จาก ความหลงใหลกลิ่นบำบัด สู่ ‘ภูวารา’ เครื่องหอมธรรมชาติ สร้างรายได้เป็นแสนต่อเดือน

อดีต ผจก. โรงแรม ต่อยอดจากความชอบ สู่ Puvara Aroma (ภูวารา อโรมา) เครื่องหอมธรรมชาติ สร้างรายได้เป็นแสน/เดือน

แบรนด์เครื่องหอม แม้ไม่ใช่ธุรกิจที่แปลกใหม่ แต่ว่าแต่ละแบรนด์ย่อมมีจุดขายที่โดดเด่นแตกต่างกันไป ซึ่ง Puvara Aroma (ภูวารา อโรมา) แบรนด์เครื่องหอมไทยจากธรรมชาติแบรนด์นี้ ก็อยู่ในวงการเครื่องหอมมาได้เกือบทศวรรษแล้ว

คุณแม็ค-พรหมพิริยะ หงษ์ยนต์ วัย 36 ปี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ภูวารา เทอราปี้ จำกัด (PUVARA THERAPY Co.,LTD) เจ้าของแบรนด์ Puvara Aroma (ภูวารา อโรมา) เล่าให้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ฟังว่า ภูวารา อโรมา เป็นแบรนด์เครื่องหอมไทย ที่มาในคอนเซ็ปต์ กลิ่นบำบัด สกัดจากธรรมชาติ โดยคำว่า ภู มาจาก ภูเขา วา มาจาก วารี และ รา มาจาก ชาลา ที่แปลว่า ไฟ แต่เปลี่ยนมาใช้ ร.เรือ เพื่อความสิริมงคล

“ที่บ้านผมทำร้านอาหาร และส่วนผมทำงานเป็นผู้จัดการโรงแรมแห่งหนึ่งมาก่อน ด้วยความที่อายุยังน้อย แต่ทำงานหนักและเครียด ลองมองรอบๆ ตัวว่าอะไรที่จะช่วยแก้เครียด เป็นสิ่งพักผ่อนหย่อนใจเราได้บ้าง แล้วผมเห็นว่าตัวเองเป็นคนรักสุขภาพ และชอบเครื่องหอม ว่าง่ายๆ ว่า ผมเป็นคนชอบกลิ่นหอมๆ แล้วก็อะไรที่เป็นธรรมชาติๆ และสามารถใช้กันได้ทั้งครอบครัว ให้คนในครอบครัวได้ใช้สิ่งดีๆ เหมือนที่เราใช้ เลยมีความคิดที่ว่าอยากจะทำสินค้าสักตัวที่เกี่ยวกับความชอบ ความตั้งใจตรงนี้ และต้องมีความยั่งยืนด้วย”

(ซ้าย) คุณ มิ้นท์-สุวรรณวดี หงษ์ยนต์ และ คุณแม็ค-พรหมพิริยะ หงษ์ยนต์ (ขวา)

“ก็เลยเลือกมาทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องหอม ตอนแรกๆ มันก็ขายไม่ดีหรอกครับ ยอดติดลบบ้าง ยอดเป็นศูนย์บ้าง เพราะด้วยความที่ธุรกิจนี้ ก็มีคนอื่นทำเหมือนกัน Storytelling หรือ การเล่าเรื่องของแบรนด์ ก็เล่าคล้ายๆ กัน มันท้อนะตอนนั้น แต่เพราะเป็นสิ่งที่ผมชอบและมีความสุข เลยเลือกที่จะอดทนสู้ต่อ กลับมานั่งคิดกับตัวเอง”

“มองย้อนกลับไปก็เห็นว่า น้ำหอมเรา มันเป็นเอสเซนเชียลออยล์ หรือน้ำมันหอมระเหย ซึ่งมันเป็นน้ำมันที่สกัดมาจากพืช แล้วเอามาใช้ในการบำบัดแบบอโรมา เธอราพี ผมรู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่ดีมาก เลยนำมาเป็นไอเดียไปปรึกษาโมเดลธุรกิจ กับหลากหลายมหาวิทยาลัยเพื่อพัฒนาสูตรให้ได้มาตรฐาน และทดสอบประสิทธิภาพว่ามีประโยชน์ต่อผู้ใช้หรือไม่ ปรับเปลี่ยนการเล่าเรื่อง โดยชูจุดเด่นของแบรนด์อย่าง สุคนธบำบัด และมีการนำสินค้าของชาวบ้านมาปรับผสมผสานเข้ากับแบรนด์ด้วย” คุณแม็ค เล่า

นอกจากนั้น คุณแม็ค ยังเล่าอีกว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ช่วงแรกๆ ที่ขาย ยังไม่มีช่องทางเฟซบุ๊กให้ขายออนไลน์ คุณแม็คจึงอาศัยใช้การสื่อสารผ่านมหาวิทยาลัย และโรงพยาบาลต่างๆ จากนั้นก็เก็บรีวิวจากลูกค้าผู้ใช้จริงไว้เป็นผลงานของแบรนด์มาตลอด

