“ตุ๊กตุ๊ก” รถเครื่องสามล้อ ซิกเนเจอร์รถรับจ้างเมืองไทย ดีไซน์เปลี่ยน ผู้ผลิตต้องปรับตัว

ตุ๊กตุ๊ก  เป็นรถสามล้อบรรทุกของขนาดเล็ก  เริ่มแรกนำเข้าจากญี่ปุ่นมาในเมืองไทย  ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2503 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์   โดยช่างชาวไทยได้ดัดแปลงใส่หลังคา ใส่เบาะ เพื่อใช้เป็นรถโดยสารขนาดเล็กที่มีรูปทรงและหน้าตาอย่างที่เห็นกันอยู่นี้   เมื่อมีชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวเมืองไทย ได้เห็นรถประเภทนี้ซึ่งสมัยนั้นไม่มีชื่อเรียก  ชาวต่างชาติจึงเรียกตามเสียงเครื่องสูบสมัยก่อน  ซึ่งดัง ต๊อกๆ  ต่อมาเพี้ยนเสียงเรียกเป็น ตุ๊กตุ๊ก มาจนถึงทุกวันนี้  รูปทรงและสีสันอันมีเอกลักษณ์ได้กลายเป็นซิกเนเจอร์ประจำประเทศไทย

รถตุ๊กตุ๊กกลายเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทย  การนั่งรถตุ๊กตุ๊กเที่ยวชมเมืองกลายเป็นโปรแกรมทองของนักท่องเที่ยวต่างชาติ  การผลิตรถตุ๊กตุ๊กจำลองในรูปแบบผลิตภัณฑ์ของที่ระลึก  กลายเป็นสินค้าขายดีตามแหล่งท่องเที่ยว  มิหนำซ้ำ  รถตุ๊กตุ๊กกลายเป็นแฟชั่นชุดประจำชาติที่โด่งดัง   เมื่อดีไซเนอร์ออกแบบให้นางงามไทยใส่ชุดตุ๊กตุ๊กไปประกวดบนเวทีนางงามโลก  โฉมใหม่ของตุ๊กตุ๊กจึงดังกระฉ่อนกันไปทั่วบ้านทั่วเมือง

ม่แปลที่คนไทยส่วนมาก  ไม่นั่งรถตุ๊กตุ๊ก  ไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกที่ทำเป็นรูปรถตุ๊กตุ๊ก  แต่น่าแปลกที่คนไทยส่วนมากไม่รู้ว่า  รถตุ๊กตุ๊กขนาดเท่าของจริง  ได้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์สุดหรูประดับบ้าน  ประดับร้านค้า  ตกแต่งร้านอาหาร  โรงแรม และรีสอร์ท   การผลิตรถตุ๊กเพื่อใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์  ได้กลายเป็นการผลิตที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้ายุคคลาสสิก  เหตุนี้ทำให้รถตุ๊กตุ๊กของไทยขายดีทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก

ตลาดเปลี่ยนต้องปรับตัวตอบโจทย์ลูกค้า

คุณเชด ต่ายกระโทก  เจ้าของ หจก. ตุ๊กตุ๊ก 1999 หรือ ไทยแลนด์ตุ๊กตุ๊ก  หนึ่งในบริษัทรับผลิตรถตุ๊กตุ๊กแถวหน้าของเมืองไทย  เผยถึงโอกาสการผลิตรถตุ๊กตุ๊กไทยว่า   ตลาดรถตุ๊กตุ๊กเป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม  ลูกค้าที่สนใจรถประเภทนี้จะเป็นกลุ่มคนที่นิยมสะสมรถคลาสสิก  โดยกลุ่มลูกค้ามีทั้งในประเทศและต่างประเทศ   คุณเชดผลิตรถตุ๊กตุ๊กส่งออกในสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง   ถ้าเป็นลูกค้าในประเทศก็จะเป็นกลุ่มบริษัท โรงแรม  รีสอร์ท   รวมทั้งลูกค้าที่ประกอบธุรกิจท่องเที่ยว  และธุรกิจภาพยนตร์  บางรายต้องการแค่โครงสร้างของรถตุ๊กตุ๊ก เป็นรถไม่มีเครื่องยนต์  เพื่อโชว์เอกลักษณ์และใช้เป็นพร็อพ (มาจาก property หมายถึงอุปกรณ์ประกอบฉาก) สำหรับให้นักท่องเที่ยวได้ถ่ายรูปเป็นที่ระลึก  การผลิตเหล่านี้เป็นการผลิตเพื่อรองรับตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป  ซึ่งคุณเชดเองก็ยอมรับว่า ตนเองต้องปรับตัวเพื่อตอบโจทย์ของกลุ่มลูกค้าที่มีความหลากหลายขึ้น

