เลือกเลี้ยงไก่ตะเภาทองอย่างไร ให้ได้คุณภาพ ตรงต่อความต้องการของตลาด และขายได้ทุกตัว

 

ไก่จัดเป็นโปรตีนราคาไม่แพงสำหรับการบริโภคของชาวไทยในปัจจุบัน สังคมเมืองที่เข้มข้นทำให้มีอุตสาหกรรมเลี้ยงไก่กันเป็นล่ำเป็นสันของบริษัทยักษ์ใหญ่หลายค่าย ถึงขนาดเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นๆ ของไทย การเลี้ยงในระบบอีแว้ปหรือปรับอุณหภูมิทำให้จำนวนไก่ที่ผลิตได้มีจำนวนมากและยังใช้ระยะเวลาสั้นกว่าเดิม มีจำนวนเพียงพอสำหรับการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก

เราหลงใหลได้ปลื้มกันกับไก่ฟาร์มมาหลายสิบปีจนลืมไก่พื้นบ้านที่เลี้ยงไว้สำหรับกินไปเสียแล้ว ในปัจจุบันการเลี้ยงไก่พันธุ์พื้นเมืองมุ่งไปทางไก่ชนเสียมากกว่าจะมีจุดประสงค์ที่นำมาเป็นโปรตีนที่ไม่ต้องจ่ายเงินซื้อในบ้าน จนผมหมดความคาดหวังเรื่องนี้ไปเสียแล้ว จนได้เจอ อาจารย์สุชาติ สงวนพันธุ์อาจารย์ประจำสาขาวิชาสัตวบาล คณะเกษตร วิทยาเขตกำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จึงพบว่ามีคนคิดอย่างนี้เหมือนกัน

อ.สุชาติกำลังให้ความรู้ผู้สนใจเลี้ยงไก

ไก่ที่เรากินกันในปัจจุบันจะถูกเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูปจากโรงงานซึ่งปรนเปรอสารพัดที่จะให้โตเร็วๆ เพื่อกำไรของเจ้าของโดยไม่คำนึงถึงผู้บริโภค ในระยะสั้นเราอาจไม่เห็นผลเหมือนสารบางอย่างที่ใช้ในสัตว์ เช่น สารเร่งเนื้อแดงที่ใช้ในหมู และต้องยอมรับว่ามีการใส่สารเคมีที่ผ่านการรับรองว่าปลอดภัยใช้ในอาหารสัตว์เช่นกัน สารเร่งนี้อาจส่งผลในระยะยาวแต่เราก็ยังไม่มีงานวิจัยว่ามีโทษ แต่สารพัดโรคทั้งหลายของเราได้มาจากการบริโภคทางปากเป็นหลัก จะเห็นได้ว่าคนอายุยังน้อยก็เริ่มเป็นมะเร็ง ซึ่งยังหาสาเหตุที่แน่ชัดไม่ได้ แต่การกินอาหารจากแหล่งอุตสาหกรรมเกษตรเป็นเรื่องที่น่าพิจารณา

การเลี้ยงไก่เพื่อการบริโภคในบ้านเป็นแนวคิดตามรอยของพ่อเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเราสามารถมีลูกไก่ได้เองจากพ่อแม่ที่ออกไข่และฟักตามธรรมชาติ ไม่ต้องซื้อหา ซึ่งปัจจุบันตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ไข้หวัดนก คนเลี้ยงเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์เป็นฟาร์มคอนแทร็กต์ อุตสาหกรรมผลิตไก่จึงผลิตเพื่อเฉพาะป้อนลูกเล้าของตัวเอง ฟาร์มไก่อิสระหายไป จึงไม่ค่อยมีลูกไก่ออกมาขาย

กกโดยใช้หลอดไฟ

อาจารย์สุชาติ เล่าความคิดนี้ว่า หลังจากมีการเลี้ยงไก่เป็นอุตสาหกรรมการเกษตร การปรับปรุงพันธุ์ก็เพื่อตอบสนองความต้องการของการเลี้ยงไก่แบบนี้ คือโตเร็ว มีอัตราแลกเนื้อดี นี่คือการตอบสนองต่อวงการธุรกิจ ไก่พื้นบ้านไม่ได้รับการส่งเสริม ดีว่ายังมีการอนุรักษ์ไก่ชนอยู่ ไก่พื้นบ้านจึงยังมีเหลืออยู่บ้าง แต่มุ่งไปทางไก่ชนมากกว่า จึงเห็นว่าควรจะพัฒนาพันธุ์ที่เหมาะกับการเลี้ยงบริโภคในครัวเรือน