กระทั่งราวๆ ปี 2015-2016 เมื่อเฟซบุ๊กเริ่มเข้ามามีอิทธิพลต่อการสื่อขายของผู้คน คุณแม็คจึงนำ Puvara Aroma (ภูวารา อโรมา) แบรนด์เครื่องหอมจากธรรมชาติของตนเอง ไปลงขายในช่องทางออนไลน์ และราวๆ ปี 2018 ก็ได้น้องสาวอย่าง คุณมิ้นท์-สุวรรณวดี หงษ์ยนต์ วัย 31 ปี เข้ามาช่วยดูแลทำการตลาดและผลักดันแบรนด์ให้เข้าสู่ออนไลน์มากขึ้น ทำให้แบรนด์เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น และเริ่มส่งออก เข้าไปขายในตลาดโมเดิร์นเทรดได้

“สินค้าเริ่มแรกของแบรนด์ เราเริ่มจากก้านไม้ปรับอากาศ พัฒนาต่อมาเรื่อยๆ ออกมาเป็น ตะเกียงไฟ เทียน อัลตราโซนิก ที่เป็นที่พ่นควัน น้ำหอมรถยนต์หลากหลายแบบ สเปรย์กำจัดฝุ่น มาถึงเจลอาบน้ำ และ ครอบคลุมในกลุ่มสินค้าอโรมาทั้งหมด ซึ่งผมใช้ประสบการณ์ด้านการทำกลิ่นและความเข้าใจเรื่องเครื่องหอมกว่า 10 ปี มาพัฒนาสินค้าทั้งหมด”

“โดยสินค้าที่ได้รับความนิยมมาตลอดตั้งแต่ก่อตั้งแบรนด์เลยคือ ก้านไม้ปรับอากาศ หรือ ก้านไม้กระจายกลิ่น กลิ่นชื่นจิต ที่หอมหวานๆ เย็นๆ หอมตลอด 24 ชม. ซึ่งเป็นความหอมจากธรรมชาติแต่กลิ่นชัด ไม่มีสารเคมี ไม่มีสารเหนียว ใช้ในห้องนอนได้ ทั้งฆ่าเชื้อโรค แบคทีเรียได้ด้วย และพูดได้เลยว่า กระบวนการผลิตของเรา เราใส่ใจในทุกๆ ขั้นตอนจริงๆ เพื่อส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ นอกจากนั้น ในช่วงที่มีโควิด แบรนด์เลยไม่ค่อยได้รับผลกระทบมากนัก เพราะเราเทิร์นตัวเองมาออนไลน์ก่อนหน้านั้นแล้ว”

“มีการติดตามเทรนด์และพฤติกรรมของผู้บริโภคอย่างสม่ำเสมอ และเราก็ใช้อินฟลูเอนเซอร์ มาช่วยเรื่องการตลาดอีกทาง จึงทำให้เราปรับตัวได้ค่อนข้างดี ช่องทางออนไลน์ของเรา สามารถขายสินค้าได้ประมาณ 1 แสนไอเทม ในแพลตฟอร์มช้อปปิ้ง อย่าง ช้อปปี้ เราก็ขายได้ประมาณหลักหมื่นชิ้นต่อเดือน และเป็นร้านที่ได้คะแนน 4.9 ในแอป ช่วงโควิดทำให้เห็นได้ค่อนข้างชัดเลยว่า ยอดขายเราโตก้าวกระโดดเลย 70% จากออนไลน์ รายได้เฉลี่ยก็ราวๆ หลักแสนบาทต่อเดือน ยิ่งช่วงเทศกาล ยอดทะลุหลักล้านก็แตะมาแล้ว” คุณแม็ค ว่าอย่างนั้น

โดยลูกค้าส่วนใหญ่ของ Puvara Aroma คุณแม็ค บอกว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง กลุ่มคนรักสุขภาพ และมีปัญหาเรื่องภูมิแพ้ ตลาดรองลงมาเป็นตลาดของฝาก ถัดมาเป็นการออกบูธจัดแสดง รวมไปถึงการนำสินค้าส่งออกไปขายยังต่างประเทศ อย่าง สิงคโปร์ จีน เยอรมนี

เจ้าของแบรนด์ Puvara Aroma ยังเล่าอีกว่า ตนและน้องสาวมีการวางแผนในเรื่องของตลาดออฟไลน์และการนำสินค้าไปวางฝากขายตามร้านค้าต่างๆ เพิ่มเติม และลุยตลาดออนไลน์มากขึ้น รวมถึงการต่อยอดผลิตภัณฑ์ในกลุ่มสปาด้วย ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนากันอยู่นั่นเอง

“เคล็ดลับแบรนด์ไม่มีอะไรมากเลย แค่ต้องซื่อสัตย์และ ใส่ใจกับลูกค้ามากๆ เพราะผมมองว่า มันเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ในการทำธุรกิจ” คุณแม็ค กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามเพิ่มเติม ที่ เฟซบุ๊ก Puvara Aroma 

เผยแพร่เมื่อ วันเสาร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2566