การผลิตรถตุ๊กตุ๊กเพื่อใช้เป็นเฟอร์นิเจอร์   ยังคงเน้นโครงสร้างหลักให้เหมือนเดิม  และใช้สีดั้งเดิม คือ น้ำเงิน-เหลือง  ซึ่งยังคงครองความนิยมของตลาดอย่างสูง  วัดได้จากยอดสั่งซื้อ 80 เปอร์เซ็นต์ของการสั่งซื้อระบุสีน้ำเงิน-เหลือง  แต่บางครั้งอาจมีออร์เดอร์ระบุสเป็กเพิ่มเติม  ตามไอเดียและลูกเล่น  หรือตามจุดประสงค์การใช้งานของลูกค้า อย่างเช่น  เปลี่ยนสี เพิ่มดีไซน์ให้เก๋ไก๋ขึ้น  เพิ่มไซส์  ขยายขนาดให้กว้างขึ้นยาวขึ้น  หรือเพิ่มแถวเบาะนั่ง  เป็นต้น

สำหรับลูกค้าต่างประเทศ  ส่วนมากเป็นกลุ่มร้านอาหารไทยในต่างแดน  สั่งซื้อเพื่อนำไปโชว์เป็นพร็อพประดับร้าน  เช่นเดียวกับธุรกิจร้านอาหารในเมืองไทย  นอกจากนี้ยังมีกลุ่มธุรกิจรถคีออสสำหรับขายอาหารไทย และกลุ่มที่นิยมซื้อไปเก็บสะสม  บ้างก็ซื้อไปใช้ส่วนตัวก็มี  เนื่องจากชาวต่างชาติมองว่ารถตุ๊กตุ๊กเป็นรถคลาสสิก ซึ่งชาวต่างชาติชื่นชอบและหลงใหลเอามากๆ

คุณเชดอธิบายถึงการผลิตและการขนส่งว่า  เมื่อประกอบเป็นรถตุ๊กตุ๊กเสร็จ  ก็จัดการใส่ตู้คอนเทนเนอร์บรรทุกไปทางเรือ  เมื่อไปถึงบางประเทศก็ใช้งานได้เลย  แต่บางประเทศต้องถอดแบตเตอรี่ออกก่อนการขนส่ง  เมื่อลูกค้ารอรับที่ปลายทางก็จะนำแบตเตอรี่จากบ้านมาใส่และขับออกไปได้   ตรงนี้เป็นเรื่องของกฎหมายของแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน  คุณแอบกระซิบว่า ลูกค้าของเขามีเกือบทั่วโลก  ออร์เดอร์ที่ได้รับมาจากอเมริกา ฟินแลนด์  ยุโรป  รวมทั้งญี่ปุ่นด้วย

20 ปีแห่งความหลัง

“ย้อนกลับไปเกือบ 20 ปีที่แล้ว  เดิมเลยผมทำธุรกิจเทรดเดอร์กับต่างชาติมาก่อน และรถตุ๊กตุ๊กก็เป็นหนึ่งในสินค้าที่เรามีออเดอร์อยู่ตลอด ก็ทำมาเรื่อยๆ จนปี 2540 ช่วงนั้นบริษัทที่ผลิตรถตุ๊กตุ๊กส่งให้เรามีปัญหาภายในจนต้องปิดกิจการไป ซึ่งส่งผลกระทบกับเราโดยตรง  เพราะเรารับออเดอร์จากลูกค้าต่างชาติค้างอยู่  แต่หาผู้ผลิตให้ไม่ได้  ทำให้ตัดสินใจก้าวสู่การเป็นผู้ผลิตเองเพื่อผลิตป้อนลูกค้าที่เราค้างออเดอร์เขาอยู่   ตอนนั้นผมมองว่าธุรกิจนี้ค่อนข้างจะมีคู่แข่งน้อยในตลาด  เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ค่อนข้างจะเฉพาะทาง แต่ความต้องการของตลาดยังมีอยู่  โดยเฉพาะตลาดต่างประเทศ  จึงหันมาจับธุรกิจรับผลิต ซ่อมบำรุง และจำหน่ายรถตุ๊กตุ๊กทั้งในประเทศและส่งออกต่างประเทศอย่างจริงจังมาเกือบ 20 ปีแล้ว”  คุณเชดกล่าวพร้อมรอยยิ้มอย่างภูมิใจ

รถตุ๊กตุ๊กเป็นงานแฮนด์เมดทั้งคัน

การผลิตรถตุ๊กตุ๊กของ หจก. ตุ๊กตุ๊ก 1999  ใช้กระบวนการที่เรียกได้ว่าเป็นงานแฮนด์เมดทั้งคัน  โดยใช้ช่างที่ชำนาญในการผลิตประมาณ 5-6 คน   ใช้เวลาประมาณ 7 -8 วันต่อการประกอบโครงสร้างของตุ๊กตุ๊กแบบปกติหนึ่งคัน โดยเริ่มต้นของงานจากกาสั่งอะไหล่มือสองของรถสี่ล้อเล็กจากญี่ปุ่น  จากนั้นต้องเช็คดูเรื่องของเครื่องยนต์ ช่วงล่าง เพลา เบรก โครงสร้างตัวรถและดีไซน์สีสันตามออเดอร์ที่ลูกค้าต้องการ จากนั้นจึงเช็คสภาพและทดสอบการใช้งานก่อนส่งให้ลูกค้า