 

พ่อแม่ที่มีคุณสมบัติเหมาะกับการเป็นพ่อแม่พันธุ์

ไก่ลูกผสมตะเภาทองเกษตรศาสตร์ เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างไก่พื้นเมืองของไทยพันธุ์หนึ่ง ที่เกือบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว ชื่อว่า ไก่พันธุ์ตะเภาทอง กับไก่พื้นเมืองของจีน ชื่อว่า ไก่สามเหลือง (ซาอึ้ง) ซึ่งไก่สองพันธุ์ดังกล่าว มีข้อดีข้อเสีย แตกต่างกัน กล่าวคือ ไก่พันธุ์ตะเภาทองมีขนาดตัวใหญ่ ลักษณะหงอนหินเหมือนไก่พื้นเมือง (ไก่ชน) ผิวหนัง, สีแข้ง สีขนและจะงอยปากเหลืองอ่อน ใช้เวลาเลี้ยงเมื่อโตเต็มที่ ประมาณ 5 เดือนครึ่ง ถึง 6 เดือน น้ำหนักเพศผู้ 3.3-3.8 กิโลกรัม เพศเมียน้ำหนักตัว 2.8-3.2 กิโลกรัม

 

พ่อพันธุ์ตะเภาทอง
แม่พันธุ์สามเหลือง

ส่วนไก่พันธุ์สามเหลือง มีขนาดตัวเล็ก ลักษณะหงอนจักร ขนาดค่อนข้างใหญ่ (ตลาดไม่ต้องการ) ผิวหนัง, สีแข้ง สีขนและจะงอยปากสีเหลือง เจริญเติบโตเร็ว ใช้เวลาเลี้ยงเมื่อโตเต็มที่ 4-5 เดือน น้ำหนักเพศผู้ 2.5-2.8 กิโลกรัม เพศเมียน้ำหนัก 1.3-1.6 กิโลกรัม

ไก่ทั้งสองสายพันธุ์นี้ทนต่อสภาวะอากาศที่แปรปรวนได้ดีเยี่ยมทั้งสองสายพันธุ์ ส่วนเนื้อจะมีความนุ่ม หอมกรอบอร่อยเหมือนกัน หลังจากที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาการผลิตสัตว์ปีกและภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตรกำแพงแสน ได้ดำเนินการศึกษาเรียนรู้ไก่ทั้งสองพันธุ์ เป็นเวลามากกว่า 5 ปี เมื่อทราบข้อดี ข้อเสีย และทิศทางความต้องการของตลาดแล้วจึงได้ทำการผสมข้ามเพื่อให้ได้ไก่ที่มีคุณภาพเนื้อที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภค โดยให้ชื่อว่า ไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์

ลักษณะทั่วไปของไก่ลูกผสมตะเภาทองเกษตรศาสตร์ รูปร่างสมส่วน สวยงามทั้งเพศผู้และเพศเมีย ลักษณะหงอนหินประมาณ 85% และ 15% มีลักษณะหงอนจักร ขนสีเหลืองทอง แข้งสีเหลือง จงอยปากเหลือง หนังเหลืองเรียบเนียน เนื้อนุ่มหวานกรอบอร่อยมากเป็นเอกลักษณ์ประจำพันธุ์ เลี้ยงง่าย แข็งแรง ทนโรค

 

