มต้นเป็นฟาร์มใหม่ คุณเกรียงไกรจึงหาจุดขายสร้างชื่อเสียง โดยเลือกผสมสายพันธุ์นกหายากอย่างสายพันธุ์ฟอลโล่ (Follow) ในตาสีแดง โดยราคาขายลูกนกสูงถึงตัวละ 5,000 บาท ซึ่งขณะนี้สามารถเพาะได้เดือนละประมาณ 4-5 ตัว

“ลูกค้าที่ซื้อไปจำหน่ายและนำไปเลี้ยงจะดูนกเป็น ดูเทรนด์สีออก แต่กระนั้นก็จะซื้อจากฟาร์มที่เชื่อถือได้ เพราะการซื้อขายไม่มีใบรับรอง การขายผ่านโซเชียลจึงเป็นช่องทางทำได้ยาก ต้องอาศัยความเชื่อใจสูง”

แม้ในวันนี้กลุ่มผู้เลี้ยงเลิฟเบิร์ดจะยังไม่กว้างมากนัก แต่ทว่ากับการดูตลาดมาตลอดระยะเวลาทำธุรกิจ ก็เห็นว่ามีโอกาสขยาย โดยสังเกตได้จากฟาร์มเปิดเพิ่มมากขึ้น อย่างในกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมแล้ว 20-30 แห่ง และด้วยจำนวนฟาร์มที่เปิดมากขึ้นนี้เอง มีผลต่อการแข่งขันด้านราคาตกลงอย่างรวดเร็ว ฉะนั้น ผู้ที่จะยืนหยัดอยู่ในเส้นทางสายนี้ได้ ต้องตามเทรนด์สี พัฒนาให้ทันความต้องการของตลาด

“ตลาดในประเทศไทยตอนนี้อาจอยู่ในภาวะทรงตัว แต่ว่าถ้าทำตลาดต่างประเทศได้ โอกาสยังอีกยาวเลย และวิธีจะทำได้คือต้องสร้างกลุ่ม หาผู้นำเก่งๆ เพื่อก้าวไปสู่ตลาดต่างประเทศ อย่างตัวผมเอง ขณะนี้ได้รับโอกาสจากฟาร์มใหญ่ช่วยทำตลาดให้อีกทางหนึ่ง”

สอบถามถึงการดูแลเลิฟเบิร์ด สำหรับผู้ต้องการนำไปเลี้ยง หรือนำไปสร้างเป็นธุรกิจ คุณเกรียงไกร ว่า ถ้าจำนวนนกมาก สถานที่เลี้ยงควรห่างไกลจากชุมชน เพราะส่งผลกระทบมลภาวะทางเสียง ส่วนขนาดฟาร์มขึ้นกับจำนวนนก โดยนก 1 คู่ สามารถอยู่ในกรงเบอร์ 2 โดยมีชุดกล่องไม้ ซึ่งเปรียบเสมือนสถานที่หลบภัยและไว้เป็นที่อยู่อาศัยสำหรับลูกนก

นอกจากนั้น จะต้องมีอุปกรณ์สำหรับให้อาหารและน้ำ โดยคุณเกรียงไกรแนะนำว่า ควรใส่อาหาร (ธัญพืชหลากหลายชนิด มีจำหน่ายในร้านขายอาหารสัตว์เลี้ยง) ในภาชนะทรงสูง เพื่อลดความสูญเสีย (เพราะธรรมชาติของนกจะคุ้ยเขี่ยอาหารขณะกิน)

การเปลี่ยนอาหารทำได้ 2 สัปดาห์ ต่อครั้ง ส่วนน้ำควรเปลี่ยนอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง และเมื่อแม่นกให้กำเนิดลูก ควรใส่ข้าวโพดฝักสดเพื่อสร้างคุณค่าอาหารในการเจริญเติบโต

“ตอนนี้การลงทุนในส่วนของอาหารตกเดือนละประมาณ 4,000 บาท ส่วนการดูแลไม่ยากเลย เรื่องอากาศ  ประเทศไทยถือว่าเหมาะต่อการเลี้ยง เพราะเลิฟเบิร์ดชอบอากาศร้อน”