คาเฟ่ สุนัขจิ้งจอกทะเลทราย นิสัยคล้ายแมว นำเข้าตัวละ หกหมื่นบาท

“คาเฟ่สัตว์เลี้ยง” ธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมจากผู้ที่ตกหลุมรักสัตว์ เทรนด์ธุรกิจมาแรงที่ผสมผสานระหว่างอาหารอร่อย และความน่ารักน่าชังของสัตว์เลี้ยง

ล่าสุดมีคาเฟ่ที่นำสุนัขจิ้งจอกทะเลทรายเอาใจกลุ่มเลิฟสัตว์เอ็กซ์โซติก เป็นแห่งแรกในประเทศไทย จนมีผู้สนใจแห่เข้าไปอุดหนุนเป็นจำนวนมาก ร้านนี้มีชื่อว่า “ลิตเติ้ลซูคาเฟ่” (Little ZOO Cafe) ตั้งอยู่โครงการสุโขทัย 99 เมืองทองธานี ถนนบอนด์สตรีท กรุงเทพฯ มีใบอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย

คาเฟ่อื่น ต้องหลบ
ถึงเวลา จิ้งจอก & ผองเพื่อน

คุณวชิราภรณ์ อร่ามพิบูลผล หรือ คุณเบียร์ เธอเป็นคนรักสัตว์ มีฟาร์มเลี้ยงสุนัขจิ้งจอก เพาะพันธุ์ชูก้าไกลเดอร์, แร็กคูน, ชินชิล่า (สัตว์ฟันแทะเหมือนกระต่าย) แมวไทยขาวมณี สุนัขพันธุ์ยอร์กเชียร์ ฯลฯ สัตว์ที่เลี้ยงส่วนใหญ่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั้งหมด

การที่หญิงสาวอยู่ในแวดวงสัตว์เลี้ยง บ่อยครั้งมักจะมีคนเข้ามาสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับสัตว์ โดยเฉพาะสุนัขจิ้งจอกทะเลทราย เธอเลยตัดสินใจเปิดคาเฟ่เพื่อจะใช้เป็นสถานที่มาแลกเปลี่ยนความรู้ในการเลี้ยง เสมือนเป็นที่เวิร์กช็อปให้คนที่สนใจมาทดลองเล่น มาสัมผัส มาเรียนรู้ลักษณะนิสัย ก่อนที่จะตัดสินใจซื้อสุนัขจิ้งจอกทะเลทรายมาเลี้ยง เพราะสัตว์ชนิดนี้บางตัวมีอายุยืนยาวเป็น 10 ปี หากไม่ศึกษาพฤติกรรม อุปนิสัย ซื้อไปไม่เลี้ยงเอาไปปล่อย เท่ากับเป็นการเพิ่มภาระให้กับสังคม

คุณเบียร์ตั้งใจอยากให้ผู้เลี้ยงได้เรียนรู้ก่อนจะไปซื้อสุนัขจิ้งจอกทะเลทราย รวมถึงสัตว์เลี้ยงชนิดอื่นๆ ไม่อยากให้เลี้ยงตามกระแส จึงตัดสินใจเปิดเป็นคาเฟ่ทำเป็นอาชีพ โดยสัตว์เลี้ยงในคาเฟ่แห่งนี้จะประกอบไปด้วย เฟนเน็กฟ็อกซ์,  เรดฟ็อกซ์, เมียร์แคต, แร็กคูน, สุนัข ทั้งหมดแล้วกว่า 20 ตัว หมุนเวียนสลับสับเปลี่ยนมาให้กอดอุ้ม และแชะภาพถ่ายรูป

เฟนเน็กฟ็อกซ์ มีจำนวน 5 ตัว (สุนัขจิ้งจอกตัวจิ๋วจากทะเลทราย) ตัวเล็กประมาณแมว ขนสีน้ำตาลอ่อน หูกางใหญ่ นิสัยขี้ตกใจ ขี้กลัว แต่ก็ขี้เล่น เรดฟ็อกซ์ 1 ตัว (สุนัขจิ้งจอกจากอเมริกา) เมียร์แคต แร็กคูน สุนัข ทั้งนี้ผู้ใช้บริการจะต้องอยู่ภายใต้ความดูแลของพนักงานจากทางร้าน ที่จะคอยให้คำแนะนำอย่างใกล้ชิดถึงวิธีการเล่น การอุ้ม เพราะสัตว์แต่ละตัวมีธรรมชาตินิสัยที่แตกต่างกัน