การใช้งานของรถตุ๊กตุ๊กจะขับได้ประมาณ 80-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่วนการซ่อมบำรุงก็เหมือนรถยนต์ปกติ คือ ต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง ผ้าเบรก  และอื่นๆ ตามความเสื่อมของระยะเวลาการใช้งาน  ส่วนราคารถเริ่มต้นที่หลักแสนเบาะๆ อย่างต่ำคันละ 165,000 บาท  ใช้ระบบน้ำมันและเกียร์ธรรมดา แต่ก็จะมีรถเกียร์ออโต้ ล้อแม็ก และรถตุ๊กตุ๊กแบบติดแก๊สให้เลือกได้ตามอัธยาศัย

ตุ๊กตุ๊กไม่ล้าหลังซื้อขายผ่านตลาดออนไลน์

“ผมทำการตลาดบนโลกออนไลน์มากว่า 10 ปี แล้ว ซึ่งตอนนั้นถือเป็นตลาดที่ใหม่มาก แต่ด้วยความรู้ด้านการทำเว็บไซต์ที่ติดตัวมา จึงทำให้นำมาต่อยอดการขายตรงผ่านเว็บไซต์ของตัวเองที่ชื่อ www.thailandtuktuk.net ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า จนถึงตอนนี้ก็ยังคงใช้พื้นที่ออนไลน์เพื่อทำการตลาดเช่นเดิม  แต่เพิ่มช่องทางอื่นๆ ควบคู่ไปด้วยเพื่อกระจายสินค้าให้เป็นที่รู้จักทั้งทางไลน์และและเฟซบุ๊ก  เนื่องจากโลกเปลี่ยนแปลง การเติบโตของการตลาดออนไลน์เพิ่มสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด และแน่นอนว่ากลุ่มลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาบนช่องทางออนไลน์นี้  ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน”

การผลิตรถตุ๊กตุ๊กเหลือน้อยราย

ตอนนี้มีผู้ผลิตรถตุ๊กตุ๊กในเมืองไทยเหลือเพียง 4 ราย  ซึ่งแต่ละรายมีจุดเด่นที่แตกต่างกัน  ของคุณเชดเด่นที่การทำระบบเครื่องยนต์ที่มีประสิทธิภาพ  และมีใบรับประกัน 1 ปี   โดยธรรมชาติของอุตสาหกรรมลักษณะนี้ค่อนข้างจะเฉพาะกลุ่ม  จึงไม่ค่อยมีเติบโตมากนัก  อีกส่วนที่ทำให้ผู้ผลิตมีไม่มากเป็นเพราะเรื่องของกฎหมาย  โดยเฉพาะเรื่องการจดทะเบียนรถสามล้อในเมืองไทย ที่จะต้องเป็นนิติบุคคลเท่านั้น ทำให้คนธรรมดาทั่วไปไม่สามารถซื้อไปใช้เพื่อเป็นพาหนะส่วนตัวได้   จึงเป็นการจำกัดกลุ่มลูกค้าไปในตัว

“ช่วงปีแรกๆ ที่เริ่มทำธุรกิจ การเติบโตของตลาดค่อนข้างคึกคัก เพราะเป็นธุรกิจที่อิงกับวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว ซึ่งตุ๊กตุ๊กถือเป็นสัญลักษณ์ของประเทศไทยอย่างหนึ่ง เป็นจุดเด่นที่ทำให้เรายังคงดำเนินธุรกิจมาได้จนถึงวันนี้  ช่วงรุ่งเรืองเคยผลิตได้สูงสุดถึงเดือนละ 15 คัน แต่ถ้าช่วงไหนมีเหตุการณ์ความไม่สงบต่างๆ ออร์เดอร์สั่งซื้อก็จะน้อยลงเพราะลูกค้าต่างชาติเดินทางมาเมืองไทยน้อยลง โอกาสที่เค้าจะเห็นรถตุ๊กตุ๊กและสั่งซื้อก็ลดลงไปด้วย”

แม้ว่าคุณเชดจะยอมรับว่า  ตอนนี้ออเดอร์หายไปกว่า 80 เปอร์เซ็นต์  ก็ต้องปรับตัวลดต้นทุนเพื่อความอยู่รอดเช่นเดียวกัน แม้จะเจอผู้ผลิตรถสามล้อจากจีนเข้ามาตีตลาดอีกทางหนึ่ง  สามล้อของจีนมีลักษณะคล้ายมอเตอร์ไซค์สามล้อ  แต่ราคาถูกกว่าเกือบครึ่ง  แต่ความแข็งแรงและความคงทนสู้รถตุ๊กตุ๊กของไทยไม่ได้  แม้จะเจอภาวะวิกฤติทางธุรกิจที่เป็นหน้าเป็นตาของเมืองไทยก็ตาม  เจ้าของธุรกิจรายนี้ก็ยังคงเดินหน้าผลิตรถตุ๊กตุ๊กไทยป้อนตลาดต่างประเทศต่อไป