ละมุด ผลไม้มียาง ส่วนประกอบสำคัญของหมากฝรั่ง

ชื่อภาษาอังกฤษ : Sapodilla

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Acharas zapota

วงศ์ : SAPOTACEAE

“อารมณ์เสีย อย่าปล่อยให้เสีย ต้องเคี้ยวชิกเคล็ท” ยังพอจำสโลแกนนี้ได้ไหมครับ ใครจำได้บ้างเอ่ย จำได้แสดงว่าต้องเป็นวัยรุ่นตอนปลายยุค ’70 แน่ๆ ทราบไหมครับว่า หมากฝรั่ง นั้นทำมาจากอะไร

นี่เลย ยางละมุดนี่แหละเป็นส่วนประกอบสำคัญของหมากฝรั่งที่พวกเราชอบเคี้ยวเล่นกันนั่นเอง ละมุด เดิมเป็นไม้แถบอเมริกากลาง เม็กซิโก และหมู่เกาะอินเดียตะวันตก และคงจะมีการนำเข้ามาปลูกในบ้านเรานานกว่าร้อยปีแล้ว แต่ในไทยเราก็ยังมีละมุดพันธุ์พื้นเมืองอยู่แล้ว เป็นพันธุ์ชนิดผลเล็ก เรียกว่า ละมุดสีดา

ส่วน ละมุดฝรั่ง นั้น ผลใหญ่กว่ามาก ผลกลมรี แล้วแต่ชนิดของพันธุ์ เท่าที่ทราบ มีไม่น้อยกว่า 6 พันธุ์ สาลี่ มะฝ่อ กระสวย ไข่ห่าน ฝาชี และพันธุ์มะกอก แต่ที่นิยมปลูกกัน มีเพียง 2 พันธุ์ คือ มะกอก กับ ไข่ห่าน

พันธุ์มะกอก ชื่อก็บอกอยู่ในตัวแล้วว่า ผลเล็ก รูปร่างรีๆ คล้ายผลมะกอก ใบแคบ ยาว สีเขียวเข้ม เวลาสุก เนื้อสีน้ำตาลแดง เนื้อละเอียด กรอบ หวาน มีความแข็งมากกว่าพันธุ์ไข่ห่าน ชาวสวนรุ่นเก่ามีเทคนิคง่ายๆ ที่ทำให้รสชาติของละมุดหวาน หอม นุ่มนวล ละมุนละไมขึ้น โดยการนำผลละมุดแก่จัดได้ที่ มาล้าง เอากาบมะพร้าวนุ่มๆถูเบาๆ ขัดผงขี้ไคลตามผิวออก นำไปแช่น้ำปูนแดงที่กินกับหมากสัก 2-3 ชั่วโมง ผึ่งลมให้แห้งสนิท แล้วจึงนำลงบรรจุลงโอ่งที่ปูด้วยใบตองแห้งรองพื้นล่าง จุดธูปปักลงไปสักดอก ปิดฝาทิ้งไว้สองหรือสามคืน ละมุดนั้นก็จะสุก รับประทานได้ หรือถ้าจะให้เลิศสะแมนแตนไปกว่านั้นแบบชาววังเขาก็จะจุดเทียนหอม อบลงไปด้วย ควันเทียนหอมก็จะรม แทรกซึมเข้าไปในเนื้อละมุด ทั้งหอม ทั้งกำซาบเพิ่มความสุนทรีย์ในการรับประทานเข้าไปอีกขั้นหนึ่งทีเดียวเชียว ใครไม่เชื่อก็ลองทำดู

ละมุดสีดา

ยางจากผลดิบ กิ่ง ก้านละมุดนอกจากจะเอาไปทำหมากฝรั่งแล้ว ยังสามารถนำไปสกัดทำยาถ่ายพยาธิ หรือมีการนำไปผสมกับยางชนิดอื่นทำรองเท้าบู๊ทยางก็ได้ ละมุดสุกนั้นมีวิตามิน A และวิตามิน C อยู่มาก มีธาตุสังกะสี และ เบต้าแคโรทีน บำรุงสายตา แต่ก็มีน้ำตาลสูง ผู้ป่วยเบาหวานก็ควรหลีกเลี่ยงไว้ด้วย ในต่างประเทศนั้นนิยมขยายพันธุ์ละมุดด้วยการเพาะเมล็ด ติดตา ต่อกิ่ง เนื่องจากการตอนมักไม่ค่อยได้ผล แต่สำหรับไทยเราชาวสวนเก่งกว่าฝรั่ง ตอนออกได้สบายๆ โดยมีเคล็ดว่าต้องเลือกกิ่งกระโดงที่ไม่อ่อนไม่แก่เกินไป ในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ ควั่นกิ่งทิ้งไว้รอจนรอยแผลที่ควั่นเกิดเป็นตุ่มสีขาวขุ่น จึงหุ้มด้วยดินเหนียวหรือขุยมะพร้าวแช่น้ำ ประมาณอีก 2 เดือน รากก็จะออกมาเต็มตุ้ม ตัดลงไปปลูกได้

อนึ่ง ละมุด นั้นทนทานต่อความแห้งแล้งได้ดี ไม่ชอบน้ำขัง ชอบแสงแดดจ้า ละมุดฝรั่งปลูกจากกิ่งตอน 2-3 ปี ก็สามารถให้ผลผลิตได้ ปัจจุบันมีการทำไวน์จากละมุด ก็เป็นที่ได้รับความนิยมบ้างพอสมควร

ละมุด ไม่เรื่องมาก ปลูกไม่ยาก เวลาติดผลก็สวยงามน่ารัก แปลกตาสำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคย เอาเป็นว่าเรียกแขกได้ ปลูกเล่นๆ ทิ้งไว้สักต้นสองต้นหลังบ้านก็น่าจะโอเคอยู่นะ มีสำนวนหนึ่งที่ว่า “กลิ่นละมุด โชยมายามเช้า’’ นั่นเป็นเรื่องของผู้มีสุราในหัวใจใช้น้ำหอมกลิ่นละมุด ล้อเลียนกันเฮฮาสนุกสนานกันไปบ้างก็อย่าถือสา อย่าไปโทษต้นไม้อีกเลย ขอร้องล่ะ จริงๆ นะครับ