10 นวัตกรรม เพิ่มมูลค่าผลไม้ส่งออก

รองศาสตราจารย์ วรภัทร ลัคนทินวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์เพื่อการวิจัยขั้นสูง อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ท่านเล็งเห็นถึงความสำคัญของผลไม้ไทย อาทิ ลำไย ทุเรียน มะพร้าว ชมพู่ฯลฯ อันถือเป็นพืชเศรษฐกิจหนึ่งที่สร้างรายได้ให้แก่ประเทศโดยในปี 2559 มีการส่งออกผลไม้สดไทยเป็นมูลค่ารวมกว่า 3 หมื่นล้านบาท (ข้อมูลจาก กระทรวงพาณิชย์) โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังตลาดเป้าหมายหลักอย่าง ประเทศจีน และรองลงมา ได้แก่ ประเทศฮ่องกง และเวียดนาม

แต่ในขณะเดียวกัน เกษตรกรเจ้าของสวนผลไม้ไทย กลับสูญเสียเวลาและค่าใช้จ่ายไปกับการดูแลบำรุงดิน และปรับคุณภาพผลไม้ให้มีรสชาติอร่อยและสีผิวเรียบสวยทั้งนี้ เพื่อเป็นลดความสูญเสียของเวลาและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น ตลอดจนสามารถส่งออกผลไม้แข่งขันเทียบกับตลาดต่างประเทศได้ ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. จึงได้คิดค้นและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ทั้งนวัตกรรมช่วยยืดอายุและเก็บรักษาความสดใหม่ของผลไม้ ฯลฯ เพื่อยกระดับรายได้แก่เกษตรกรไทยโดยการบูรณาการองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรมาปรับใช้ ก่อนต่อยอดสู่งานวิจัยและนวัตกรรมที่ใช้ได้จริงในหลากรูปแบบที่เอื้อประโยชน์ต่อภาคการเกษตรอย่างแท้จริง โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

1. แพกเกจทุเรียนเก็บกลิ่น 100%

นวัตกรรม Active Packaging สำหรับทุเรียนสด พร้อมบริโภค เพื่อการส่งออก เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับเก็บรักษาคุณภาพทุเรียนปอกเปลือกพร้อมบริโภคสดผ่านการใช้เทคโนโลยี Active ที่สามารถดูดซับกลิ่นทุเรียนได้ 100% โดยที่ตัวดูดซับจะทำการดูดซับกลิ่นของทุเรียนตลอดเวลา โดยพัฒนาให้เป็น Active carbon ที่จะไม่ปล่อยกลิ่นทุเรียนออกมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิการเก็บรักษาและการจัดจำหน่าย พร้อมกันนี้ ยังมีเทคโนโลยี Intelligent ที่สามารถตอบโต้กับผู้บริโภคได้ผ่าน ฉลากบ่งชี้ความสด โดยได้พัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับทุเรียนแต่ละสายพันธุ์ ตามขนาดบรรจุ และฟิล์มที่เหมาะสมกับการเก็บรักษาและการจัดจำหน่าย ซึ่งสามารถเก็บรักษาความสดใหม่ของทุเรียนได้นานถึง 2 เดือน โดยได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP และ HACCPs ซึ่งปลอดภัยต่อผู้บริโภค

2. นวัตกรรม เครื่องปอกเปลือกมะพร้าว

การปอกเปลือกมะพร้าวโดยทั่วไปจะอาศัยแรงงานของคนที่มีความชำนาญในการปอก ซึ่งจะใช้อุปกรณ์ปอกเปลือกที่มีลักษณะเป็นเหล็กแหลม เมื่อทำการปอกมะพร้าวก็จะหงายด้านแหลมคมนั้นขึ้นและนำลูกมะพร้าวกระแทกลงบนเหล็กแหลมนั้น ซึ่งหากไม่ชำนาญในการใช้อุปกรณ์ดังกล่าว อาจทำให้เกิดอันตรายจากการถูกเหล็กแหลมบาดมือ ทำให้เกิดความไม่สะดวกและรวดเร็วหากต้องการปอกเปลือกมะพร้าวในปริมาณมาก เทคโนโลยีเครื่องปอกเปลือกมะพร้าวจึงเป็นเครื่องมือที่ช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในโรงงานอุตสาหกรรมการผลิตมะพร้าว เครื่องปอกเปลือกมะพร้าวจะช่วยในการปอกเปลือกมะพร้าวได้อย่างรวดเร็ว และไม่ต้องใช้ฝีมือแรงงานในการปอกเปลือก ซึ่งเครื่องสามารถปอกเปลือกมะพร้าวได้ 5 ผล ภายในเวลา 1 นาที

