อยากทำธุรกิจต้องรู้! 7 Step เปิด ร้านนวดแผนไทย อย่างถูกกฎหมาย เริ่มยังไง

อยากทำธุรกิจต้องรู้! 7 Step เปิด ร้านนวดแผนไทย อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เริ่มยังไง

การเริ่มต้นทำธุรกิจ เป็นเรื่องที่มีขั้นตอนและเกี่ยวพันกับหลากหลายหน่วยงานตามประเภทของธุรกิจ ซึ่งอาจทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่อยากทำธุรกิจเป็นของตัวเอง เกิดความสับสนในการติดต่อประสานงานหรือติดต่อขอรับบริการกับหน่วยงานเจ้าหน้าที่ที่กำกับดูแลและอนุญาตการประกอบกิจการในแต่ละประเภท จนเกิดเป็นคำถามต่างๆ ตามมามากมาย

ซึ่งใครที่อยากทำธุรกิจเป็นของตัวเอง โดยเฉพาะ ธุรกิจนวดแผนไทย ที่เปิดให้บริการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้แจกคู่มือ การเริ่มต้นทำธุรกิจให้ถูกต้อง ดังนี้

1. จดทะเบียนจัดตั้ง : ต้องจดให้เรียบร้อย โดยเลือกจดได้ 3 แบบ คือ จดแบบ ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล (2 คนขึ้นไป) หรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด (2 คนขึ้นไป) และ บริษัทจำกัด (3 คนขึ้นไป) โดยสามารถแจ้งจดทะเบียนจัดตั้งได้ 3 ช่องทาง คือ

  • ในพื้นที่กรุงเทพฯ : แจ้งจดได้ที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (สนามบินน้ำ) หรือ สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้า เขต 1- 6
  • ในพื้นที่ต่างจังหวัด : แจ้งจดได้ที่ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด
  • ออนไลน์ : ระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ www.dbd.go.th > DBD e-Registration 

2. การขอเครื่องหมายการค้า : จะเป็นเครื่องหมาย หรือ สัญลักษณ์ หรือ ตรา ที่ใช้กับสินค้าหรือบริการ จะขอได้ 3 ช่องทาง คือ

  • ในพื้นที่กรุงเทพฯ : แจ้งขอได้ที่ กรมทรัพย์สินทางปัญญา (สนามบินน้ำ)
  • ในพื้นที่ต่างจังหวัด : แจ้งขอได้ที่ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด
  • ออนไลน์ : ระบบจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าออนไลน์ www.ipthailand.go.th > Trademark e-Service

3. การจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม : ผู้ประกอบกิจการที่มีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการ เกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี สามารถแจ้งจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ 3 ช่องทาง คือ

  • ในพื้นที่กรุงเทพฯ : กรมสรรพากร หรือ สรรพากรพื้นที่
  • ในพื้นที่ต่างจังหวัด : สรรพากรพื้นที่
  • ออนไลน์ : ระบบจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม vsreg.rd.go.th

4. การจดทะเบีนเครื่องเก็บเงิน : ต้องจดเพื่อขออนุมัติใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน (Cashier) โดยสามารถขอจดทะเบียนเครื่องเก็บเงิน ได้ 2 ช่องทาง คือ

  • ในพื้นที่กรุงเทพฯ : กรมสรรพากร หรือ สรรพากรพื้นที่
  • ในพื้นที่ต่างจังหวัด : สรรพากรพื้นที่

5. การจดทะเบียนแรงงาน : สามารถจดได้ 2 แบบ คือ การจดขึ้นทะเบียนนายจ้าง (กรณีมีลูกจ้าง ตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป) และ การยื่นข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงาน (กรณีมีลูกจ้างตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป) สามารถขอจดทะเบียนแรงงาน ได้ที่

  • ในพื้นที่กรุงเทพฯ : สำนักงานประกันสังคม หรือ สำนักงานประกันสังคมพื้นที่
  • ในพื้นที่ต่างจังหวัด : สำนักงานประกันสังคมจังหวัด

6. การจดทะเบียนขออนุญาต : ขออนุญาตนวดเพื่อสุขภาพ ขอจดทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ (นวดบำบัดวินิจฉัยโรค หรือ ฟื้นฟูสมรรถภาพ) เป็นการขอใบรับรองเป็นกิจการที่มีมาตรฐาน (ตาม พ.ร.บ.การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2542) นั่นเอง สามารถขอจดทะเบียนแรงงาน ได้ที่

  • ในพื้นที่กรุงเทพฯ : กองการประกอบโรคศิลปะ
  • ในพื้นที่ต่างจังหวัด : สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด

7. ภาษีที่เกี่ยวข้อง : หรือ ภาษีตามประเภทการจดทะเบียน คือ ภาษีเงินได้นิติบุคคล (อัตราคงที่) อาทิ ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล หรือ ห้างหุ้นส่วนจำกัด และ บริษัทจำกัด และ ภาษีท้องถิ่น อย่าง ภาษีโรงเรือน (กรณีนำที่อยู่อาศัยมาทำการค้า) และ ภาษีป้าย (ขอเสียภาษีป้ายครั้งแรก และเสียภายในเดือนมีนาคมของทุกปี)