“เฟนเน็กฟ็อกซ์” อยู่ในตระกูลจิ้งจอกที่ตัวเล็กที่สุดในโลก ต้นกำเนิดอยู่ทะเลทรายซาฮาร่า ซูดาน ประเทศอียิปต์  สามารถเลี้ยงในประเทศไทยได้ เพราะไทยมีอากาศไม่ร้อนไม่หนาวจนเกินไป ลักษณะเหมือนสุนัข กินอาหารเม็ด  พฤติกรรมไม่เหมือนสุนัขคล้ายแมวมากกว่า ชอบให้คนเข้าหา จุดเด่นคือ ความซน น่ารัก ใบหูจะมีขนาดใหญ่ คุณเบียร์ใช้วิธีนำเข้าพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ ราคาเฉลี่ยตัวละ 60,000 กว่าบาท

กระแสดีเกินคาด
ลูกค้าไทย เทศ บอกต่อ

ด้านกลุ่มลูกค้าของทางร้านมีทั้งชาวไทยที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นที่รักสัตว์ ชอบอะไรแปลกใหม่ ที่ทราบข่าวจากกระแสโซเชียลจึงแห่เข้ามาถ่ายรูป มาเล่น เพราะบางคนไม่เคยเห็นสัตว์ชนิดนี้ ชาวต่างชาติก็มีเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นประเทศจีน  ไต้หวัน ฮ่องกง สเปน รัสเซีย ที่ได้รับข่าวสารจากสื่อต่างชาติที่เผยแพร่ไป

“ลูกค้าทราบจากการบอกต่อจริงๆ ทั้งที่ร้านไม่ได้โปรโมต คิดว่าเป็นเพราะความน่ารักของสัตว์ พนักงานดูแลดี รักสัตว์ ไม่เหวี่ยงลูกค้า จึงได้รับคำชมเสมอ รวมถึงรสชาติอาหารของที่นี่ก็มีดีไม่แพ้ร้านอื่นอย่างแน่นอน”

สำหรับข้อแนะนำและการปฏิบัติตัวในการใช้บริการ คุณเบียร์ บอกว่า ต้องล้างมือด้วยสบู่และแอลกอฮอล์ให้สะอาดก่อนเข้าเล่นกับสัตว์ เพื่อความสะอาดและป้องกันทั้งตัวเราและสัตว์จากเชื้อโรค ถ้าสัตว์ไม่เล่นด้วยห้ามฝืน ห้ามปลุกสัตว์ที่กำลังหลับ ห้ามเปิดแฟลชตอนถ่ายรูป ห้ามส่งเสียงดังรบกวน ตลอดจนวิ่งต้อนสัตว์หากสัตว์ไม่พร้อมให้เล่น  เพราะสัตว์เลี้ยงยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับคนแปลกหน้า เพราะฉะนั้น ต้องสร้างความสนิทสนม ไม่เช่นนั้นหากสัตว์ตกใจแล้วอาจจะเกิดการบาดเจ็บได้ทั้ง 2 ฝ่าย และห้ามให้อาหารที่คนกินกับสัตว์โดยเด็ดขาด

ขนาดพื้นที่ของ “ลิตเติ้ลซูคาเฟ่” พื้นที่ชั้นละ 60 ตารางเมตร ใช้เงินลงทุน ค่าตกแต่ง เครื่องใช้ รวมแล้วร่วม 5 ล้านบาท สาเหตุที่หญิงสาวเลือกทำเลนี้เพราะใกล้บ้าน เข้ามาดูแลได้ 24 ชั่วโมง อันที่จริงตอนแรกเธอดูไว้หลายที่ อาทิ ทองหล่อ เอกมัย พระราม 9 แต่ทุกที่เป็นคอมมูนิตี้มอลล์ถึงเวลาปิดต้องปิดตามนั้น ไม่สามารถดูแลสัตว์เลี้ยงได้ทั่วถึง

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นที่ให้ทดลองเล่นกับสัตว์แปลกๆ แต่เมื่อเปิดตัวว่าเป็นคาเฟ่ จึงต้องมีอาหารเป็นอีกจุดเด่นของร้านด้วย ในร้านมีเค้ก เครป แซนด์วิช วาฟเฟิล และเครื่องดื่ม กาแฟ ชา ช็อกโกแลต สมูธตี้ และอิตาเลียนโซดา

ใครอยากลองฉีกประสบการณ์ใหม่ ไปเล่นกับบรรดาสัตว์เอ็กซ์โซติก ไปได้ที่ “ลิตเติ้ลซูคาเฟ่” ตั้งอยู่ในโครงการสุโขทัยเอฟ 99 เมืองทองธานี ถนนบอนด์สตรีท โครงการติดกับกรมที่ดิน โทรศัพท์ (092) 448-1116  หรือ www.littlezoocafe.com