3 •      สร้างผิวมะพร้าวหอมควั่นให้ขาวใสก่อนการส่งออก

สร้างผิวมะพร้าวหอมควั่นให้ขาวใสก่อนการส่งออก โดยผ่านกรรมวิธี Blanching คือ นำไปลวกด้วยไอน้ำร้อน ก่อนนำไปแช่ด้วยสารละลายโซเดียม เมตาไบซัลไฟต์ในปริมาณความเข้มข้น 0.9% และบรรจุลงในถุงฟิล์มที่ออกแบบขึ้นเฉพาะสำหรับมะพร้าวน้ำหอมควั่น ช่วยยืดอายุและคงคุณภาพมะพร้าวน้ำหอมควั่นได้นานถึง 60 วัน

4.       นวัตกรรมเพิ่มลูกดกให้มะพร้าวออกได้ออกดีตลอดทั้งปี

นวัตกรรมเพิ่มลูกดกให้มะพร้าว ด้วยเทคนิคการผสมเกสรสด โดยนำเกสรตัวผู้มาล้างน้ำเกลือและบดให้เมล็ดแตก ผสมกับน้ำ 10 ลิตร นำไปฉีดพ่นที่ช่อดอกเกสรตัวเมียที่มีอายุประมาณ 2 ปี ช่วยเพิ่มการติดผลจาก 5 – 10% เป็น 80% โดยไม่ทิ้งสารตกค้าง และช่วยเพิ่มผลผลิตจากเดิมหางละ 10 ลูก เป็น 15 -17 ลูก นวัตกรรมปอกเปลือกมะพร้าว 5 ผล ภายใน 1 นาที โดยไม่ต้องใช้แรงงานคน และ นวัตกรรมแถบบ่งชี้ความสดของมะพร้าวน้ำหอม ช่วยติดตามคุณภาพ ความสด และการเน่าเสียของมะพร้าวน้ำหอมควั่นได้โดยไม่ต้องเปิดผลก่อน

5. แพกเกจเก็บลองกองสดช่วยยืดอายุได้นานถึง 30 วัน

ลองกองเป็นไม้ผลที่ทำรายได้ให้เกษตรกรภาคใต้และภาคตะวันออกค่อนข้างสูงมีการผลักดันในการส่งออกไปยังต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง แต่การส่งออกและการเก็บรักษามักประสบปัญหาด้านการเสื่อมคุณภาพอย่างรวดเร็ว ได้แก่ การหลุดร่วงของผล การเน่าเสียง่ายเนื่องจากโรคและแมลง และการเกิดสีน้ำตาลหลังจากการเก็บเกี่ยว อีกทั้งลองกองยังมีอายุการเก็บรักษาและการวางจำหน่ายสั้นเพียง 4-6 วันเท่านั้น  การเก็บรักษาลองกองเพื่อการส่งออกโดยใช้เทคโนโลยี Active packaging ร่วมกับการเก็บรักษาผลลองกองสดในสภาพและอุณหภูมิที่เหมาะสม ช่วยเพิ่มระยะเวลาการเก็บรักษาได้นานถึง 30 วัน โดยที่ผลลองกองไม่ร่วงออกจากขั้ว และยังคงคุณภาพการบริโภค และสร้างความพึงพอใจให้กับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก

6. ถุงห่อชมพู่ หวานแน่ กรอบนาน

ถุงห่อกันร้อนสำหรับผลชมพู่ จะช่วยเร่งสีชมพู่ให้สวยสดและหวานกรอบ ก่อนการส่งออกหรือวางขายในท้องตลาด ด้วยการนำฉนวนกันร้อนชนิดโฟมที่มีความหนา 2 มิลลิเมตร มาตัดเย็บเป็นถุงในขนาดที่สามารถห่อผลชมพู่ โดยที่ด้านบนเย็บผ้าตีนตุ๊กแก เพื่อให้สามารถพับติดได้ง่าย ส่วนก้นถุงใช้เชือกด้ายดิบร้อยไว้ด้านใน โดยปล่อยให้ปลายเชือกออกมาด้านนอกในความยาวด้านละ 5 นิ้ว เพื่อทำหน้าที่ดูดซับและระบายน้ำออกจากถุง ซึ่งจากผลการทดลองพบว่า ชมพู่ที่ห่อด้วยถุงกันร้อน จะมีผิวมันวาว สีแดงสด และมีรสชาติหวานกรอบกว่าชมพู่ที่ห่อด้วยถุงปกติ อย่างไรก็ดีนวัตกรรมดังกล่าว ยังสามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้นานถึง 10 ปี เพียงนำมาล้างและผึ่งให้แห้งหลังการใช้ ขณะเดียวกัน ก่อนนำไปใช้สามารถฉีดพ่นสารกันเชื้อราเคลือบด้านในถุง เพื่อล่นระยะเวลาของเกษตรกรในการฉีดพ่นยากันเชื้อรา เพลี้ยแป้ง และแมลงที่มาตอมผลชมพู่

