ผู้เขียน | เทคโนโลยีชาวบ้าน |
---|---|
เผยแพร่ |
จบการศึกษาด้านบริหารจัดการ หาประสบการณ์จากการปลูกกล้วยหอมทองจากประเทศเพื่อนบ้าน แล้วจึงกลับมาบ้านเกิด มาดำเนินกิจการตัวเองเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อส่งลูกค้าและปลูกเอง สร้างศูนย์เรียนรู้และจุดท่องเที่ยวทางการเกษตร พร้อมให้ความรู้และร่วมดำเนินธุรกิจ
หากท่านเดินทางไปทาง ถนนสายจุน-เชียงคำ จังหวัดพะเยา ผ่านตำบลห้วยยางขาม สังเกตทางขวามือจะพบแปลงปลูกกล้วยหอมทองและสตรอเบอรี่ ในชื่อ “ฮักสวนกล้วย” ผู้เขียนแวะเข้าไป ก็พบกับชายหนุ่มเจ้าของแปลง คือ คุณประสาธน์ เปรื่องวิชาธร ที่อยู่ตามทะเบียนบ้านคือ บ้านเลขที่ 220 หมู่ที่ 3 ตำบลห้วยข้าวก่ำ อำเภอจุน จังหวัดพะเยา ซึ่งเล่าเรื่องราวให้ฟังว่า ตนเองเป็นคนอำเภอจุน ไปเรียนจบปริญญาตรีที่วิทยาลัยโยนก จังหวัดลำปาง สาขาบริหารจัดการ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเกษตรมากนัก
เมื่อเรียนจบได้มีโอกาสไปทำงานยังประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดติดกันนี้เอง โดยไปทำสวนกล้วยหอมทอง บังเอิญโชคดีที่ไปทำในแปลงที่เป็นการทำแนวอินทรีย์ ไม่ได้ไปทำในส่วนที่เขาปลูกแบบใช้สารเคมีที่เป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้ ทำอยู่ที่ สปป. ลาว ได้พอสมควร เก็บเกี่ยวความรู้และประสบการณ์กลับมาบ้าน และเริ่มมาบุกเบิกทำสวนกล้วยหอมทองในพื้นที่ตนเอง และร่วมมือทางธุรกิจกับเจ้าของที่ดิน สำหรับต้นพันธุ์จะใช้การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ตอนแรกก็รับคนทั่วไปมาทำงาน แต่ก็มีปัญหาเรื่องความรู้และเทคนิค ซึ่งถือว่าเป็นความลับของเจ้าของธุรกิจ ยิ่งนานวันเขาก็จะถือว่ามีความสำคัญ ธุรกิจจะขาดเขาไม่ได้ ก็พยายามเล่นตัว หรือเกี่ยงเรื่องค่าตอบแทน จึงแก้ปัญหาด้วยการให้ญาติสนิทมาร่วมดำเนินธุรกิจ ยังไงเสีย “เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ”
การลงทุนและผลตอบแทน จากการสืบค้นข้อมูลโดยทั่วไปพบว่า ในส่วนของต้นทุนการผลิต ประเมินไว้ที่ 22,000-25,000 บาท ต่อไร่ โดย 1 ไร่ ปลูกกล้วยได้ 280 ต้น เท่ากับว่า 1 ไร่ จะได้กล้วย 280 เครือ น้ำหนักกล้วยต่อเครือ 10-15 กิโลกรัม ราคารับซื้อ 15 บาท ต่อกิโลกรัม หรือถ้าคิดเป็นเครือก็ประมาณเครือละ 180-200 บาท รายได้ต่อไร่ก็จะอยู่ที่ 50,400-56,000 บาท นับเป็นรายได้ที่น่าจูงใจอย่างมาก จึงไม่น่าแปลกใจที่เกษตรกรให้ความสนใจในการขยายพื้นที่ปลูกกันมาก แต่ข้อจำกัดของการปลูกกล้วยหอมทองก็คือ เรื่องของแหล่งน้ำ เพราะกล้วยหอมทองเป็นพืชที่ชอบน้ำ แต่ไม่ชอบน้ำขัง
