หยิบ ปาเต๊ะ ผ้าแดนใต้ มาทำ รองเท้า งานคราฟต์ ที่ทำได้เดือนละ 400 คู่

หยิบ ปาเต๊ะ ผ้าแดนใต้ มาทำ รองเท้า งานคราฟต์ ที่ทำได้เดือนละ 400 คู่ แต่ยอดขายเฉลี่ย ครึ่งแสน!

การนำสินค้าหรือสิ่งของรอบตัว มาเพิ่มมูลค่า แม้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็ยังเป็นไอเดียที่สร้างสินค้าเจ๋งๆ ออกมาได้เสมอ เช่นเดียวกับ คุณเอ๋-ปิยวรรณ ตันสุวรรณ วัย 53 ปี เจ้าของไอเดีย รองเท้าผ้าปาเต๊ะ ที่เล่าให้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ ฟังถึงไอเดียดังกล่าวว่า

เดิมที เธอทำงานเป็นทนายอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย รวมถึงทำธุรกิจให้คำแนะนำด้านการเรียนต่อประเทศออสเตรเลีย โดยเธอใช้ชีวิตอยู่ที่นั่นมาเป็นเวลากว่า 25 ปีเลยทีเดียว กระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เธอต้องทำงานที่บ้าน ทำให้มีเวลาว่างพอที่จะกลับมาพักผ่อนที่ประเทศบ้านเกิด

“ช่วงทำงานที่บ้าน ก็กลับไทย เพราะเราก็สามารถทำงานส่งผ่านออนไลน์ได้ พอว่างๆ ก็เลยไปเที่ยวภาคเหนือ ก็ไปเห็นว่าทางนั้นมีหมู่บ้านหนึ่งที่เขาทำอาชีพทำรองเท้าขาย ซึ่งมีแต่คนแก่ คนสูงอายุ เขานั่งทำรองเท้ากัน พอได้พูดคุยกับพวกเขา ก็ทำให้เห็นว่า มันเป็นภูมิปัญญาอย่างหนึ่ง ซึ่งลูกหลานเขาก็เข้าเมืองไปทำงาน ไม่ได้มาสืบทอดการทำรองเท้าขาย เราเลยมีความคิดหนึ่งว่า ถ้าเราไม่ทำอะไรสักอย่าง ของพวกนี้มันหายไปพร้อมกับคนแน่ๆ”

คุณเอ๋-ปิยวรรณ ตันสุวรรณ วัย 53 ปี เจ้าของไอเดีย รองเท้าผ้าปาเต๊ะ

“ประกอบกับ พี่เป็นคนชอบสะสมพวกงานอาร์ต งานศิลปะอยู่แล้ว แล้วพวกผ้า ทั้งผ้าไหม ผ้าซิ่น และโดยเฉพาะผ้าปาเต๊ะ อะไรพวกนี้ มันมีเรื่องราวความเป็นมาเป็นพันๆ ปีแล้ว ก็เลยคุยๆ กับเพื่อนว่า งั้นเรามาลองทำอะไรกับรองเท้าพวกนี้ดีไหม จะได้ช่วยชาวบ้านด้วย พวกงานหัตถกรรมงานคราฟต์แบบนี้ก็ยังคงอยู่ ไม่สูญหายไป เพราะช่างแต่ละคน มีประสบการณ์การทำรองเท้ามาไม่ต่ำกว่า 30 ปี มันน่าเสียดายนะ ถ้าวันหนึ่งงานคราฟต์แบบนี้หายไปจริงๆ เราลองเอามามิกซ์กับผ้าที่เราสะสมไว้จากหลายๆ ที่ มันจะเกิดเป็นรองเท้าเจ๋งๆ ได้ไหม เพราะงานผ้า มันไม่ได้จำกัดแค่การทำเป็นชุดสวมใส่ แต่มันยังทำอย่างอื่นได้อีกเยอะนะ” คุณเอ๋ เล่า

แต่ธุรกิจที่เพิ่งลงมือทำ ก็ต้องประสบปัญหาเล็กน้อย เพราะตัววัตถุดิบหลัก อย่าง ผ้าปาเต๊ะ มีสีสันที่ฉูดฉาด ไม่เข้าและไม่เป็นที่คุ้นชินของช่างทำรองเท้า ที่เป็นกลุ่มคนโบราณ ทำให้สินค้าล็อตแรกที่ผลิตออกมา เกิดความเสียหายค่อนข้างเยอะ

“ด้วยความที่ช่างเป็นคนโบราณ เขาก็จะไม่ชินกับความฉูดฉาดของผ้าปาเต๊ะ ซึ่งเวลาเขาเอามาทำ เขาก็จะทำตามความเคยชินของเขา ก็คือหามุมที่มันไม่ใช่แบบที่เราคิดไว้ พอทำออกมามันก็เลยไม่ตรงกับที่คุยเอาไว้ เลยเกิดเป็นความเสียหาย ก็ต้องมีการคุยกันให้เขาเข้าใจตรงกันกับเรา บางคนก็คุยยาก เลยต้องมีดุๆ กันนิดหนึ่ง แต่ก็เข้าใจตรงกัน พอทำออกมาล็อตต่อๆ ไป มันก็เลยเข้ารูปเข้ารอยแบบที่เราคิดไว้ ถ้าถามว่าแล้วทำไมไม่ทำเองให้หมดเลยล่ะ คือพี่ทำรองเท้าไม่เป็น ถึงทำเป็นแต่ก็ไม่ทำ เพราะเขาทำกันมาจนชำนาญแล้ว สู้ทำให้มันเกิดการจ้างงานแบบนี้ดีกว่า”