การเลี้ยงและการดูแล

ในการเลี้ยงระยะแรกเกิดลูกไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ต้องการการกกให้ความอบอุ่นเช่นเดียวกับการเลี้ยงไก่ทั่วไป ใช้เวลาการกกประมาณ 1-2 สัปดาห์ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ การอนุบาลที่ถูกวิธีจะทำให้ไก่แข็งแรงและไม่มีปัญหาในเรื่องโรคตอนวัยเจริญพันธุ์ ส่วนวิธีการให้อาหารในช่วงแรกควรให้อาหารสำเร็จรูปสำหรับไก่ระยะอนุบาล การให้อาหารควรให้น้อยแต่บ่อยๆ ครั้ง ในระยะกกเพื่อกระตุ้นให้ลูกไก่กินอาหารได้ดีมีความแข็งแรง และมีน้ำสะอาดให้ลูกไก่อย่างเพียงพอ โดยภายในพื้นที่กกรองพื้นด้วยแกลบ ขนาดพื้นที่กกขึ้นอยู่กับจำนวนไก่ ไม่ควรกว้างและแคบจนเกินไป เมื่อพ้นระยะกกประมาณอายุ 15-20 วัน ขยายพื้นที่เพิ่ม (พื้นที่ขนาด 4×5 เมตร เท่ากับ 20 ตารางเมตร เลี้ยงไก่ได้ 100 ตัว)

สภาพไก่รุ่นที่แข็งแรง

ในระยะแรก (0-3 สัปดาห์) ให้ใช้อาหารไก่เนื้อระยะแรก จนเมื่อไก่อายุได้ 3-4 สัปดาห์ สามารถใช้อาหารเสริมในการเลี้ยงได้เนื่องจากในระยะดังกล่าวไก่เริ่มแข็งแรงสมบูรณ์พร้อมที่จะเรียนรู้และจิกกินพืชผัก ผลไม้ ใบไม้ใบหญ้า แหล่งอาหารเสริมสำหรับไก่พันธุ์ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ จะได้จากการปลูกพืชผักของเกษตรกร ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละท้องถิ่น เช่น เปลือกข้าวโพดฝักอ่อน ฝรั่ง ชมพู่ แตงกวา หยวกกล้วย เป็นต้น ซึ่งไก่ลูกผสมตะเภาทองเกษตรศาสตร์มีความสามารถในการใช้อาหารและเศษพืชผักเหล่านี้ได้เป็นอย่างดี และยังสามารถใช้พืชสมุนไพรต่างๆ ในการเลี้ยงเพื่อเป็นการเสริมสร้างให้ร่างกายของไก่ให้มีความสามารถในการทนทานโรคต่างๆ โดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะในการเลี้ยงได้อีกด้วย

คุ้ยเขี่ยหาอาหารในแปลง
น้ำมีให้ตลอดเวลา

จากการเลี้ยงดูตามธรรมชาติเราจะพบว่าการเจริญเติบโตของไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์สามารถนำมาเลี้ยงได้ตามธรรมชาติจริงๆ และอาหารที่ใช้ก็เป็นอาหารที่เป็นส่วนที่เหลือจากการปลูกของเกษตรกรหรือวัชพืชในสวน เช่น หยวกกล้วย หญ้าขน อาหารเหล่านี้เกษตรกรสามารถหาเองได้โดยไม่ต้องซื้อ นอกจากนี้ การขยายพันธุ์ของไก่ชนิดนี้สามารถไข่และฟักได้เองตามธรรมชาติ ไม่ต้องซื้อลูกไก่จากแหล่งอื่นอีกด้วย

ไก่ตะเภาทองลูกผสมเพศผู้
ไก่ตะเภาทองลูกผสมเพศเมีย

เกษตรยั่งยืนหรือพอเพียงในที่นี้คือการที่เกษตรกรสามารถเพาะพันธุ์สัตว์เลี้ยงโดยไม่ต้องพึ่งพาภายนอก มีอาหารซึ่งมาจากในแปลงของเกษตรกรเองไม่ต้องซื้อหา และผลผลิตทั้งตัวไก่และไข่ก็สามารถนำมาเป็นอาหารในครัวเรือนหรือจำหน่ายเป็นรายได้เสริม ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายหลักของเศรษฐกิจพอเพียงที่ต้องการให้เกษตรกรยืนหยัดได้ด้วยตัวเอง

สนใจสามารถติดต่อขอซื้อลูกไก่ตะเภาทองเกษตรศาสตร์ได้ที่ อาจารย์สุชาติ สงวนพันธุ์ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตรกำแพงแสน และฟาร์มสัตว์ปีก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เบอร์โทรศัพท์ (081) 995-0950 ในราคาตัวละ 25 บาท