ถอดรหัส ฝ่าวิกฤต โกยรายได้หลักล้านบาทต่อปี แบบฉบับ จี้ออ

ถอดรหัส ฝ่าวิกฤต โกยรายได้กว่า หลักล้านบาทต่อปี แบบฉบับ จี้ออ

อุตสาหกรรมของฝาก ของที่ระลึก ถือเป็นอีกหนึ่งสาขาอุตสาหกรรมที่สำคัญต่อการท่องเที่ยวของประเทศไทยและได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 จากข้อมูลของสมาพันธ์ผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์ไทย ปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 พบว่า

ตลาดของขวัญ ของชำร่วย และของตกแต่งบ้านทั้งในประเทศและส่งออก มีมูลค่ารวมกว่า 64,000 ล้านบาท เฉพาะตลาดของที่ระลึกขายให้กับนักท่องเที่ยวสัดส่วนร้อยละ 43.8 คิดเป็นมูลค่ามากกว่าปีละ 28,000 ล้านบาท เลยทีเดียว

ร้านจี้ออ ดำเนินธุรกิจด้านการผลิตและจำหน่ายอาหารแห้งและอาหารทะเลแปรรูปมาตั้งแต่รุ่นอาม่าหงวดจู้ สันติกุล (ร้านคุณแม่จู้ ภูเก็ต) จนสืบทอดมาถึงรุ่นลูกคือ จี้ออ (คุณจริยา เตี่ยวประดิษฐ์) ได้ริเริ่มเปิดหน้าร้านเล็กๆ เมื่อปี 2545 โดยใช้ชื่อเล่นตนเองคือ “ออ” และใส่คำนำหน้า “จี้” ที่มีความหมายว่า พี่สาว ในภาษาจีนฮกเกี้ยน เรียกง่ายๆ คือ ร้านพี่ออ นั่นเอง

และคุณจริยา ยังได้รับการสืบทอดตำนานความอร่อย ในการนำกุ้ง ปู ปลา หมึก มาแปรรูปเป็นอาหารรสชาติปักษ์ใต้แท้ถูกปากสำหรับผู้ได้ลิ้มลอง ได้ขยับขยายเป็น 3 คูหาภายในเวลา 1 ปี และได้ย้ายมาเปิดหน้าร้านใหม่ในปี 2548 จนถึงปัจจุบันรวมเวลากว่า 20 ปี

ตลอดการดำเนินกิจการ ร้านของฝากดังประจำจังหวัดกระบี่อย่าง จี้ออ ได้มีการต่อยอดพัฒนาแบรนด์มากมาย หนึ่งในนั้นคือการเข้าร่วมกิจกรรมการส่งเสริม SMEs ประจำปีงบประมาณ 2565 ภายใต้โครงการการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปเชิงพาณิชย์ (Agro Genius SMEs)

ซึ่งแบรนด์ก็สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากเห็ดแครง และเครื่องแกง มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่มและโอกาสทางการตลาด เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเผยแพร่อาหารพื้นถิ่นของกินพื้นบ้าน ผสมผสานวิถีชีวิตอัตลักษณ์ชุมชน ผ่านสื่อทั้ง Online และ Offline ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดรายได้จากผลิตภัณฑ์ จากเดิม 2,700,000 บาทต่อปี มียอดขายเพิ่มขึ้น 3,348,000 บาทต่อปี มียอดขายเพิ่มขึ้นร้อยละ 24 คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นราว 648,000 บาทต่อปี

คุณฐณผการจ เตี่ยวประดิษฐ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จี้ออ ฟู้ด จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลจากการ เข้าร่วมโครงการกับทางดีพร้อม ทำให้บริษัทสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์เห็ดแครงและเครื่องแกง โดยมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์แปรรูปรูปแบบใหม่ๆ หลากหลาย เพิ่มมูลค่าสินค้าเพิ่มโอกาสทางการตลาดของผลิตภัณฑ์ เจาะผู้บริโภควงกว้าง

อีกทั้งได้เรียนรู้การทำการตลาดในด้านต่างๆ เพิ่มขีดความสามารถของบริษัทในการแข่งขัน ทั้งสื่อออนไลน์และออฟไลน์ให้มีประสิทธิภาพ ที่สำคัญ ยังเป็นการเผยแพร่อาหารพื้นถิ่นของกินพื้นบ้านผสมผสานวิถีชีวิตอัตลักษณ์ชุมชนแก่คนทั่วไป เกิดรายได้จากผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นเป็น 3.3 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 24 จากเดิม 2.7 ล้านบาทต่อปี

นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างโรงงานผลิตสินค้าของตนเองที่ได้รับมาตรฐานจากคำแนะนำอย่างเข้มข้นจากดีพร้อม ซึ่งหลังจากนี้ บริษัทเตรียมขยายผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น เชื่อว่าจะสร้างอาชีพให้ชุมชน ทำให้เศรษฐกิจในพื้นที่เข้มแข็งขึ้นแน่นอน

เผยแพร่เมื่อ วันอังคารที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2565