“เราก็เอาเวลามาคิดไอเดียใหม่ๆ ดีกว่า เพราะ รองเท้าผ้าปาเต๊ะ มันก็มีคนทำขายเหมือนกันนะ แต่เป็นสไตล์เก่าๆ และมีราคาแพง ซึ่งพวกเด็กๆ เขาไม่จับไม่ซื้อกัน พี่ก็เอามาทำให้มันทันสมัยขึ้น เพราะตอนที่ทำก็คิดแล้วว่า กลุ่มลูกค้าเราจะเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ ก็เรียกว่า พัฒนางานมาพร้อมๆ กับช่าง จนตอนนี้ก็ 2 ปีกว่าแล้ว ที่ทำมา เรามีรองเท้าผ้าปาเต๊ะกว่า 22 แบบให้เลือก ซึ่งการันตีได้เลยว่า เป็นงานคราฟต์ที่มีแค่หนึ่งเดียวในโลก เพราะเดือนๆ หนึ่ง ช่างเราทำรวมๆ กันแล้วได้ประมาณ 300-400 คู่ เพราะเขาทำมือกันทั้งหมดนะคะ และผ้าปาเต๊ะ 1 ผืน เอามาทำรองเท้าได้ไม่เกิน 15 คู่ และถึงผ้าจะเป็นผืนเดียวกัน แต่การวางตำแหน่ง การเลือกมุมลาย เลือกแพตเทิร์นที่จะทำ ว่า ผ้าผืนนี้ลายนี้ทำเป็นส้นแบบนี้ แบบนั้น ไม่ใช่ 1 ผืน ทำแค่แพตเทิร์นเดียวหมด อันนี้ไม่เอา” คุณเอ๋ ว่าอย่างนั้น

นอกจากนั้น คุณเอ๋ ยังเล่าว่า ผ้าปาเต๊ะที่เธอนำมาใช้ ไม่ใช่ผ้ายกม้วน แต่เป็นผ้าชิ้น ซึ่งเมื่อนำมาตัดเย็บทำรองเท้า ทำให้งานมีเสน่ห์มากกว่า และยากต่อการลอกเลียนแบบ เพราะทุนค่อนข้างสูงนั่นเอง

“พอได้สินค้าที่พอใจออกมาแล้ว พี่ก็มาทำการตลาดออนไลน์ เพราะกะจะขายแค่ในออนไลน์เฉยๆ แต่ฟีดแบ็กลูกค้ามันดีมาก จนสต๊อกของที่ทำไว้ หันไปเช็กอีกที อ้าว ทำไมเหลืออยู่แค่นี้เอง คนที่ซื้อไปเขาก็ใส่แล้วช่วยส่งรีวิวมาให้ มันเลยทำให้คนเห็นงานพี่ ก็เข้ามาชวนพี่ไปออกบูธ ออกงาน จนจังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นจังหวัดบ้านกิดและสถานที่กำเนิดธุรกิจ เลือกให้เป็นสินค้า OTOP ใน 2 สัปดาห์ และ ได้ OTOP Premium ในเดือนที่ 8 ที่วางขาย ซึ่งลายที่ขายดีของเรา เป็นลายดอกพุดตานจากวัดไทย ที่พี่เอามาออกแบบเป็นลายผ้า รวมกับหลายๆ อย่าง เกิดเป็นลายเฉพาะ มีความเป็นตัวเอง ซึ่งมากกว่า 50% มีการซื้อซ้ำสูงมาก”

“มีคนเชียร์นะคะ ว่าให้เราทำงานที่มันแมสกว่านี้ แบบ ลายหนึ่งมีหลายๆ คู่ แต่พี่อยากให้รองเท้าของพี่ ยังคงความเป็นงานคราฟต์แบบนี้ต่อไป ตอนนี้ก็เลยพยายามทำการตลาดสู้กับพวกสินค้าแมสโปรดักต์อยู่ค่ะ คือเราอยากเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า งานหัตถกรรมแบบไทยๆ เนี่ย มันสามารถต่อยอดทำแบบอื่นๆ ได้ และยังไปไกลได้อีกนะ ยอดขายช่วงที่ออกงานออกบูธ ก็อยู่ที่ประมาณหลักแสนต่อเดือนค่ะ อันนี้ยังไม่หักค่าใช้จ่ายนะคะ และก็มีส่งขายสิงคโปร์ด้วย ซึ่งทางนั้นเขาสั่งเข้ามาทุกเดือน ประมาณ 20,000-30,000 ยอดมันก็ขึ้นๆ ลงๆ แล้วแต่อีเวนต์ที่ไปออกในแต่ละเดือน แต่ก็จะประมาณนี้ค่ะ และก็กำลังขยายการตลาดไปร่วมกับพาร์ตเนอร์ประเทศอื่นๆ ด้วย”

“การจะทำธุรกิจให้สำเร็จ สิ่งสำคัญคือ สถิติ เพราะพี่จะเก็บสถิติ ข้อมูลทุกอย่าง มาพัฒนาสินค้าของพี่ต่อ ให้ตรงโจทย์ลูกค้ามากขึ้น นอกจากนั้น เมื่อลูกค้ารับสินค้าแล้ว มีบริการหลังการขาย ในกรณีที่รองเท้ามีปัญหา พี่ให้เขาเปลี่ยนไซซ์ได้ภายใน 3 วัน โดยที่ทางพี่รับผิดชอบเรื่องค่าขนส่งให้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้พี่ว่า เป็นสิ่งที่ทำให้ลูกค้ากลับมาใช้บริการและช่วยบอกต่อให้” คุณเอ๋ ว่าอย่างนั้น

สนใจสินค้าหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ เฟซบุ๊ก Piyawun ปิยวรรณ์ รองเท้าผ้าปาเต๊ะ และไลน์ piyawun

เผยแพร่เมื่อ วันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ.2566