การดูแลสวนกล้วยหอมทอง การปลูกกล้วยหอมทองโดยทั่วไปจะใช้ระยะปลูก 2×3 เมตร 1 ไร่ ปลูกได้ 280 หน่อ หน่อที่นำมาปลูกต้องเป็นหน่อจากต้นที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป จึงจะเป็นหน่อที่สมบูรณ์ ราคาหน่อกล้วยหอมทองที่ขาย 8-10 บาท ต่อหน่อ การให้น้ำมีทั้งปล่อยไปตามร่องและใช้น้ำหยด โดยลงทุนค่าน้ำหยด ไร่ละ 3,000 บาท สามารถควบคุมการให้น้ำได้ ควบคุมความชื้นได้ การให้ปุ๋ยจะให้ครั้งแรกช่วงรองพื้นก่อนปลูกครั้งหนึ่ง เมื่อกล้วยหอมทองอายุ 1 เดือน เริ่มให้ 15-15-15 อัตรา 100-150 กรัม ต่อต้น อายุ 3-4 เดือน ให้สูตรเดิม อัตรา 200-300 กรัม ต่อต้น อายุ 5 เดือน ให้ 20-15-20 อัตรา 200-300 กรัม ต่อต้น
เมื่อกล้วยหอมทองอายุ 4 เดือน จะแต่งหน่อที่แตกออกมารอบต้นออก หลังจากนั้นจะคอยแต่งหน่อทุก 10-15 วันครั้ง ส่วนใบกล้วยหอมทอง ถ้าจะให้ดีควรเก็บใบไว้ให้มากที่สุด ตัดแต่งเฉพาะใบที่เสื่อมสภาพ หมดอายุออก โดยจะไว้ใบต่อต้นประมาณ 10 ใบ ซึ่งถือว่าดีที่สุด
กล้วยหอมทอง อายุ 6 เดือน จะเริ่มออกปลี หลังจากกล้วยหอมทองแทงสุดปลีแล้วจะตัดปลีออก และหลังตัดปลีไม่เกิน 15 วัน จะหุ้มเครือด้วยถุงพลาสติกสีฟ้า (เอทิลีนโพลีน) แบบเปิดด้านล่าง โดยหุ้มทั้งเครือ และหุ้มทุกเครือ เพื่อให้ผิวกล้วยหอมทองสวย และป้องกันแมลงทำลาย ส่วนการตัดใบธง ตัดเมื่อใบธงเริ่มหักก่อนที่จะเสียดสีกับผิวกล้วยหอมทอง
หลังตัดปลี ประมาณ 60-70 วัน ก็จะสามารถเก็บเกี่ยวได้ ถ้านับอายุตั้งแต่เริ่มปลูก ก็ประมาณ 9-10 เดือน หรือประมาณ 1 ปี การปลูกกล้วยหอมทองเพื่อส่งออกจะไม่มีการใช้สารเคมีหรือหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีให้มากที่สุด ถ้าเป็นพื้นที่ใหม่จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรค-แมลง ก็ไม่ค่อยมีการใช้สารเคมีกันอยู่แล้ว
วันนี้กล้วยหอมทองกลายเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ที่สร้างรายได้ที่ดีให้กับเกษตรกรในหลายพื้นที่ และได้รับความสนใจอย่างมากจากเกษตรกร เนื่องจากผลตอบแทนสูงกว่าพืชเดิมที่ชาวบ้านปลูกกันมานานจนกลายเป็นวิถีชีวิต
ในส่วนของ คุณประสาธน์ อย่างที่บอกว่าจะเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเอง นอกจากจะนำไปปลูกเองแล้ว ยังจำหน่ายให้กับผู้สนใจปลูก นอกจากนั้น ยังสามารถผลิตได้จำนวนมาก แต่ก็ยังไม่พอกับความต้องการของลูกค้า ในส่วนของการปลูกนั้น เนื่องจากการทำถือเป็นการดำเนินธุรกิจ จึงใช้ระยะการปลูก ขนาด 2×2.5 เมตร แต่ไม่ได้ปลูกแบบแถวคู่เหมือนเกษตรกรทั่วไปปลูก แต่จะปลูกแบบสลับฟันปลา ซึ่งมีข้อดี คือทำให้จำนวนต้นเพิ่มขึ้น คือจะได้จำนวนต้น 320 แน่นอนว่าก็ได้จำนวนเครือหรือหวีจะเพิ่มขึ้น เพราะกล้วยหอมทอง 1 ต้น จะให้กล้วย 1 เครือ เท่านั้น เมื่อปลูกแบบสลับฟันปลา จะทำให้ใบกล้วยหอมทองไม่ซ้อนทับกัน รับแสงแดดได้เต็มที่ นั้นก็หมายถึงการเจริญเติบโตก็ดีตามไปด้วย
