หมอนขิดยางพารา ยโสธร ของดี ของเด่น โชว์งาน “วันยางพาราบึงกาฬ”

ผลิตภัณฑ์ชุมชนหลายพื้นที่ต้องประสบปัญหากับการไปไม่รอดทางด้านการตลาด แม้ว่าสินค้าจะดีเพียงใด แต่หากการตลาดไม่แรงพอ ยอดขายไม่เพิ่ม มีแต่เม็ดเงินในประเทศ ก็ส่งผลให้โอท็อปหลายรายการต้องปิดกิจการ ขณะที่หมอนขิดยางพารา เป็นสินค้าน้องใหม่ จากตำบลศรีฐาน จังหวัดยโสธร ที่สามารถคว้าชัยจากเวทีการประกวดของธนาคารเอกชนมาได้ แต่วันนี้รอแรงสนับสนุนเปิดตลาดในต่างประเทศ

หมอนขิดยางพารา บ้านศรีฐาน สะดุดตาจนได้รับรางวัลของ ธ.ไทยพาณิชย์

คุณวิวัฒน์ ป้องกัน อายุ 23 ปี ชาวตำบลศรีฐาน อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธร หนึ่งในครอบครัว “ป้องกัน” ที่นำยางพารามาแปรรูปเป็นหมอนขิด เพื่อสร้างรายได้ให้กับครอบครัว และสร้างมูลค่าให้กับท้องถิ่น โดยล่าสุดผลิตภัณฑ์ของคุณวิวัฒน์ มีตั้งแต่หมอนขิด ที่รองนั่ง และที่นอนแบบยาว ด้วยการดีไซน์ที่ทันสมัย โดยมีสนนราคาตั้งแต่ 200 บาทขึ้นไป

คุณวิวัฒน์ กับเครื่องตีน้ำยางพารา

สำหรับต้นกำเนิดไอเดียนำยางพารามาแปรรูปเป็นหมอนขิด มาจากผลงานวิจัยของ อาจารย์ชัยวุฒิ วัดจัง อาจารย์จากสาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการยาง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

คุณวิวัฒน์ เล่าว่า ไอเดียของอาจารย์มาสนับสนุนการแก้ปัญหายางพาราตกต่ำในพื้นที่จังหวัดยโสธร ซึ่งชาว ตำบลศรีฐาน ก็เป็นอีกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากราคายาง ทางมหาวิทยาลัยอุบลราชานี จึงนำความรู้การทำหมอนขิดยางพารามาอบรมให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวสวนยางพาราตำบลศรีฐาน ซึ่งมีครอบครัว “ป้องกัน” เข้าอบรมด้วย

คุณวิวัฒน์ ป้องกัน สาธิตการทำไส้ยางพาราของหมอนขิด ให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวสวนยางพาราตำบลศรีฐาน โดยมี คุณแดง ป้องกัน เป็นบิดาของคุณวิวัฒน์ ซึ่งเป็นประธานกลุ่ม ร่วมขับเคลื่อนงานวิจัยของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ด้วยการส่งสมาชิกเข้าอบรมการทำหมอนขิดจากยางพารา ในปี 2558 ประกอบด้วย คุณหนูลิ้ม ป้องกัน (มารดาของคุณวิวัฒน์) คุณเหนียว จันใด และ คุณสุวรรณ วันเที่ยง ในชื่อโครงการ อบรมการแปรรูปผลิตภัณฑ์ จากน้ำยางและยางแผ่นดิบ ที่ อำเภอเขาสวนกวาง จังหวัดขอนแก่น ช่วงเดือนกรกฎาคม ปี 2558

ต่อมาช่วงเดือนธันวาคม ปี 2558 มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีติดตามผลงานของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชาวสวนยางตำบลศรีฐาน และช่วงเวลาวันที่ 16-19 มกราคม 2559 นักศึกษาได้มาฝึกสอนการตีฟองน้ำยางพาราเพื่อทำไส้หมอนยางพารา

การพัฒนาการทำหมอนขิดยางพาราของกลุ่มวิสาหกิจฯ บ้านศรีฐาน มีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว เมื่อนำนวัตกรรมการทำหมอนขิดยางพาราเข้าประกวดในโครงการ “กล้าใหม่ ใฝ่รู้” ของธนาคารไทยพาณิชย์ และปรากฏว่าได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2559