7. กล่องเก็บลำไยสด สามารถเก็บรักษาได้นาน 4 เดือน

นวัตกรรมกล่องเก็บลำไยสดต่ออายุ Shelf Life 120 วัน ซึ่งเป็นนวัตกรรม Active Packaging สำหรับลำไยแบบไม่รมซัลเฟอร์ไดออกไซด์เพื่อการส่งออก โดยใช้เทคโนโลยีการบรรจุแบบดัดแปลงบรรยากาศ และใช้เทคโนโลยี Active and Intelligent Packing ที่ออกแบบขึ้นเฉพาะ สามารถเก็บรักษาลำไยสดได้นานถึง 4 เดือน โดยได้รับการรับรองมาตรฐาน GMP และ HACCP

บรรจุภัณฑ์ดังกล่าวยังได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณ ด้านผลงานประดิษฐ์คิดค้นจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปี 2559 และรางวัลสูงสุดเหรียญทองเกียรติยศจากเวทีประกวดนวัตกรรมนานาชาติครั้งที่ 44 ณ กรุงเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส

8. นวัตกรรม มะพร้าวน้ำหอมกับ Blanching Technique

ปัจจุบันมะพร้าวน้ำหอมสดควั่นที่ขายในท้องตลาดมีการแช่สารฟอกขาวหรือที่นิยมเรียกกันว่าสารกันรา แท้จริงคือซัลเฟอร์ไดออกไซด์ซึ่งสามารถฟอกสีของเส้นใยมะพร้าวให้ขาวได้และยับยั้งกระบวนการเกิดสีน้ำตาลนิยมใช้ในปริมาณสูงมากซึ่งพบว่าความเข้มข้นที่ในปริมาณสูงมากจนเกินค่าการละลายได้ความเข้มข้นที่สูงเช่นนี้จะทำให้สารดังกล่าวมีการซึมผ่านเข้าสู่น้ำมะพร้าวได้จึงมีการใช้เทคโนโลยี blanching ด้วยแรงดันและความร้อนในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อยับยั้งกระบวนการเกิดสีน้ำตาลโดยการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์จากนั้นจะทำให้การใช้สารฟอกขาวได้ในปริมาณที่น้อยลงสารฟอกขาวที่มีความเข้มข้นไม่สูงมากจะทำให้ไม่มีการซึมผ่านเข้าสู่น้ามะพร้าวและจะทำให้มะพร้าวมีความสดเสมอและสามารถแยกมะพร้าวอ่อนเกินไปออกจากกระบวนการผลิตได้

9. นวัตกรรมลดกลิ่นและการแตกของผลทุเรียน

ปัจจุบันการส่งออกทุเรียนในรูปผลสดยังคงเป็นที่นิยม โดยเฉพาะตลาดจีน แต่ปัญหาหลักของการส่งออกทุเรียนในรูปผลสด คือ เกิดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ และเกิดผลแตกระหว่างการขนส่งรวมถึงการวางจำหน่าย การศึกษาบรรจุภัณฑ์ โดยใช้เส้นใยจากส่วนต่างๆของพืชและ active carbon ตามสัดส่วนที่เหมาะสม เติมสารกันเชื้อราที่ได้รับอนุญาตหลังจากนั้นปั่นให้เข้ากันและนำผลทุเรียนไปจุ่มในเส้นใยให้ติดทั้งผล เมื่อเส้นใยแห้งแล้วบรรจุลงในบรรจุภัณฑ์ หลังจากทดสอบความพึงพอใจของผู้บริโภค และวิเคราะห์สารประกอบกลิ่น พบว่า การเคลือบผลทุเรียนด้วยเส้นใยจากพืชสามารถลดการแพร่กระจายกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ของทุเรียนและป้องกันการแตกของผลได้ดีรวมทั้งคุณภาพเนื้อทุเรียนภายในสามารถรับประทานได้

10. แพกเกจเก็บเงาะช่วยยืดอายุได้นานถึง 25 วัน

เงาะเป็นไม้ผลเขตร้อนที่มีลักษณะภายนอกแปลกตาและมีเนื้อที่มีรสชาติหวานอร่อย ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตเงาะที่สำคัญของโลก การส่งออกผลเงาะสดประสบปัญหาที่สำคัญ ได้แก่ การเหี่ยวและการเกิดสีน้ำตาลของขนและเปลือก และการเน่าเสียของผลที่รวดเร็วทั้งในระหว่างการขนส่ง การเก็บรักษา หรือเมื่อถึงตลาดปลายทางแล้ว โดยเทคโนโลยีการเก็บรักษาผลเงาะสดโดยทั่วไปสามารถยืดอายุการเก็บรักษาได้เพียง 14 วัน  การนำเทคโนโลยี Active packaging มาประยุกต์ใช้ในการเก็บรักษาผลเงาะสดร่วมกับการเก็บรักษาในอุณหภูมิที่เหมาะ และกรรมวิธีในการลดปัญหาโรคและแมลงที่ติดมากับผล สามารถยืดอายุการเก็บรักษาผลเงาะสดได้นานถึง 25 วัน โดยที่คุณภาพทั้งภายนอกและภายในยังเป็นที่พึงพอใจของผู้บริโภค

###