ในเรื่องคำโบราณที่คนเฒ่าคนแก่บอกกันต่อๆ มาว่า “ปลูกกล้วยเดือน 8 ตายเก๊า (ตายโคน) เดือน 9 ตายพราย” นั้นคุณประสาธน์ บอกว่า ในสมัยโบราณนั้นเป็นเรื่องจริง เดือน 8 สมัยก่อน เป็นช่วงปลายฝนต้นหนาว อากาศมีความชื้นสูง ทำให้กล้วยตายโคน ส่วนเดือน 9 เป็นช่วงหน้าแล้ง กล้วยขาดน้ำจึงเป็นโรคตายพราย แต่ปัจจุบันจะปลูกเดือนไหนก็ได้ เพราะปัจจุบันมีระบบการให้น้ำแบบน้ำหยด ทำให้กล้วยหอมทองได้รับน้ำอย่างเต็มที่ และวัสดุที่เลือกใช้อย่างสายน้ำหยด ก็เลือกใช้ของอิสราเอล ซึ่งมีคุณภาพดีและใช้ได้นานกว่า
ส่วนเรื่องการเน่าเนื่องจากโดนน้ำขังนั้น แก้โดยการยกแปลงให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันน้ำขัง จึงแก้ไขปัญหานี้ได้ ส่วนในการเตรียมดินของใช้เครื่องทุ่นแรงที่มีคุณภาพอย่างแทรกเตอร์ก็ใช้เครื่องที่มีแรงม้าสูง ใช้ไถที่สามารถผลิกหน้าดินได้ลึกมาก พลิกหน้าดินเอาสารเคมีที่ตกค้างลงไปฝั่งกลบลึกๆ รวมทั้งวัชพืชให้ย่อยสลายในดิน รวมทั้งโครงสร้างของดินโปร่ง ทำให้รากกล้วยสามารถที่จะหากินได้ลึก การเจริญเติบโตดีมาก สังเกตได้จากกล้วยสวนนี้จะเจริญเติบโตดีมาก
ในเรื่องปลีกล้วย ที่ทั่วไปเมื่อกล้วยออกหวีสุดแล้วเกษตรกรชาวสวนจะตัดทิ้ง แต่คุณประสาธน์จะเก็บปลีไว้ก่อน เพื่อทำเครื่องหมายว่าได้พ่นปุ๋ยหรือฮอร์โมนแล้วสำหรับเครือนี้ เพราะกล้วยจะออกเครือไม่พร้อมกัน ประโยชน์อีกอย่างก็คือเมื่อทิ้งปลีไว้จะทำให้ปลายเครือยาว เมื่อเก็บเกี่ยวกล้วยแล้วจะได้มัดกล้วยแขวนได้
ปัจจุบัน นอกจากจะทำธุรกิจเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยหอมทองเป็นหลัก ส่วนหนึ่งก็อยากจะคืนกำไรให้กับชุมชนบ้านเกิด โดยได้สร้างจุดเรียนรู้ทางการเกษตร ตั้งชื่อว่า “ฮักสวนกล้วย” หรือสวนกล้วยห้วยเกี๋ยง ที่ริมถนนสายจุน-เชียงคำ พื้นที่ตำบลห้วยยางขาม อำเภอจุน โดยพี่สาวของคุณประสาธน์ จะปลูกพืชผักสวนครัว มีตุ๊กตารูปการ์ตูน ที่ผลิตจากเศษกระดาษรีไซเคิล ผลิตที่บ้านทุ่ง ตำบลห้วยข้าวก่ำ โดยเอาแนวคิดมาจากการทำตุ๊กตาล้มลุกจากกระดาษรีไซเคิล โดยรวมกลุ่มจากเด็กในหมู่บ้าน ซึ่งทำได้ในราคาที่ถูกกว่ามากและเป็นการสร้างงานให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น ที่สวนจะเปิดให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกๆ เข้ามาเยี่ยมชมเพื่อศึกษาเรียนการทำการเกษตร ให้เด็กๆ ได้ซึมซับการเกษตรจากประสบการณ์ตรง เพื่อให้รักและรู้ถึงที่มาของอาหารการกินที่เกิดจากการเกษตรนั้นเอง
นอกจากนั้น ที่สวนยังปลูกสตรอเบอรี่เพื่อให้ผู้เยี่ยมชมได้ถ่ายรูปตามความนิยมในปัจจุบัน และความได้เปรียบของสวนแห่งนี้คือ สามารถเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ ซึ่งขยายพันธุ์ได้รวดเร็วและในปริมาณที่มาก เมื่อผู้มาเที่ยวชมอยากจะได้ไปปลูกก็สามารถซื้อกลับไปปลูกที่บ้านได้ ต่อไปจะสร้างห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเล็กๆ ให้ผู้เข้าเยี่ยมชมได้ดูด้วยตาตนเอง หรือฝึกปฏิบัติได้ด้วย