ผลงานสวยงามมาก

แต่หนทางของผลิตภัณฑ์ชุมชนก็ไม่ได้โปรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป เมื่อคุณวิวัฒน์บอกว่า หลังจากได้รับรางวัลก็มีการนำผลิตภัณฑ์หมอนขิดยางพาราไปออกงานแสดงสินค้าต่างๆ แต่ยังไม่ได้รับการตอบรับทางด้านยอดขายมากนัก

 

โอท็อปชุมชนต้องมองไกล หาโอกาสเปิดตลาดต่างประเทศ

เรื่องราคาสินค้าของหมอนขิดยางพาราไม่ใช่อุปสรรคของการทำตลาด เพราะเริ่มต้นเพียง 200 บาทเท่านั้น แต่ปัญหาที่ไม่สามารถเพิ่มยอดขายได้อย่างรวดเร็วนั้น แม้ว่าจะพยายามออกตลาดงานแสดงสินค้าต่างๆ แล้วก็ตาม ซึ่งสูตรสำเร็จของยอดขายสินค้าไทยนั้น ยังมีตัวแปรสำคัญคือ รายได้จากต่างประเทศ หรือการมีลูกค้าชาวต่างประเทศ มาซื้อหมอนขิด ทั้งในลักษณะเป็นของที่ระลึก และนำไปสู่การซื้อในปริมาณมาก นั่นเป็นเรื่องที่จะสามารถผลักดันยอดขายให้กับสินค้าชุมชนของไทยได้

คุณวิวัฒน์ บอกว่า หลังจากได้รับรางวัลการันตีคุณภาพและแนวคิดจากธนาคารไทยพาณิชย์ ตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2559 มาถึงวันนี้เกือบปีแล้ว แต่ยอดขายยังไม่เพิ่ม เป็นการซื้อปลีกรายย่อยมากกว่า เพราะฉะนั้น สิ่งที่ท้องถิ่นจะต้องดำเนินการช่วยเหลือตัวเองเป็นอันดับแรกคือ จะทำอย่างไรให้สินค้า หรือผลิตภัณฑ์ชุมชนนั้นเปิดสู่ตลาดโลก นำไอเดียอวดโฉมชาวโลกให้ได้ อันจะนำมาซึ่งรายได้ให้กับครอบครัว และเม็ดเงินเข้าประเทศอย่างเป็นรูปธรรม

ยางพาราที่ได้จากการถอดออกจากบล็อกแม่พิมพ์

คุณวิวัฒน์ เปิดใจอีกว่า ทุกวันนี้มีการนำโซเชียลมีเดีย มาใช้ในการทำตลาด โดยเฉพาะเฟซบุ๊ก (FB) ซึ่งก็ทำให้ลูกค้าในจังหวัดอื่นๆ รู้จักหมอนขิดยางพาราจากบ้านศรีฐาน จังหวัดยโสธร ได้พอสมควร ซึ่งต้องยอมรับว่า ยังต้องอาศัยช่องทางเหล่านี้ในการทำตลาด และใช้เวลาในการบอกให้คนรู้ถึงข้อดีของหมอนขิดยางพาราว่าแตกต่างจากหมอนธรรมดาทั่วไปอย่างไร

กำลังสาธิต วิธีการเทยางพาราที่ผสมสารเคมีแล้วลงบล็อกแม่พิมพ์

สำหรับหมอนขิดยางพารามีข้อดีกว่าหมอนขิดทั่วไป คือจะมีอายุทนทานกว่า ไม่เสื่อมสภาพง่าย และส่งผลดีต่อสุขภาพ เพราะไม่เก็บฝุ่นเหมือนกับไส้หมอนที่ทำจากนุ่น แต่อาจจะมีราคาแพงกว่าหมอนขิดทั่วไป 10-20 เปอร์เซ็นต์

ส่วนใครที่สนใจ “หมอนขิดยางพารา” บ้านศรีฐาน จังหวัดยโสธร สามารถโทรศัพท์ไปพูดคุยกับ คุณวิวัฒน์ ป้องกัน คนรุ่นใหม่ที่หันมาจับงานผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อสร้างเม็ดเงินให้กับชุมชนและประเทศชาติ ติดต่อได้ที่เบอร์ (063) 583-7409 และ ที่เฟซบุ๊ก https://web.facebook.com/Heveapillow

และในงานวันยางพาราและกาชาดบึงกาฬ ระหว่างวันที่ 16-22 กุมภาพันธ์ 2560 นี้ ผู้จัดงานจะนำหมอนขิดจากยางพารา อำเภอป่าติ้ว จังหวัดยโสธรไปแสดง ใครสนใจไปชมกันได้

ที่มา : เทคโนโลยีชาวบ้าน