เผยแพร่ |
---|
คู่มือบุกตลาดออนไลน์ต่างประเทศ ตั้งราคาขาย อย่างไร ให้ได้กำไรไม่เข้าเนื้อ
แม่ค้าออนไลน์มือใหม่คนไหนอยากส่งสินค้าไปโลดแล่นต่างประเทศ แต่ไม่รู้ว่าจะตั้งราคาขายอย่างไร ให้มีกำไรและไม่เจ็บตัว คุณเปรมวดี อมราภรณ์พิสุทธิ์ กรรมการ บริษัท นาอะโม จำกัด เจ้าของช่อง TikTok Chinbebe ผู้ประกอบการสาวไทยคนเก่งที่ Live สดขายพระเครื่องเจาะตลาดจีน ใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง แต่สร้างยอดขายได้ทะลุ 5 ล้านบาท จะมาแชร์เคล็ดลับให้รู้กัน ผ่าน Post Family พร้อมบอกด้วยว่า เคล็ดลับนี้สามารถเอาไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกตลาดและทุกประเทศ
ซึ่งเธอบอกว่า 3 สิ่งที่มักทำพลาด ในการตั้งราคาขายของออนไลน์ไปต่างประเทศ คือ
1. ค่าใช้จ่ายระหว่างทาง
บางคนขายสินค้าโดยมองแค่ตลาดไทย จึงตั้งราคาและกำไรสำหรับตลาดในไทย แต่พอต้องส่งของไปขายต่างประเทศ ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายระหว่างทางที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นตลอดเวลา เช่น ค่าขนส่ง ค่า ตม. ค่าธรรมเนียมของการนำสินค้า รวมถึงค่าทำเอกสารรับรองต่างๆ ทำให้ส่งผลกระทบถึงต้นทุนและกำไรที่จะได้
2. ไม่คำนวณเรื่องฐานภาษี
อีกเรื่องที่มักพลาดกันคือ การไม่คำนวณเรื่องของฐานภาษีสินค้าเข้าไปในการตั้งราคา โดยแต่ละประเทศจะมีฐานภาษีหรือกำแพงภาษีที่ไม่เท่ากัน ซึ่งการลืมคำนวณเรื่องภาษีสามารถทำให้คนขายเจ็บตัวและขาดทุนได้ เพราะแม้ว่าจะขายสินค้าได้จริง แต่กลับต้องมาจ่ายภาษีเพิ่มทีหลัง เนื่องจากตั้งราคาสินค้าและโปรโมตในราคานั้นไปแล้ว
3. ยึดกำไรต่อชิ้น เมินขายแบบปริมาณ
ผู้ประกอบการไทยส่วนใหญ่มักจะ Fix กำไรของสินค้าแต่ละชิ้นนั้นว่าต้องได้เท่าไร โดยลืมคิดถึงเรื่องของจำนวน Minimum และ Maximum บางครั้งการขายในจำนวนที่มาก กำไรน้อยลง อาจจะช่วยให้ขายและได้ลูกค้ามากขึ้น โดยการขายในปริมาณที่มากขึ้นยังช่วยให้ต้นทุนในการผลิตลดลงอีกด้วย
แม้การตั้งราคาสินค้าไปขายต่างประเทศจะไม่ได้มีสูตรตายตัว และขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและความต้องการของคนค้าขายแต่ละราย แต่โดยรวมแล้วต้องคำนึงถึง
1. คำนวณต้นทุน
อันดับแรกต้องคิดเรื่องของต้นทุน ดูว่ามีต้นทุนอะไรบ้าง เช่น ต้นทุนในการผลิตสินค้า ต้นทุนที่เป็น Fixed Cost ต่างๆ เช่น ค่าจ้างพนักงาน ค่าจ้างแอดมิน เปอร์เซ็นต์ที่ต้องให้กับตัวแทน เป็นต้น โดยนำต้นทุนทั้งหมดไปคิดคำนวณในการตั้งราคา
Tip : ให้คิดเสมอว่าทุกอย่างในการทำธุรกิจ = ต้นทุน
2. ตั้งเป้าหมายกำไร
ต่อมาคือ ตั้งเป้าหมายกำไรตามที่ต้องการ โดยจะตั้งเท่าไรหรือกี่เปอร์เซ็นต์นั้น ควรไปทำการสำรวจตลาดดูว่า กลุ่มผู้ซื้อเป็นแบบไหน สินค้าที่เหมือนกับเรา หรือคู่แข่งเขาขายในราคาเท่าไร แล้วนำมาเปรียบเทียบดูว่า ถ้าผลิตสินค้ามาในต้นทุนเท่านี้ บวกกำไรเข้าไปเท่านี้ สามารถที่จะแข่งขันกับเขาได้หรือไม่
Tip : กำไรที่ได้ควรครอบคลุม Fixed Cost อย่างน้อยๆ มากกว่า 50% ในการตั้งราคาสินค้าไปขายยังต่างประเทศ
3. ตั้งราคาโดยคิดรวมค่าขนส่ง
ในแง่ของการคิดค่าขนส่งนั้น การบวกรวมเข้าไปในราคาสินค้าให้เสร็จสรรพตั้งแต่ต้นจะช่วยทำให้ลูกค้ารู้สึกสบายใจที่จะจับจ่ายมากกว่าการคิดแยก เพราะเขาได้เห็นราคาจริงที่ต้องจ่าย โดยไม่ต้องมานั่งคิดเพิ่มในภายหลัง ทั้งนี้ การส่งสินค้าไปครั้งละมากๆ จะช่วยลดทอนต้นทุนค่าขนส่งของทางร้านให้ถูกลงได้ด้วย
Tip : น้ำหนักของสินค้ามีผลต่อค่าขนส่ง ควรคิดแล้วว่าจะทำอย่างไรที่จะลดทอนให้สินค้ามีน้ำหนักน้อยลง เช่น การปรับแพ็กเกจจิ้งให้เบาขึ้น เพราะหากสินค้ามีน้ำหนักมาก จนราคาขนส่งเกินราคาสินค้า ไม่ใช่แค่ลูกค้าจะไม่ซื้อ แต่เท่ากับปิดประตูส่งออกไปได้เลย
4. หาราคากลางของอัตราแลกเปลี่ยน
ขายของไปต่างประเทศต้องดูเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินด้วย ว่ามีการขึ้นลงของค่าเงินเป็นอย่างไร แล้วนำมาถัวเฉลี่ยให้ได้ราคากลางออกมา เพื่อให้เห็นถึงราคาของสินค้าว่าจะอยู่ที่เท่าไร เช่น ค่าเงินหยวนจะขึ้นลงอยู่ที่ไม่เกิน 5.5 บาท และไม่ต่ำกว่า 4.7-4.8 บาท ดังนั้น จะได้ราคากลางอยู่ที่ 5 บาท ต่อ 1 หยวน เป็นต้น
Tip : หากอัตราแลกเปลี่ยนมีการขึ้นจนส่งผลให้ต้องขึ้นราคาสินค้า ทางร้านสามารถพูดคุยกับลูกค้าในประเด็นนี้ได้ และสามารถปรับลดราคาลงได้เมื่ออัตราการแลกเปลี่ยนค่าเงินลดลง